เดินหน้าชน : ต้นทุนอำนาจ‘บิ๊กตู่’

ไอลอว์ออกมาเปิดเผยต้นทุน “วุฒิสภา” แต่งตั้งไม่ได้มีเพียงการต้องจ่ายค่าตอบแทนหลักแสนต่อเดือนให้กับสมาชิกทั้ง 250 คนเท่านั้น แต่งบประมาณแผ่นดินจากภาษีประชาชนยังต้องแบกรับค่าใช้จ่ายของ “คณะทำงาน” ของ ส.ว. แต่ละคนด้วย

เมื่อได้รับการแต่งตั้งเข้ามาเป็น ส.ว. แต่ละคนจะมีสิทธิในการแต่งตั้งคณะทำงานของตัวเองเข้ามาช่วยงานได้สูงสุด 8 คน โดยแต่ละคนก็จะได้รับค่าตอบแทนรายเดือนหลักหมื่นบาท ยังไม่นับรวมสวัสดิการอื่นๆ

จากข้อมูลคณะทำงาน ส.ว.ทั้ง 250 คน ณ วันที่ 30 กันยายน 2563 พบว่า ส.ว. มีการแต่งตั้งเครือญาติของตัวเองเข้ามาเป็นคณะทำงานมากกว่าครึ่งร้อย ไม่ว่าจะผ่านการแต่งตั้งทางตรง คือ แต่งตั้งให้ญาติเข้ามาเป็นคณะทำงานของตัวเอง หรือการนำญาติของตัวเองไป “ฝากเลี้ยง” กับ ส.ว.คนอื่น รวมถึงยังพบคนในเครื่องแบบทั้งทหารและตำรวจอีกกว่าครึ่งพัน และผู้ที่เกี่ยวข้องกับ คสช. และนักการเมืองฝ่ายรัฐบาลอีกหลากหลายคน เรียกได้ว่าการแต่งตั้งคนใกล้ชิดเพื่อมารับค่าตอบแทนรายเดือนยังคงทำเป็น “อุตสาหกรรม” ขนาดใหญ่ไม่ต่างจากในยุคของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพียงแต่ซ่อนรูปอยู่ใน ส.ว.แต่งตั้ง ที่เครือญาติคนรู้จักยังได้ประโยชน์อย่างมหาศาลอยู่เช่นเดิม

เฉพาะ ส.ว.จะได้รับเงินประจำตำแหน่ง เดือนละ 71,230 บาท และได้รับเงินเพิ่มเดือนละ 42,330 บาท รวมเป็นเดือนละ 113,560 บาท ค่าตอบแทนนี้ยังไม่รวมส่วนที่เป็นเบี้ยประชุมในคณะกรรมาธิการ เบี้ยเลี้ยงในกรณีที่เดินทางไปนอกสถานที่ และสวัสดิการอื่นๆ เช่น ค่ารักษาพยาบาล

Advertisement

นอกจากนี้ สามารถแต่งตั้งคณะทำงานที่จะเข้ามาช่วยเหลือได้อีกสามตำแหน่งรวมทั้งหมด 8 คน คือ 1.ผู้เชี่ยวชาญประจำตัว มีได้ 1 คน รับเงินเดือน 24,000 บาทต่อคน 2.ผู้ชำนาญการประจำตัว มีได้ 2 คน รับเงินเดือน 15,000 บาทต่อคน และ 3.ผู้ช่วยดำเนินงานประจำตัว มีได้ 5 คน รับเงินเดือน 15,000 บาทต่อคน

ค่าตอบแทนคนกลุ่มนี้จากหยาดเหงื่อภาษีประชาชนในยุคทุกข์เข็ญเช่นนี้ ตั้งแต่ พ.ค.62 ถึง พ.ค.65 ระยะเวลา 3 ปีมีการจ่ายเงินเป็นค่าตอบแทนให้กับ ส.ว. และคณะทำงานไปแล้วกว่า 2,230,569,000 บาท

