เดินหน้าชน : ค่าโง่‘อาวุธ’

นั่งฟังการอภิปรายร่างงบประมาณ 2566 คิดว่ามหากาพย์เครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด จีที200 หรือไม้ล้างป่าช้า จะปิดฉากไปแล้ว แต่ก็ต้องตะลึงหลังพบข้อมูลกองทัพบกตั้งงบ 7,570,000 บาท ให้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ไปตรวจสอบ จีที200 จำนวน 757 เครื่อง ตกเครื่องละ 10,000 บาท

ทาง พล.อ.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกลาโหม อ้างว่า “เป็นการทำตามคำแนะนำของอัยการสูงสุด เพื่อนำไปสู่การฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย”

หลังเป็นประเด็นใหญ่โต ล่าสุด “พล.อ.สันติพงศ์ ธรรมปิยะ” เสนาธิการทหารบกและโฆษกกองทัพบก สั่งยุติผ่าพิสูจน์ แม้จะผ่าพิสูจน์ไปแล้ว 320 เครื่อง ที่เหลือก็ต้องคืนงบ 2-3 ล้านบาท

ยิ่งย้อนไปดูมหากาพย์ จีที200 เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2556 หลังศาลอังกฤษตัดสินจำคุกแกรี โบลตัน เจ้าของบริษัทโกลบอล เทคนิคัล 7 ปี ข้อหาจำหน่าย จีที200 ให้หลายประเทศโดยการฉ้อโกง พร้อมยึดทรัพย์ผู้ต้องหากว่า 395 ล้านบาท เพื่อนำเงินไปจ่ายค่าชดเชยแก่ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ

Advertisement

สำหรับประเทศไทย ระหว่างปี 2551-2552 ยุค พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็น ผบ.ทบ.สั่งซื้อ 541 เครื่อง ขณะที่หน่วยงานรัฐ 16 แห่ง จัดซื้อรวม 1,398 เครื่อง มูลค่า 1,178 ล้านบาท เมื่อเรื่องนี้เข้าสู่การตรวจสอบของ ป.ป.ช. และดีเอสไอ จึงพบความผิดปกติ 2 ปม คือ 1.จัดซื้อในราคาที่สูงแพงเกินความจำเป็นราคาเครื่องละ 5 แสนบาท จนถึง 1.6 ล้านบาท 2.พบพฤติการณ์กลุ่มบริษัทที่เสนอขายและขายเครื่องมีพฤติการณ์ที่ไม่น่าจะสุจริต

หากย้อนไปฟังคำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขณะนั่ง ผบ.ทบ. ระบุว่า “เรื่องนี้จะหยุดวิจารณ์กันได้หรือยัง เมื่อบอกว่าใช้ไม่ได้ก็ใช้ไม่ได้ แล้วเราเลิกใช้กันมานาน 2-3 ปีแล้ว ส่วนใครจะผิดหรือถูกไปฟ้องร้องในศาลเอาเอง”

เช่นเดียวกับ “เรือเหาะ” ที่กองทัพบกจัดซื้อในสมัย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็น ผบ.ทบ. เมื่อปี 2552 ด้วยงบ 350 ล้านบาท ตลอด 8 ปีที่ใช้งานถูกวิจารณ์อย่างหนัก คณะกรรมการตรวจรับจัดทดสอบประสิทธิภาพเมื่อปี 2553 พบว่า มีปัญหาหลายอย่าง อาทิ ตัวเรือเหาะบินได้เพียง 1 ใน 3 ของสเปกไม่พ้นระยะยิงจากภาคพื้นดิน คือ บินได้สูงเพียง 1 กม.

