แก้รัฐธรรมนูญ ไม่พ้นศาลรธน.

คณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. … ทั้ง 45 คน ที่ประกอบด้วย ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ส.ส.ฝ่ายค้าน และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)

กำลังเดินหน้าพิจารณาจัดทำรายงานของ กมธ. ตามกรอบเวลา 45 วัน ที่มีคิวเชิญโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) และอดีตคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)

มาชี้แจงหลักการและเหตุในการเสนอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ และการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2560 โดยเฉพาะในประเด็นที่ กรธ.เขียนล็อกไว้ 8 ชั้น จนทำให้รัฐธรรมนูญ 2560 แก้ได้ยากมาก

ในประเด็นเหล่านี้คงมี กมธ.ซักถามอย่างแน่นอน ขณะที่ กมธ.เดินหน้าจัดทำรายงานตามคำแปรญัตติของสมาชิกรัฐสภาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

Advertisement

เพื่อสรุปเป็นรายงานของ กมธ. เพื่อเสนอบรรจุเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาพิจารณาในวาระที่ 2 และ 3 และดำเนินการให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

แต่ก่อนที่ที่ประชุมรัฐสภาจะพิจารณารายงานของ กมธ.แก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระที่ 2 และ 3 นั้น ยังต้องลุ้นกับด่านการยื่นญัตติส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256

ให้มี ส.ส.ร. มายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่ารัฐสภามีอำนาจดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้หรือไม่ โดยต้องใช้มติเสียงข้างมากของที่ประชุมรัฐสภาชี้ขาด คือ ไม่น้อยกว่า 366 เสียง

Advertisement

จากจำนวนสมาชิกรัฐสภาที่ปฏิบัติหน้าที่ได้ 732 คน แต่จากสัญญาณล่าสุดของทั้ง 2 หัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาล

อย่าง นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ยืนยันถึงมติของพรรค ปชป.ว่าไม่เห็นด้วยที่จะยกมือสนับสนุนญัตติส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ด้วยเหตุผลที่ว่า ร่างนี้ได้ผ่านความเห็นชอบของ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลถึงขั้นได้เสนอเป็นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีความชัดเจน และได้มีการบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมเรียบร้อยแล้ว ถือว่าก่อนที่จะลงนามเสนอแต่ละพรรคการเมืองนั้นได้ตรวจสอบโดยรอบคอบแล้วไม่จำเป็นต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอีกว่าเป็นร่างที่ถูกต้องหรือไม่

ถ้ามีความประสงค์ที่จะตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญจริงๆ ยังสามารถทำได้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ที่ระบุไว้ชัดเจนว่าภายหลังจากผ่านวาระ 3 และก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯนั้นสามารถตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญได้อยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องมาตรวจสอบตอนนี้ จึงเป็นเหตุผลที่พรรคมีมติว่าไม่เห็นชอบด้วยและที่สำคัญอาจจะกลายเป็นเงื่อนไขประเด็นทางการเมืองโดยไม่จำเป็นว่าไม่จริงใจที่จะแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่

เช่นเดียวกับ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ออกมาย้ำในจุดยืนของพรรค ภท.ด้วยว่าสมาชิกพรรคภูมิใจไทย เป็นผู้เสนอญัตติเอง และร่วมพิจารณาในการประชุมรัฐสภา และได้ลงมติรับหลักการ คือเห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญไปแล้ว

จะให้สนับสนุนหรือเห็นด้วยกับการส่งองค์กรอื่น ให้มาพิจารณาวินิจฉัยสิ่งที่เราทำอีก ไปบังคับให้ ส.ส.ลงมติเช่นนั้นไม่ได้ เรามั่นใจว่ารัฐธรรมนูญ เปิดโอกาสให้มีการแก้ไขได้ ตามกระบวนการที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้

แม้ด่านแรกเสียงจากที่ประชุมรัฐสภาอาจจะได้ไม่ถึงในการส่งญัตติส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

แต่ยังมีอีกด่านสุดท้ายหลังจากที่ประชุมผ่านความเห็นชอบในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระที่ 3 ก่อนนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ

รัฐธรรมนูญได้เปิดช่องให้สมาชิกรัฐสภาเข้าชื่อ ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ 2560 หรือไม่

ปลายทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยังต้องลุ้นกันจนถึงนาทีสุดท้าย

จตุรงค์ ปทุมานนท์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image