ความทรงจำใต้อำนาจ วัฒนธรรมและพฤติกรรมของไทย

ความทรงจำใต้อำนาจ วัฒนธรรมและพฤติกรรมของไทย

ความทรงจำใต้อำนาจ

วัฒนธรรมและพฤติกรรมของไทย

ตามธรรมเนียมปฏิบัติ (อิอิ) อ่านเจออะไรดีๆ ก็ต้องนำมาขยายต่อ ตอนนี้แก๊งคอลเซ็นเตอร์อาละวาดมากขึ้น เจ้าหน้าที่ได้แต่ตามไล่ หากว่าผู้ได้รับโทรศัพท์ตั้งสติได้ก็พอจะไม่พลาดพลั้ง แต่หากตกอกตกใจกับเรื่องตั้งใจมาหลอกลวงเสียก่อน ก็อาจเสียทีได้ ก็พอดี นักกฎหมายเจ้าเก่าที่จับประเด็นได้แทงทะลุ กล้า สมุทวณิช ส่งเรื่องเข้ามาให้อ่านในมติชน ออนไลน์ พุธที่ 12 ที่ผ่านมา เรื่อง “ถ้าประเทศมีนิติรัฐ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ก็อาจมีความคิดสร้างสรรค์มากกว่านี้”

ด้วยการให้เหตุผลจากข้อเท็จจริงที่ชัดเจนโดนใจ ซึ่งต่อไป นอกจากผู้อ่านจะไม่เป็นเหยื่อมิจฉาชีพที่เกิดมาทำแต่กรรมเอาเปรียบชาวบ้านอย่างมักง่ายแล้ว ยังตาสว่างเห็นการณ์เป็นไปรอบตัวที่เคยมัวๆ รางๆ ได้ถ่องแท้ขึ้น ไม่ถูกทั้งคนโกงหลอกลวง และเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่ที่พฤติกรรมไม่เหมาะสมได้ดียิ่งขึ้น ทั้งยังเข้าใจว่าการที่ตกอยู่ในสังคมซึ่งนิติรัฐกะพร่องกะแพร่งนั้น น่าหดหู่ต้องแก้ไขขนาดไหน หาอ่านดูแล้วจะเข้าใจทันที จากการอธิบายให้เห็นภาพอย่างง่ายดาย

Advertisement

และหลังจากนั้น เราต้องดูปฏิทินที่เราใช้กันทุกวันด้วยสายตาใหม่แล้ว

● ปีใหม่ผ่านไปอีก จะมีใครเคยฉุกคิดไหมว่าปฏิทินซึ่งใช้ดูวันกันมาปีต่อปี ยาวนานเป็นปีๆ ทุกปี มีความหมายซ่อนเร้นที่ใหญ่โตขนาดไหน วันนี้ได้รู้แล้ว

Advertisement

ความทรงจำใต้อำนาจ : รัฐ ราชวงศ์ พลเมือง และการเมืองบนหน้าปฏิทิน ซึ่งค้นคว้ามาเขียนให้อ่านโดย ชนาวุธ บริรักษ์ นักเรียนประวัติศาสตร์ จากคณะสังคมศาสตร์ ม.นเรศวร ที่เขียนบทความทางสังคมอันเกี่ยวเนื่องด้วยประวัติศาสตร์ให้อ่านกันมาแล้วหลายเรื่องในกาละและเทศะต่างๆ คราวนี้จะนำปฏิทินซึ่งเต็มไปด้วยวันหยุดมาให้เราท่านได้ดูกันใกล้ชิดจริงจังกว่าที่เคย ว่ามีความหมายอย่างไรเกี่ยวกับ “ความทรงจำใต้อำนาจ” ที่เราต้องเกี่ยวข้องด้วย

อย่างแรกอย่างเดียวก่อนเลยคือ เราเคยคิดไหมว่า “วันสำคัญ” อันเป็นวันหยุดที่เราชื่นชอบกันนักนั้น เกิดขึ้นมาได้อย่างไร และอำนาจจากแห่งหนใดกำหนดว่าวันนั้นๆ “สำคัญ” จนเราต้องจดจำ

