เดินหน้าชน : ใส่หน้ากากในบ้าน

เรื่องของการสวมใส่หน้ากากอนามัยในบ้านเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ถูกตอกย้ำอีกครั้งท่ามกลางสถานการณ์การแพร่เชื้อที่พบว่าคนติดเชื้อมาจากคนในบ้านด้วยกัน นั่นหมายถึงต้องมีคนในบ้านออกไปข้างนอกแล้วรับเชื้อนำมาแพร่ต่อในบ้าน

ในบ้านส่วนใหญ่มักจะมีเด็ก ผู้ใหญ่ คนแก่ หรือไม่ก็ผู้ป่วยติดเตียง

กลุ่มเหล่านี้ ถ้าถูกแพร่เชื้อจะได้รับเชื้อแบบเต็มๆ ไม่มีอะไรป้องกัน หลายบ้านยังเชื่อกันว่า จะหนีโควิดก็ต้องอยู่ในบ้านนับว่าปลอดภัยที่สุด โดยลืมนึกถึงรูรั่วที่เกิดขึ้น

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย พูดมามากกว่า 1 ครั้งในเรื่องนี้ ล่าสุดบอกว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เกิดเป็นวงกว้างทั้งในเขตกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และต่างจังหวัด เดิมจะเน้นสวมใส่หน้ากากเมื่อออกจากบ้าน ปัจจุบันกลับพบผู้ติดเชื้อจากการสัมผัสสมาชิกในครอบครัวหรือเกิดกับผู้ใกล้ชิดเพิ่มมากขึ้น

Advertisement

ฐานข้อมูลการเฝ้าระวังตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน-14 สิงหาคม 2564 พบว่า กลุ่มเด็กปฐมวัยติดเชื้อในครอบครัว ร้อยละ 60 วัยเรียนติดเชื้อในครอบครัว ร้อยละ 53 และผู้สูงอายุติดเชื้อในครอบครัวร้อยละ 46

นพ.สุวรรณชัยจึงเน้นวรรคต่อมาว่า “จำเป็นต้องยกระดับมาตรการป้องกันโควิด-19 ขั้นสูงสุด (Universal Prevention) ด้วยการสวมหน้ากากในบ้านให้เพิ่มมากขึ้น”

ข้อมูลอนามัยโพลล่าสุดพบว่า ครอบครัวไม่มีการประเมินความเสี่ยงของทุกคนที่มาจากนอกบ้านร้อยละ 73 ส่งผลให้มีความกังวลต่อการแพร่เชื้อในบ้านร้อยละ 69 เมื่อถามถึงการสวมหน้ากากในบ้านพบว่า ส่วนใหญ่เห็นด้วยและคิดว่าทำได้เพียงร้อยละ 55

แรกๆ หลายบ้านอาจจะไม่คุ้นที่ต้องสวมหน้ากากกันในบ้าน หรือเมื่อต้องมาร่วมทำกิจกรรมเหมือนที่เคยชิน เช่น นั่งดูทีวีห้องเดียวกัน กินข้าวร่วมกัน ใช้ห้องน้ำห้องเดียวกัน ในสถานการณ์เช่นนี้ อาจจะต้องยอมทำตามที่หมอบอกเรื่องการดูแลทั้งตัวเองและผู้อื่นในครอบครัวไปเช่นนี้ก่อน ทั้งการแยกกันกิน หรือถ้าเลี่ยงที่จะนั่งอยู่รวมกันในการดูทีวีหรือพูดคุยกัน ก็ต้องสวมใส่หน้ากากอนามัย ห้องน้ำก็ต้องดูแลความสะอาดให้มากขึ้น อุปกรณ์ต่างๆ ในบ้านที่ใช้ร่วมกัน ทั้งเปิดตู้เย็น ไมโครเวฟ ลูกบิดประตูห้อง ก็ต้องมีการทำความสะอาดฆ่าเชื้อ

หมอแจกแจงให้ฟังแล้ว ก็มีเหตุผลที่น่าสนใจและน่าจะทำตามกันได้

ถ้าดูแลครอบครัวด้วยความเข้าใจต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิดเช่นนี้ จะช่วยห่างไกลเชื้อที่จะหลุดเข้ามาในบ้าน

ในทางตรงกันข้าม หากการ์ดตกไม่คิดรัดกุม ยังคิดว่าบ้านปลอดภัยที่สุด จากข่าวจะพบว่ามีหลายบ้านน่าสงสารมาก เมื่อมีการติดเชื้อแพร่ในครอบครัว บางครอบครัวอาจเกิดการสูญเสียคนในบ้าน คนที่ติดเชื้อต้องถูกจับแยกไปรักษาตัวหมด บ้านไหนที่มีฐานะยากจนก็ยิ่งมีปัญหาตามมา ที่สำคัญ ระบบการดูแลผู้ป่วยติดเชื้อโควิดของภาครัฐก็ไม่สามารถจะรองรับได้รวดเร็วทันทีที่เรารู้ผลว่าป่วย ผู้ป่วยแต่ละวันก็มีทุกวัน ผู้ป่วยเก่าก็ยังรักษาตัวอีกเป็นแสน หลายรายกว่าจะเข้าถึงการรักษา ปอดก็เสียหายไปมากแล้ว บางรายก็ต้องจบชีวิตลง

ยังดีที่พบว่าหลายครอบครัวต่างก็ตระหนัก ปฏิบัติดูแลทุกคนในบ้านด้วยความห่วงใยและรับผิดชอบ การสวมใส่หน้ากากช่วยสร้างความอุ่นใจได้มากขึ้น มีจำนวนเด็กนักเรียนที่นั่งเรียนออนไลน์ที่บ้านที่อายุไม่ถึง 18 ปี ทั้งเด็กเล็กและทารก รวมทั้งผู้ป่วยติดเตียงอีกเป็นล้าน ต่างก็แทบยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนแม้แต่เข็มเดียว

ภาพรวมของประชากรในประเทศไทยที่รับวัคซีนป้องกันโควิดไปแค่ประมาณ 27% เท่านั้น

การสวมใส่หน้ากากในบ้านไม่สามารถไปบังคับใครได้ แต่การที่หมอออกมาเตือนและแนะนำก็คือการช่วยถอดสลักระเบิดเวลาในบ้าน การป้องกันตัวเองตั้งแต่ในบ้านจึงนับว่าดีที่สุดแล้วในเวลานี้

เสกสรรค์ กิตติทวีสิน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image