เดินหน้าชน : โหวต‘นอกสภา’

เดินหน้าชน : โหวต‘นอกสภา’

ในขณะที่ฝ่ายค้านกำลังเปิดเวทีอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ 10 รัฐมนตรี โดยเฉพาะคำอภิปรายของ “หมอชลน่าน ศรีแก้ว” หัวหน้าพรรคเพื่อไทยและผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ที่จัดหนัก “บิ๊กตู่” ชี้ให้เห็นความผิดพลาด บกพร่องล้มเหลวใน 6 ด้าน คือ 1.บกพร่องด้านความเป็นผู้นำ 2.ทำเศรษฐกิจพังพินาศล้มเหลว 3.ทำสังคมพินาศพังทลาย เกิดความแตกแยกและแบ่งฝักฝ่าย 4.ทำให้เกิดความพินาศด้านสาธารณสุข 5.ทำให้เกิดความพินาศด้านการเมือง และ 6.เป็นยุคที่การทุจริตคอร์รัปชั่นเฟื่องฟูจนประเทศพังพินาศ

กล่าวหาผู้นำรัฐบาลว่าทำลายระบบรัฐสภาจนย่อยยับ ด้วยการสถาปนาสภากล้วยขึ้นมา มีการใช้เงินแลกเสียงโหวตทุกครั้งที่มีการลงมติที่สำคัญๆ แต่เรื่องน่าอัปยศอดสูที่สุดคือการปิดห้องคุยกับแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อสั่งการให้เปลี่ยนสูตรในการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ (ปาร์ตี้ลิสต์) จากหารด้วย 100 เป็นหารด้วย 500 ในเวลา 1 วันก่อนที่รัฐสภาจะพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ในวาระที่ 2 และ 3 ทั้งที่มีการแบ่งแยกอำนาจการปกครองระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติ จึงถือว่ามีพฤติกรรมเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตย

“นี่เป็นความประสงค์ในการทำลายคู่แข่งทำลายพรรคการเมืองเพราะคิดว่าเป็นของคนๆ เดียวคนนั้น จับหนูตัวเดียว เผาบ้านหมด พังพินาศหมด ตอนต้นสร้างมาเป็นแม่วัว แต่มีใครคนหนึ่งแอบไปผสมพันธุ์ ลูกหรือกฎหมายลูก
จึงออกมาเป็นควาย หมอที่ไปดูแล หรือกรรมาธิการ ก็บอกว่าลูกในท้องเป็นวัว แต่ก่อนคลอดวันเดียว มีใครคนหนึ่งแอบไปผสมพันธุ์กับวัว ลูกมันออกมาเป็นควาย”

ในขณะที่ประชาชนกำลังนั่งรับฟังข้อมูลของฝ่ายค้าน แต่ในใจก็รู้สึกหดหู่กับ ส.ส.ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ที่กำลังกลายเป็นสภากล้วยอย่างสมบูรณ์แบบ

Advertisement

เมื่อระบบมันเสื่อมโทรมผุผัง แต่อย่างน้อยในยุคสังคมดิจิทัล ยุคที่ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ง่ายและเสียงของประชาชนในสังคมออนไลน์และโซเชียล ณ วันนี้มีพลังสามารถสั่นคลอนวาระทางสังคมในทุกกรณีที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาหนึ่งๆ ได้นั้น

การเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจในครั้งนี้ มีสิ่งที่น่าสนใจ เกิดความเคลื่อนไหวทางสังคมโดย “อาจารย์ปริญญา เทวานฤมิตรกุล” รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผุดโครงการ “เสียงประชาชน ลงมติไว้วางใจ-ไม่ไว้วางใจรัฐบาล คู่ขนานสภาผู้แทนราษฎร” เพื่อเป็นการส่งเสริมกระบวนการตรวจสอบถ่วงดุลและการมีส่วนร่วมของประชาชนตามวิถีทางประชาธิปไตย “เครือข่ายเสียงประชาชน” ซึ่งเป็นการริเริ่มของกลุ่มนักวิชาการจาก 4 มหาวิทยาลัย เครือข่ายองค์กรภาคประชาชนที่ร่วมกันจัดงาน 30 ปีพฤษภาประชาธรรมและสื่อโทรทัศน์ดิจิทัลได้ร่วมกันทำโครงการลงมติออนไลน์ นำคิวอาร์โค้ดให้ประชาชนได้ร่วมลงมติไว้วางใจหรือไม่ไว้ใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีทั้ง 11 คนแยกเป็นรายบุคคลเช่นเดียวกับสภาผู้แทนราษฎร

โดยมีกติกาในการลงมติคือ 1.โทรศัพท์มือถือหนึ่งเครื่อง หรือคอมพิวเตอร์หนึ่งเครื่องจะลงมติได้เพียง หนึ่งครั้ง 2.การลงมติจะเริ่มต้นในวันสุดท้ายของการอภิปราย คือวันศุกร์ที่ 22 กรกฎาคม เวลา 18.00 น. โดยจะปิดการลงมติในวันที่ 23 กรกฎาคม เวลาเดียวกับการปิดลงมติของสภาผู้แทนราษฎรคือประมาณ 11.00 น. จากนั้นจะมีการสรุปผลและรายงานผลไปพร้อมกับผลการลงมติของสภาผู้แทนราษฎร

Advertisement

โครงการนี้มีความประสงค์ที่จะส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ ได้แสดงออกซึ่ง “เสียงประชาชน” ที่ถึงแม้ว่าจะมิได้มีผลทางกฎหมาย และไม่ว่าผลการลงมติในสภาผู้แทนราษฎรจะเป็นเช่นไร แต่ผลที่ออกมาคือเสียงประชาชนที่ทุกฝ่ายจะได้รับฟัง

นับเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่มีการดำเนินการให้ประชาชนได้ลงมติไว้วางใจ-ไม่ไว้วางใจคู่ขนานกับสภาผู้แทนราษฎรโดยใช้ช่องทางออนไลน์ ที่ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมได้โดยสะดวก จัดการได้ง่าย และทราบผลได้รวดเร็ว ซึ่งควรจะได้มีการใช้ในการส่งเสริมเสียงประชาชนให้ดังยิ่งขึ้นในวาระอื่นๆ และเรื่องสาธารณะอื่นๆ และนำไปสู่การมีประชาธิปไตยโดยตรงมากยิ่งขึ้นต่อไป

เสียงโหวตนอกสภาครั้งนี้ อาจเป็นจุดเริ่มต้นสังคมประชาธิปไตยยุคดิจิทัล ที่เสียงของประชาชนจะดังเข้าไปโสตประสาทบรรดา ส.ส.ที่ชอบอ้างตัวเองว่าเป็นตัวแทนของปวงชนเสียที

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image