งานชิ้นนี้จะตีแผ่กลไกเบื้องหลังการสร้างวันสำคัญในไทยที่เกิดมานานนับศตวรรษ ตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ช่วงการเปลี่ยนผ่านแนวคิดเรื่องเวลาจากจันทรคติสู่สุริยคติ จนถึงทศวรรษ 2520-2540 อันเป็นช่วงการเพิ่มขึ้นของวันสำคัญแบบมวลชนเข้าไป ท้าทายสำนึกความทรงจำของรัฐ ที่ยึดโยงกับสถาบันหลักของชาติไทย

วันสำคัญจึงมิใช่เพียงวาระรำลึกถึงอดีต หรือมีเพื่อเฉลิมฉลอง แต่ยังสัมพันธ์กับสำนึกความทรงจำของพลเมืองให้สยบยอม และเชื่องเชื่ออยู่ภายใต้ “อำนาจ” ที่คอยบงการชีวิตผู้คนอยู่ตลอดเวลา

ลองพิจารณาว่า วันหยุดราชการบนปฏิทินที่ปรากฏนั้น มีความหมายในแง่มุมใดได้บ้าง วันสำคัญทางศาสนา วันปีใหม่พื้นเมือง วันพระราชทานรัฐธรรมนูญ วันสถาปนาราชวงศ์ วันเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ วันพระบรมราชสมภพ วันเฉลิมพระชนมพรรษา วันสวรรคต วันเหล่านี้ให้ภาพอะไรแก่เราบ้าง

● มีหนังสือสำคัญเล่มหนึ่ง ซึ่งควรเก็บติดบ้านเป็นความรู้และความทรงจำถึงปีอันยากเข็ญที่ผ่านมา Matichon Year In Review 2021 รวบรวมและแยกแยะอย่างละเอียดโดย ศูนย์ข้อมูลมติชน เป็นการกลับมาของ บันทึกประเทศไทย ในโฉมใหม่ ที่บอกสถานการณ์ และทุกเรื่องในมิติแห่งปีอันลำเค็ญ

หนังสือประกอบภาพจำเป็นด้วยสีสันงดงาม ซึ่งตั้งใจบันทึกไว้เป็นหลักฐาน เพื่อการเก็บไว้อ้างอิงได้ตลอดไป

A Pandamic Year – ปีใหม่ที่ไม่มีวันเหมือนเดิม The Vaccine War – สำรวจสมรภูมิวัคซีน The Great Depression – เศรษฐกิจไทยในวันที่ไม่มีใครชนะ Politics – เมื่อการเมืองกลายเป็นเรื่องของทุกคน #RETWEET – ฟังเสียงสะท้อนบนโลกออนไลน์ ต่อด้วย People of The Year และ Gone, But Not Forgotten

หนังสือเกือบ 400 หน้า คุณค่าคับเล่ม

● เราท่านทั้งหลายไม่น้อยอาจไม่เคยคิดว่า ทั้งมหาอำนาจการเมือง และมหาอำนาจเศรษฐกิจ ก่อนเข้ามาบ้านเราเพื่อทำกิน หรือแสวงประโยชน์ใดอื่นนั้น เขาต้องศึกษาเรื่องราวของเราเป็นอย่างดี เช่น ปัจจุบันนี้ ในเมืองหลวงสหรัฐ วอชิงตัน ดี.ซี. ก็ยังมีแผนกสอนภาษาไทย ความรู้เกี่ยวกับเมืองไทย สำหรับข้าราชการที่วางเข็มมุ่งไว้ให้มาทำงานด้านตะวันออกเฉียงใต้นี้ หรือเมื่อกว่าครึ่งศตวรรษก่อนจนเดี๋ยวนี้ กว่าญี่ปุ่นจะมาลงหลักปักฐานทางเศรษฐกิจ ก็ลงทุนสร้างบุคลากรที่เรียนภาษาไทยและวัฒนธรรมไทยกันจนเข้าใจทั้งระดับกว้างและลึก

ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ด้านการต่างประเทศ หรือบริษัทธุรกิจใหญ่ๆ นานา

