เดินหน้าชน : ปิดฉาก ‘เรือดำน้ำจีน’

ส่อยุติโครงการ ‘เรือดำน้ำจีน’ S26T (Yuan Class) วงเงิน 13,500 ล้านบาท ที่ติดปัญหาคาราคาซังเรื่องเครื่องยนต์ MTU 396 ของเยอรมนี ที่ไม่อนุมัติขายให้บริษัท China Shipbuilding & Offshore International Co., Ltd. (CSOC) ติดตั้ง จนวันนี้ยังไม่สามารถเจรจาได้

จนกระทั่ง เมื่อวันที่ 9 มิถุนายนที่ผ่านมา Mr. Liu Song รองประธาน บริษัท CSOC ประธานฝ่ายจีน ต้องบินมาเปิดโต๊ะเจรจาหาทางออกกับ ‘เสธ.แจ๊ค’ พล.ร.อ.เถลิงศักดิ์ ศิริสวัสดิ์ เสนาธิการทหารเรือ (เสธ.ทร.) ประธานฝ่ายไทย โดยมีรองผู้ช่วยทูตฝ่ายทหาร ประจำสถานเอกอัครราชทูตจีน ร่วมในการประชุมเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาเครื่องยนต์ขับเครื่องกำเนิดไฟฟ้าในครั้งนี้

โดยเนื้อหาที่บริษัท CSOC ได้ชี้แจงข้อติดขัดว่า ได้ใช้ความพยายามในการเจรจากับบริษัท MTU เยอรมนี ทั้งในระดับบริษัท-บริษัท รัฐบาล-รัฐบาล และช่องทางการทูต หรือใช้การเจรจาทุกรูปแบบก็แล้ว เพื่อต่อรองการจัดหาเครื่องยนต์ขับเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเรือดำน้ำ แต่ไม่สามารถดำเนินการให้เป็นไปตามข้อตกลงที่ได้ทำไว้กับกองทัพเรือ (ทร.)

บริษัท CSOC จึงได้เสนอทางออก คือ เครื่องยนต์ดีเซลขับเครื่องกำเนิดไฟฟ้ารุ่น CHD 620 ของจีนให้ ทร.พิจารณาทดแทนรุ่นเครื่องยนต์รุ่น MTU 396 แต่ทาง ‘เสธ.แจ๊ค’ ได้ปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว พร้อมยืนยันความต้องการใช้เครื่องยนต์ดีเซลขับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า MTU 396 ตามข้อตกลงการจัดซื้อจัดจ้างเดิม อีกทั้งเครื่องยนต์ CHD620 ที่บริษัท CSOC เสนอนั้น ไม่เคยมีการใช้งานในเรือดำน้ำของประเทศใดเลย เกรงว่าหากตกลงแล้วในอนาคตอาจเกิดปัญหาได้ โดยเฉพาะอันตรายต่อการใช้งาน…

Advertisement

พร้อมแจ้งประเด็นเครื่องยนต์ดีเซลขับเครื่องกำเนิดไฟฟ้าตามข้อกำหนดที่ระบุไว้ในข้อตกลง ให้ทางบริษัท CSOC คือ ต้องผ่านการรับรองมาตรฐานการใช้งานจริงในเรือดำน้ำ, มีความปลอดภัยในการใช้งานจริง, มีการรับประกัน การบริการหลังการขาย และการซ่อมบำรุง และตอบสนองด้านความต้องการใช้งานทางยุทธการของ ทร.

พร้อมขีดเส้นให้ทางบริษัท CSOC จัดทำข้อเสนอแนวทางแผนงานแก้ไขปัญหา ระยะเวลาส่งมอบเรือดำน้ำให้ ทร.พิจารณาภายใน 60 วัน หรือภายในวันที่ 9 สิงหาคม 2565

จากปัญหาที่เกิดขึ้น มีเสียงจาก ‘บิ๊ก ทร.’ ที่หลุดออกมาหลายเสียงตรงกันว่า คงต้องยกเลิกโครการ ‘เรือดำน้ำจีน’ ไว้เพียงแค่นี้ …

Advertisement

สำหรับโครงการเรือดำน้ำลำแรก ผ่านมาราวๆ 5 ปีแล้วตั้งแต่สมัย ‘บิ๊กลือ’ พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ เป็นเสนาธิการทหารเรือ (เสธ.ทร.) ในฐานะประธานกรรมการบริหารโครงการจัดหาเรือดำน้ำเป็นผู้แทน ‘บิ๊กณะ’ พล.ร.อ.ณะ อารีนิจ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) ขนคณะบินไปกรุงปักกิ่ง เพื่อลงนามกับบริษัท CSOC ในฐานะผู้แทนรัฐบาลจีนได้ลงนามในข้อตกลงจ้างสร้างเรือดำน้ำ ลำที่ 1 ในข้อตกลงจ้างสร้างเรือดำน้ำแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล (จีทูจี) เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2560

สำหรับรายละเอียดโครงการ มีการเซ็นสัญญาต่อเรือดำน้ำลำแรกตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติให้จัดซื้อ เมื่อวันที่ 18 เมษายน ในปีเดียวกัน งบประมาณ 13,500 ล้านบาท โดยแบ่งชำระเงินเป็น 7 ปี รวม 17 งวด ประเดิมงวดแรกปี 2560 จำนวน 700 ล้านบาท ส่วนปีที่ 2561-2566 จะชำระเฉลี่ยปีละ 2,100 ล้านบาท

มีรายงานว่า ทร.ได้จ่ายเงินงวดงานตามสัญญา มากน้อยแล้วแต่เนื้องาน ดังนั้น ตั้งแต่เซ็นสัญญาเริ่มโครงการ ทร.ได้จ่ายเงินไปแล้ว 7.7 พันล้านบาท เมื่อต้องตัดใจยุติโครงการเรือดำน้ำจีน จะทำอย่างไรกับเงินที่จ่ายไปแล้ว?

แต่ด้วยเป็นการจัดซื้อแบบจีทูจี คงไม่กลายเป็นค่าโง่

แต่ต้องเสียค่าดาวน์ 15% และ 7.7 พันล้านบาทคงไม่ได้เงินคืน เพียงแต่รัฐบาลจีนจะชดเชยให้ ทร.ด้วยรูปแบบใด ดังนั้น คงต้องขึ้นอยู่ที่ ‘บิ๊กเฒ่า’ พล.ร.อ.สมประสงค์ นิลสมัย ผบ.ทร. ว่าจะตัดสินใจเช่นไร …

 

นัฐวัฒน์ ดวงแก้ว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image