ย้อนประวัติศาสตร์ ‘ผู้ว่าฯ กทม.’ จากแต่งตั้งสู่เลือกตั้ง เปิดสมรภูมิสู้เดือดครึ่งศตวรรษ

โค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง ‘ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในวันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม ที่กำลังจะถึงนี้

ก่อนจะถึงวันนั้น ‘มติชน’ ชวนย้อนกลับไปในอดีต เปิดประวัติศาสตร์บนพื้นที่ กทม. ซึ่งมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการปกครองมาหลายครั้ง ตั้งแต่การตั้ง ‘เทศบาลนครกรุงเทพ’ และ ‘เทศบาลนครธนบุรี’ ก่อนควบรวมทั้ง 2 เทศบาล เป็น ‘เทศบาลนครหลวง’ ในปี พ.ศ.2514 ภายใต้การควบคุมของกระทรวงมหาดไทยโดยตรง

จนกระทั่งมีประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 335 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515 ให้จัดรูปแบบการปกครองเป็น “กรุงเทพมหานคร” โดยรวมราชการบริหารส่วนภูมิภาค และราชการบริหารสวนท้องถิ่น รวมทั้งให้มีฐานะเป็นจังหวัด โดยมีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นข้าราชการมาจากการแต่งตั้งโดยคณะรัฐมนตรี และมีสภากรุงเทพมหานครมาจากการเลือกตั้งเขตละ 1 คน รวมกับผู้ทรงคุณวุฒิที่มาจากการแต่งตั้งโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยอีกจำนวนหนึ่ง

ผู้ว่าฯ กทม.คนแรก มาจาก ‘การแต่งตั้ง’

 

Advertisement

ตั้งแต่ปี 2516 ผู้ว่าฯ กทม.เป็นข้าราชการการเมืองที่มาจากแต่งตั้งโดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) คือ วันที่ 1 มกราคม แต่งตั้ง’นายชำนาญ ยุวบูรณ์’ วันที่ 1 พฤศจิกายน แต่งตั้ง ‘นายอรรถ วิสูตรโยธาภิบาล’ วันที่ 5 มิถุนายน 2517 แต่งตั้ง ‘นายศิริ สันติบุตร’ วันที่ 1 พฤษภาคม 2518 แต่งตั้ง ‘นายสาย หุตะเจริญ’

อย่างไรก็ตาม หลังการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในปี พ.ศ.2516 รัฐได้แก้ไขรูปแบบการปกครองกรุงเทพมหานครให้เป็นการปกครองของประชาชนมากขึ้น ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2518 ให้กรุงเทพมหานครเป็นทบวงการเมือง มีฐานะเป็นนิติบุคคลและเป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่นนครหลวง รวมทั้งกำหนดให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมาจากการเลือกตั้งเป็นฝ่ายบริหาร ดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี มีสภากรุงเทพมหานครเป็นฝ่ายนิติบัญญัติเพื่อทำหน้าที่ออกกฎหมายของท้องถิ่น โดยสมาชิกสภากรุงเทพมหานครมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี

ชำนาญ ยุวบูรณ์ ผู้ว่ากทม.คนแรกในประวัติศาสตร์ มาจากการแต่งตั้ง ในพ.ศ.2516 (ภาพจากอนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ คุณหญิงวลี ยุวบูรณ์ 24 กันยายน 2560)

 

Advertisement

 ‘ธรรมนูญ’ ผู้ว่าฯ จากการ ‘เลือกตั้ง’ คนแรก แต่อยู่ไม่ครบเทอม

 

