ตู้หนังสือ : เสียดาย มรดกวิญญาณ หนังสือล้ำค่ารอหาคนอ่าน

เสียดาย มรดกวิญญาณ

หนังสือล้ำค่ารอหาคนอ่าน

พ้นพรมแดนหนังสือประวัติศาสตร์ หรืออดีตคดีวิชาการแง่มุมต่างๆ ไป บรรดานิยายแปลจีนซึ่งแพร่หลายอยู่ในปัจจุบัน จากผลิตผลการพิมพ์ซึ่งแพร่หลายขึ้น คนไทยรู้ภาษาจีนกว้างขวางขึ้น ทำให้งานถ่ายทอดวรรณกรรมหรือเริงรมย์นานาประเภทจากจีนแผ่นดินใหญ่ อุ่นหนาฝาคั่งอยู่ในตลาดหนังสือไทย จนออกจะเป็นปริมาณที่มากกว่าวรรณกรรมญี่ปุ่นที่เคยแพร่หลายไปก่อนนานแล้ว แม้เดี๋ยวนี้วรรณกรรมญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อยจะยังได้รับความนิยมจากนักอ่านไทยอยู่ก็ตาม

ตั้งแต่การเข้ามาของจีนอพยพรุ่นแรกๆ ทั้งก่อนหลังสงครามโลกครั้งหลัง ภาษาจีนสำเนียงแต้จิ๋วถูกใช้ในเอกสารสำมะโนประชากรไทย แปลชื่อ แซ่ สถานที่ ข้าวของ จนนามธรรมต่างๆ เป็นที่คุ้นเคยของหูคนไทย หรือย้อนไปถึงสำเนียงฮกเกี้ยนจากผู้แปลวรรณกรรม สามก๊ก ครั้งรัชกาลที่ 1 วันนี้ วรรณกรรมจีนนานาประเภทดังกล่าว แม้จนนิยายกำลังภายในรุ่นใหม่ ก็นำสำเนียงจีนกลางมาแปลเทียบใช้ให้นักอ่านรู้จักเข้าใจเป็นขั้นตอนล่าสุดของการถ่ายทอดหรือแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมจีนไทยแล้ว

Advertisement

แต่ความคุ้นเคยเพื่อสะดวกกับการอ่านการทำความเข้าใจเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ลองคิดดูว่า หากนักอ่านอ่าน เจาะเวลาหาโจโฉ ของ เกิงซิน ซึ่งแปลโดยจอมยุทธ น.นพรัตน์ แล้วเรียกชื่อต่างๆ ในเรื่องด้วยสำเนียงจีนกลาง จะสร้างความสับสนและปวดเศียรเวียนเกล้ากับนักอ่านไทยซึ่งคุ้นสำเนียงฮกเกี้ยนใน สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) มานานนับร้อยปีขนาดไหน

ดังนั้น ด้วยไหวพริบของผู้ผลิตหรือนักแปลที่ตกลงใจใช้สำเนียงเดิมจากต้นฉบับไทย เมื่ออ่านนิยายอิงวรรณกรรมประวัติศาสตร์เลื่องโลกที่พลิกโครงเรื่องกลับตาลปัตร สนุกและพิสดารสุดสุด เรื่องนี้ จึงอ่านไปรู้สึกไปว่า เออ, กำลังอ่านเรื่องสามก๊กในบรรยากาศสามก๊กด้วยรสชาติของสามก๊กอยู่จริงๆ

Advertisement

⦁ จึงยืนยันได้อีกครั้งถึงความที่ว่า วัฒนธรรมจีนสามารถสืบต่อมายาวนานไม่ขาดสายถึง 5 พันปี เพราะคนจีนบันทึก ศึกษา จดจำ เล่าต่อ (ปากต่อปาก เล่นงิ้ว เขียน และอบรมสั่งสอน) ตัวอย่างต่างๆ ของตนในประวัติศาสตร์ ให้คนแต่ละรุ่นเรียนรู้อย่างไม่ลืมเลือน ชนิดไม่ต้องอาศัยวัฒนธรรมใดอื่นมาเป็นแบบ

ฉะนั้น วิธีคิดของจีน หรือแบบจีน จึงจำหลักมั่นในวิถีสร้างจีนต่อเนื่องมา ตั้งแต่ครั้งจักรพรรดิเหลืองถึง สี จิ้นผิง ไม่เปลี่ยนแปร ทิเบตของจีน ซินเกียงของจีน ไต้หวันย่อมเป็นของจีน ผู้ใดอย่ามาก้าวก่าย นี่คือเส้นทางการเมืองและวัฒนธรรมอำนาจของตนอันสืบเนื่องมาเป็นเวลายาวนาน

