ราษฎรธิปไตย การเมืองแห่งความหวัง

การเรียนรู้กันและกันเป็นสิ่งสำคัญของการอยู่ร่วมกันในสังคม สรรพวิชาความรู้ความสามารถแสวงได้จากทุกที่ และจากทุกผู้คนที่มีความคิดอ่าน เช่น ความรู้ความเข้าใจเรื่องการเขียนคำประพันธ์หรือกวีนิพนธ์ อาจไม่ได้จากผู้ทำงานกวีนิพนธ์ ด้วยกัน ตรงกันข้าม ผู้นิยมชมชอบการเขียนกวีนิพนธ์ซึ่งทุ่มเทเวลาและชีวิตทำงาน ยังอาจไม่เข้าใจสิ่งที่ทำอยู่ก็เป็นได้

อาจารย์ นิธิ เอียวศรีวงศ์ คือนักวิชาการสังคม อักษรศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นที่รู้จัก แต่หากได้อ่านที่อาจารย์เขียนเรื่อง การนำบทอาขยานกลับมาสู่ห้องเรียนใน มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับสิงหาคมที่ผ่านมา ก็จะเห็นได้ชัดเจนว่าอาจารย์เข้าใจเรื่องคำประพันธ์กระจ่างเพียงใด คนเขียนคำประพันธ์ที่ยังเคร่งครัดกับ เอก 7 โท 4 ชนิดไม่ประหวัดถึงแก่นและความหมายของคำประพันธ์ อ่านแล้วอาจกระจ่างทันทีว่าคลำทางผิดมานานเพียงใด

เช่นเดียวกับการเมืองเรื่องที่สร้างความเข้าใจผิดกับผู้คนได้มากมาย โดยเฉพาะวันนี้ ที่พูดเรื่องความเห็นต่างกัน อย่างแพร่หลาย เพราะแทนที่ความเห็นต่างๆ จะสร้างปัญญาให้แตกแขนง กลับทำให้ความเห็นต่างเป็นเรื่องร้ายไปได้

การเมืองเป็นความปรารถนาดีของนักการเมืองที่มีต่อผู้คนและสังคม แต่บ้านเมืองซึ่งมีเฉพาะเพียงนักเลือกตั้ง เช่นเดียวกับคนเขียนกวีนิพนธ์ที่ไม่เข้าใจการบังคับ ครุ ลหุ ว่าหัวใจของข้อกำหนดหมายถึงอะไร บ้านเมืองนั้นย่อมปั่นป่วนวุ่นวายด้วยการแสวงและต่อรองผลประโยชน์ อย่างไม่คำนึงถึงทุกข์สุขประชาชน เช่นเดียวกับการเขียนบทกวีที่ดิบกระด้างไร้เสียง แม้ตั้งใจจะบรรจุเนื้อหาเข้าไปมากมายเพียงใด ก็เข้าไม่ถึงใจผู้อ่าน ไม่บรรลุเป้าหมายของบทกวีได้

Advertisement

‘การเมืองแห่งความหวัง’ เป็นเจตนา เป็นความมุ่งมั่น ของคนหนึ่งในสังคม ซึ่งพยายามถ่ายทอดความคิดและ ความปรารถนาดีที่มีต่อสังคมซึ่งตนอยู่ร่วม ท่ามกลางบรรยากาศของการต่อสู้อย่างไม่แยกแยะ และการช่วงชิงผลประโยชน์ ที่การสร้างความเข้าใจผิดกลายเป็นภาระอันหนักหนาของคนในสังคม ซึ่งต้องมานะใคร่ครวญอย่างจริงจัง

อาจารย์ ปิยบุตร แสงกนกกุล จำต้องจากห้องเรียน สู่สนามการเมือง เสนอตัวด้วยความหวังที่จะเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของสังคม ในอันจะสร้างสรรค์วิถีการเมืองอีกทางเลือก แต่เส้นทางที่เดินแม้จะเต็มไปด้วยอุปสรรคขวากหนาม ก็ไม่สู้การสร้างความเข้าใจผิด ที่เพียงหว่านโปรยลงเล็กน้อย ก็สามารถแตกสาขาขยายออกได้อย่างรวดเร็ว

แต่นี่เอง คือข้อพิสูจน์ของยุทธวิถีและกุศโลบายที่สืบเนื่องมายาวนานของจีน รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง

Advertisement

หากตั้งใจไม่เห็นด้วยกับอีกฝ่าย ก็ต้องเรียนรู้ความคิดของอีกฝ่าย เพื่อหักล้าง หรือชี้จุดอ่อนจุดผิดพลาดออกมา

นั่นคือ ต้องเรียนรู้ความคิดอ่านของอีกฝ่ายให้กระจ่างก่อน จึงสามารถตอบโต้ได้อย่างเปี่ยมพลัง

