ทราบแล้วเปลี่ยน

ทราบแล้วเปลี่ยน

ทราบแล้วเปลี่ยน

มีเรื่องให้ต้องสื่อสารทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนได้แทบทุกครั้ง ล่าสุดเป็นประเด็นร้อนเรื่องการจัดสรรและกระจายวัคซีนในพื้นที่การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

อันดับที่ 1 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เมื่อกรุงเทพมหานครออกประกาศเลื่อนฉีดวัคซีนให้กับประชาชนที่ลงทะเบียนจองฉีดวัคซีนในวันที่ 14 มิถุนายนที่ผ่านมา

เนื่องจากมีปัญหาเรื่่องการจัดส่งวัคซีนที่ได้รับจัดสรร ไม่มาตามนัด ส่งผลให้โรงพยาบาลที่รับจองฉีดวัคซีนต้องรับหน้าเสื่อชี้แจงทำความเข้าใจ ขอโทษประชาชน

Advertisement

ที่ต้องผิดหวัง เจอกับ “โรคเลื่อน” การฉีดวัคซีน ครั้งแล้วครั้งเล่า โดยเฉพาะภาคประชาชนในกลุ่มผู้สูงอายุและ 7 กลุ่มเสี่ยงที่มีโรคประจำตัว ที่จองผ่านระบบหมอพร้อม

พร้อมกับคำถามที่ประชาชนอยากได้คำตอบว่าจะได้ฉีดอีกครั้งเมื่อใด แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะสั่งการ

ให้ พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (ผอ.ศปก.ศบค.) พร้อมด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.)

ร่วมแถลงชี้แจงหลังเกิดปัญหาความขัดแย้งการกระจายวัคซีนโควิด-19 ระหว่าง กทม.และ สธ. พร้อมกับขอโทษพี่น้องประชาชนเรื่องปัญหาการจัดสรรวัคซีน จนต้องเลื่อนฉีดวัคซีน

โดยยืนยันว่าทั้ง 3 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ ศบค. สธ. และ กทม. ไม่ได้มีความขัดแย้ง และบูรณาการทำงานร่วมกันเป็นอย่างดีมาตลอด

พร้อมกับย้ำว่า ไม่มีเรื่องของวัคซีนการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องต่อปัญหา “วัคซีนไม่พร้อม” จนหลายโรงพยาบาลต้องแจ้งเลื่อนฉีดวัคซีนให้กับประชาชน

ซึ่งสวนทางกับแนวทางปฏิบัติที่เกิดขึ้น จนประชาชนอดตั้งข้อสังเกตต่อการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ได้ว่า ทำงานกันแบบไม่อ่าน “ไลน์กลุ่ม” กันหรือ

เพราะแต่ละหน่วยงานสื่อสารกัน เหมือนโยนกันไปมา ทั้งที่ประเด็นสำคัญที่ประชาชนต้องการรับรู้ คือ ทั้งเรื่องวัคซีน และการกระจายวัคซีน ความจริงคืออะไร

ถ้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสื่อสาร บอกความจริงที่ตรงไปตรงมาต่อประชาชน เรื่องข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น ประชาชนพร้อมให้อภัยได้

แต่ที่ผ่านมาการสื่อสารเรื่องการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อประชาชน เป็นเหมือนระบบ “ทราบแล้วเปลี่ยน”

คือ แทบจะทุกเรื่องสื่อสารมาให้ประชาชนทราบ แล้วก็มาเปลี่ยนในภายหลัง ทั้งที่ในยามวิกฤต การสื่อสารเพื่อสร้างความเชื่อมั่น ถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง

ที่ภาครัฐควรตระหนัก เพราะหากประชาชนไม่เชื่อมั่นต่อการทำงานของภาครัฐแล้ว การบริหารงานในเรื่องอื่นๆ ย่อมเป็นเรื่องยากที่จะเกิดความสำเร็จ

ยิ่งดูจากผลโพลของ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “การจัดสรรวัคซีนป้องกันโควิด-19”

ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 7-9 มิถุนายนที่ผ่านมา จากประชาชนที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ จำนวน 1,313 หน่วยตัวอย่าง

ที่ตอบคำถามในประเด็นเกี่ยวกับเรื่องที่มีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องในการจัดสรร/กระจาย วัคซีนป้องกันโควิด-19 ในขณะนี้ พบว่า ร้อยละ 28.10 ระบุว่า มีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องมาก

ร้อยละ 33.74 ระบุว่า มีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องค่อนข้างมาก ร้อยละ 7.62 ระบุว่า ไม่ค่อยมีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ร้อยละ 16.68 ระบุว่า ไม่มีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องเลย และร้อยละ 13.86 ระบุว่า ไม่ทราบ/ ไม่ตอบ/ไม่สนใจ หากจะโฟกัสตัวเลขที่ประชาชนเชื่อว่ามีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องกับการ
กระจายวัคซีนที่มีถึง ร้อยละ 61.8

ถือเป็นตัวเลขที่พรรคการเมืองที่อยู่ในฝ่ายบริหารจะมองข้ามไม่ได้ เพราะถ้าประชาชนเชื่อว่ามีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องว่าพื้นที่นั้นได้วัคซีน แต่อีกพื้นที่กลับไม่ได้

โดยมีการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้อง ยิ่งเป็นเรื่องที่กระทบต่อชีวิต ปากท้องและความอยู่รอดของประชาชน ระวังเลือกตั้งครั้งหน้า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเขาจะให้บทเรียนกับผู้ทรงเกียรติ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image