หากผู้นำโลกนามใดไม่เข้าใจข้อนี้ แหลมเข้ามา ไม่ว่าจะด้วยผลประโยชน์การเมืองอื่นใดในการแทรกแซง ย่อมเผชิญการตอบโต้อย่างจริงจังแน่นอน

จึงเมื่อถึงตอนนี้ ที่มีหนังสือชุด ชาตกฏฺฐกถา หรือนิบาตชาดกฉบับบาลี ปกแข็งงดงาม 11 เล่ม ภาค 1-10 เล่มชุด อีกเล่มเป็นภาคผนวก โดยมูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ออกมา จึงน่าตื่นเต้นสำหรับผู้ใฝ่รู้ใฝ่เรียนอย่างยิ่ง

แต่น่าเสียดายว่าเราไม่ได้มีจิตใจเรียนรู้วิถีตนเอง สมบัติวัฒนธรรม มรดกวัฒนธรรมนานา จึงค่อยๆ เสื่อมสูญ นิบาตชาดกชุดนี้ มีเรื่องราวสนุกสนานมากมาย ทั้งอุดมธรรม ทั้งอุดมเนื้อหา แสดงวิถีชีวิต ความคิด และรูปแบบของผู้คนในการดำเนินชีวิต ซึ่งสามารถสกัดออกมาใช้ประโยชน์ได้มากมายในฐานะทรัพยากรปัญญาโบราณ โดยเฉพาะเมื่อเทียบด้านวรรณกรรม หากเราเล่าเรียนเรื่องเหล่านี้มาอย่างสืบเนื่อง นักเขียนเราย่อมมีฐานเรื่องราววัตถุดิบระดับเหมืองทองธรรมทัศน์ โลกทัศน์ และชีวทัศน์ให้ขุดใช้ไม่จบสิ้นเช่นเดียวกัน

เหมือนกับนิยายจีนที่ปัจจุบันหลายสำนักพิมพ์หยิบยืมมาแปล จนดาดแผงหนังสือเดือนต่อเดือน ก็ยังไม่หมด แถมสร้างจำนวนคนอ่านได้มากขึ้นอีกเรื่อยๆ

เพราะงานชุดนี้เป็นการรวมเรื่องเล่า หรือนิทาน ที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาอย่างครอบคลุมที่สุด มีตำนานต่างๆ หรือมหากาพย์วีรบุรุษ หรือมหาราชในอดีต อันเป็นวรรณคดีโบราณที่เรียกว่า “อาขยาน” ซึ่งเชื่อมโยงถึงวรรณคดีฮินดูหมวดพราหมณะ หรืออรรถกถาพระเวท แต่ชาดกของพระพุทธศาสนาได้พัฒนาจนมีรูปแบบเฉพาะของตัวเอง ให้น่าอ่านและเข้าถึงง่ายยิ่งไปอีก

โดยเฉพาะความกว้างขวางของเรื่องที่ปรากฏในอรรถกถาชาดกนี้ นอกจากประมวลอรรถกถาในพระพุทธศาสนาแล้ว ยังได้จากวรรณคดีเก่าแก่ในศาสนาพราหมณ์ ศาสนาเชน ทั้งประมวลเรื่องจากดินแดนนานาจากกรีก เปอร์เซีย นิทานบางเรื่องในอรรถกถานี้ยังแพร่หลายในอินเดียมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 2 ทั้งยังปรากฏในวรรณคดีโบราณของอินเดีย เช่น ตันตระขยายิกะ ปัญจะตันตระ หรือในหิโตปเทศที่วงวรรณคดีไทยรู้จักกันดีอีกด้วย

แม้ไม่อาจพูดว่า เรื่องใดที่ไม่อาจหาอ่านในมหากาพย์ มหาภารตะ ได้ ก็ไม่อาจหาอ่านจากที่ใดในโลกอีก แต่ชาตกฏฺกถาชุดนี้ก็มีคุณค่าดีเด่นเช่นเดียวกัน