ทำไมคนเป็นครูต้องละจากห้องเรียนสู่สนามการเมือง ต้องรู้จักฉากชีวิตและความฝันอันยาวนานของคนผู้นั้น หนังสือเล่มนี้เผยอนาคตใหม่ของคนคนหนึ่ง ซึ่งจากครัมซี ลาคลาว มูฟ สู่ปฏิบัติการซึ่งอาจเรียกว่าท้านรกของคนผู้หนึ่ง

ครูผู้เขียนลำดับเรื่องการเมืองคือความเป็นไปได้ ตัดวงจรรัฐประหารสร้างพื้นที่ประชาธิปไตย ยุติระบบราชการรวมศูนย์ ปลดปล่อยศักยภาพท้องถิ่นอันเป็นสิ่งปรารถนาของคนในท้องถิ่นเอง จึงจะสร้างการเมืองใหม่ที่เป็นไปได้

ส่วนในรัฐสภานั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้อ่านหรือคนในสังคมต้องรู้จักสภาพสภาที่แท้จริง สภาที่เราเป็นเจ้าของที่แท้ แต่ไม่เคยได้เป็นเจ้าของจริงๆ ก็ต้องมีองค์กรตุลาการที่ตรวจสอบได้ ระบบยุติธรรมจึงเป็นที่พึ่งพิงสุดท้ายของสังคม

ทุกคนล้วนต้องการเสรีภาพในการแสดงออก อย่าประหลาดใจตัวเอง ที่ต้องการแสดงออกอย่างเต็มที่ แต่กลับไม่ต้องการให้ฝ่ายที่ตนไม่เห็นด้วยกับความคิดของเขา มิให้มีการแสดงออก กลับมาทบทวนตัวเองอีกครั้งก็เห็นได้ไม่ยาก

หนังสือเล่มที่ต้องการผู้อ่าน ที่จริง ผู้อ่านก็ต้องการหนังสือเล่มนี้ หากมิจฉาทิฏฐิไม่ครอบงำสังคมจนมืดลึกไป

แต่ก่อนจะสถาปนาการเมืองใหม่ การเมืองแห่งความหวัง การเมืองแห่งความเป็นไปได้ลงหนักแน่นมั่นคง จริงๆ ย่อมจำเป็นต้องเข้าใจที่มาของการเมืองระบอบประชาธิปไตยซึ่งคนทั้งโลกยอมรับ เข้าใจสังคมที่มาของตนเอง

หนังสือ ‘ราษฎรธิปไตย’ ของ ศรัญญู เทพสงเคราะห์ ให้เห็นเนื้อหาการต่อสู้เพื่อลงหลักปักฐานคุณค่า และความทรงจำ ต่อระบอบประชาธิปไตย ในยุคคณะราษฎร ที่มีเป้าหมายเหมือนสังคมอื่นในโลกสมัยใหม่

แต่การพยายามคืนอำนาจสู่ประชาชนเจ้าของอำนาจที่แท้จริง กลับตกในภาวะผันผวนของการยื้อแย่งอำนาจ ทำให้คณะราษฎร และระบอบประชาธิปไตยที่กำลังก่อร่าง ถูกโจมตี บ่อนเบียน ทำลาย จนอำนาจที่แท้ของประชาชน ค่อยๆ หายไป พร้อมกับความทรงจำของประชาธิปไตยถูกตัดต่อ ลดทอน ดัดแปลง หายไปด้วยฝีมือฝ่ายอนุรักษนิยม

ความทรงจำสำคัญ คุณค่าสำคัญ ที่ทำให้ประชาชนตกอยู่ในวงจรการเมืองระบบป้ายสีอันมืดดำ โดยไม่รู้ตัว

กระทั่ง เกือบ 90 ปีที่ผ่านมา แทบจะไม่มีผู้ใดจำได้แล้วว่า สังคมยุคหลังการปฏิวัติเปลี่ยนแปลง พ.ศ.2475 ที่เป็นประชาธิปไตย มีหน้าตาเป็นอย่างไร

ผู้เขียนซึ่งเป็นนักประวัติศาสตร์ผู้ใช้เวลาอยู่กับหนังสือ บันทึก เอกสาร และภาพเก่าๆ ค่อยๆ ลำดับความทรงจำ ยุคประชาธิปไตยออกมาเป็นหนังสือรวมบทความอันทรงคุณค่าเล่มนี้ เพื่อรื้อฟื้น ปะติดปะต่อ ภาพอดีตอันขาดวิ่น และถูกทำให้หายไป ส่งต่อภาพจำเหล่านั้น คืนกับประชาชนคนรุ่นหลัง ด้วย 6 บทความที่ควรรู้ควรถ่ายทอดภายในเล่ม

