รอนักอ่านอยู่ที่สถานีบางซื่อ มือดาบ นักปฏิวัติ จารชน คนไท

รอนักอ่านอยู่ที่สถานีบางซื่อ มือดาบ นักปฏิวัติ จารชน คนไท
(ภาพจาก @BookfairTH)

รอนักอ่านอยู่ที่สถานีบางซื่อ

มือดาบ นักปฏิวัติ จารชน คนไท

น่าตื่นเต้นสำหรับนักอ่านที่จะพบ สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 50 ซึ่งเป็นงานเดียวกับ สัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 20 ในปีนี้ ที่จัดขึ้นระหว่างนี้จนถึงวันที่ 6 เมษายน ณ สถานีกลางบางซื่อ อันโด่งดังเป็นที่รู้จักมาจากบริการฉีดวัคซีนตลอดครึ่งปีที่แล้วจนปัจจุบัน เพราะความโอ่โถงกว้างขวาง เดินจากประตูหน้าออกประตูหลังต้องใช้เวลา จากประตู 1 ไปประตู 4 ก็ไกล ดังนั้น การเลือกดูหนังสือไปอย่างไม่เร่งรีบย่อมทำได้เพลิดเพลิน เว้นแต่ (ความหวังว่า) นักอ่านกับนักเลงหนังสือจะล้นหลามชนิดคาดไม่ถึง ซึ่งจะทำให้งานครื้นเครงเพิ่มขึ้น กับบรรดาหนังสือและกิจกรรมต่างๆ

Advertisement

มิตรรักนักซื้อปัญญาเป็นเล่ม ผู้ผลิต ผู้จำหน่าย พ่อแม่ เพื่อนฝูงที่มิได้พบกันนานเนื่องจากโรคระบาด ส่งไลน์ (เลิกโทรศัพท์เสียเงินกันแล้ว โทรในไลน์ไม่ต้องเสียตังค์ ว่างั้น) นัดหมายเจอกันคึกคัก

สำนักพิมพ์นานาก็เตรียมพร้อมต้อนรับ “คุณลูกค้า” (คำเรียกล่าสุดที่ผู้ขายใช้กับผู้ซื้อจนระบาดติดต่อทั่วกัน โดยทิ้งการเรียกสถานะของ พี่ ป้า น้า อา ลุง ฯลฯ ไปเสีย เช่นเดียวกับร้านตัดผมสุภาพบุรุษ ตั้งแต่สมัยร้าน “งามเกศา” หรือ “กัลบก บาร์เบอร์” ที่คลี่คลายจาก “เฮีย” ซึ่งเรียกมาหลายทศวรรษเป็น “ท่าน” อยู่แทบทุกร้านสมัยนี้) ล้วนตื่นเต้นรอคอยเหมือนกันไปหมด

สำนักพิมพ์มติชน ก็เช่นเดียวกับเพื่อนสำนักพิมพ์อื่นๆ ที่เตรียมพร้อมจะบริการอย่างเต็มที่ตั้งแต่เมื่อวานนี้ ทั้งงานชิ้นล่าสุดจำนวนไม่น้อย งานยอดนิยมซึ่งพิมพ์ซ้ำแล้วซ้ำอีก งานเฉพาะด้านอันเป็นที่รู้จัก และงานวิจัยวิจารณ์ครบถ้วน

Advertisement

เริ่มด้วยนิยายไทยในมิติใหม่จากฝีมือผู้กำกับภาพยนตร์เรืองนาม วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง ซึ่งสร้างชื่อมาจาก ฟ้าทะลายโจร อันเปี่ยมบรรยากาศแปลกของความใหม่ในความเก่า ด้วยสีสันบรรเจิดตากับเนื้อหาที่คุ้นเคย ใช้เวลาร่วม 30 ปี คิดและลำดับดำเนินเรื่องในฉากโบราณด้วยลีลาท่วงทีใหม่ แบบกำลังภายในในพงศาวดารไทย นานกระทั่งลืมรายละเอียดระหว่างทางไปจนหมด จำได้แต่ขึ้นต้นกับลงท้าย จนต้องเขียนใหม่ให้เสร็จ เพื่อความบันเทิงในโลกวรรณกรรมได้แตกกิ่งก้านสาขาออกไป นั่นคือ คนจรดาบ ที่นักอ่านนวนิยายจะต้องสบอารมณ์

