เดินหน้าชน : เก็บตกศึกผู้ว่าฯกทม.

หลังจากรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพ มหานครกันมาเกือบ 2 เดือน

ในช่วงโค้งสุดท้าย 1 สัปดาห์ก่อนถึงวันเลือกตั้งวันที่ 22 พฤษภาคม ผู้สมัครตัวเต็ง 6 คนต่างก็ “ปล่อยหมัด” งัด “วิทยายุทธ์” มา “ปิดเกม” !

เพื่อรักษาฐาน “คะแนนนิยม” ของตัวเองไว้ และพยายามดึงคะแนนจาก “พลังเงียบ” ที่ยังลังเลให้ตัดสินใจมา “กาบัตร” ให้ตนเอง

มีปรากฏการณ์บางอย่างเกิดขึ้นในระหว่างการหาเสียง เป็นเรื่องที่น่าชื่นชม คือ แคนดิเดตผู้ว่าฯกทม. 5 คนที่ร้านอาหารแห่งหนึ่งย่านถนนประชาชื่น ตามคำเชิญของ “วู้ดดี้” มาร่วมรายการ WOODY LIVE

Advertisement

ภาพที่ออกมาสู่สาธารณะ วู้ดดี้และ 5 ผู้สมัครแถวหน้า ประกอบด้วย ชัชชาติ สิทธิพันธุ์, สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์, วิโรจน์ ลักขณาอดิศร, อัศวิน ขวัญเมือง และศิธา ทิวารี นั่งรับประทานอาหารร่วมโต๊ะเดียวกัน พูดคุยกันอย่างเป็นกันเอง ถ่ายภาพร่วมกัน

สะท้อนให้เห็นว่า แม้จะต้องกรำศึก ทุ่มเทสรรพกำลัง ประชันวิสัยทัศน์ในสนามเลือกตั้งเพื่อชิงความเป็นหนึ่งเดียว

แต่นั่นก็เพียงกระบวนการประชาธิปไตยที่มี “กฎ-กติกา” เป็นกรอบให้ทุกคนถือปฏิบัติ!

ที่สำคัญ แต่ละคนก็คือ “เพื่อนกัน” ถอดหน้ากากออกแล้วหันหน้าเข้าหากันได้ พูดจาพาที กินข้าวร่วมโต๊ะ หัวเราะ เฮฮา ร่าเริงอย่างอารมณ์ดี

เหนืออื่นใด ทุกคนไม่ได้เป็น “ศัตรู” ที่จะต้องห้ำหั่นกันอย่าง “เอาเป็น-เอาตาย”

ไม่จ้อง “จับผิด” หรือ “ใส่ร้าย” กันในทุกเรื่องเพื่อมุ่งจะทำลายให้ “คู่แข่ง” เสียหายต่อชื่อเสียง

ต่างจากนักการเมือง “สนามใหญ่” ระดับชาติ “ฝ่ายค้าน” กับฝ่าย “รัฐบาล” ไม่ยอมโอภาปราศรัยกัน ไม่กินข้าวร่วมโต๊ะเดียวกันให้สังคมได้เห็น

อย่างไรก็ตาม “สีสัน” ของศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ครั้งนี้ที่ทำให้ระทึก ตื่นเต้น เร้าใจ อยู่ที่ “กองเชียร์” และ “พวกพ้อง” ของผู้สมัคร!

เป็นที่มาของการสร้างภาพ “เลวร้าย-น่ารังเกียจ” ให้คู่แข่ง ให้ถูกมองว่าเป็นฝ่ายโน้นฝ่ายนี้

“ไม่เลือกเรา ชัชชาติมาแน่” นี่คือ “วิชามาร” ที่ไม่สร้างสรรค์ของการหาคะแนนนิยมจากประชาชนหรือไม่?

มีการเสนอให้โหวตแบบ “ยุทธศาสตร์” เพราะโหวตธรรมดา ฝ่ายตัวเองจะพ่ายแพ้ เพราะ “ตัดคะแนน” กันเองในบรรดาผู้สมัคร 4 คน

ซึ่งก็ตกลงกันไม่ได้ว่า จะให้โหวตผู้สมัครคนไหน?!

ต่างคนต่างปรารถนาจะเป็นผู้ว่าฯกทม.เหมือนๆ กัน!

ผู้สมัครคนไหน เป็นหรือไม่ “สุภาพบุรุษ-สุภาพสตรี” ก็พอจะเห็นกันอยู่?

โดยหลักแล้ว การเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ควรจะแข่งขันกันในแง่ของวิสัยทัศน์ นโยบาย ภาวะผู้นำ คุณสมบัติส่วนตัว ความพร้อมในการปฏิบัติงาน แนวทางการบริหารงานเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ

การสร้างความเจริญก้าวหน้าให้เมืองหลวง วิธีการทำชีวิตความเป็นอยู่ของคน กทม.รวมไปถึงประชากรแฝงดีขึ้น

การสร้างสัญญาประชาคมเพื่อผูกมัดว่าต้องทำให้ได้ ถ้าทำไม่ได้จะเป็นอย่างไร เป็นต้น

ไม่ใช่ไปเปิดประเด็น “โจมตี” แบบเก่าๆ เดิมๆ ไม่ต่างไปจากการเมืองใหญ่ ซึ่งไร้สาระ

ผลการเลือกตั้ง 22 พฤษภาคมนี้ ย่อมมีคนหนึ่งได้คะแนนเสียงมากที่สุด ถือว่าได้เป็นผู้ว่าฯกทม.

เป็น “ฉันทามติ” แห่งความเชื่อมั่นของคนกรุงเทพฯ!?

ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นใคร ก็ขอให้เริ่มต้นทำสิ่งดีๆ ให้เกิดขึ้นตามที่ได้ประกาศไว้เป็นนโยบาย

สัมพันธภาพแห่งความ “เข้าใจ” ของ “มวลมิตร” แคนดิเดตผู้สมัครก็ควรจะ “แสดงออก” ให้ “ประจักษ์” หลัง “รู้ผล” การเลือกตั้งและ “ดำรง-คงอยู่” ต่อไปนับแต่ผู้ว่าฯกทม.คนใหม่เริ่มบริหารงาน

พิสูจน์ให้เห็นถึงความเป็น “ต้นแบบ” ประชาธิปไตยให้ “การเมืองใหญ่” ระดับชาติได้เห็น!?!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image