วันที่ 10 สิงหาคม 2518 ‘นายธรรมนูญ เทียนเงิน’ จากพรรคประชาธิปัตย์ ได้รับการเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ กทม.คนแรก ด้วยคะแนนเสียง 99,247 คะแนน ขณะนั้นมีผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง เพียงร้อยละ 13.86 แต่นายธรรมนูญไม่ได้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. จนครบวาระ 4 ปี เนื่องจากเกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงทั้งในฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ จนไม่สามารถปฏิบัติงานได้ วันที่ 29 เมษายน 2520 ‘นายธานินทร์ กรัยวิเชียร’ นายกรัฐมนตรี ในขณะนั้น จึงตัดสินใจใช้อำนาจตามมาตรา 21 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2519 ปลดนายธรรมนูญออกจากตำแหน่ง และให้กลับไปใช้รูปแบบการแต่งตั้งเช่นเดิม

นับจากเหตุการณ์ปลดนายธรรมนูญ ในปี 2520 กทม.มีผู้ว่าฯ กทม.จากการแต่งตั้งอีก 4 คน คือ วันที่ 29 เมษายน 2520 ‘นายชลอ ธรรมศิริ’ วันที่ 4 กรกฎาคม 2522 ‘นายเชาวน์วัศ สุดลาภา’ วันที่ 28 เมษายน 2524 ‘พล.ร.อ.เทียม มกรานนท์’ และวันที่ 6 พฤศจิกายน 2527 ‘นายอาษา เมฆสวรรค์’

 

4 แสน 7 แสน เทคะแนนเลือก ‘จำลอง’ ผู้ว่าฯ 2 รอบ

 

กระทั่งวันที่ 18 กรกฎาคม 2528 สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติเห็นชอบ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528 กำหนดให้ผู้ว่าฯ กทม.มาจากการเลือกตั้งอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม กฎหมายฉบับนี้มีการเปลี่ยนแปลงหลักการสำคัญจากเดิมบางประการ กล่าวคือ ผู้ว่าฯ กทม. มาจากเลือกตั้งโดยประชาชนเพียงคนเดียว และผู้ว่าฯ กทม. จะไปแต่งตั้งรองผู้ว่าฯ กทม.อีก 4 คน ซึ่งเดิมเป็นการเลือกตั้งทั้งคณะ ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ว่าฯ กทม.มีเอกภาพในการบริหารเพื่อแก้ไขสภาพปัญหาที่เคยเกิดขึ้น นอกจากนี้ กฎหมายฉบับนี้ยังได้กำหนดหลักการการพันจากตำแหน่งของผู้ว่าฯ กทม. โดยให้สภากรุงเทพมหานครมีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของสมาชิกทั้งหมดของสภายื่นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาแทน

โดยเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2528 ‘พล.ต.จำลอง ศรีเมือง’ จาก ‘กลุ่มรวมพลัง’ ได้รับการเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ กทม.ด้วยคะแนนเสียง 408,237 คะแนน มีผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งร้อยละ 34.65 และอยู่จนครบวาระ ต่อมา วันที่ 7 มกราคม 2533 พล.ต.จำลอง ลงสมัครผู้ว่าฯ กทม.อีกครั้งในนาม ‘พรรคพลังธรรม’ ได้รับเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียง 703,672 คะแนน มีผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งร้อยละ 35.85 แต่รอบนี้ พล.ต.จำลอง อยู่ไม่ครบวาระ ลาออกไปเล่นการเมืองระดับชาติ

จำลอง ศรีเมือง นั่งผู้ว่าฯ กทม. 2 ครั้ง ครั้งแรกในนามกลุ่มรวมพลังครั้งหลังในนามพรรคพลังธรรม (ภาพจากเพจ โรงเรียนผู้นำพลตรีจำลอง ศรีเมือง)

พิจิตต ปชป. พ่าย กฤษฎา ก่อนทวงคืนชัยชนะภายใต้กลุ่ม ‘มดงาน’

 