Advertisement

ณ วันนั้น พล.อ.อนุพงษ์ ผบ.ทบ.ในขณะนั้น ลงพื้นที่ตรวจประสิทธิภาพยืนยันว่า “ระบบยังใช้งานได้ดี” กระทั่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขึ้นเป็น ผบ.ทบ เรือเหาะจึงจะผ่านการทดสอบเเละได้เริ่มใช้งานจริง

ท่ามกลางเสียงวิจารณ์ ราคาแพงเกินจริง รอยรั่วผ้าใบ ไม่เหมาะสมใช้งานในพื้นที่ 3 จังหวัดใต้ และเรือเหาะลำนี้เคยประสบอุบัติเหตุขณะลงจอด หรือแม้จะต้องจอดฉุกเฉินกลางทุ่งนามาแล้ว

และปี 2560 พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ขณะเป็น ผบ.ทบ. จึงสั่งปลดประจำการและไม่มีแผนจัดซื้อใหม่

เสียงของ “พล.อ.เฉลิมชัย” ในวันที่ปลดประจำการเรือเหาะ ระบุว่า “ผมเคยทำงานในพื้นที่ ผมเคยเห็นการปฏิบัติงาน คล้ายๆ เราไปซื้อของตามห้าง คิดว่าดีแล้ว แต่พอใช้งานดีไม่ 100% แต่ยังใช้งานได้ เรื่องเรือเหาะถือเป็นประสบการณ์จัดซื้อยุทโธปกรณ์”

ที่น่าจับตาคือ การจัดซื้อเรือดำน้ำ S26T (Yuan Class) วงเงิน 22,500 ล้านบาท ของกองทัพเรือ หลังถูกคณะ กมธ.วิสามัญพิจารณาร่างงบประมาณปี 2564 ไล่บี้อย่างหนักเมื่อพบเงื่อนงำหลายอย่าง

ณ วันนั้น “พล.ร.ท.เถลิงศักดิ์ ศิริสวัสดิ์” เจ้ากรมยุทธการทหารเรือ ระบุถึงความจำเป็นการจัดซื้อว่า “สถานการณ์ความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ รวมถึงคาบสมุทรเกาหลี รวมถึงการวางกำลังทางเรือสหรัฐ ในพื้นที่ใกล้เคียงกับพื้นที่ความขัดแย้งมีความเป็นไปได้ว่าจะมีการปะทะกัน ซึ่งส่งผลต่อเส้นทางการเดินเรือและผลประโยชน์ทางทะเลของประเทศมูลค่ามหาศาล ปี 2572 ข้อตกลงระหว่างไทยกับมาเลเซียในการพัฒนาพื้นที่ร่วมทางทะเลหรือ เจดีเอจะยุติลงซึ่งคาดว่าจะมีการพูดคุยเพื่อทำสัญญาก่อนปี 2572 การที่เรามีเรือดำน้ำในปี 2570 จะส่งผลต่อการเจรจาต่อรองเกี่ยวกับพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล ส่งผลให้ไทยไม่เสียเปรียบเพราะผลประโยชน์ทางทะเลของชาติสูงถึง 24 ล้านล้านบาท”

ณ วันนี้ในปี 2565 เรือดำน้ำลำแรกก็ประสบปัญหา จีนไม่สามารถจัดหาเครื่องยนต์ MTU396 ของเยอรมันมาติดตั้งได้ตามสัญญา เพราะเยอรมันมีนโยบายระงับการส่งออกเครื่องยนต์ดีเซล ที่ผ่านมากองทัพเรือจ่ายเงินไปแล้วกว่า 7,000 ล้านบาท ซึ่งเรือดำน้ำลำแรกไทยต้องได้รับกลางปี 2567

เมื่อเรือดำน้ำไม่มีเครื่องยนต์เยอรมันสัญญาก็เดินต่อไม่ได้ นำไปสู่การยกเลิกสัญญา ส่วนเงินกว่า 7,000 ล้าน จะเป็นค่าโง่อีกหรือไม่

ยิ่งมานั่งจับคำพูดของผู้เกี่ยวข้องกับการจัดซื้ออาวุธแต่ละอย่าง ดูมันย้อนแย้งกันอย่างไรชอบกล

แต่ในฐานะคนที่เสียภาษี เราควรปลงกับสิ่งที่เกิดขึ้น ถือเป็น “ค่าโง่” ที่เราต้องจ่ายกันอย่างนั้นหรือไม่…

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image