เดินหน้าชน : ‘โควิด’ท้ายปี โดย เสกสรรค์ กิตติทวีสิน

คอลัมน์เดินหน้าชน : ‘โควิด’ ท้ายปี โดย เสกสรรค์ กิตติทวีสิน

มติที่ประชุมใหญ่ของ ศบค.หรือศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
(โควิด-19) ครั้งที่ 18/2564 เมื่อ 11 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ยังคงไม่ให้เปิดสถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ ต้องปิดตายต่อไปจนถึงกลางเดือนมกราคมปีหน้า

ด้วยเหตุผลยังคงเหมือนที่ผ่านมา เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุขแสดงข้อกังวลทั้งในเรื่องการระบายอากาศ พื้นที่ใกล้ชิด และความแออัด

โดยมีการตั้งทีมประเมินจัดทำมาตรการความพร้อมในช่วงระหว่างนี้ เพื่อให้เปิดได้จริงในวันที่ 16 มกราคม 2565 เป็นต้นไป

เท่ากับเป็นการดับฝันผู้ประกอบการอย่างที่สื่อพาดหัวกันอีกครั้ง เพราะเคยมีความพยายามมาหลายครั้งแล้วที่จะขอเปิดโดยมีมาตรการการควบคุมดูแลเพื่อให้เกิดความปลอดภัย ห่างเชื้อ ห่างโรค แต่สุดท้าย ภาครัฐยังไม่โอเค

Advertisement

เพราะไม่ต้องการให้เกิดเหมือนคลัสเตอร์ทองหล่อเมื่อช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา จุดเริ่มต้นจากนักเที่ยวและพนักงานในร้าน แม้จะมีความพยายามในการตัดไฟแต่ต้นลม หลังพบเชื้อโควิดเริ่มกระจาย ด้วยการปิดร้านที่พบติดเชื้อและสั่งให้ทำความสะอาดฆ่าเชื้อ การไล่ตรวจคัดกรองผู้มีความเสี่ยง แต่สุดท้ายเชื้อจากทองหล่อก็กระจายไปทั่วประเทศในเวลาต่อมา

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. แถลงเมื่อ 8 เมษายน 2564 ระบุในครั้งนั้นว่า “การติดเชื้อในสถานบันเทิงพื้นที่ กทม.ไม่ใช่เพิ่งเกิด แต่เคยมีมาแล้วช่วงต้นปี 2564 ในสถานบันเทิงย่านปิ่นเกล้า ครั้งนี้มาอีกกลุ่มที่ย่านทองหล่อ เหตุที่ยอดพุ่งสูงเพราะพื้นที่เหล่านั้นเป็นพื้นที่ปิด มิดชิดอับ ทำให้ติดเชื้อได้ง่าย”

เป็นเหตุผลเดียวกับที่มติ ศบค.ล่าสุด ยังไม่ยอมเปิดไฟเขียวให้เปิดสถานบันเทิงเหล่านี้

Advertisement

หมอทวีศิลป์ยังกล่าวด้วยว่า “ข้อสังเกตของการระบาดรอบนี้ส่วนใหญ่เป็นสถานบริการในรูปแบบเลานจ์ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวกลางคืนที่หรูดูดี เน้นลูกค้าที่มีระดับ ราคาแพง ลูกค้าเมมเบอร์เป็นหลัก มีเด็กนั่งดริงก์ ย่านที่พบการระบาดเป็นกลุ่มก้อนมีร้านประเภทเดียวกันตั้งอยู่ติดกัน”

ดังนั้น เป็นที่เข้าใจว่า หากจะเปิดอีกครั้ง สถานที่เหล่านี้คงต้องปรับเปลี่ยนตกแต่งร้านใหม่กันใหม่เลยทีเดียว แค่จะจัดโต๊ะกินดื่มอย่างไรไม่ให้แออัด การปรับระบบระบายอากาศ การจัดเตรียมพนักงานทุกระดับภายในร้าน แต่นั่นคงไม่ใช่ปัญหาหนักมากกว่าการขอโอกาสเปิดกิจการ ที่่ผ่านมาหลายเจ้าถอดใจกันไปแล้ว เพราะยิ่งปิดยาวเท่ากับกิจการเจ๊ง

วันนี้ต้องพบกันที่จุดกึ่งกลางระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐที่เป็นฝ่ายอนุมัติกับสถานประกอบการที่ต้องปฏิบัติตามให้ได้ทุกข้อ

ที่สำคัญ ศบค.พร้อมจะเปิดให้ในวันที่ 16 มกราคม 2565 นั้น ไม่ได้พร้อมเปิดให้ทุกพื้นที่ แต่จะคัดเฉพาะพื้นที่เฝ้าระวังสูงและพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยวที่มีความร่วมมือสูง

กว่าจะถึงวันที่ 16 มกราคม ดังกล่าว เป็นช่วงเวลาที่ผ่านเทศกาลลอยกระทง คริสต์มาส ส่งท้ายปีเก่า และเที่ยววันหยุดยาว ที่มีการเดินทางไปมาทั่วประเทศ ทั้งทางบกและอากาศ ทั้งนักท่องเที่ยงต่างประเทศและคนในประเทศ จะเชื่อมโยงกับจำนวนผู้ติดเชื้อ ผู้เสียชีวิต จำนวนผู้ที่มีอาการป่วยด้วยโรคปอดอักเสบและผู้ป่วยที่ใส่ท่อช่วยหายใจ มีเพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหน

ปัจจัยอีกมากมายก็ยังต้องนำมาประเมินเหมือนทุกครั้ง

ที่ยังสบายใจกันเป็นเรื่องของผู้ที่ฉีดวัคซีนในประเทศทุกเข็มก็คงเกิน 100 ล้านโดสไปแล้ว เมื่อถึงเวลานั้น จากที่รัฐบาลตั้งเป้าไว้ในสิ้นเดือนพฤศจิกายนนี้จะฉีดครบ 100 ล้านโดส และยังมีตัวยารักษาผู้ป่วยติดเชื้อโควิดที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดความรุนแรงของเชื้อไม่ถึงขั้นต้องนอนยาวในโรงพยาบาล

ฝันร้ายที่ร้ายลึกของประเทศไทยและทั่วโลกเพราะเชื้อโควิดหลายสายพันธุ์จะจางลงได้เป็นแค่โรคติดต่อตามฤดูกาล ก็อยู่ที่แต่ละคนที่ก้าวแรกออกจากบ้านจะดูแลตัวเองอย่างไรให้ปลอดภัย แม้จะฉีดวัคซีนถึงเข็ม 3 และเข็ม 4 หรือมีภูมิคุ้มกันหมู่เกิดขึ้นมากมายแล้วก็ตาม โอกาสติดเชื้อไวรัสโควิดก็ยังเกิดขึ้นได้อยู่เสมอ

ถึงเวลาที่ทุกคนต้องช่วยกันแล้วจริงๆ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image