เดินหน้าชน : ประชาชนมีสิทธิเลือก?

เดินหน้าชน : ประชาชนมีสิทธิเลือก?

เดินหน้าชน : ประชาชนมีสิทธิเลือก?

การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในระลอก 3 ที่ต้องโฟกัสโดยเฉพาะในห้วงเดือนเมษายนที่ตัวเลขการติดเชื้อ ระดับ 1-2 พันกว่าราย จนมียอดผู้ติดเชื้อสะสมกว่า 7 หมื่นคนไปแล้ว

ที่น่าตกใจ คือ อัตราการเสียชีวิตรายวันถือว่ายังน่าห่วง เพราะตัวเลขผู้เสียชีวิตอยู่ในตัวเลขสองหลักกันแบบรายวัน อย่างเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคมที่ผ่านมา ตัวเลขผู้เสียชีวิตก็ทะลุนิวไฮ

ถึง 31 ราย เนื่องจากการแพร่ระบาดในระลอก 3 ส่วนใหญ่เป็นเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์อังกฤษ มีอัตราการติดเชื้อได้รวดเร็ว และเมื่อติดเชื้อแล้วมักมีอาการหนัก

Advertisement

โดยความหวังหนึ่งเดียวของชาวโลก รวมถึงชาวไทย ที่จะฝ่าวิกฤตโควิด-19 ไปได้นั้น คือ วัคซีน ที่หลายประเทศทั่วโลกระดมฉีดวัคซีนให้กับประชากรของตัวเอง

จุดประสงค์เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้เกิดขึ้นกับประชาชนในการหยุดหรือชะลอการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 รวมทั้งยังเป็นปัจจัยสำคัญในการฟื้นความเชื่อมั่นให้แต่ละประเทศ

ในการเยียวยาและฟื้นตัวทางเศรษฐกิจให้กับประชาชนในประเทศนั้นๆ ขณะที่แต่ละประเทศทยอยฉีดวัคซีน จนประชากรบางประเทศสามารถถอดหน้ากากอนามัย

Advertisement

เริ่มทำกิจกรรมให้เศรษฐกิจภายในประเทศได้เริ่มหมุนเวียนกันได้แล้ว ตัดภาพกลับมาที่ประเทศไทยยังคงต้องหยุดตัวเลขการติดเชื้อให้ระลอก 3 ให้ได้ก่อน

พร้อมกับเดินหน้าฉีดวัคซีนแบบคู่ขนานกันไป เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้เกิดประชาชนชาวไทยให้ได้ 70% ของประชากรในประเทศ หรือประมาณ 50 ล้านคน ตามเป้าหมายของรัฐบาล

แต่คำถามและดราม่าในประเด็นการฉีดวัคซีนก็ตามมาทันที เนื่องจากข้อมูลและข้อเท็จจริงที่ภาครัฐสื่อสารต่อประชาชนออกมานั้น วัคซีนที่จะฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงด่านหน้า กลุ่มคนที่มีโรคประจำตัว และกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป จะมีอยู่ 2 ยี่ห้อ คือ วัคซีนซิโนแวค จะฉีดให้กับกลุ่มคนที่อายุต่ำกว่า 60 ปี

และอยู่ระหว่างรอรับรองการขึ้นทะเบียนอีก 1 ยี่ห้อ คือ วัคซีนโมเดอร์นา ตามข้อมูลวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า จะฉีดให้กับกลุ่มคนที่อายุ 60 ปีขึ้นไป

แม้ผลการศึกษาทางการแพทย์ล่าสุดจะสามารถฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ให้กับคนที่อายุต่ำกว่า 60 ปีได้

แต่สุดท้ายจะอยู่ที่แพทย์จะเป็นผู้ประเมินและตัดสินใจว่าจะฉีดวัคซีนยี่ห้อไหนให้กับบุคคลใด ประชาชนจะไม่สามารถขอเลือกฉีดวัคซีนเองได้

นำมาซึ่งคำถามของประชาชนที่สามารถเข้าถึงข้อมูลทั้งเรื่องประสิทธิภาพ ผลข้างเคียงของวัคซีนแต่ละยี่ห้อ ถ้าอยากจะมีทางเลือกฉีดวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ

มากกว่าวัคซีน 2 ยี่ห้อที่ประเทศไทยใช้อยู่ในขณะนี้ได้หรือไม่ เพราะสุดท้ายไม่ว่าจะวัคซีนยี่ห้อใดก็ล้วนเกิดความเสี่ยงได้หมด ขึ้นอยู่กับร่างกายของแต่ละคน

ข้อเท็จจริงนี้ประชาชน รวมทั้งภาคเอกชนที่พร้อมอยากฉีดวัคซีน ต่างเข้าใจและพร้อมยอมรับเงื่อนไขความเสี่ยงในข้อนี้

แม้ภาครัฐจะออกมาย้ำว่า ภาคเอกชนไม่สามารถสั่งซื้อวัคซีนผ่านบริษัทต่างประเทศได้โดยตรง เนื่องจากบริษัทที่ผลิตวัคซีนจะขายให้เฉพาะการสั่งซื้อในนามรัฐบาลผ่านสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดย อย.จะใช้เวลาพิจารณาประมาณ 30 วัน หลังจากยื่นเอกสารครบถ้วน

แต่สิ่งที่เอกชนและประชาชน เกิดคำถามถึงสิทธิการเลือกและเข้าถึงวัคซีนได้เพียงไม่กี่ยี่ห้อ คือ ปัญหาการบริหารจัดการของผู้ที่เกี่ยวข้องใช่หรือไม่

หากใช่ ประชาชนย่อมต้องการคำตอบว่า จะแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างไร หรือจะต้องรอให้มีการระบาดอีกกี่ระลอก

จตุรงค์ ปทุมานนท์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image