ศาสตราจารย์ รูธ เบเนดิกท์ นักมานุษยวิทยาอเมริกันยุคบุกเบิกก็เป็นผู้หนึ่ง ซึ่งเข้ามาทำงานวิจัยชิ้นสำคัญอันมีรากฐานถึงปัจจุบันเรื่อง วัฒนธรรมและพฤติกรรมของไทย (Thai Culture and Behavior) ที่มุ่งศึกษาวัฒนธรรมและพฤติกรรมคนไทยตั้งแต่ยุคแรกเริ่ม จนปลายพุทธศตวรรษที่ 25 งานเขียนชิ้นนี้ค้นคว้าขึ้นเพื่อ “สำนักงานข่าวสารสงคราม” ของรัฐบาลอเมริกัน – เห็นไหม, ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของงานวิเคราะห์วิจัยประเทศศัตรู – นั่นแน่, ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จนกลายเป็นงานมานุษยวิทยาเล่มแรกที่ศึกษาไทยอย่างเป็นระบบ – เห็นหรือยังว่าคนอื่นเขาทำอะไร เขาลงทุนลงแรงขนาดไหน

แต่พี่ไทย – จนวันนี้ก็ยังไม่รู้ ไม่ได้รับรายงาน กระทั่งโรคหมู หรือหมูแพง

ที่น่าสนใจกว่านั้น งานชิ้นนี้มิได้เป็นการวิเคราะห์ประเทศไทยในบริบททางวิชาการเท่านั้น แต่ยังเป็นภาพสะท้อนมุมมองของสายตาฝรั่ง ในยุคสงครามโลก ที่มีต่อประเทศโลกที่ 3 เช่นประเทศไทย

ต้องหาอ่านดู พรรณี ฉัตรพลรักษ์ แปลให้เข้าใจอาจารย์รูธ

● หนังสืออีกเล่มที่เดินกลับเข้าไปในประวัติศาสตร์ไทย แต่อาจมีข้อมูลหลายอย่างที่หลายคนไม่เคยได้ยินหรือไม่เคยผ่านสายตา อาจารย์ สมเกียรติ วันทะนะ จากภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ สังคมศาสตร์ ม.เกษตรฯ ได้ค้นคว้าเพื่อแสดงความที่ว่า โลกที่อำนาจเป็นใหญ่ (วโส อิสริยัง โลเก) ความคิดทางการเมืองไทยจากพระเจ้าเอกทัศถึงรัชกาลที่ 4

หลังจากวางสมมุติฐานและวิธีการศึกษาวิจัยแล้ว ผู้เขียนก็ได้เปิดฉากพูดถึงความคิดทางการเมืองไทยสมัยพระเจ้าเอกทัศ ต่อด้วยสมัยพระเจ้าตากสิน และรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 4 ก่อนสรุปความคิดทางการเมืองไทยตั้งแต่ปี 2301-2411 รวม 9 บทกับ 350 กว่าหน้าที่จะอ่านได้อย่างเป็นเนื้อหนัง คิดตามไปกับผู้เขียน

จนอาจปะติดปะต่อความคิดอะไรต่อมิอะไรถึงเหตุการณ์ที่เกิดอยู่วันนี้ได้

● พูดเรื่องหนังสือมาแล้วมาก จากนี้ควรรู้จักการพิมพ์กันหน่อยน่าจะดี เพราะด้วยการพิมพ์นี้เอง ที่เรามีหนังสือส่งผ่านความรู้กว้างขวางลึกซึ้งนานา เปิดหูตาให้สว่างเข้าอกเข้าใจ การพิมพ์ในประวัติศาสตร์ ชั้นต้นเราก็คงนึกถึงชื่อหมอบลัดเลที่เปิดโลกชาวสยามให้รู้จักแท่นพิมพ์ จากนั้นการพิมพ์ในประวัติศาสตร์ไทยก็เริ่มดำเนินมา กลายเป็นเรื่องการเดินทางจากโลกเก่าสู่โลกใหม่ จากรุ่นสู่รุ่น ของคนกลุ่มหนึ่งที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังความเปลี่ยนแปลงใหญ่น้อย ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม

คนเหล่านี้ทำงานอย่างเงียบเชียบ ส่งผ่านความรู้ในนามของนักเขียน บรรณาธิการ ช่างพิสูจน์อักษร ช่างออกแบบหน้าตาหนังสือ ช่างเรียง สำนักพิมพ์ จนถึงสายส่ง ที่เรียกรวมๆ กันเหมือนเป็นสายพานว่า “คนทำหนังสือ”

คนทำหนังสือก็มีตำนาน มีประวัติศาสตร์ มีเรื่องเล่า แต่มักขาดวิ่น กระท่อนกระแท่น ไม่เป็นความ จึงถูกนำมาร้อยเรียงขึ้นใหม่ เพื่อเล่าส่วนที่ขาดหายไปจากประวัติศาสตร์ต่อเติมให้แจ่มชัด