ฉากอยุธยาที่ตกในสภาวะเครียดเขม็งว่าจะถึงกาลล่มสลายหรือไม่ กับกรณีฆาตกรรมมหาเสนาบดี ปลุกนักดาบพรสวรรค์กับพราหมณ์เจนอาวุธขึ้นมา ประกันว่าความสนุกสนานเพลิดเพลินจะดึงดูดนักอ่านไปไม่ลดละจนหน้าสุดท้าย

นิยายแปลเอาจริงจากฝีมือบรมครูวรรณกรรมผู้หนึ่ง เฮนรี เจมส์ ซึ่งให้ความคิดอิสระและเสรีภาพของปัจเจกชน กับการใช้ชีวิตของสตรีผู้ก้าวหน้าในศตวรรษที่ 19 ซึ่งกรอบค่านิยมและวัฒนธรรมหญิงชายหลายรูปตามไม่ทันผู้คน เผลอๆ ผู้อ่านในศตวรรษที่ 21 ไม่น้อยอาจถูกกระทบกระแทกด้วยความคิดที่ผ่านพฤติกรรมของหญิงสาวตัวละครมาเต็มๆ ว่า เอ-เธอเกิดศตวรรษนี้หรือเราเกิดศตวรรษที่ 19 กันแน่ วรรณกรรมกระทุ้งจิตใจผู้อ่านได้แรงอย่างนี้เอง เว้นแต่ไม่อยากสารภาพกับใครว่า เป็นผู้ไม่ปรารถนาอิสระและเสรีภาพ (อย่างนี้ดีแล้ว-ฮา)

ในภาพเธอ The Portrait of a Lady (เดอะ พอร์เทรท ออฟ อะ เลดี้ – 2424) แปลโดยมือฉมัง นพมาส แววหงส์ หนา 856 หน้าเล่มนี้ จะสำรวจลึกในความคิดและจิตใจผู้อ่าน ผ่านชะตากรรมตัวละครที่เธอเลือกเอง ซึ่งแน่นอนผลลัพธ์อาจไม่เป็นไปตามคาดหมายได้ แต่หนังสือคุ้มค่ากับการใช้เวลาแน่ๆ

คงมีคนไม่น้อยที่เคยดูภาพยนตร์ซึ่งสร้างจากเรื่องนี้มาแล้ว เช่นปี 2539 ที่ นิโคล คิดแมน เป็นนางเอกของยอดผู้กำกับสตรี เจน แคมเปียน ที่เคยถูกเสนอชื่อเข้าชิงตุ๊กตาทองออสการ์มาแล้ว อาจให้รสชาติที่น่าพออกพอใจแบบหนึ่ง โดยเฉพาะฝีมือของบรรดานักแสดงร่วมชั้นนำอย่าง จอห์น มัลโควิช กับ วิคเตอร์ มอร์เตนเซน แต่การอ่านหนังสือให้อรรถรสซึ่งลึกซึ้งผิดแผกไปมาก

แล้วจะพบว่าฝีมือชั้นครูนั้นแตกต่างออกไปอย่างไร อ่านเจ็บขนาดไหน

สรจักร (ศิริบริรักษ์) เภสัชกร นักโภชนาการ นักเขียน ผู้ช่วยแพทย์ ฯลฯ จากไปก่อนเวลาอันควร (คนจำนวนมากคงเห็นพ้องกัน) แต่งานสร้างสรรค์ตีพิมพ์ลงเล่ม จำหลักไว้ยืนยาวแล้วเป็นอย่างดี ไม่ว่าเรื่องสั้นสยดสยองที่หักมุมเป๊าะๆ จนนักอ่านหัวป้านกันไปเป็นแถบๆ เรื่องอาหารการกินอยู่หลับนอนที่จะยังประโยชน์ ล้วนเผยแพร่เป็นระยะอยู่อย่างสม่ำเสมอ แสดงคุณค่าอันคงทน