หากคิดว่ายุคสมัยดิจิทัลไม่มีความจำเป็นต้องหวนกลับไปมองไกล หรือเห็นเป็นของเก่าโบราณพ้นวงจรทำกำไร แทนที่จะเห็นว่าหาค่ามิได้ นั่นย่อมเป็นความเข้าใจผิดถนัด เพราะนี่คือขุมทรัพย์ “ซอฟต์แวร์” ที่ตักตวงได้ไม่จบสิ้น ชั้นแต่ผู้ใดนำสักเรื่องมาทำเป็นเกมคอมพิวเตอร์ ผู้ใดรู้ว่าจะพบความสำเร็จระดับไหน

⦁ หนังสืออีกเล่มสำหรับคนรักชอบประวัติศาสตร์ และการเรียนรู้สถานการณ์โลกอย่างเข้าใจ โดยเฉพาะเมื่อเราคนไทยมีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้อง (อย่างไม่เคยรู้เคยได้ยินมาก่อน) ยิ่งชวนให้น่าสนใจเพราะเป็นผู้อยู่กับข้อมูลเท็จจริงเอง

รายงานเกี่ยวด้วยสถานการณ์บางประการในกรุงนานกิง ซึ่งผู้เขียนคือเอกอัครราชทูต ณ กรุงนานกิง พ.ศ.2492 พระยาอภิบาลราชไมตรี (ต่อม บุนนาค) เป็นผู้ร่วมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นขณะนั้นคือ สถานการณ์ยากลำบากของรัฐบาลสาธารณรัฐจีนของประธานาธิบดี เจียงไคเช็ค ที่ขาดแคลนอาหาร และชีวิตผู้คนอยู่กับความไม่แน่นอนว่าอะไรจะเกิดขึ้นเมื่อใด จึงน่าอ่านยิ่ง

หนังสือทำนองเดียวกันอีกเล่มที่ไม่น่าพลาด โดยเฉพาะเมื่อเป็นฝรั่งเข้ามาสำรวจภูมิภาคดินแดนเรา ท่องล้านนาบนหลังช้าง ของโฮลท์ ฮาลเลต พ.ศ.2427 อันเป็นงานสร้างชื่อเสียงแก่ผู้เขียน ในฐานะวิศวกรผู้ดูแลการสร้างเส้นทางรถไฟใน “บริติชราช” ซึ่งภายหลังได้บุกเบิกเส้นทางรถไฟในพม่า งานชิ้นนี้ได้มอบให้ราชสมาคมภูมิศาสตร์ตีพิมพ์เป็นหนังสือชื่อ “อะ เทาซันด์ ไมล์ส ออน แอน เอลิฟันท์ อิน เดอะ ฉาน สเตท (A Thousand Miles on an Elephant in the Shan State) ทั้งยังเป็นผู้เขียนงานสำรวจเส้นทางขยายการค้าให้อังกฤษอื่นๆ อีก

ฮาลเลตเดินทางสำรวจจากมะละแหม่งข้ามแม่น้ำต่องยิน (แม่น้ำเมย) สู่ไมลองยี (เมืองยวม) ผ่านเทือกเขาถึงเมืองฮอด จากนั้นนั่งเรือทวนแม่น้ำปิงถึงเชียงใหม่ เข้าเฝ้าพระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าอุบลวรรณ เจ้านายทั่วเมืองล้านนา และผู้เผยแผ่ศาสนาคนสำคัญ เช่น สาธุคุณ ดาเนียล แมกกิลวารี ด้วย

เราจึงได้เห็นว่า แม้ถึงปีที่ 17 ในรัชกาลที่ 5 สถานะของเมืองล้านนายังคงศักดิ์ฐานะของประเทศราชซึ่งดำรงสถาบันของตนเองอยู่อย่างไร ความเข้าใจนี้จะช่วยให้มองภาพประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ต่างไปจากประวัติศาสตร์ท่องจำในอดีต ที่พยายามบอกว่า ไทยยิ่งใหญ่กินแดนออกไปกว้างขวางทุกทิศทางขนาดไหน

รายละเอียดการเดินทางของฮาลเลต บันทึกพร้อมเกร็ดประวัติศาสตร์น่าสนใจ ซึ่งหากไม่พบเองก็ไม่รู้ คนรุ่นหลังยิ่งไม่รู้ ทั่วหัวเมืองล้านนาถึงกรุงเทพฯ สุดท้ายได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพระบรมมหาราชวัง

นี่ย่อมเป็นเรื่องที่คนอีกจำนวนมากไม่เคยรับรู้ไม่เคยเล่าเรียน

แต่แม้ข้าหลวงใหญ่และหอการค้าอังกฤษในพม่า พยายามผลักดันเส้นทางรถไฟเต็มที่ ถึงท้ายสุดก็ไม่เกิดโครงการขึ้น เนื่องจากรัฐบาลบริติชราชไม่สนับสนุน เพราะค่าใช้จ่ายมหาศาลไม่คุ้มการลงทุน ส่วนรัฐบาลสยามเองก็คำนึงถึงความมั่นคงมากกว่าประโยชน์ทางการค้า โครงการดังกล่าวจึงเลิกล้มไป

แต่บันทึกทางประวัติศาสตร์ยังยื่นข้อมูลรายละเอียดมาให้ถึงวันนี้

เป็นบันทึกซึ่งแปลให้อ่านโดย สุทธิศักดิ์ ปาลโพธิ์

⦁ หนังสือทรงคุณค่าอีกเล่มซึ่งไม่น่าผ่านเลย เนื่องจากเป็นประวัติศาสตร์ช่วงสำคัญของการเผชิญหน้ายุคล่าอาณานิคม ที่ต้องใช้ปรีชาญาณในการแก้ไขสถานการณ์อย่างเอกอุ จึงสามารถรักษาบ้านเมืองไว้ได้ นั่นคือ สมุดภาพเหตุการณ์ ร.ศ.112 โดย ไกรฤกษ์ นานา

ลองฟังเนื้อหาทั้งหลายในเล่มดู ว่าน่าอ่านน่าศึกษาอย่างไร ลำดับเหตุการณ์ช่วงวิกฤตการณ์, พระราชกรณียกิจในรัชกาลที่ 5 โดย ฟ.ฮีแลร์, ประมวลภาพ ร.ศ.112, วิกฤตการณ์กับผลสืบเนื่องหลังเหตุการณ์ (ประวัติศาสตร์นอกพงศาวดารฉบับหลวง), รูปล้อการเมืองสมัย ร.ศ.112, พระบรมราชวินิจฉัยเรื่องการเสียดินแดนในรัชกาลที่ 5, การเมืองยุโรป ตัวแปรนโยบายต่างประเทศสมัยรัชกาลที่ 5

บุคคลเบื้องหลังความช่วยเหลือ เพื่อยุติความเสียเปรียบจากสนธิสัญญา, ร.5 เสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก กับราชการลับในเยอรมนี, แลกเปลี่ยน “นครวัด” รักษาจังหวัดสุดท้ายของไทย, กลยุทธ์ ร.5 เปลี่ยนสถานะสยามแพ้เป็นชนะ, สายลับสองหน้าจากกัมพูชา กลางวิกฤตในเงามืดประวัติศาสตร์, ข้อมูลใหม่ สยามในทัศนะจักรวรรดินิยม รากเหง้าข้อพิพาทดินแดน,

(แหม, แต่ละเรื่องน่านำมาสวมจินตนาการเขียนนิยายดีแท้)

วันสวรรคต ร.5 จากปากคำผู้รู้เห็นเหตุการณ์ กับพระราชหัตถเลขาฉบับสุดท้ายก่อนสวรรคต, ป้อมพระจุลฯ และการรบที่ปากน้ำเจ้าพระยา ร.ศ.112

ฟังแต่ละหัวเรื่องแล้วเห็นได้ชัดเจนว่าน่าอ่านน่ารู้ขนาดไหน

⦁ พูดเรื่องเก่าโบราณที่ยังคุณค่าสืบเนื่องมาจนปัจจุบันตั้งแต่ต้น ก็จะต่อถึงงานอีกชิ้นที่คนรุ่นนี้ได้เคยผ่านสายตามาบ้างหรือไม่ไม่รู้ แต่เป็นงานที่กิตติศัพท์ไม่เคยจางหาย และตัวงานยังถูกพูดถึงอยู่เป็นระยะไม่เสื่อมคลาย ทั้งวรรณกรรมและที่ดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ให้สายตาตะวันตกต้องจับจ้องมองมาตะวันออก

ราโชมอน และเรื่องสั้นอื่นๆ งานของยอดนักเขียนญี่ปุ่นซึ่งยอดนักเขียนร่วมสมัยปัจจุบันอีกคนที่มี “เอฟซี-แฟนคลับ” ชาวไทยเหนียวแน่น ฮะรุกิ มุระคะมิ กล่าวว่า “…(ริวโนสึเกะ) อะคุตะงะวะเป็นหลักหมายของวรรณกรรมญี่ปุ่นซึ่งมิอาจถูกรื้อถอน…” ดังนั้น หากผู้ใดไม่เคยได้อ่าน ย่อมควรหาอ่านอย่างยิ่ง

