คอลัมน์เดินหน้าชน : ความจริงแก้วิกฤต

จตุรงค์ ปทุมานนท์

คอลัมน์เดินหน้าชน : ความจริงแก้วิกฤต

การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกที่ 3 ที่มีตัวเลขการติดเชื้อสะสมพุ่งเกิน 159,792 ราย มียอดผู้เสียชีวิตสะสมกว่า 1,031 ราย

ขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตรายใหม่ในแต่ละวันก็ต้องลุ้นกันว่าจะทำสถิตินิวไฮอีกหรือไม่ โดยทุกฝ่ายเข้าใจกันดีว่า “วัคซีน” คือ คำตอบในการคลี่คลายวิกฤตโควิด-19

ทั้งนี้ผลการศึกษาทางสาธารณสุขยืนยันว่า ต้องเร่งฉีดวัคซีนให้กับประชาชนให้ได้มากที่สุดเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้เกิดขึ้น

Advertisement

ตามแผนของรัฐบาลกำหนดให้การฉีดวัคซีนเป็นวาระแห่งชาติ และวางเป้าหมายจะฉีดวัคซีนให้ประชาชนชาวไทยให้ได้ 50 ล้านคน ภายในสิ้นปี 2564

โดยดีเดย์วันที่ 7 มิถุนายน เป็นวันฉีดวัคซีนพร้อมกันทั่วประเทศ สำหรับกลุ่มเป้าหมาย คือ กลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และกลุ่มเสี่ยงที่มีโรคประจำตัว

ที่ลงทะเบียนผ่านระบบหมอพร้อม และที่ลงทะเบียนกับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) แต่พอใกล้วันจะฉีดวัคซีน

Advertisement

เมื่อหลายฝ่ายทวงถามคำตอบกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าจะมีวัคซีนยี่ห้อแอสตร้าเซนเนก้า ฉีดให้กับผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ตามวันเวลาดังกล่าวหรือไม่

ทั้งผู้แทนจากศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

ในฐานะ ผอ.ศบค. รวมทั้งผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข กลับให้คำตอบแบบไม่กล้าฟันธง ยืนยันความมั่นใจให้กับประชาชนว่าจะได้ฉีดวัคซีนในยี่ห้อ ตามวันที่ภาครัฐกำหนดไว้หรือไม่ แม้ประชาชนจะยอมรับความเป็นจริงและมองข้ามในประเด็นเรื่องประสิทธิภาพและยี่ห้อของวัคซีนไปแล้ว เพราะเชื่อในคำยืนยันของหมอ

ที่ระบุว่า “วัคซีนที่ดีที่สุด คือ วัคซีนที่ฉีดได้เร็วที่สุด” แต่แนวทางปฏิบัติของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไล่ตั้งแต่ระบบการลงทะเบียน เริ่มจากผ่านระบบหมอพร้อม

ต่อมา ศบค.ออกมาระบุว่า ให้ชะลอการลงทะเบียนผ่านระบบหมอพร้อมไปก่อน และแนะนำให้ไปลงทะเบียนจองฉีดวัคซีนผ่านระบบอื่น

อย่าง กทม. ลงทะเบียนผ่าน www.ไทยร่วมใจ.com ส่วนต่างจังหวัดก็มีชื่อระบบตามที่ออกแบบกันขึ้นมาในชื่อสารพัดพร้อม

นอกจากนี้ยังมีดราม่าประเด็นที่จะเปิดให้ประชาชนมาลงทะเบียนฉีดวัคซีนแบบ “วอล์กอิน” ก่อนที่รัฐบาลและ ศบค.จะกำหนดให้เรียกว่าแบบ “ออนไซต์”

หรือในกรณีล่าสุดที่คณะกรรมการโรคติดต่อของ กทม. ออกมาระบุเมื่อช่วงเที่ยงวันที่ 31 พฤษภาคมที่ผ่านมาว่า จะคลายล็อก 5 กิจการ มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายนเป็นต้นไป

แต่พอตกช่วงค่ำวันเดียวกัน ศบค.ออกมาเบรกคำสั่งคลายล็อกของ กทม. แบบเช้าไปทางซ้าย เย็นไปทางขวา ทั้งที่ในห้วงสถานการณ์ฉุกเฉิน

เรื่องการสื่อสารจากผู้กำหนดนโยบายควรมีเอกภาพและชัดเจน ทำเอาประชาชนที่ไม่ได้ติดตามข่าวสารอย่างต่อเนื่อง สับสน งงกันไปตามๆ กัน

แม้ผู้นำในการบริหารประเทศจะออกมาระบุว่า ไม่จำเป็นต้องขอโทษในการปรับเปลี่ยนข้อมูลและการบริหารงานการแก้ปัญหาโควิด-19

ที่ระบุว่า ต้องมีความอ่อนตัว ปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงได้ แต่สิ่งที่ประชาชนต้องการ คือ การบริหารและสื่อสารจากผู้บริหาร

ที่มีความจริง ความน่าเชื่อถือ ให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นที่จะปฏิบัติตามนโยบายของผู้นำประเทศ ในการร่วมมือกันนำพาประเทศชาติให้พ้นวิกฤตโควิด

เมื่อใดก็ตามหากประชาชน หมดความเชื่อมั่นและเชื่อใจผู้บริหารประเทศ ประชาชนจะจดจำและเลือกอนาคตของตัวเอง “ผ่านการเลือกตั้ง” ตามอำนาจที่เขามี

จตุรงค์ ปทุมานนท์

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image