เดินหน้าชน : โจทย์ 9 ข้อผู้ว่าฯกทม. โดย นายด่าน

ศึกชิงเก้าอี้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) วันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม 2565 คงทราบผลกันแล้วว่าใครเป็น
ผู้ว่าฯกทม.ที่จะเข้ามาบริหารมหานครแห่งนี้

เป็นผู้ว่าฯกทม.ที่มาจากการเลือกตั้งในรอบกว่า 6 ปี ตั้งแต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีคำสั่งเด้ง ม.ร.ว.
สุขุมพันธุ์ บริพัตร และแต่งตั้ง อัศวิน ขวัญเมือง มานั่งเก้าอี้นี้แทนช่วงวันที่ 18 ต.ค.2559

และจะมีการประกาศผลคะแนนอย่างเป็นทางการว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 4,374,131 คน ออกมาใช้สิทธิมากกว่าการเลือกตั้ง 3 มี.ค.2556 ที่มาใช้สิทธิ 63.98% จากผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 4,244,465 คน

ในวันที่เขียนเรื่องนี้ยังไม่ทราบผลว่าใครชนะการเลือกตั้ง แต่ไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะออกมาอย่างไร ขั้วการเมืองไหนจะคว้าชัย

Advertisement

ยังมีการบ้าน “บิ๊กเบิ้ม” รอผู้ว่าฯกทม.คนใหม่ ให้เข้ามาบริหารจัดการให้กับชาว กทม.

แม้หลายเรื่อง หลายปัญหาจะอยู่ในนโยบายที่ได้หาเสียงกันไว้แล้ว

ขอหยิบยกข้อเสนอแนะของ “ทีดีอาร์ไอ” และศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านยุทธศาสตร์เมือง จุฬาฯ ที่ได้ระดมผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ กลั่นกรองออกมาเป็น 9 ข้อเสนอแนะแก่ผู้ว่าฯกทม.คนใหม่

Advertisement

1.การวางผังเมือง ควรใช้โอกาสจากการมีกฎหมายผังเมืองฉบับใหม่ เปิดช่องให้การจัดทำผังเมืองเฉพาะที่ไม่ได้มีการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์สามารถตราเป็นพระราชกฤษฎีกาได้ เปิดให้ประชาชนในพื้นที่มีบทบาทในการกำหนดทิศทางการพัฒนา ตลอดจนใช้เป็นเครื่องมือในการแก้ไขข้อขัดแย้งต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาเมือง

2.การจราจรและความปลอดภัย ควรเร่งแก้ปัญหาการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะให้ครอบคลุม และเพิ่มความปลอดภัยในการใช้ถนนของประชาชนกลุ่มต่างๆ เช่น ลงทุนในระบบขนส่งสาธารณะให้รองรับการเดินทางทั้งบนถนนสายหลัก

3.การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย อย่างเรื่องน้ำท่วม ควรจัดให้มีแนวคันกั้นน้ำถาวรครอบคลุมเพียงพอ ในพื้นที่
“ฟันหลอ” ริมแม่น้ำจัดให้มีระบบเตือนภัยอย่างทันการณ์

วางรากฐานระยะยาวรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะทำให้เกิดความเสี่ยงจากภัยพิบัติต่างๆ ในเมืองขนาดใหญ่มากขึ้น

4.การจัดการขยะมูลฝอย พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง กลางทางและปลายทาง ให้เอื้อต่อการแยกขยะในทิศทางเดียวกัน

เน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน สถานประกอบการ

5.การเพิ่มพื้นที่สีเขียว ควรมุ่งเพิ่มพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพฯ โดยชะลอการเพิ่มในเขตย่านพาณิชยกรรมศูนย์กลางเมืองที่มีพื้นที่สีเขียวสูงกว่ามาตรฐานขั้นต่ำอยู่แล้ว และเร่งกระจายงบประมาณไปยัง 23 เขตที่ไม่มีพื้นที่สีเขียวที่ได้มาตรฐาน

6.การจัดระเบียบหาบเร่แผงลอย ควรมุ่งสร้างสมดุลระหว่างผู้ใช้พื้นที่ทางเท้ากลุ่มต่างๆ มากกว่าการห้ามใช้พื้นที่ทางเท้าโดยสิ้นเชิง

7.การฝึกทักษะอาชีพ เพื่อช่วยแก้ปัญหาการว่างงาน หรือมีรายได้ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น ผู้ว่าฯกทม.คนใหม่ควรปรับปรุงการดำเนินงานของโรงเรียนและศูนย์ฝึกอาชีพของ กทม.

8.การศึกษา ควรดำเนินการยกระดับคุณภาพและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

9.การรักษาพยาบาล ควรเร่งขยายศูนย์บริการสาธารณสุข โดยเฉพาะสาขา หรือสาขาย่อย เพื่อให้ทำหน้าที่ทั้งการเป็นศูนย์รักษาพยาบาลของชุมชน โดยเน้นบทบาทส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค

นอกจากนี้ ยังมีข้อแนะนำให้ผู้ว่าฯกทม.คนใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง ควรแสวงหาโอกาสในการทำงานร่วมกับภาคส่วน
ต่างๆ ด้วย

นับเป็นความท้าทายของผู้ว่าฯกทม.คนล่าสุดที่จะเข้ามาพัฒนามหานครแห่งนี้ให้น่าอยู่ยิ่งขึ้นกว่าเดิม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image