งานชุดนี้รวบรวมเรื่องสั้น 5 เรื่อง ที่เขียนในยุคต้นๆ คือ ราโชมอน, ในป่าละเมาะ, ใยแมงมุม, จมูก, ฉากนรก ซึ่งเคยทำให้นักอ่านตื่นใจมาแล้วทุกสมัย จนยอดผู้กำกับ 1 ใน 5 ของโลก อะคิระ คุโรสะวะ เกิดแรงบันดาลใจ นำเรื่องสั้นสองเรื่องแรก ราโชมอน มาเป็นฉากและ ในป่าละเมาะ เป็นเนื้อหา สร้างภาพยนตร์ที่ลือลั่นขึ้นมา ได้รับรางวัลสิงโตทองจากเวนิสในปี 2494 และตุ๊กตาทองออสการ์ปี 2495 ในฐานะหนังต่างประเทศยอดเยี่ยม

จากนั้นจึงได้ยอมรับทั่วกันว่าเป็นภาพยนตร์ยิ่งใหญ่ที่สุดเรื่องหนึ่งของโลก

หนังสือเล่มนี้ก็เช่นกัน ร่วมกันแปลโดย ศศมน วิริยศิริ, มณฑา พิมพ์ทอง, ชมนาด ศีติสาร, ปิยะจิต ทาแดง มีอนุสรณ์ ติปยานนท์, วาด รวี ช่วยกันกล่าวตาม

⦁ หนังสือทำนองอัตชีวประวัติที่ให้คุณประโยชน์ตรงต่อผู้ต้องการศึกษาชีวิตและการทำงานด้านการต่างประเทศ ที่แม้มิใช่การต่างประเทศโดยตรง เป็นการค้าหรือธุรกิจต่างประเทศก็สามารถจับความอันเป็นประโยชน์ได้ นั่นคือ

บันทึกนักการทูต ของ คมกริช วรคามิน อดีตเอกอัครราชทูตกรุงบูคาเรสต์ โรมาเนีย, กงสุลใหญ่แวนคูเวอร์ แคนาดา, เจ้าหน้าที่โต๊ะเวียดนาม, นักการทูตสองเทอมที่เวียดนาม และปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาสภาธุรกิจไทยเวียดนาม

เนื้อหาการรับราชการกระทรวงต่างประเทศ 40 ปี ถูกเล่าอย่างเรียบง่ายได้สาระ เห็นภาพการทำงานของคนไทยคนหนึ่งในต่างแดน เพื่อรักษาประโยชน์บ้านเมือง การพบปะผู้คน การพบผ่านปัญหา กับเหตุการณ์ที่ประสบด้วยตนเอง

เป็นอัตชีวประวัติของสาขางานซึ่งหาคนเขียนให้เข้าใจเห็นภาพได้ยาก

⦁ บ้านเมืองกำลังผ่านอายุการใช้วัคซีนแก่ผู้คนไปถึงเข็ม 3 เข็ม 4 แล้ว แต่สถานการณ์โรคระบาดทั้งในประเทศและทั่วโลกยังไม่เห็นลู่ทางเบาบางลง ยิ่งสถานการณ์เศรษฐกิจยิ่งดูจะหนักหนาสาหัส ขณะที่ประเด็นการเงินดิจิทัลรุกเข้ามา คนทำกำไรได้หรือชอบทำกำไรขณะกฎกติกายังไม่เข้ารูป ย่อมชอบใจ แต่รัฐไม่ยื่นมือเข้าไปก็คงไม่ได้ สังคมที่คนเห็นประโยชน์ก่อน ได้ประโยชน์ก่อน เป็นเช่นนี้เอง ชาวบ้านซึ่งมีแต่โอกาสทำกินวันต่อวันย่อมไม่อาจแบ่งปันน้ำแกงสักถ้วยด้วยได้

สังคมทุนนิยมผูกขาดเผยโฉมที่แท้ออกมาเรื่อยๆ มีผู้ตระหนักปัญหาดังกล่าวนี้มากมาย แต่มีผู้พยายามแก้ไขความเหลื่อมล้ำสักกี่คน

บรรณาลักษณ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image