ต่อมาวันที่ 19 เมษายน 2535 ‘ร.อ.กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา’ รองผู้ว่าฯ กทม.ในสมัย พล.ต.จำลอง จึงลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.แทน โดยไม่สังกัดกลุ่มใด แต่ยังอยู่ภายใต้การสนับสนุนของ พล.ต.จำลอง ได้รับเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียง 363,668 คะแนน มีผู้ใช้สิทธิเพียงร้อยละ 23.02 และครั้งนี้ มี ‘ดร.พิจิตต รัตตกุล’ ลงสมัครรับเลือกตั้งด้วยในนาม ‘พรรคประชาธิปัตย์’ แต่ต้องพ่ายแพ้ให้แก่ ร.อ.กฤษฎา

วันที่ 3 มิถุนายน 2539 ดร.พิจิตต รัตตกุล ลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.อีกครั้ง แต่รอบนี้ไม่สังกัดพรรค ใช้ชื่อ ‘กลุ่มมดงาน’ ได้รับเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียง 768,994 คะแนน มีผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งร้อยละ 43.53 และการเลือกตั้งครั้งนี้มีผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งมากถึง 29 คน โดยมีอดีตผู้ว่าฯ กทม. 2 คน ที่ลงชิงเก้าอี้ด้วย คือ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง และ ร.อ.กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา ครั้งนี้ ดร.พิจิตต ที่เคยพ่ายแพ้ ได้คะแนนมากกว่า พล.ต.จำลอง กว่า 2 แสนคะแนน และมากกว่า ร.อ.กฤษฎา กว่า 5 แสนคะแนน ซึ่งตั้งข้อสังเกตว่าทั้ง พล.ต.จำลอง และ ร.อ.กฤษฎา ลงแข่งตัดคะแนนกันเอง ทำให้ ดร.พิจิตต ชนะการเลือกตั้ง

 

พิจิตต รัตตกุล สมัครในนามพรรคประชาธิปัตย์ แพ้ ร.อ.กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา ต่อมา ไม่สังกัดพรรค แต่สมัครในนาม ‘กลุ่มมดงาน’ คว้าชัยด้วยคะแนนเสียง 768,994 (ภาพจาก TCIJ)

 

กว่าล้านคน กาให้ ‘สมัคร’ นั่งผู้ว่าฯ ครบ 4 ปี

 

วันที่ 23 กรกฎาคม 2543 ‘นายสมัคร สุนทรเวช’ อดีตหัวหน้าพรรคประชากรไทย ลงชิงเก้าอี้ ได้รับเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียง 1,016,096 คะแนน มีผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งถึงร้อยละ 58.87 และอยู่จนครบ 4 ปี ด้านผู้สมัครที่มีความโดดเด่นในการเลือกตั้งรอบนี้ ได้แก่ พันเอกวินัย สมพงษ์ อดีตสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ลงสมัครอิสระในนาม “กลุ่มคนรักเมืองหลวง” พรรประชาธิปัตย์ ส่ง นายธวัชชัย สัจจกุล อดีตสส.กทม. คุณหญิงกัลยา โสภณพานิช ลงสมัครอิสระใช้ชื่อว่า “กลุ่มกรุงเทพสดใส” นางสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ ลงสมัครในนามพรรคไทยรักไทย และ นางปวีณา หงสกุล ลงสมัครในนามพรรคชาติพัฒนา

ลีลา สมัคร สุนทรเวช ผู้คว้าชัยด้วยคะแนนเสียง 1,016,096 อยู่ครบเทอม 4 ปี

 

อภิรักษ์ คว้าชัย 2 รอบ ก่อนเจอพิษ ชี้มูลทุจริต จัดซื้อรถ-เรือดับเพลิง

 

วันที่ 29 สิงหาคม 2547 ‘นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน’ จากพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งขณะนั้นเป็นพรรคฝ่ายค้านในรัฐบาล ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ กทม.ด้วยคะแนนเสียง 911,441 คะแนน ชนะคู่แข่งคือ ‘นางปวีณา หงสกุล’ ผู้สมัครอิสระ ที่มี ‘พรรคไทยรักไทย’ ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลในขณะนั้นสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง ได้รับคะแนนเสียงไป 619,039 คะแนน