คณะทำงานของ ส.ว.ทั้ง 250 คน ณ วันที่ 30 กันยายน 2563 และมีสิ่งที่น่าสนใจหลายประการ พบว่า ส.ว.มีคณะทำงานทั้งหมด 1,830 คน โดยมีจำนวน 50 คนที่เป็นญาติ หรือมีนามสกุลเดียวกับ ส.ว.ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ ณ ขณะนั้น โดยมีทั้ง ส.ว.ที่แต่งตั้งญาติเป็นคณะทำงานของตัวเองโดยตรง และยังมีกรณีที่ “ฝากเลี้ยง” คือ ส.ว.คนอื่นแต่งตั้งญาติของ ส.ว.อีกคนเป็นคณะทำงานด้วย รายชื่อของ ส.ว. ที่แต่งตั้งญาติของตนเองและ ส.ว.คนอื่นเป็นคณะทำงานของตัวเอง

Advertisement

ข้อมูลของไอลอว์โดยละเอียดสามารถเปิดอ่านได้ผ่านเว็บไซต์ไอลอว์โดยตรง

นอกจากนี้ แนวปฏิบัติการแต่งตั้งเครือญาติเข้ามาเป็นผู้ช่วย หรือคณะทำงานนั้นพบมาโดยตลอดในองค์กรที่แต่งตั้งโดย คสช.หลังจากการรัฐประหารในปี 2557 อาทิ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จำนวนกว่าครึ่งร้อยแต่งตั้งญาติพี่น้องเป็นคณะทำงานของตนเอง สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) อีกกว่าสิบคนที่ตั้งเครือญาติของตนเองเข้ามารับเงินเดือน

หลังสรรหา ส.ว. 250 คนตามรัฐธรรมนูญ 2560 บทเฉพาะกาล ก็ปรากฏว่ามีกลุ่มคนที่เคยนั่งอยู่ใน สนช. หรือ สปช. เปลี่ยนร่างกลายเป็น ส.ว. กันหลักร้อยคน ในจำนวนนี้มีอดีต สนช. หรือ สปช. ที่เคยแต่งตั้งญาติของตนเองเข้าไปเป็นคณะทำงาน และเมื่อตนเองได้เป็น ส.ว.แล้ว ก็แต่งตั้งญาติของตัวเอง หรือ “คนหน้าเดิมนามสกุลเดิม” เข้าไปเป็นคณะทำงาน ส.ว. และรับเงินเดือนต่อไป ในขณะที่บางคน แม้จะไม่ได้เป็น ส.ว. ต่อแล้ว แต่ก็ยังสามารถส่งเครือญาติ หรือตัวเองเข้าไปเป็นคณะทำงาน ส.ว.ได้อีกครั้งหนึ่ง

นอกจากนี้ คณะทำงานของ ส.ว.ยังเต็มไปด้วยคนในเครื่องแบบทั้งทหารและตำรวจถึง 493 คน โดยเป็นคนยศใหญ่ตั้งแต่ พล.ต.หรือ พล.ต.ต. ถึง พล.อ.หรือ พล.ต.อ.เกือบครึ่งหนึ่ง คือ 188 คน และมียศระดับนายพัน หรือนาวาอยู่อีก 119 คน ที่เหลือเป็นทหารหรือตำรวจยศ ร.ต.ลงมามีทหารตำรวจชั้นประทวนอยู่ 37 คน

เพราะ ส.ว. คือกลไกสำคัญที่ คสช.สร้างหลังการรัฐประหารในปี 2557 ผ่านรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 เพื่อให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.ในขณะนั้น สืบทอดอำนาจจนสามารถนั่งนายกฯยาวนานถึง 8 ปี

สำหรับประสิทธิภาพการทำงานของ ส.ว. ประชาชนประเมินได้ด้วยสายตาว่า ตั้งแต่มี ส.ว.ชุดนี้มีผลงานอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน

แต่ในแง่มุมของ “บิ๊กตู่” วุฒิสภาหรือ ส.ว.คือหลักประกันในการสืบทอดอำนาจ แต่ประชาชนก็ต้องแลกด้วยภาษีที่เราต้องจ่ายเป็นค่าตอบแทนให้คนกลุ่มนี้ ถือเป็นต้นทุนที่แพงระยับนับพันๆ ล้านบาท เพื่อคนคนเดียว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image