สำหรับ แค้นของคนตาย นั้น บอกได้ว่า ต้องเป็นความรู้สึกร่วมของคนจำนวนไม่น้อย ที่จากไปแบบตาไม่หลับ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลกลใด ยิ่งในสังคมที่ความเหลื่อมล้ำเอารัดเอาเปรียบผู้คนสูง อำนาจบังคับข่มเหงชาวบ้านยิ่งสูง เงินจ้างผีโม่แป้งได้ เช่นเดียวกับที่ “แข็งดั่งเหล็กเงินง้าง อ่อนได้โดยใจ”
(ลิลิตพระลอ) ทำให้ความเคียดแค้นก่อนตายยิ่งคุคั่งกับความอยุติธรรมนานา ยากที่หมอผีจะกำราบ – ถึงจะเข้าทรงถามให้แน่ใจไม่ได้ แต่ตัวอย่างที่เห็นในสังคมอนุมานเอาได้

“…การมอบความตายให้ใครก็ตาม เป็นสิ่งไม่ถูกต้อง แต่บางคนจำเป็นต้องได้รับ เพื่อความสงบของสังคม เช่นที่ผมเกือบจะเคยได้รับ… ใครจะเอามันอยู่ …ตลกถ้าจะคิดถึงตำรวจ พวกเราเสมือนอยู่โลกอีกใบ โลกที่ไม่มีตำรวจ…” (จากเรื่องสั้น “เสือไม่สิ้นลาย”) ตัวอย่างเล็กๆ ของรวมเรื่องสั้นที่คนตายแค้นเล่มนี้

อ่าน 33 เรื่องสั้นสั่นประสาทซึ่งคัดจากงานชุดสามผีสามเล่มคือ ผีหลอก กับ ผีหัวขาด และ ผีหัวเราะ ซึ่งมีทั้งผีจริง ผีตลกร้าย ผีในใจผู้คน ที่สามารถหลอกหลอนได้หลายลักษณะให้ขนหัวลุกขนหลังตั้งชัน ไม่ผิดหวังสักเรื่องเดียว – นักคลุมโปงเปิดไฟฉายอ่านเรื่องผีขอบอก

ไม่ว่าจะเรียกเป็น “นิยาย” ซึ่งว่ากันว่า “อิงประวัติศาสตร์” หรือ “ปลอมประวัติศาสตร์” ก็มีหนังสือจำนวนมากที่เขียนเกี่ยวกับ สามก๊ก วรรณกรรมเอก 1 ใน 4 ของจีนนอกเหนือ ไซอิ๋ว กับ ซ้องกั๋ง และ ความฝันในหอแดง ที่รวมกันแล้วนับร้อยๆ เล่ม ในร้อยๆ แง่มุมของนักวรรณกรรมและนักประวัติศาสตร์ทั่วโลก กระทั่งนักธุรกิจบริหารการตลาดก็ยังนำสามก๊กมาใช้ในสมรภูมิการขาย

ยิ่งถ้าเพิ่งอ่าน เจาะเวลาหาโจโฉ ฝีมือระดับแนวหน้าของจีน เกิงซิน ซึ่งแปลโดยกระบี่เดียวดาย น.นพรัตน์ ไปแล้ว การอ่านนิยายชุดต่อไปนี้ยิ่งเปี่ยมอรรถรสเอกอุ หรืออ่านชุดนี้ก่อน 4 เล่มแล้วค่อยไปเจาะเวลาหาโจโฉก็ยังสนุกสนานไม่แพ้กัน เพราะวรรณกรรมเอกชิ้นนี้มีตัวละครและเนื้อหาเป็นเอกอยู่

