เดินหน้าชน : อยู่ที่ประชาชน

ว่าที่แคนดิเดตนายกฯ ชื่อ‘อุ๊งอิ๊ง’?

พรรคเพื่อไทย (พท.) ขยับก้าวการขับเคลื่อนของพรรคอีกครั้ง กับกิจกรรมการเปิดตัว “ครอบครัวเพื่อไทย : บ้านหลังใหญ่ หัวใจเดิม” ที่ศูนย์ประชุมมณฑาทิพย์ จังหวัดอุดรธานี เมื่อวันที่ 20 มีนาคมที่ผ่านมา

พร้อมกับประกาศให้ “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ประธานคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม พรรค พท. มารับหน้าที่ “หัวหน้าครอบครัว พท.”

พร้อมกับ คำถาม การวิพากษ์วิจารณ์ การวิเคราะห์ ของนักวิชาการ นักคิด นักการเมือง รวมทั้งผู้เฝ้าติดตามทางการเมืองที่ออกมาแสดงความคิดเห็น การเข้ามามีบทบาทนำของ “อุ๊งอิ๊ง” ในฐานะหัวหน้าครอบครัว พท. พร้อมกับเชื่อมโยงถึงความเป็นไปได้ กับรายชื่อ “แคนดิเดต” นายกรัฐมนตรี ของพรรค

ทั้งในแง่ “บวก” และ “ลบ” ตามที่มุมมองและทัศนคติของแต่ละคน ที่มองการเคลื่อนไหวของ “อุ๊งอิ๊ง” และ พรรค พท. ในครั้งนี้

Advertisement

โดยเฉพาะความคิดของคนที่ตั้งแง่มองการเปิดตัวของ “อุ๊งอิ๊ง” เชื่อมโยงไปถึง “นายทักษิณ ชินวัตร” บิดา ในฐานะอดีตนายกฯ ในทางลบ

พร้อมกับฉายภาพความน่ากลัวทางการเมืองว่า “ระบอบทักษิณ” อาจจะย้อนกลับมาอีกครั้ง ทั้งที่ตามข้อเท็จจริง ในการขับเคลื่อนของพรรค พท.และ “อุ๊งอิ๊ง” ในสนามการเมืองครั้งนี้ ทุกเงื่อนไข ล้วนเป็นไปตามกลไกและกติกาในทางการเมือง

ที่มีทั้งรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกำหนด และเป็นการเข้ามาทำงานทางการเมืองระบอบประชาธิปไตย ของประเทศไทย เหมือนๆ กับทุกพรรคการเมืองที่อาสามาทำหน้าที่ให้กับพี่น้องประชาชน ตามกลไกและกติกาเดียวกัน

Advertisement

ซึ่งการฉายภาพการเข้ามาทำงานการเมืองของ “อุ๊งอิ๊ง” ให้ดูน่ากลัวนั้น มองแบบคนไม่ยึดติดกับ ขั้วนั้น ฝ่ายนี้ อาจจะดูไม่แฟร์สำหรับ “อุ๊งอิ๊ง”

เหมือนกับที่ “สมชัย ศรีสุทธิยากร” อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สะท้อนมุมมองต่อกรณีการเคลื่อนไหวของ “อุ๊งอิ๊ง” ในทางการเมืองครั้งนี้

โดย อ.สมชัยระบุไว้ว่า “ขอออกความเห็นกรณี อุ๊งอิ๊ง อีกคน เห็นหลายคนดาหน้าออกมาวิจารณ์ผู้หญิงคนหนึ่งที่อาสาออกมาทำงานการเมือง แบบกลัวว่า เธอจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี แล้วทำความเสียหายแก่บ้านเมือง ผมรู้สึกว่าจะไม่เป็นธรรมต่อเธอนัก

1.หากพรรคเพื่อไทย จะเสนอชื่อเธอเป็นหนึ่งในสามรายชื่อที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี ก็เป็นเรื่องที่พรรคต้องประเมินเองว่า เป็นบวกหรือเป็นลบ ประชาชนจะเป็นผู้ตัดสิน

2.การเป็นตระกูลการเมือง ไม่ใช่เรื่องที่ต้องรีบตัดสินถึงพฤติกรรมทางการเมืองในอนาคต ไม่เช่นนั้น เราคงตัดสินว่า ศิลปอาชา อัศวเหม คุณปลื้ม จึงรุ่งเรืองกิจ หรือแม้แต่ จันทร์โอชา ล้วนเป็นปัญหาหมด

3.การเข้าสู่การเมือง ด้วยการเลือกตั้ง ไม่ใช่การสืบทอดอำนาจ เพราะท้ายสุดประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินให้เขาไปต่อหรือไม่ การใช้อำนาจที่ได้มาจากการรัฐประหาร เขียนกติกาเพื่อความได้เปรียบ กวาดต้อนนักการเมืองมาเป็นพวก ด้วยอำนาจและด้วยเงิน เพื่อหวังอยู่ในอำนาจต่อสิ ถึงเรียกว่า สืบทอดอำนาจ

4.อย่ากลัวผู้หญิงคนหนึ่งมากจนเกินเหตุ จงโบกมือต้อนรับทักทายเธอ และให้กำลังใจในเส้นทางที่ยากลำบาก ส่งความหวังและความปรารถนาดีถึงเธอ ว่าหากเธอประสบความสำเร็จเธอจะนำประเทศสู่ความเจริญก้าวหน้า และหากคุณเป็นนักการเมืองที่ต้องแข่งขัน ก็ต้องถือว่า คุณได้คู่แข่งที่จะทำให้คุณต้องพัฒนาเพื่อเอาชนะในสนามเลือกตั้ง อย่าวิตกจริตจนเสียอาการ”

แน่นอนทั้งหมดทั้งมวล ก็อยู่ที่ประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินว่าจะให้ใครเข้ามาทำงาน บริหารประเทศ ดูแลประชาชน ผ่านผลการเลือกตั้ง ตามระบอบประชาธิปไตย

ไม่ต้องมานั่งถกเถียงกันให้เสียเวลา และไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัวแต่อย่างใด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image