ตู้หนังสือ : ในหนึ่งแผ่นดิน ม.ร.ว.ปรีดิยาธร สงครามการค้า สงครามเย็นสมัยใหม่

“ผมเกิดกลางปี พ.ศ.2490 หนึ่งปีหลังจาก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 ได้เห็นกับตาว่า เพียงแผ่นดินเดียว เศรษฐกิจของประเทศไทยเจริญอย่างคาดไม่ถึง จากประเทศที่พึ่งพาการเกษตรกรรมแต่อย่างเดียว มีรายได้ประชาชาติเพียง 30,567 ล้านบาท ในปี พ.ศ.2494 และ 59,077 ล้านบาท ในปี พ.ศ.2503 ได้พัฒนาเป็นประเทศที่มีทั้งเกษตรกรรม อุตสาหกรรม ธุรกิจบริการ และธุรกิจการค้าทุกรูปแบบ เช่นเดียวกับประเทศที่พัฒนาแล้วในโลกตะวันตก มีรายได้ประชาชาติเพิ่มขึ้นมากจนถึง 14,366,557 ล้านบาท ในปี พ.ศ.2559”

นั่นคืออารัมภบทหนังสือ ในหนึ่งแผ่นดิน ของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย คนที่ 17 อดีตรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ กับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และอดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวง ที่เริ่มต้นงานอันเสมือนอัตชีวประวัติ

แต่ “หนังสือเล่มนี้แบ่งเขียนเป็นเรื่องๆ ในลักษณะที่ผู้อ่านสามารถเลือกอ่านเรื่องใดก่อนก็ได้ตามใจชอบ ไม่ต้องอ่านเรียงกัน แต่ละเรื่องมีจุดเริ่มและจบได้เนื้อความครบถ้วน ผู้อ่านที่เกิดก่อนหรือสมัยเดียวกับผม ก็ไม่จำเป็นต้องอ่านเรื่องแรกๆ ที่บรรยายบรรยากาศรอบตัวสมัยที่ผมเป็นเด็ก ผู้ที่สนใจเรื่องวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ก็สามารถเปิดอ่านเรื่องนั้นได้เลย มีอยู่เพียงสองเรื่องที่ผมแบ่งเขียนไปสองตอน คือเรื่องโครงการจำนำข้าว และกรณีฟ้องร้องธนาคารกรุงไทย นอกจากนั้นเป็นเรื่องที่จบในบทเดียวทั้งหมด เนื้อเรื่องหลายตอนไม่ปรากฏหลักฐานในที่ใด เป็นเรื่องที่ผมประสบด้วยตนเอง ผมก็เล่าประกอบเพื่อให้เข้าใจความเป็นไปของเหตุการณ์ได้ชัดเจนขึ้น โดยไม่ได้เสริมเติมแต่งให้ผู้ใดเสียหายแต่ประการใด”

อย่างที่เคยคุยกันหลายคราวว่า เอกชน ข้าราชการ หรือสาธารณชนที่มีชื่อเสียง ทำงานเกี่ยวข้องกับส่วนรวมหรือคนจำนวนมากบ้านเรา ไม่ค่อยเขียนอัตชีวประวัติ ให้รู้ความคิดอ่าน อุดมการณ์ ปณิธาน เป้าหมาย หรือการทำงาน ไม่ว่าจะมีปัญหาอุปสรรคหรือประสบความสำเร็จ เพื่อเป็นตัวอย่างเรียนรู้ ประสบการณ์ต่างๆ ให้เป็นทั้งบทเรียนและการศึกษาชีวิตผู้คนไปพร้อมกัน ดังนั้น การที่ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีหลายกระทรวง ซึ่งยังมีชื่ออยู่ในสังคมการเมือง มาเขียนหนังสือให้อ่าน จะไม่รีบหาอ่านได้อย่างไร

Advertisement

โดยเฉพาะเมื่อเขียนให้อ่านตั้งแต่รถราง รถเมล์ สามล้อ หาบเร่ ช่อง 4 บางขุนพรหม ไปจนนางงามจักรวาล อาภัสรา หงสกุลกับมิตร เพชรา อ่านเพลินไปเลย ทั้งเขียนถึงยุคน้ำไม่ไหล ไฟไม่สว่าง ภายใต้ดวงอาทิตย์ ไม่มีอะไรที่ตำรวจไทยทำไม่ได้ กระทั่งจอมพลสฤษดิ์ปฏิวัติ

ผู้เขียนซึ่งเป็นนักการธนาคาร นักเศรษฐศาสตร์ เขียนเล่าเรื่องได้น่าอ่าน แถมมีจินตนาการ ขึ้นต้นเรื่องรถรางเรื่องแรกอย่างกับหนัง ด้วยเสียงล้อเหล็กหลังคารถรางปะทะข้อต่อสายไฟดังเปรี๊ยะ สะเก็ดไฟพุ่ง เล่าเรื่องสนามมวยราชดำเนิน แบดมินตันไทยสมัยรุ่งเรือง คนที่กำลังสนุกกับแบดมินตันสมัยนี้ อาจไม่เคยรู้ว่า แชมป์ออลอิงแลนด์ชาวอินโดนีเซีย 8 สมัย “รูดี้ ฮาร์โตโน” ในวัย 17 ปี ยังเคยมาซ้อมที่คอร์ตธรรมศาสตร์ จน “เจริญ วรรธนะสิน” รองแชมป์ออลอิงแลนด์เห็นแล้วต้องให้คำพยากรณ์ไว้ เล่าเรื่องการเรียนที่ธรรมศาสตร์ ก่อนจะเล่าเรื่องฝนหลวง เรื่อง 14 ตุลา 2516 ความเคลื่อนไหวของคอมมิวนิสต์ในไทย เรื่อง 6 ตุลา 2519 แล้วพูดถึงอาจารย์ป๋วยที่นอกจากขัดใจผู้มีอำนาจ จนเป็นแรงบันดาลของข้าราชการไม่น้อย ยังเขียนหนังสือแนะนำตัวการไปเรียนต่อต่างประเทศให้อย่างซาบซึ้งอีกด้วย

