ระวังหายนะ

นับตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 ตลอดทั้งปี 2563 ล่วงเลยมาถึงกลางปี 2564 หากหยิบยกเรื่องผลกระทบของกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ได้รับแล้ว เปรียบให้เห็นภาพคนที่ยืนบนปากเหว หลายรายลงเหวไปแล้ว หมดเงินทุนที่จะมาประคับประคองธุรกิจ หนี้เดิมยัง
ไม่ทันลด ดอกเบี้ยเงินกู้เพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ จะกู้ของใหม่มาก็ไม่รู้ว่าจะไปจัดการหนี้กองเดิมอย่างไร

ที่ผ่านมา แบงก์ชาติออกมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือซอฟต์โลน ตั้งแต่ปลายปี 2563 ระบุชัดเจนว่าเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่เป็นแหล่งจ้างงานสำคัญของเศรษฐกิจไทย ให้เข้าถึงเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำได้ โดยเฉพาะเจ้าของธุรกิจที่มีวงเงินสินเชื่อคงค้างไม่เกิน 500 ล้านบาท (สำหรับแต่ละสถาบันการเงิน) สามารถสมัครขอซอฟต์โลนของแบงก์ชาติได้ โดยได้กำชับให้สถาบันการเงินกระจายเงินสินเชื่อนี้อย่างทั่วถึง

มีเจ้าของธุรกิจเอสเอ็มอีบางส่วนที่เข้าสู่มาตรการการช่วยเหลือ แต่ก็พบว่ามีลูกหนี้เอสเอ็มอีอีกเยอะที่เดือดร้อน หมดเงินไปต่อลมหายใจเพื่อขอสินเชื่อก้อนใหม่ไปฟื้นฟูสภาพคล่องของตัวเอง

การถูกโควิดระบาดระลอก 3 ที่ต้องหยุดเชื้อหยุดโรค ทำให้ธุรกิจแทบโงหัวไม่ขึ้น ไร้แผนการดำเนินธุรกิจที่จะมาต่อสู้ตามลำพังได้

Advertisement

วันนี้ มีข่าวอีกครั้งแล้วว่าผู้บริหารของแบงก์ชาติได้เร่งหารือกับสมาคมธนาคารไทยช่วยปล่อยสินเชื่อฟื้นฟูเร่งช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบให้เร็วขึ้นและกระจายเป็นวงกว้างมากขึ้น

จะด้วยเหตุผลอะไรก็ตามก่อนหน้านี้ ที่ทำให้ฝ่ายธนาคารหรือเจ้าหนี้กับกลุ่มเอสเอ็มอีที่เป็นลูกหนี้ไม่สามารถบรรจบพบกันได้ ไม่แม้แต่จะเห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์เลยว่าสถานการณ์ค้าขายจะกลับมาเมื่อไหร่ วันนี้จึงต้องขอประคองตัวให้ผ่านพ้นไปให้ได้ ผลการหารือของแบงก์ชาติกับสมาคมธนาคารไทยล่าสุดได้ข้อตกลงที่ดีขึ้น

รณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า เรื่องที่ให้มีการเร่งรัดสถาบันการเงินคือ 1.ต้องปรับปรุงระบบภายในของธนาคารให้แล้วเสร็จโดยเร็ว 2.พนักงานของธนาคารต้องมีความรู้ความเข้าใจในตัวมาตรการข้างต้น 3.ต้องเข้าหาลูกค้าในเชิงรุก โดยเฉพาะลูกค้าเอสเอ็มอี

Advertisement

รองผู้ว่าการแบงก์ชาติย้ำว่า มีลูกหนี้เอสเอ็มอีที่ยังเดือดร้อนไม่ได้รับความช่วยเหลือเรื่องขอสินเชื่อ ขอให้สถาบันการเงินช่วยเหลือเชิงรุกมากขึ้นถูกกลุ่มเป้าหมายทั่วถึงและทันเวลาที่ถูกซ้ำเติมในการระบาดระลอก 3 จนกว่าจะคลี่คลาย จากนั้นค่อยทยอยปรับสู่การให้สินเชื่อที่มีขนาดวงเงินต่อรายที่เพิ่มขึ้นและระยะเวลาที่ยาวขึ้น

การช่วยครั้งใหม่นี้ ต้อง “รวดเร็ว เพียงพอ และตรงจุด”

ล่าสุดสถาบันการเงิน ชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เผยว่า ได้ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อ 15,000 ล้านบาท แบ่งการดูแลลูกค้าเป็น 3 ช่วง ช่วงแรก ช่วยเหลือเรื่องสภาพคล่อง ให้กิจการเดินหน้าต่อไปได้ ช่วงที่ 2 เมื่อธุรกิจเริ่มฟื้นตัว มีความต้องการเงินทุนหมุนเวียนเพื่อพัฒนาบริการและผลิตสินค้า ธนาคารจะให้การสนับสนุนในเรื่องเงินทุนหมุนเวียน และช่วงที่ 3 เมื่อธุรกิจดำเนินไปได้ระดับหนึ่ง อาจต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงโมเดลธุรกิจให้สอดคล้องกับสภาพและความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนไป ธนาคารก็พร้อมสนับสนุน

อีกเจ้า ญนน์ โภคทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จับมือกับธนาคารกสิกรไทย ทำโครงการ “แซนด์บ็อกซ์” นำฐานข้อมูลการทำธุรกิจของคู่ค้าและซัพพลายเออร์กว่า 4,000 รายของเซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล ใช้ประกอบการพิจารณาสินเชื่อของธนาคารกสิกรไทย โดยได้อนุมัติสินเชื่อให้กับเอสเอ็มอีไปแล้ว 1 พันราย ในจำนวนนี้กว่า 70% ของซัพพลายเออร์ยังไม่เคยเข้าถึงซอฟต์โลนมาก่อน แพลตฟอร์มนี้ช่วยทำให้ธนาคารพิจารณาปล่อยสินเชื่อได้สะดวก รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น บนต้นทุนและความเสี่ยงที่ต่ำ

ถึงคราวที่ต้องหันหน้ามาช่วยเหลืออย่างจริงจังและเป็นผลมากขึ้น เพราะหากธุรกิจเอสเอ็มอีล้มครืนกันหมด ธุรกิจภาคอื่นๆ ก็ไม่น่าจะรอดถึงขั้นหายนะเลยทีเดียว

เสกสรรค์ กิตติทวีสิน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image