‘อจ.สิริพรรณ’ แนะจับตา 6 แสนเสียงเจน X-Y ตัวแปรโหวต ‘ผู้ว่าฯกทม.’

‘อจ.สิริพรรณ’ แนะจับตา 6 แสนเสียงเจน X-Y ตัวแปรโหวต ‘ผู้ว่าฯกทม.’

รศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่อยู่ในช่วงผู้สมัครหาเสียง และจะมีการเลือกตั้งขึ้นในวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 นี้ว่า การเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ในครั้งนี้แต่ต่างจากการเลือกตั้งก่อนหน้านี้พอสมควร แต่การเลือกตั้งแต่ละครั้งมีคาแร็กเตอร์เฉพาะเจาะจง และการเลือกตั้งในอดีตก็สำคัญไม่ต่างกัน ความแตกต่างที่สำคัญคือ คนรอคอยให้จัดเลือกตั้งมาก เพราะเป็นการเลือกตั้งที่เว้นถ่างมากที่สุดในยุคของการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. นับจากการมีรัฐธรรมนูญ 2540 คือ ว่างเว้นจากการเลือกตั้งถึง 9 ปี เชื่อว่าความคาดหวังที่คนรอคอยจะทำให้คนออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งเยอะ โดยปกติคน กทม.ไม่ได้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งมาก

“ความชัดเจนที่แตกต่างที่สุดในครั้งนี้คือ 1.การมีแคนดิเดตผู้ว่าฯกทม. ที่มีโอกาสที่จะได้รับเลือกสูงหลายคน ถ้าย้อนกลับไปในการเลือกตั้งปี 2556 จะมีผู้สมัครที่แข่งกันหลักๆ คือ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร กับ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ 2.จุดยืนทางการเมืองจะเข้ามามีผลต่อการตัดสินใจ แบ่งออกเป็น 2 ฝั่ง คือ ฝั่งเป็นพันธมิตรกับทหาร และฝั่งที่ไม่สนับสนุนทหาร 3.การเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. พร้อมกับ ส.ก.ทำให้มีป้ายหาเสียงจำนวนมาก และเบอร์ของผู้สมัคร ส.ก. แตกต่างจากผู้สมัครผู้ว่าฯกทม. อาจจะทำให้เกิดความสับสนกับประชาชน และ 4.การมีผู้สมัครผู้ว่าฯกทม. อย่างนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ที่เตรียมตัวมาอย่างยาวนานหลายปี ทำให้เห็นความพร้อมและนโยบายอย่างชัดเจน แต่ไม่รู้ว่าผลจะเป็นอย่างไร”

รศ.ดร.สิริพรรณกล่าวว่า ส่วนความสำคัญของสนามผู้ว่าฯกทม. ต่อการเมืองสนามใหญ่จะเป็นอย่างไร มองว่าเป็นความสำคัญอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยฐานเสียงของนายชัชชาติมาจากพรรค พท. ขณะที่ฐานเสียงของ พล.ต.อ.อัศวิน จะมาจากพรรค พปชร. จะสามารถวัดกันได้เลยว่าฐานเสียงของ 4 พรรคใหญ่ คือ พท. พปชร. ประชาธิปัตย์ (ปชป.) และก้าวไกล (ก.ก.) ในพื้นที่ กทม.จะเป็นแบบใด และการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ยังเกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้งใหญ่ไม่นาน จะเป็นตัวบ่งชี้ความนิยมของพรรคการเมืองในอนาคตได้

ส่วนการตัดสินใจของคน กทม. ท่ามกลางสถานการณ์การเมือง และวิกฤตโรคระบาดในครั้งนี้จะเป็นอย่างไรนั้น สามารถประเมินได้ยาก เพราะครั้งสุดท้ายที่คน กทม.ใช้สิทธิเลือกตั้งคือเมื่อปี 2562 ทำให้คนจำนวนหนึ่งช็อกที่ ปชป.ไม่ได้ ส.ส.กทม.แม้แต่คนเดียว ทั้งที่ครองสนามการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.มาโดยตลอด ส่วนประวัติศาสตร์จะซ้ำรอย หรือ ปชป.จะพ่ายแพ้หลุดรุ่ยหรือไม่ ยังเป็นเพียงข้อสังเกตหนึ่ง อย่าลืมว่าการเลือกตั้งสนามใหญ่ครั้งที่แล้ว ปชป.ไม่ได้ ส.ส.แต่มีคะแนนเสียงใน กทม. 4 แสนเสียง

Advertisement

“ดิฉันเห็นคน กทม.ที่เป็นฝ่ายอนุรักษนิยมจะแบ่งออกเป็น กลุ่มคนที่เลือก พล.ต.อ.อัศวิน และนายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ แต่ครั้งนี้จะเกิดตัวแปรคนรุ่นใหม่ หรือคนที่ใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งแรกที่มีประมาณ 6 แสนเสียง หรือ 32% ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในครั้งนี้ มีแนวโน้มจะเลือกผู้สมัครที่ไม่เป็นพันธมิตรกับทหาร และตัดสินใจด้วยความรอบคอบ ไม่ติดตามอารมณ์ ดังนั้น คน กทม.ซึ่งเป็นฝ่ายอนุรักษนิยม หรือคนยุคเบบี้บูมเมอร์ จะถูกท้าทายด้วยกลุ่มคนเจนเอ็กซ์และเจนวาย ที่สามารถเปลี่ยนภูมิทัศน์การตัดสินใจได้” รศ.ดร.สิริพรรณกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image