ขณะที่ผู้สมัครคนอื่นๆ ที่โดดเด่น น่าสนใจ อาทิ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ร.ต.อ.นิติภูมิ นวรัตน์ ดร.พิจิตต รัตตกุล ดร.มานะ มหาสุวีระชัย ดร.วุฒิพงษ์ เพรียบจริยวัฒน์ นายพีระพงศ์ ถนอมพงษ์พันธุ์ นางลีนา จัง ฯลฯ

วันที่ 5 ตุลาคม 2551 ‘นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน’ พรรคประชาธิปัตย์ ได้รับการเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ กทม.อีกครั้ง ด้วยคะแนนเสียง 991,018 คะแนน แต่อยู่ไม่ครบวาระ เพราะลาออกหลังจากถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดในคดีทุจริตจัดซื้อรถ-เรือดับเพลิง

แผ่นพับหาเสียง เบอร์ 1 อภิรักษ์ โกษะโยธิน ฉายา ‘หล่อเล็ก’

 

ไม่เลือกเรา เขามาแน่ สุขุมพันธุ์ เฉือน พงศพัศ ทำลายทุกสถิติ แห่เข้าคูหา 63.38%

 

วันที่ 11 มกราคม 2552 ‘ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร’ จากพรรคประชาธิปัตย์ ได้รับการเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ กทม. ด้วยคะแนนเสียง 934,602 คะแนน และประกาศลาออกก่อนครบวาระ 4 ปี เพียง 1 วัน เพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่

วันที่ 3 มีนาคม 2556 ‘ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร’ พรรคประชาธิปัตย์ ได้รับเลือกตั้งเป็นสมัยที่ 2 ด้วยคะแนนเสียง 1,256,349 คะแนน มากที่สุดเป็นประวัติการณ์ เช่นเดียวกับคู่แข่ง คือ ‘พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ’ ที่ได้ 1,077,899 คะแนน มาเป็นอันดับที่ 2 ทำลายสถิติของนายสมัคร สุนทรเวช เมื่อปี 2543 ทั้งคู่

อีกทั้งสถิติของผู้ใช้สิทธิทั้งหมดยังสูงถึงร้อยละ 63.38 นับว่ามากที่สุดกว่าครั้งไหนๆ แต่ยังไม่ทันที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ จะอยู่จนครบวาระในสมัยที่ 2 ก็ต้องพบวิบากกรรมกับข้อครหาทุจริตโครงการติดตั้งอุโมงค์ไฟประดับ

สุขุมพันธุ์ ผู้ว่ากทม.2 สมัย สมัยหลังเฉือนชนะ พงศพัศ คนแห่เข้าคูหา 63.38%

สู่ยุค คสช. ตั้ง ‘อัศวิน’ อยู่ยาว

 

ต่อมา วันที่ 25 สิงหาคม 2559 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.ได้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 50/2559 ให้พักงาน ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ จากตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.โดยไม่พ้นจากตำแหน่ง และต่อมา วันที่ 18 ตุลาคม 2559 ได้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ให้พ้นจากตำแหน่ง และวันเดียวกัน มีคำสั่งแต่งตั้ง ‘พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง’ เป็นผู้ว่าฯ กทม.โดยกำหนดให้ดำรงตำแหน่งจนกว่าจะมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.หรือ คสช.มีคําสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นประการอื่น

 

อรรถ วิสูตรโยธาภิบาล ผู้ว่าฯ กทม. คนที่ 2 ยังคงมาจากการแต่งตั้ง
ป้ายหาเสียง อัศวิน ขวัญเมือง ริมถนนมหาไชย ประชิดกำแพงป้อมมหากาฬ
  • ข้อมูลส่วนหนึ่งจาก ‘การเลือกตั้งท้องถิ่นแบบถ่วงดุลการเมืองระดับชาติ : ศึกษากรณีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2547’ โดย นางสาววรินทร์ทร ปณิธานธรรม คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image