สยามพิมพการ : ประวัติศาสตร์การพิมพ์ในประเทศไทย โดย คณะทำงานประวัติการพิมพ์ในประเทศไทย แสดงถึงความกระหายและใฝ่รู้ในผู้คน นับแต่อยุธยาจนถึงกึ่งพุทธกาล อันกลายเป็นพลังการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญๆ ให้เห็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นบนหน้าเวทีไทยมาตลอดทุกยุคทุกสมัย

● ราชบัณฑิตสาขาอภิปรัชญา สมัคร บุราวาศ เขียนหนังสือโด่งดังเป็นที่รู้จักมาหลายเล่ม โดยเฉพาะ พุทธปรัชญา เล่มสำคัญ ทั้งยังมีประสบการณ์ภาคปฏิวัติด้วยตนเอง ที่เล่าไว้ให้เข้าใจความคิดความแตกต่างที่มีทั้งก่อนและหลัง ที่ได้จากการถือปฏิบัติด้วย หนึ่งเดือนในวิปัสสนา หนังสือที่น่าอ่านอีกเล่ม

ดังนั้น เล่มนี้ ซึ่งอาจเป็นคำถามที่หลายคนยังอยากรู้อยากเข้าใจว่าต้องทำอย่างไรเมื่อถึงคราวคือ จิตวิทยาและการทำใจทางพระพุทธศาสนา งานเรียนรู้เพื่อฝึกฝนตน ที่เพิ่งพิมพ์ใหม่ครั้งที่ 4 ออกมาเมื่อสองเดือนนี้เอง จึงยังน่าสนใจ

พระบรมศาสดาตรัสไว้ว่า ปราศจากปัญญาก็ไม่มีฌาน ปราศจากฌานก็ไม่มีปัญญา ผู้ใดมีทั้งปัญญาและฌานย่อมอยู่ใกล้พระนิพพาน พุทธวจนข้อนี้จึงระบุชัดว่า การแสวงปัญญาพึงกระทำก่อนการปฏิบัติใดๆ เพื่อทำใจตามแนวทางพระพุทธศาสนา แม้ “ศีล สมาธิ ปัญญา” จะเหมือนเครื่องมือหรืออุปกรณ์ซึ่งเนื่องกันและกันก็ตาม แต่ปัญญาในที่นี้ก็คือ การศึกษาคำสอนว่าด้วยจิตของพระพุทธศาสนา หรืออาจเรียกว่าจิตวิทยาพระพุทธศาสนานั่นเอง

อ่านเรื่องอายตนะและวิญญาณ, จิตกับมโนวิญญาณ, ญาณและปัญญา, จิตกับกรรม, การปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้น และนิพพานคือความหลุดพ้น

โดยผนวกด้วยภาค จากทฤษฎีสู่การปฏิบัติ, หลักในการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน, การทดลองเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ไว้ให้เรียนรู้ด้วยตนเองด้วย

สาธุ – ตั้งใจแสวงปัญญากันดู

● เคยได้ยินไหมว่า ผู้ชนะไม่กลัวความผิดพลาด เชื่อมั่นในความผิดพลาด และรู้วิธีใช้ความผิดพลาดผลักดันชีวิตสู่จุดสูงสุด จะเคยได้ยินหรือไม่ คิดอีกหน

เอลิซาเบธ เดย์ รวบรวมประสบการณ์และบทสัมภาษณ์จากแขกรับเชิญในรายการ “พอดแคสต์” ชื่อดังของเธอ “ล้มเหลวอย่างไรกับเอลิซาเบธ เดย์” มาย่อยเป็น 7 หลักของความล้มเหลว ที่สามารถนำมาใช้อย่างเปี่ยมความมั่นใจได้ ทั้งให้แรงบันดาลใจกับทุกความล้มเหลวในชีวิต ไม่ว่าจะสอบตก เลิกราความสัมพันธ์ สูญเสียบุคคลที่รัก งานพัง ฯลฯ หนังสือเล่มนี้ เฟลศาสตร์ : เปลี่ยนความผิดพลาดเป็นชัยชนะ (เฟลโลโซฟี่ Failosophy) แปลโดย นัทธมน เปรมสำราญ จะยืนยันว่าความล้มเหลวไม่ใช่จุดสิ้นสุด แต่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่หล่อหลอมความแข็งแกร่งให้แก่คนทุกรูปนาม

