ประชาชนตัดเกรด

ศึกอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 ของพรรคร่วมฝ่ายค้าน เพื่อให้คำแนะนำและข้อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ระหว่างวันที่ 17-18 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ตลอดระยะเวลาการอภิปรายทั้ง 31 ชั่วโมง

ส่วนข้อมูล ข้อเท็จจริง และข้อเสนอแนะจากการอภิปรายของ ส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้าน จะดุเดือด เด็ด มัน ขนาดไหน

รวมทั้งการอภิปรายชี้แจงของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ ครม. จะเข้าเป้าตรงประเด็นกันเพียงใด

ถ้าฟังจากคำตอบของแต่ละฝ่าย แน่นอนย่อมมีการเกทับ บลัฟกลับกันเป็นเรื่องธรรมดาในทางการเมือง ตามที่แต่ละฝ่ายสวมหมวกอยู่ฝ่ายไหน

Advertisement

อย่าง “นิโรธ สุนทรเลขา” ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ก็ออกมาพูดในมุมของรัฐบาลว่า การอภิปรายของฝ่ายค้านก็ไม่มีอะไร เป็นเรื่องเก่า ซ้ำ วนเวียน ส่วนการชี้แจงของ ครม. ชี้แจงชัดเจนและตรงประเด็น

ขณะที่ฝั่งของฝ่ายค้าน “สุทิน คลังแสง” ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน ก็ออกมาบลัฟกลับคำตอบของนายกฯ และ ครม.ด้วยว่า

เป็นการตอบที่ไม่ตรงกับคำถาม คือ มีคนเขียนสคริปต์มา บางเรื่องฝ่ายค้านถามไป 5 บางครั้งก็ตอบมา 20 เกินความจำเป็น

Advertisement

ส่วนท่าทีที่ พล.อ.ประยุทธ์ ท้าทายฝ่ายค้านว่าล้มรัฐบาลให้ได้ก็แล้วกันนั้น สะท้อนว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่มีวุฒิภาวะของผู้นำ ไม่เข้าใจการทำงานของสภาผู้แทนราษฎร

สะท้อนถึงฐานวิธีคิดของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ไม่ยอมฟังคนและไม่ยอมแพ้คน ซึ่งคนที่แพ้ไม่เป็นแบบนี้ ถือว่าอันตรายมาก

เช่นเดียวกับ “ศิริกัญญา ตันสกุล” ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ที่มองว่า ครม.แทบจะไม่ได้ตอบคำถามที่ฝ่ายค้านถามไปเลย

เหมือนเลือกที่จะตอบแต่สิ่งที่ตัวเองตอบได้และเตรียมคำตอบไว้ ส่วนที่เหลือที่คิดว่าตัวเองตอบไม่ได้ หรือตอบแล้วอาจจะยังไม่ดีพอก็ไม่ตอบเลย เช่น ประเด็นเรื่องการค้ามนุษย์ จึงไม่ได้เป็นการตอบว่าจะทำให้ฝ่ายค้านหายข้องใจในญัตติที่เราตั้งขึ้นไว้เลย ถือว่าไม่เป็นที่น่าพอใจ

อย่างไรก็ตาม พรรคร่วมฝ่ายค้าน ระบุว่า การอภิปรายตามมาตรา 152 ถือเป็นการจั่วหัวไว้ สำหรับการอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบลงมติ มาตรา 151 ในช่วงเปิดสมัยการประชุมสภา ในเดือนพฤษภาคมนี้อย่างแน่นอน โดยข้อมูลและหลักฐานเด็ดๆ ที่ฝ่ายค้านเตรียมไว้จะถูกเปิดเผยอีกครั้งในการอภิปรายไม่ไว้วางใจอย่างแน่นอน ส่วนนายกฯ และ ครม.จะรอดจากดาบสอง ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจหรือไม่นั้น คงไม่นานเกินรอ

สำหรับการอภิปรายตั้งข้อสังเกต และเสนอแนะแนวทางการแก้ปัญหา รวมทั้งการตอบคำถามของนายกฯ และ ครม. ที่ออกมานั้น

หากฟังจากฝ่ายที่เกี่ยวข้องออกมา เกทับ บลัฟกันในทางการเมืองนั้น ก็อยู่ที่ใคร และคนใด พูดกันในมุมไหน

แต่ท้ายที่สุด คงต้องอยู่ที่ประชาชนและผู้ชมทางบ้าน ที่จะเป็นผู้ตัดสินใจ ผ่านการเลือกตั้งว่าจะสมควร ให้ฝ่ายไหน ได้ทำหน้าที่ต่อ

ทั้งฝ่ายค้านหากทำหน้าที่เข้าตาประชาชนก็อาจจะได้รับความไว้วางใจให้เข้ามาทำหน้าที่เป็นฝ่ายรัฐบาล มาบริหารประเทศก็ได้

ส่วนฝ่ายรัฐบาล หากที่ผ่านมายังทำหน้าที่ได้ไม่ดีพอ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งก็อาจจะให้ท่านกลับมาทำหน้าที่ฝ่ายค้านได้เหมือนกัน

จตุรงค์ ปทุมานนท์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image