เดินหน้าชน : อย่าจบแค่‘ลิซ่า-มิลลิ’

การโชว์กิน “ข้าวเหนียวมะม่วง” ของ “มิลลิ-ดนุภา คณาธีรกุล” แร็พเปอร์สาวไทยวัย 19 ปี บนเวทีเทศกาลดนตรีระดับโลก Coachella แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ช่วงสัปดาห์ก่อน

ไม่เพียงแต่ทำให้เกิดกระแส “ข้าวเหนียวมะม่วง” ขายดีทั่วประเทศ จนสร้างรอยยิ้มแก่บรรดาพ่อค้าแม่ค้า และชาวสวน

ยังส่งผลให้ ซอฟต์ เพาเวอร์ ของไทย (Thai Soft Power) ถูกหยิบยกมาเป็นวาระที่รัฐบาลกลับมาให้ความสนใจอีกครั้ง เพื่อไม่ให้ตกกระแสสังคม กระแสในโลกโซเชียลอันทรงพลัง

เพราะหลังจากลิซ่า แบล็กพิงก์ ไอดอลสาวสายเลือดไทย ได้สร้างปรากฏการณ์จากอัลบั้มเดี่ยว เดือน ก.ย.ปี’64

Advertisement

จนทำให้ทั่วโลกรู้จักวัฒนธรรมความเป็นไทยมากขึ้น กับการสวมชุดไทย รัดเกล้ายอด ที่ใส่แสดงในมิวสิกวิดีโอเพลง LALISA

การปลุกกระแสลูกชิ้นยืนกิน ที่สถานีรถไฟบุรีรัมย์ ที่ลิซ่าชอบกินมาก

ดูเหมือนว่า “ซอฟต์เพาเวอร์” เริ่มจะค่อยๆ จางหายไป

ปัจจุบันประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 35 ของโลกในการใช้ซอฟต์เพาเวอร์ในการสร้างความรับรู้ให้กับประเทศ การจัดอันดับ ดัชนีซอฟต์เพาเวอร์โลก ประจำปี 2022

เป็นอันดับ 2 ในอาเซียน เป็นรองเพียงสิงคโปร์ ที่ติดมาในอันดับที่ 20

โดยอันดับของไทยตกลงมาจากอันดับที่ 33 ในปี 2021

แม้จะมีคะแนน 40.2 คะแนน เพิ่มขึ้นจาก 38.7 คะแนนในปี 2021

นั่นแสดงว่ามีประเทศที่แซงไทยขึ้นมา อาจจะด้วยนโยบายของการส่งเสริมสนับสนุนของรัฐบาลของเขาที่อาจมีประสิทธิภาพกว่า

อาจจะสวนทางกับที่ “ธนกร วังบุญคงชนะ” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกมาชี้แจงว่า “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ มีนโยบายต่อเนื่องในการสนับสนุน Soft Power และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทยให้เป็นที่รู้จักทั่วโลก

ส่งเสริมวัฒนธรรม 5F ที่เป็น Soft Power ของไทยให้กลายเป็นสินค้าทางส่งออกทางวัฒนธรรมสำคัญของไทย

1.อาหาร (Food) 2.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (Film) 3.การออกแบบแฟชั่นไทย (Fashion) 4.ศิลปะการป้องกันตัวแบบไทย (Fighting) และ 5.เทศกาลประเพณีไทย (Festival)

ในการผลักดันซอฟต์เพาเวอร์ ของไทย นั้น “ชาริกา ชาญนันทพิพัฒน์” นักวิชาการด้านการดำเนินธุรกิจและการพัฒนาที่ยั่งยืน ทีดีอาร์ไอ ได้นำเสนอแนวทางที่น่าสนใจ ผ่านบทความที่เผยแพร่ทางเว็บไซต์ทีดีอาร์ไอ

ทั้งประเด็น หากรัฐบาลต้องการยกระดับซอฟต์เพาเวอร์ของประเทศ การอนุรักษ์สิ่งที่มีอยู่เดิมอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ แต่ต้องเดินให้ทันสิ่งที่ร่วมสมัยด้วย

รัฐบาลควรออกแรงเสริมศิลปินด้วยนโยบายและทรัพยากรที่จะทำให้เกิดหน่อของการสร้างซอฟต์เพาเวอร์ในอนาคต

โดยต้องมีพื้นฐานความเข้าใจในบทบาทของภาคส่วนต่างๆ และวัฒนธรรมร่วมสมัย (Pop culture) มากขึ้น

ทั้งในอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว รวมถึงวัฒนธรรมดั้งเดิมที่รัฐบาลไทยเน้นให้การสนับสนุนอยู่แล้ว

หน่วยงานที่รับผิดชอบต้องวางแผนงบประมาณและการวัดผลในระยะยาว แทนการวางแผนรายปีที่คาดหวังผลรวดเร็วเพียงอย่างเดียว

เพื่อให้ประเทศและผู้คนมีกำลังในการเดินเกมยาว สร้างซอฟต์เพาเวอร์ ได้

เหล่านี้เป็นแนวทางที่รัฐบาลสามารถนำไปต่อยอดขับเคลื่อน ซอฟต์เพาวเวอร์ของไทย อย่างต่อเนื่อง

อย่าให้จบแค่กระแสที่เกิดขึ้นจากมิลลิและลิซ่า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image