ซึ่งมีผู้มายืนยันให้ฟังเป็นนักเขียนชื่อดัง นักแสดงและโปรดิวเซอร์ นักร้อง นักวิ่งสองเหรียญทองโอลิมปิก นักเขียนนักปรัชญา ฯลฯ

ไม่ว่าใครจะล้มเหลวในงานเมื่อกี้ ล้มเหลวในธุรกิจ ล้มเหลวที่จะพูดบางอย่างกับใคร ล้มเหลวที่จะทำตามความหวังของใคร ล้มเหลวที่จะเป็นตัวเอง

อ่านหนังสือเล่มนี้ดู

● นิตยสารรายเดือนที่ใครยิ่งอ่านยิ่งชอบ เพราะได้รู้เรื่องตัวเองเพิ่มขึ้นทุกเดือน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนมกราคม ซึ่งเริ่มปีที่ 2565 ด้วย “งานฉลองรัฐธรรมนูญ” มหกรรมแห่งชาติของคณะราษฎร ซึ่งเขียนเล่าโดยอาจารย์รัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ภูริ ฟูวงศ์เจริญ เป็นงานที่จัดหนักทั้งรัฐพิธี ศาสนพิธี ประกวดนางงาม แสดงสินค้าอุตสาหกรรม ฯลฯ และจัดเต็มจากลานพระบรมรูปทรงม้า ผ่านสนามหลวง ถึงท่าราชวรดิฐ ไปแยกสะพานมอญ เพลิดเพลินกันถึง 5 วัน 5 คืน โดยกำหนดให้เป็นวันหยุดราชการติดต่อกันถึง 3 วัน

ฮ่าฮ่า – ทุกวันนี้ งานฉลองรัฐธรรมนูญไปไหน กระทั่งหมุดประกาศการสถาปนารัฐธรรมนูญยังถูกแงะหายไปได้ ฮ่าฮ่า – ประชาธิปไตยอยู่ในมือใคร

ฉบับนี้ยังมีเรื่องน่าอ่านอื่นอีก เช่น พระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์สมัยรัตนโกสินทร์, ตามทางทัพสยามคราวศึกเจ้าอนุวงศ์ จากสระบุรีถึงนครราชสีมา ที่ยังมีเรื่องน่ารู้อีกมาก, เบื้องหลังทฤษฎีสมคบคิดตั้งสยามเป็นรัฐกันชน เกิดขึ้นอย่างไร เพื่อประโยชน์ฝ่ายไหน และจำปามอญ จำปาขอม จำปาลาว กับลั่นทมสยามและลีลาวดี เหมือนหรือผิดแผกกันอย่างไร (ระทมหรือชื่อเช่นนั้น ลั่นทม / ใครเล่าทำเจ้าขม ขื่นไว้ / ถามไม้มิ่งนิ่งสม เจ็บแสบ / เรียมแปลบเสียวทรวงไข้ อกไหม้ไส้ขม (อังคาร กัลยาณพงศ์) บทนี้แถมให้เฉยๆ ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับนิตยสาร – อิอิ)

● โอมิครอนจะมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ พักรักษาตัวที่บ้านได้ไม่ต้องถึงโรงพยาบาลอย่างไร ก็ว่ากันไปตามสภาพ ความจริงย่อมยืนยันตามหลังมาใกล้ชิด ที่แน่ๆ ที่รัฐบาลไม่อยากจะพูดถึงก็คือ จำนวนผู้เสียชีวิตจากโควิดมีมากถึงกว่า 2 หมื่นราย เข้าไปแล้ว จากที่เคยตกอกตกใจกันมากเมื่อเสียชีวิตไปคนสองคนแรก ตอนนี้แทบไม่มีการเอ่ยถึง ว่าการจากไปจำนวนนั้นบอกถึงอะไรบ้าง

วโส อิสริยัง โลเก เราอยู่ในโลกที่อำนาจเป็นใหญ่จริงแท้ใช่ไหม อำนาจที่ไม่ใช่ของเรา อำนาจที่ปราชญ์ทั้งหลายบอกว่าเป็นของประชาชน

บรรณาลักษณ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image