เดินหน้าชน : หาเงินให้เก่ง

คอลัมน์เดินหน้าชน : หาเงินให้เก่ง โดย สุรพล สุประดิษฐ์ ณ อยุธยา

ดูเหมือนสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย แม้ตัวเลขผู้ติดเชื้อจะยังมีวันละหลายพันราย แต่ตัวเลขผู้เสียชีวิตก็มี
แนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง

การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจกำลังค่อยเผยอขึ้นทีละน้อย หลายกิจการเปิดให้บริการได้มากขึ้น แต่กำลังซื้อยังคงแผ่ว

ปัญหาตอนนี้ของผู้คนคือ เงินในกระเป๋าไม่สมดุลกับภาระค่าใช้จ่าย นับวันขยับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

สินค้าราคาแพง ไม่ใช่เฉพาะสินค้าสำคัญในชีวิตประจำวัน

Advertisement

ทั้ง น้ำมันรถ น้ำมันพืช พืชผัก

แต่ยังลุกลามไปถึงวัตถุดิบเพื่อการผลิต ทั้งปุ๋ย วัสดุก่อสร้าง เหล็ก ปูน กอดคอกันพาเหรดขึ้นราคากันเป็นแถว

กระทบราคาสินค้า จ่อขยับขึ้นไปตามๆ กัน เพราะทุกอย่างคือต้นทุนในการผลิต

Advertisement

เมื่อค่าใช้จ่ายในการใช้ชีวิตยังติดๆ ขัดๆ หากรัฐบาลไม่เร่งแก้ปัญหา

จะกระทบกับประชาชนอย่างหนัก เรียกได้ว่า “โดนหลายเด้ง”

ทั้งผลกระทบจากมหันตภัยโควิด จากน้ำท่วม พอสถานการณ์เริ่มจะคลี่คลาย

กลายมาเป็นต้องเจอกับสภาวะค่าครองชีพถีบตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยต้องระมัดระวังสถานการณ์ “เงินเฟ้อ” ให้ดี

เพราะดูแนวโน้มแล้ว มีโอกาสเป็นไปได้เมื่อลองศึกษาดูจากสถานการณ์ในหลายๆ ประเทศ

หากไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ สิ่งสำคัญคือจะต้องส่งสัญญาณให้เร็วและชัดเจน

เพื่อให้ทุกภาคส่วนเตรียมรับ “แรงกระแทก” ได้ทัน

ไม่เช่นนั้นอาจได้เห็นธุรกิจต่างๆ ล้มหายตายจาก กลายเป็นปัญหาสังคม ซ้ำเติมวิกฤตหนักกันไปอีก

ตอนนี้มีปัญหามากมาย ถาโถมเข้าใส่ประชาชน โดยเฉพาะปัญหาด้านเศรษฐกิจ เรื่องปากเรื่องท้อง

เมื่อโควิดคลี่คลาย การกลับมาใช้ชีวิตคล้ายเดิม แต่ไม่เหมือนเดิม

เพราะยังต้องป้องกันโควิด ทำให้ต้นทุนค่าใช้จ่ายการใช้ชีวิตเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอุปกรณ์ป้องกันต่างๆ

เมื่อต้องกลับไปใช้ชีวิตเหมือนเดิม ไปทำงานเหมือนเดิม ไปโรงเรียนเหมือนเดิม เดินทางเหมือนเดิม

แต่ต้นทุนการใช้ชีวิตกลับไม่เหมือนเดิม มีภาระสูงขึ้น ราคาสินค้าแพงขึ้น

ขณะที่รัฐบาลมีเงินตุนไว้รับมือร่อยหรอลงไปทุกที แต่ยังมีปัญหาอีกมากมายต้องใช้เงินอีกมหาศาล

ทั้ง ปัญหาน้ำมันแพง ปัญหาราคาข้าวตกต่ำอย่างหนัก ต้องหาเงินมาช่วยเหลือชาวนาที่โดนเคราะห์ซ้ำกรรมซัด

จากโควิดมาถึงน้ำท่วม ต้องหาเงินมาช่วยเยียวยาผู้ประสบภัย

และยังมีภาคธุรกิจอีกมากมายยังอาการโคม่า ต้องเร่งช่วยเหลือโดยเร็ว

ดังนั้น เมื่อมีข้อจำกัดมากมายในการหางบประมาณมาช่วย

รัฐบาลจึงจำเป็นต้องหันไปเร่งเรื่องการหารายได้ หาเงินจากสถานการณ์หลายประเทศทั่วโลกกำลังฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วหลังโควิด

“กระโดดเกาะ” รถเที่ยวแรกนี้ให้ทัน

รายได้จะมาจากไหนบ้าง มีเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจไม่กี่ตัว สร้างรายได้ให้กับประเทศ

หลักๆ มี 4 ตัว ได้แก่ 1.ภาคการท่องเที่ยว 2.ภาคการส่งออก 3.การบริโภค และ 4.การลงทุน

การเปิดประเทศเป็นนิมิตหมายที่ดี เครื่องยนต์ตัวแรก การท่องเที่ยวเริ่มขยับแล้ว หลังจาก “โดนน็อก” ไปเกือบ 2 ปี

การส่งออกเป็นความหวัง ระยะนี้เงินบาทอ่อนค่า เอื้อต่อการส่งออก เพียงแต่รัฐบาลต้องกำหนดกลยุทธ์ช่วงชิงตลาดให้แม่นและรวดเร็ว

ส่วนการบริโภคในประเทศ รัฐบาลต้อง “อย่าแผ่ว” ทยอยออกมาตรการฟื้นฟูและช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาให้ต่อเนื่องเข้าไว้

เพราะทุกคนยังซมกับ “พิษไข้โควิด” ยังมีอีกหลายธุรกิจ ผู้คนอีกจำนวนมาก

ยังไม่สามารถหาเลี้ยงปากเลี้ยงท้องเลี้ยงครอบครัวได้

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะต้องเร่งขันนอตหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง “เร่งเต็มสูบ”

เร่งเครื่องยนต์ทั้ง 4 ตัว ไปพร้อมๆ กัน อย่าให้เครื่องใดเครื่องหนึ่งแผ่ว

มั่นใจได้เลยว่า ประเทศไทยฟื้นตัวเร็วแน่นอน เพราะพื้นฐานด้านเศรษฐกิจของเราแข็งแกร่งอยู่แล้ว

สถานการณ์ในขณะนี้ จะเป็นบทพิสูจน์ว่า รัฐบาลมีฝีมือในการบริหารประเทศแค่ไหน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image