เดินหน้าชน : ระวังพลาดเป้า โดย นายด่าน

คอลัมน์เดินหน้าชน : ระวังพลาดเป้า โดย นายด่าน

ปัญหาประชาชนกว่า 8 ล้านคน ที่ยังไม่เข้ารับการฉีดวัคซีนไวรัสโควิด-19 จะด้วยเหตุผลส่วนตัว หรือจะด้วยความลังเล ความหวาดกลัวในผลข้างเคียง น่าจะทำให้เป้าหมายการฉีดวัคซีนครบ 100 ล้านโดสภายในเดือนพฤศจิกายน ไม่เป็นไปตามที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ออกมาประกาศไว้ในช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา และอาจจะส่งผลต่อเป้าหมายการฉีดวัคซีน เข็มที่ 1 ให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 80 และเข็ม 2 อย่างน้อยร้อยละ 70 ภายในเดือนธันวาคมนี้ด้วย

ขณะที่ข้อมูลการฉีดวัคซีนสะสมตั้งแต่ 28 กุมภาพันธ์ ถึง 19 พฤศจิกายน รวม 88,559,257 โดส แบ่งเป็น เข็มที่
1 สะสม 46,552,575 ราย เข็มที่ 2 สะสม 38,999,496 ราย เข็มที่ 3 สะสม 2,998,732 ราย และเข็มที่ 4 สะสม 8,454 ราย

โดยยอดเข้ารับการฉีดวัคซีนเฉลี่ยในแต่ละวันเริ่มอยู่ในอัตราที่ลดลง ไม่สูงเหมือนช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะการฉีดวัคซีนในเข็มแรก ค่าเฉลี่ยวันละ 1 แสนกว่าคนเท่านั้น

โดยมีหลายจังหวัดที่ยังฉีดวัคซีนครอบคลุมประชากรยังไม่ถึงร้อยละ 50% ได้แก่ นครพนม สกลนคร หนองบัวลำภู บึงกาฬ กาฬสินธุ์ นราธิวาส ปัตตานี แม่ฮ่องสอน และตาก

Advertisement

เหตุผลของการไม่รับวัคซีนส่วนใหญ่กังวลในเรื่องของผลข้างเคียง การฉีดวัคซีนแล้วทำให้เสียชีวิต ซึ่งมีให้เห็นอยู่บ่อยครั้งในโลกโซเชียลที่มีการแชร์ภาพความสูญเสียของหลายครอบครัวหลังเข้ารับการฉีดวัคซีน

แม้สุดท้ายผลการชันสูตรทางการแพทย์ในหลายกรณีที่เสียชีวิตจะไม่เกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 ทำให้
ย้อนแย้งกับความเชื่อ ความรู้สึกของคนที่ต้องสูญเสีย

การออกมาสร้างความเชื่อมั่นของ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ที่ยืนยันว่า การฉีดวัคซีนมีประโยชน์ ช่วยป้องกันการป่วยหนัก และป้องกันการสูญเสียได้จริง เป็นสิ่งจำเป็น หากใครอยู่ในเกณฑ์ที่ได้รับบริการ ขอให้อย่าปฏิเสธการรับวัคซีน เพราะวัคซีนมีประสิทธิภาพในการป้องกันการป่วยหนัก และเสียชีวิต

บวกกับแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุขระดมสรรพกำลังอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เข้าไปชี้แนะข้อเท็จจริง เพื่อจูงใจให้ประชาชนที่เหลือเข้ารับการฉีดวัคซีนในระยะต่อจากนี้เป็นความท้าทาย และไม่ใช่เรื่องง่าย ในสถานการณ์ที่พวกเขายังไม่มีความเชื่อมั่นในความปลอดภัยของวัคซีน

การปฏิเสธรับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะประเทศไทย หลายประเทศทั่วโลกเกิดปัญหาเช่นเดียวกัน เช่น เยอรมนี สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา นิวซีแลนด์ จนเป็นเหตุให้ยอดผู้ติดเชื้อโควิดสูงขึ้นในกลุ่มของผู้ที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน

การแก้ปัญหาในบางประเทศมีการใช้มาตรการที่เข้มข้น เชิงบังคับ ทั้งการจำกัดการเดินทางในสถานที่สาธารณะในบางเมืองของเยอรมนี ชาวสิงคโปร์ต้องจ่ายค่ารักษาเองหากไม่ฉีดวัคซีนแล้วติดโควิด

ในประเทศไทยคงไม่มีใครอยากให้ไปถึงจุดนั้นที่จะต้องออกมาตรการมาบังคับ

ส่วนตัวมองว่านอกจากแนวทางการเข้าไปชี้แจงทำความเข้าใจถึงความจำเป็น ผลดีของการเข้ารับการฉีดวัคซีนแล้ว

รัฐบาลเองควรจะต้องเร่งเพิ่มทางเลือกของชนิดวัคซีนให้มากขึ้นกว่าเดิม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นถึงความปลอดภัย

และเป็นการลบภาพจำเดิมที่ประชาชนไม่มั่นใจในประสิทธิภาพของวัคซีนที่รัฐจัดหาให้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image