ส่วนผู้สนใจเศรษฐกิจในประเทศนั้น มีให้อ่านอย่างเต็มที่ จากคลื่นพัฒนาลูกแรก เอ็กซิมแบงก์ วิกฤตเศรษฐกิจ วิกฤตศรัทธาแบงก์ชาติ เศรษฐกิจพอเพียง โครงการรถไฟฟ้ามวลชน กทม. คลื่นพัฒนาอุตสาหกรรมลูกที่ 3 กระทั่ง 13 ตุลาคม 2559 วันมหาวิปโยคของชาวไทย

Advertisement

ต้องหาอ่านให้ได้นะพระเดชพระคุณ

หนังสือสำคัญของยุคอีกเล่ม สงครามการค้า และสงครามเย็นสมัยใหม่ ในยุคเปลี่ยนผ่านอำนาจโลก ของ ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์ อาจารย์นักเศรษฐศาสตร์ซึ่งเป็นที่ยอมรับ ให้ภาพการเปลี่ยนแปลงของอำนาจโลกในยุคนี้ และการเปลี่ยนแปลงของศูนย์กลางเศรษฐกิจต่างๆ ความพยายามของทำเนียบขาวที่จะกำราบจีน การเกิดสงครามการค้า และโอกาสจะเกิดสงครามเย็นสมัยใหม่ ซึ่งจะเป็นความรุนแรงอีกแบบ จึงต้องเร่งทำความเข้าใจไว้

หนังสืออ่านเอาเรื่อง ฟ้าเดียวกัน ฉบับกำเนิดสยามจากประวัติศาสตร์ศิลปะและโบราณคดี ให้ภาพจินตกรรมรัฐสยามทางศิลปะ ผ่านปริเทวนาการ ถึงรัฐวิศวกรรม มิใช่ปริศนาลายแทงแต่สามารถอ่านทำความเข้าใจให้กระจ่างได้ โดยโยนิโสมนสิการ

“จงแหงนหน้ามองดวงดาว ไม่ใช่ก้มมองเท้า จงพยายามทำความเข้าใจสิ่งที่เห็น และจงสงสัยว่า อะไรทำให้เอกภพมีอยู่ จงอยากรู้อยากเห็น” คำพูดของ สตีเฟน ฮอว์กิง นักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลกศตวรรษที่ 21 หนังสือสำหรับนักสะสม “สตีเฟน ฮอว์กิง” เรื่องราวชีวิต ผลงาน และมรดก งานพิมพ์ของผู้จัดทำนิตยสาร บีบีซี โฟคัส และ บีบีซี ฮีสตรี้ มีคำนิยมสำทับของ นิพนธ์ ทรายเพชร ราชบัณฑิตวิทยาศาสตร์ สาขาดาราศาสตร์ กับ สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประกัน หาอ่านเองหรือให้ลูกหลานอ่านก็แจ่ม วิรัตน์ รัตนเวชสิทธิ แปล

อยากรู้จักสัญลักษณ์เทพเจ้าในโขนเรือพระราชพิธีไหม อยากรู้ว่าขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในเอกสารตะวันตกสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ มีว่าอย่างไร อ่านนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ก่อนอ่าน ตามหาแชงกรีล่า เป้าหมายสุดท้ายของนักล่าเมืองขึ้น และหลังจากเรียนพระราชพิธี 12 เดือนในด้านวรรณกรรมและวัฒนธรรมแล้ว เที่ยวนี้มาพบกับโลกการเมืองในบรรดาพระราชพิธีดังกล่าว

นิตยสาร สารคดี เล่าเรื่องสงคราม 9 ทัพใหม่ ด้วยการเสนอหนังม้วนล่าสุดหลังจาก 234 ปีผ่านไป และสงคราม 9 ทัพถูกฉายซ้ำทั้งในตำราเรียนและการรับรู้ช่องทางอื่นๆ ครั้งแล้วครั้งเล่า ถึงสงครามชี้เป็นชี้ตายกรุงรัตนโกสินทร์หลังจากเพิ่งตั้งได้ 4 ปี ว่าหลักฐานที่ค้นพบใหม่ๆ บ่งชี้เรื่องราวและแง่มุมใดอื่น ต่างไปจากที่เคยรับรู้อีกบ้าง โดย “สุเจน กรรพฤทธิ์” ค้นคว้ามารอบด้านอ่านอิ่มไปทีเดียว แถมยังมีเรื่องกองทัพจิ๋นซีที่ยกมาแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ให้ชมเป็นขวัญตาอีกด้วย อย่าพลาดทั้งหนังสือและกองทัพดินเผาที่ข้ามฟ้ามาถึงไทยไปเสีย

นิตยสาร อะ เดย์ ฉบับอินเดีย ไทย มีเรื่องไทย ภารตะให้อ่านชนิดน่าทึ่ง ตั้งแต่เรียกแขก เรียนแขก ต้อนรับแขก แขกคนสำคัญ รับแขก ธุรกิจตระกูลแขก (หลายตระกูลอันเป็นที่รู้จัก) ป้ายเรียกแขก ชุมชนแขก วัดแขก กินตามแขก ดูหนังแขก แขกรับเชิญ ฯลฯ โห, อ่านเพลินเลย-เยี่ยม

หนังสือดีมีอยู่ไม่รู้หน่าย ต้องขวนขวายอ่านกันให้ทันสมัย

—————————

บรรณาลักษณ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image