เดินหน้าชน : การเมืองไม่ผ่อนคลาย

คอลัมน์เดินหน้าชน : การเมืองไม่ผ่อนคลาย โดย ศุกร์ มังกร

หลายๆ สิ่ง หลายๆ อย่างกำลัง “ผ่อนคลาย” ไปในทางที่ดีขึ้น หลังจากต้องทนอยู่กับสภาวะ “ต้องห้าม” อันเนื่องมาจากวิกฤตการณ์โควิดระบาดเป็นเวลานาน

ตั้งแต่ 1 พฤศจิกายนเป็นต้นไป จะ “เปิดประเทศ” ให้นักท่องเที่ยวจาก 46 ประเทศ เดินทางมาประเทศไทยได้โดยไม่ต้องกักตัว

ลดเวลาเคอร์ฟิวจากเดิม 22.00-04.00 น. เป็น 23.00-03.00 น.

สำหรับการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้าน ให้รอไปถึง 1 ธันวาคม

Advertisement

ยังไม่ทันจะถึง 1 พฤศจิกายน การเดินทางท่องเที่ยวในช่วง “เทศกาลวันหยุด” ที่ผ่านมาเริ่มคึกคักขึ้นแล้ว

และมีทีท่าจะ “คึกคัก” มากขึ้นในเดือนพฤศจิกายน ต่อเนื่องจนถึงเดือนธันวาคม และต้อนรับปีใหม่ 2565

ร้านอาหารประเภทต่างๆ เริ่ม “ปวดหัว” กับ “ข้อห้าม” ไม่ให้ขายเครื่องดื่มที่มี “แอลกอฮอล์” เพราะ “ลูกค้า” มานั่งกินอาหารกับเพื่อนฝูง หรือแม้แต่กับครอบครัวก็ต้องการจะดื่มกิน

Advertisement

แต่ “เจ้าของร้าน” ก็กล้าๆ กลัวๆ ซึ่ง “ใจจริง” ก็อยากจะขายเพราะเกือบ 2 ปีมานี้ธุรกิจเดือดร้อนหนัก

พอจะกระเตื้องได้สักนิดก็ยังเจอกับข้อห้ามที่ดูจะไร้เหตุผล?!

การห้ามกินเหล้า กินเบียร์ จิบไวน์ (ไม่เกินกำหนดที่จะกระทบต่อการขับขี่ยานพาหนะ) มันเกี่ยวอะไรด้วย!?

ปัญหานี้จะทำกันอย่างไร?

หรือว่าจะให้ทน-ทนไปอีกเดือนกว่าๆ

หากการผ่อนคลายนี้นำไปสู่การใช้ชีวิตได้เป็นปกติ การพลิกฟื้นประเทศเริ่มต้นกันเสียที

ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน นิสิต นักศึกษา ไปเรียนหนังสือที่โรงเรียน มหาวิทยาลัย

คนมีงานทำ พ่อค้าแม่ค้าขายของได้ มีรายได้เข้ามาใช้จ่ายจุนเจือครอบครัว

เจ้าของกิจการขนาดเล็ก ขนาดกลาง “เงยหน้า-อ้าปาก”มีเงินมาใช้หนี้ใช้สิน ฯลฯ

ก็ถือเป็นเรื่องที่ดี!?

แต่การเมืองดูเหมือนไม่ผ่อนคลาย แม้สภาพการณ์จะดูเงียบๆ ไม่มีอะไรน่าตื่นเต้นก็ตาม

ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ไปจนถึง 28 กุมภาพันธ์ปีหน้าเป็นช่วงที่สภาเปิดสมัยประชุม

แม้ “ฝ่ายค้าน” จะหมดสิทธิเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ เพื่อลงมติ “ไว้วางใจ” หรือ “ไม่ไว้วางใจ”!

แต่ฝ่ายค้านก็เปิดอภิปรายทั่วไปเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน โดยไม่ต้องลงมติ ซึ่งเป็น “อาวุธ” อย่างหนึ่งในการทำหน้าที่ “ควบคุม-ตรวจสอบ” รัฐบาล

จะ “เข้มข้น” หรือ “จืดชืด” แค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับ “เนื้อหา-สาระ” ของสิ่งที่จะนำมาอภิปราย?!

และการตอบ “ชี้แจง” ของนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีที่รับผิดชอบในเรื่องนั้นจะเป็นอย่างไร?

แต่สิ่งที่ “นายกฯ” และ “คณะรัฐมนตรี” คงไม่สบายใจนักในการประชุมสภาเพื่อพิจารณาเรื่องต่างๆ เห็นจะเป็น

หนึ่ง จะมี ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลมาเข้าร่วมเกินครึ่งหนึ่งจนครบองค์ประชุมได้หรือไม่?

หนึ่ง การโหวตเสียงลงมติในวาระต่างๆ จะต้องไม่แพ้ฝ่ายค้าน

ถ้าเสียง ส.ส.รัฐบาลโหวตแพ้ในเรื่องสำคัญ ตามธรรมเนียมปฏิบัติที่ยึดถือกันตลอดมา

นั่นคือ “นายกฯ” ต้อง “ลาออก” หรือ “ยุบสภา”!?

การพ้นสภาพ (ไล่ออก) จากตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ของ “ผู้กองนัส” ร.อ.ธรรมนัสพรหมเผ่า และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน ของ “อาจารย์แหม่ม” ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ทาง “บิ๊กตู่” จะเอายังไง จะปล่อยให้ “คาราคาซัง” อย่างนี้หรืออย่างไร?!

การนิ่งดูดาย “ซุก” ปัญหา 2 เก้าอี้ที่ว่างไว้ “ใต้พรม” เช่นนี้ บิ๊กตู่มั่นใจใช่ไหมว่าจะไม่เกิด “แรงกระเพื่อม” ในการ “โหวตเสียง” ในสภา!

อย่าลืมว่า เหตุที่ “รัฐสภาล่ม” 2 ครั้ง 2 ครา “ส่งท้าย” ก่อนปิดสมัยประชุมที่ผ่านมา ทั้งๆ ที่ ส.ส.รัฐบาลมีมากกว่าฝ่ายค้านหลายเสียง

นั่นเป็นเพราะอะไร!?!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image