เดินหน้าชน : ประชาชนสรุปบทเรียน

เดินหน้าชน : ประชาชนสรุปบทเรียน

เดินหน้าชน : ประชาชนสรุปบทเรียน

การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกที่ 3 ในประเทศไทย ที่ตัวเลขการติดเชื้อของผู้ป่วยใหม่ และตัวเลขผู้เสียชีวิตจาก ทุบสถิติทำนิวไฮได้ให้เห็นเกือบทุกวัน
อย่างตัวเลขติดเชื้อเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคมที่ผ่านมา ก็ทำนิวไฮอีกครั้ง กับจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เกือบแตะหลักหมื่นต่อวัน อยู่ที่ 9,635 ราย

โดยมีคลัสเตอร์สำคัญ คือ ผู้ติดเชื้อในกลุ่มของผู้ต้องขังในเรือนจำที่มีการตรวจเชื้อเชิงรุกในเรือนจำ 8 แห่งทั่วประเทศ ตรวจไปแล้ว 24,357 ราย พบผู้ติดเชื้อ 10,748 ราย คิดเป็น 49%

แน่นอนตัวเลขการติดเชื้อโควิดรายใหม่ทั่วประเทศ ยังอยู่ในสภาวะทรงตัว ในระดับบวก-ลบ กว่า 2 พันรายทั่วประเทศ แสดงให้เห็นว่าการแพร่ระบาดรอบใหม่ยังไม่มีทีท่าจะลดลงในเร็ววัน

Advertisement

คำตอบเดียวที่ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ยึดเป็น “คำตอบ” และ “ทางออก” เดียวกัน นั่นคือ การระดมฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 ให้ได้ไม่ต่ำกว่า 70% ของประชากรในประเทศ

เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ แม้ในทางการแพทย์จะยอมรับในข้อเท็จจริงที่ตรงกันว่า ยังไม่มีวัคซีนยี่ห้อใดที่สามารถหยุดไวรัสโควิด-19 หลากหลายสายพันธุ์ที่แพร่กระจายอยู่ทั่วโลกได้อยู่หมัด

แต่การฉีดวัคซีนจะช่วยป้องกันคนที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ไม่ให้มีอาการหนัก แล้วไปเพิ่มภาระทางการแพทย์ และระบบสาธารณสุขจนรองรับผู้ป่วยที่มีอาการหนักไม่ไหว

Advertisement

ส่วนประเด็นดราม่าเรื่องการฉีดวัคซีน ทั้งยี่ห้อ และประสิทธิภาพของวัคซีน ถึงเวลานี้แม้จะมีบ้างถึงความเสี่ยงของการฉีดวัคซีนที่ฉีดให้ประชาชนชาวไทยขณะนี้

คือ “ซิโนแวค” และ “แอสตร้าเซนเนก้า” แต่ตัวเลขผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการฉีดวัคซีน มีจำนวนไม่มากนัก เมื่อเทียบกับจำนวนผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้วไม่มีผลข้างเคียง

โดยทางการแพทย์ยอมรับได้ จากข้อมูลของกรมควบคุมโรค ระบุว่า 89.19% ของผู้ฉีด ไม่มีรายงานผลข้างเคียงหลังได้รับวัคซีน รวมทั้งยังไม่มีผู้เสียชีวิตที่มีสาเหตุจากการฉีดวัคซีน

ส่วนที่เป็นข่าวและที่ประชาชนได้รับทราบข้อมูลมาว่ามี ผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้วมีผลข้างเคียงนั้น ในทางการแพทย์ยืนยันว่าไม่เกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีน

ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ที่เริ่มมีความเชื่อมั่นการเข้ามาฉีดวัคซีน พร้อมแอบให้กำลังใจตัวเองว่า คงไม่ได้เป็นหนึ่งผู้โชคดีถูกหวยรางวัลที่ 1 กับผลข้างเคียงหลังจากฉีดวัคซีน

ทยอยลงทะเบียนผ่านทุกแพลตฟอร์ม “สารพัดพร้อม” รวมทั้งการวอล์กอินเข้าไปฉีด แต่ในทางปฏิบัติมักเจอกับปัญหา ความไม่พร้อม ของหน่วยงานที่ให้บริการกับสารพัดเหตุผล

จริงอยู่การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นโรคระบาดใหม่ ทุกประเทศไม่เคยเจอ และไม่มีประสบการณ์ในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสดังกล่าว

ที่จัดเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินในเวลานี้ แต่ที่ประชาชนอดตั้งคำถามกับผู้บริหารประเทศ ที่มีหน้าที่ความรับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ไม่ได้

คือ ตั้งแต่การระบาดในระลอกที่ 1 มาถึงระลอกที่ 2 ผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบได้ถอดบทเรียนและเตรียมแผนไว้จัดการในกรณีที่มีการแพร่ระบาด แบบระลอกที่ 3 ไว้หรือไม่

ที่สุดแล้ว ประชาชนคงต้องสรุปบทเรียนและหาคำตอบให้กับตัวเอง ผ่านการเลือกตั้งครั้งต่อไปว่าจะเลือก ผู้นำแบบไหนมาบริหารประเทศที่พร้อมเผชิญกับทุกวิกฤต

จตุรงค์ ปทุมานนท์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image