คอลัมน์เดินหน้าชน : ‘หลุมดำ’ 7 ปี

คอลัมน์เดินหน้าชน : ‘หลุมดำ’ 7 ปี

คอลัมน์เดินหน้าชน : ‘หลุมดำ’ 7 ปี

อังเกลา แมร์เคิล ปิดฉากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 16 ปีของเยอรมนี ด้วยการไม่ลงสมัครชิงเก้าอี้นายกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่ 5 ในการเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 26 กันยายนที่ผ่านมา
ในฐานะนักการเมือง หากจะมีใครสักคนที่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชน จนสามารถครองตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่มาจากการชนะเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยถึง 16 ปี โดยไร้ข้อครหาหรือถูกกังขาในเรื่องการทุจริตมายาวนานขนาดนี้นับเป็นเรื่องยากเกินกว่าใครจะคาดถึง

แมร์เคิล เป็นผู้นำที่ตรงไปตรงมาและเอาจริงเอาจัง มีความน่าเชื่อถือ ถูกวิพากษ์วิจารณ์มาโดยตลอดว่า ไม่มีวิสัยทัศน์ แต่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งรู้ดีว่า พวกเขาจะได้อะไรจากเธอ

เส้นทางการเมืองของแมร์เคิล ซึ่งเป็นนักฟิสิกส์ จบระดับปริญญาเอกด้านควอนตัมเคมี ถูกคนเยอรมันจำนวนมากมองว่า ไม่ประสีประสา ขาดประสบการณ์ทางการเมือง อีกทั้งดูไม่มีเสน่ห์ เพราะมีบุคลิกภาพเป็นอาจารย์นักวิชาการมากกว่านักการเมือง

Advertisement

แต่ในฐานะนักฟิสิกส์ จึงให้ความสำคัญกับแนวทางที่มีพื้นฐานมาจากข้อเท็จจริง

แต่ 16 ปี ได้พิสูจน์ฝีมือนำพาประเทศฝ่าฟันวิกฤตการณ์ต่างๆ จนได้รับการยกย่องในฐานะ ‘หญิงเหล็ก’ ผู้สร้างประวัติศาสตร์และเป็นตำนานการเมืองของเยอรมนี

แมร์เคิล เปลี่ยนการเมืองเยอรมนีให้เป็นการอภิปรายกันเรื่องนโยบายแทนที่จะเป็นเรื่องการเมือง ซึ่ง 3 ปีแรกที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ต้องเผชิญกับศึกหนัก ความท้าทายใหญ่หลวงที่สุดจากวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2551 ที่สั่นสะเทือนเศรษฐกิจของยุโรป

Advertisement

แต่ในฐานะผู้นำ สามารถคัดท้ายพาประเทศเยอรมนีให้รอดพ้นจากการล้มละลายทางเศรษฐกิจได้แล้ว และยังเป็นหัวหอกสำคัญของการตอบโต้วิกฤตหนี้สาธารณะยุโรป หรือที่เรียกกันว่า ‘วิกฤตยูโรโซน’ ซึ่งเกิดขึ้นในประเทศสมาชิกยุโรปหลายประเทศที่เริ่มขึ้นตั้งแต่สิ้นปี 2552 ซึ่งทำให้กรีซ โปรตุเกส ไอร์แลนด์ สเปน และไซปรัส ที่รัฐบาลก่อหนี้สาธารณะเป็นสัดส่วนที่สูง มีอัตราหนี้สินต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) เกินกว่า 100% ต้องเผชิญการล้มละลายทางเศรษกิจ

แมร์เคิล บริหารประเทศในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน สถานการณ์โลกเต็มไปด้วยปัญหานานัปการ อาทิ ความวุ่นวายในโลกอาหรับ ที่เกิดการปฏิวัติโค่นล้มผู้นำเผด็จการ ที่เรียกว่า อาหรับ สปริง, ความขัดแย้งรุนแรงในลิเบีย,สงครามกลางเมืองในซีเรีย, วิกฤตยูเครน, วิกฤตผู้ลี้ภัยที่หลั่งไหลมายังยุโรป, การแพร่หลายของลัทธิประชานิยม, ความขัดแย้งกับรัฐบาลสหรัฐ ภายใต้การนำของโดนัลด์ ทรัมป์ สถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 และล่าสุดการถอนกำลังทหารสหรัฐ และองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ออกจากอัฟกานิสถาน

นับเป็นโชคดีของคนเยอรมันที่ได้ “อังเกลา แมร์เคิล” มาเป็นผู้นำ

หันมามองประเทศไทย ประเทศเล็กๆ บนแผนที่โลก แม้ไม่ได้มีอิทธิพลบนเวทีโลก หากเราโชคดีได้ผู้นำที่ดี มีวิสัยทัศน์ สร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนว่าจะฝ่าฟันวิกฤตการเมือง เศรษฐกิจ หรือโรคระบาดโควิด-19 ที่กำลังกัดกร่อนประเทศให้ผ่านไปได้

แต่นับเป็นฝันร้ายของประเทศ ที่ตกอยู่ในหลุมดำมานานกว่า 7 ปี เพราะนับตั้งแต่ผู้นำชื่อ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เข้ามาบริหารประเทศ นับตั้งแต่ปี 2557

สะท้อนได้จากวิกฤตเศรษฐกิจ ที่กำลังกัดกร่อนประเทศผ่านตัวเลขหนี้สาธารณะ ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากการยึดอำนาจ ตัวเลขหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในปี 2563 เมื่อรัฐบาลออก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท เพื่อแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 โดยหนี้สาธารณะอยู่ที่ 7,848,155.88 ล้านบาท คิดเป็น 49.35% จากที่ปี 2562 หนี้สาธารณะอยู่ที่ 6,901,801.55 ล้านบาท คิดเป็น 41.04% ปัจจุบันหนี้สาธารณะอยู่ที่ 8,909,063.78 ล้านบาท คิดเป็น 55.59% ต่อจีดีพี

ในที่สุดรัฐบาลจำเป็นต้องแก้ไขพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 เพื่อปรับตัวเลขเพดานหนี้สาธารณะจากร้อยละ 60 เป็นร้อยละ 70 เปิดช่องให้รัฐบาลก่อหนี้ได้เพิ่มขึ้นเพื่อนำเงินมาแก้วิกฤต

7 ปีที่ผ่านมา ผมไม่แปลกใจภาวะผู้นำและวิสัยทัศน์ขอนายกฯคนนี้ ที่แนะนำให้ประชาชนช่วยกันสวดมนต์ เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม

แต่ผมรู้สึกสงสารประเทศ เพราะพวกเราโชคร้ายเกินไป วนเวียนอยู่ใน “หลุมดำ” มานานกว่า 7 ปีแล้ว

โกนจา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image