เดินหน้าชน : เจ็บแล้วใครจบ?

เดินหน้าชน : เจ็บแล้วใครจบ?

เดินหน้าชน : เจ็บแล้วใครจบ?

ยอดติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และตัวเลขผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด ระลอก 3 เข้าสู่ระลอก 4 แต่ละวันยอดติดเชื้อพุ่งเกินครึ่งหมื่น

ขณะที่ตัวเลขผู้เสียชีวิตแต่ละวันเฉียดหลักร้อยคน จนมียอดสะสมผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทย ณ วันที่ 13 กรกฎาคม อยู่ที่ 324,849 คน

มีผู้ป่วยที่ต้องรักษาตัวอยู่ทั้งในโรงพยาบาลหลักและโรงพยาบาลสนาม จำนวน 95,466 คน จนส่งผล
กระทบต่อระบบสาธารณสุข

Advertisement

ทั้งการจัดสรรบุคลากรการแพทย์มาดูแลผู้ป่วย การบริหารเตียงผู้ป่วยกลุ่มสีแดงที่มีอาการหนักต้องรักษาอยู่ในห้องไอซียูและใช้เครื่องช่วยหายใจ จำนวน 2,895 คน

ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ จนส่งผลวิกฤตต่อระบบสาธารณสุข อาจถึงขั้นสุดท้ายที่แพทย์ทุกคนไม่อยากจะทำ คือ ต้องเลือกว่าจะให้ใครอยู่รอด

สุดท้ายเมื่อไม่มีทางเลือกอื่น รัฐบาลจึงต้องเลือกแนวทางใช้เรื่องสาธารณสุขมาเป็นตัวตัดสินใจ คือ การล็อกดาวน์และเคอร์ฟิวพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล รวมทั้ง 4 จังหวัดชายแดนใต้

Advertisement

ตั้งแต่วันที่ 12 กรฎาคมเป็นต้นไป เป็นเวลา 14 วัน เพื่อหยุดตัวเลขการติดเชื้อใหม่ ไม่ให้บุคลากรการแพทย์หน้าด่านและเป็นปราการด่านสุดท้ายของประชาชนต้องพังทลาย

คำถามที่ตามมาจากทุกกลุ่ม ทุกฝ่าย คือ การล็อกดาวน์ในครั้งนี้จะช่วยให้สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยทุเลา เบาบางลงได้หรือไม่

ตามคำพูดของหลายฝ่ายที่เรียกร้องว่า “เจ็บแต่จบ” ได้จริงหรือไม่ แต่สิ่งที่รัฐบาลต้องทำและสื่อสารความจริงกับประชาชน

คือ มาตรการเยียวยาให้กับภาคประชาชน ที่ไม่ได้มีรายได้ประจำเหมือนกับผู้ออกและกำหนดนโยบายมาบังคับใช้กับประชาชน

เพราะต้องไม่ลืมว่า ยังมีประชาชนหลายล้านคนที่ไม่ได้มีรายได้ประจำ ที่ถึงสิ้นเดือนแล้วได้รับเงินเดือนตรงเป๊ะ รายได้ไม่เคยลด (นอกเสียจากสละเงินเดือน 3 เดือน)

แต่ประชาชนที่ไม่มีเงินเดือนประจำ นอกจากจะต้องปฏิบัติตามคำสั่งล็อกดาวน์ ตามที่กฎหมายกำหนด มีแต่รายได้ที่หายไป ส่วนหนี้สินที่มีกลับอยู่เป็นประจำ

และแนวโน้มจะเพิ่มมากยิ่งขึ้น ทางรัฐบาลจะมีมาตรการเยียวยาพวกเขาแค่ไหน อย่างไร นั่นคือสิ่งที่ ประชาชนรอคอย “คำตอบ” จากรัฐบาลที่จะกำหนดนโยบายออกมา

จริงอยู่ ในสภาพความเป็นจริงประชาชนทุกคนต่างยอมรับได้ถึงสภาพการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศไทย

ที่เจอวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 มาตั้งแต่ระลอกที่ 1 แต่สิ่งที่ประชาชนอดสงสัยไม่ได้ว่า การแก้ปัญหาของรัฐบาล ทั้งเรื่องการจัดหา จัดสรรวัคซีน

ที่ยังมีคำถามและข้อกังขาในหลายประเด็น ขณะที่มาตรการเยียวยาทั้งการจ่ายเงินให้กับประชาชน ผ่านสารพัดโครงการชนะ แต่เมื่อหยุดการแพร่ระบาดใหม่ไม่ได้

เงินที่จะเยียวยาอัดเข้าไปเท่าใดก็คงไม่พอ เพราะแหล่งเงินที่จะใช้เยียวยาก็มาจากเงินกู้ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะต้องกู้กันอีกเท่าใดถึงจะฟื้นเศรษฐกิจจากวิกฤตโควิดได้

คำถามที่ประชาชนตาดำๆ อยากรู้ คือ เมื่อใดจะเจ็บแล้วจบจริงๆ เสียที เพราะถ้าผู้มีอำนาจยังบริหารกันแบบที่ต้องเจ็บแล้วเจ็บอีก

คนที่จะจบก่อนใครอื่น คงหนีไม่พ้นประชาชนอย่างเราๆ ท่านๆ เป็นแน่

จตุรงค์ ปทุมานนท์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image