มองสำนึกพลเมืองยุคคณะราษฎรผ่านอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญในอีสาน นี่เป็นเรื่องที่คนจำนวนมากอาจไม่เคยรู้, กลอนลำรัฐธรรมนูญมหาสารคาม พ.ศ.2477 จะทำให้เราได้เห็นความคิดอ่านของผู้คนในสภาวะแวดล้อมใหม่, โทษประหารชีวิตหลังการปฏิวัติ 2475 แนวคิด การเมือง และข้อถกเถียงในการลงทัณฑ์ด้วยความตายของรัฐไทย พ.ศ.2475-2499 ที่จะช่วยให้เราเข้าใจตัวเอง และความคิดเกี่ยวกับการลงโทษถึงตาย ว่าเกิดขึ้นอย่างไร,โรงเรียนฝึกอาชีพ พื้นที่ควบคุมเด็กในสถาบันราชทัณฑ์ไทย พ.ศ.2479-2501 เปรียบเทียบกับปัจจุบันได้ ทุกแง่มุม, อนุสาวรีย์ปราบกบฏ จากจุดเริ่มต้นสู่การอันตรธาน พ.ศ.2476-2561 เมื่อเร็วๆ นี้เอง เกิดขึ้นอย่างไร การลบล้างความทรงจำที่คนรุ่นปัจจุบันต้องเรียนที่จะเข้าใจสิ่งเกิดขึ้นให้กระจ่าง เพื่อรู้ว่าเส้นทางการเกิดและตาย ของตนเอง ก็สามารถถูกทำให้ลบเลือนไปได้ไม่ยาก เป็นความทรงจำอันแสนเศร้า หากคนรุ่นเราจะลืมไปง่ายๆ อีกรุ่น

การเมืองเรื่องอนุสาวรีย์พระปกเกล้าฯกับการช่วงชิงความทรงจำว่าด้วยประชาธิปไตย หลังการรัฐประหาร 2494 ช่วงเวลาสำคัญของการเปลี่ยนแปลง ลบล้างสำนึกประชาธิปไตย ที่ใช้เวลายาวนานต่อเนื่องมาได้อย่างไร

หนังสือเล่มนี้จะสร้างความเข้าใจที่แท้ให้เกิดขึ้นได้ ด้วยการมองอดีตอย่างใคร่ครวญปราศจากอคติใดๆ

ซึ่งสำคัญต่อการทำความเข้าใจแนวทางประชาธิปไตยกับลูกหลานรุ่นใหม่ ให้เห็นการต่อสู้ของกำลังอำนาจต่างๆ

และอีกครั้ง เพื่อเข้าใจตัวเอง เข้าใจสังคมและบ้านเมืองตัวเองได้กระจ่าง ย่อมต้องอ่านหนังสือสำคัญของ สังคมเล่มนี้ให้ได้ ‘ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย’ ที่พากเพียรค้นคว้าเขียนขึ้นอย่างระมัดระวังความถูกต้องทุกๆ ด้าน ของอาจารย์ ผาสุก พงษ์ไพจิตร และ คริส เบเกอร์ ที่มานะจนได้หนังสือวิชาการซึ่งอ่านเพลิดเพลินไม่น่าเชื่อขึ้น

เป็นหนังสือที่นักวิชาการและผู้สนใจเมืองไทยทั่วโลกอ่านฉบับภาษาอังกฤษไปแล้ว จากการพิมพ์ของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ และยอมรับใช้เป็นหนังสือเรียนวิชาประวัติศาสตร์การเมืองของมหาวิทยาลัยต่างๆ ในต่างประเทศ เจอนัล ออฟ เดอะ สยาม โซไซตี้ กล่าวว่า เป็นหนังสือประวัติศาสตร์ไทยเล่มแรก ที่เป็น “ประวัติศาสตร์” ใน ความหมายสมัยใหม่ ผู้อยากรู้ที่มาของสังคมปัจจุบัน จุดอ่อน จุดแข็ง และศักยภาพสู่อนาคตในโลกที่ไร้เสถียรภาพ ต้องอ่านให้ได้

บางกอก โพสต์ กล่าวว่า ผู้เขียนทั้งสองได้ผลิตงานที่วิเศษจริงๆ ตีความได้สามารถ ท้าทายผู้อ่าน รวบรวมงานวิจัยล่าสุดทั้งภาษาไทยและอังกฤษ และวิเคราะห์แบบฉีกแนว น่าประทับใจที่สุด

อาจารย์ ฉลอง สุนทราวาณิชย์ พูดใน เดอะ เนชั่น ว่า สนองตอบความต้องการของทั้งผู้อ่านทั่วไป และนักศึกษาที่เรียนประวัติศาสตร์ ด้วยแง่มุมต่างๆ ของสังคมไทยจากอดีตถึงปัจจุบัน

ถือเป็นหนังสือสำคัญของยุคสมัยเล่มหนึ่งจริงๆ และตัวหนังสือเอง ก็ถือเป็นปรากฏการณ์ของยุคสมัยได้

เป็นหนังสือที่ต้องอ่านโดยแท้ ถึงไม่บอกตรงนี้ ก็ต้องมีที่ไหนๆ อีกหลายแห่งบอก

บรรณาลักษณ์

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image