นั่นคือชุด จารชนสามก๊ก อันโด่งดังของ เหอมู่ ที่ลือลั่นแผ่นดินใหญ่จีนมาแล้ว แปลอย่างเปี่ยมทักษะโดย ชาญ ธนประกอบ ให้ฉาก บรรยากาศ และสภาพแวดล้อมของสงครามมีมิติทางลึกเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นกโลบายอยู่แล้ว ที่การระวังศึกแม้จะในยุคโบราณก็จะมีต้องมีจารชนแฝงตัวอยู่กับคู่ศึก หรือแผ่นดินต่างวัฒนธรรมต่างวิธีคิดที่ต้องเกี่ยวข้องกันไม่ว่าทางใด กำลังการค้าที่แตกต่าง กำลังพลเมืองที่เพิ่มขึ้น กำลังทางทหารที่เพียบพูน ล้วนต้องคิดหาทางผูกมิตรทางไกล หาแนวร่วมแนวดิ่งหรือแนวราบ สร้างสมดุลการเมืองให้เกิดขึ้น

อยุธยาจึงมีเหล่า “เสือป่าแมวเซา” ไว้สืบข่าวศึก เช่นเดียวกับจารชนของ “จ๊กก๊ก” กับ “ง่อก๊ก” และ “วุยก๊ก” เพื่อโจโฉ เล่าปี่ และซุนกวนอยู่อย่างได้เปรียบในยุคสงครามอาวุธเย็น เช่น ดาบ หอก แหลน หลาว ด้วยความปราดเปรียวของไหวพริบ สติปัญญาและความโหดเหี้ยมในการใช้ข่าวสารรุกคืบช่วงชิงแผ่นดิน

สมรภูมิในยุทธการเซ็กเพ็ก ยุทธการเขาติ้งจวินซาน ยุทธการเสียเมืองเกงจิ๋ว และยุทธการไฟลามทุกค่าย จึงฉายการต่อสู้ห้ำหั่นกันเอาเป็นตายของสายลับสงครามแบบเอ็งไม่ตายข้าก็อยู่ไม่ได้ เป็นการเรียนสามก๊กอย่างมีเลือดเนื้อวิญญาณและชีวิตชีวาที่แทบจะจับต้องได้ของบรรดาตัวละครมีชื่อเหล่านั้นด้วยตอนที่ 1 การศึกที่เขาเตงกุนสัน ต่อด้วยตอนที่ 2 เมฆหมอกเกงจิ๋ว ตามด้วยตอนที่ 3 ไฟลามทุกค่าย และปิดท้ายด้วยตอนที่ 4 แผนสังหารกังตั๋ง

เป็นนิยายแปลชุดที่ไม่น่าพลาดเลยทีเดียวเชียว เพราะไม่เพียงกลศึก การรบพุ่ง เหนือไปกว่านั้นคือจิตใจที่สามารถปกครองไพร่ฟ้าให้อยู่เย็นเป็นสุขได้จริง

พ้นจากนิยาย (ซึ่งยังมีรอให้อ่านอีกมากมาย) ไปแล้ว มีหนังสืออ่านเอาเรื่องที่แสนสนุกและเพลิดเพลินชวนตื่นใจ เพราะไม่เคยเรียนเคยสอนกันมาก่อนในห้องเรียน ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องเดียวกัน แถมเป็นหนังสืออ่านเอาเรื่องที่ขายดีเสียอีก ซึ่งภายใน 7 ปี สามารถพิมพ์แล้วพิมพ์อีกถึง 12 หน โดยครั้งล่าสุดเมื่อปีที่ผ่านมานี้เอง

นั่นคือ ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย จากการช่วยกันศึกษาค้นคว้าและเขียนขึ้นเป็นภาษาอังกฤษให้แก่สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเคมเบริดจ์ ก่อนแปลเป็นไทยของอาจารย์ คริส เบเกอร์ กับอาจารย์ ผาสุก พงษ์ไพจิตร สองคุรุผู้ชำนิ ที่ทำให้ประวัติศาสตร์ไทยสามารถแหวกมายาคติออกมาจับต้องได้ จนกลายเป็นตำราอ่านเพลินซึ่งนำไปอ้างอิงได้ด้วยหลักฐานการค้นคว้าที่หนักแน่น และการตีความที่อยู่บนพื้นฐานข้อเท็จจริงอันเป็นไปได้ โดยเฉพาะเรื่อง “คน” บนดินแดนนี้ ที่ไม่เคยปรากฏโฉมและบทบาทในประวัติศาสตร์ไทย ไม่ว่าฉบับใดๆ มาก่อน

ดังนั้น เมื่อเป็นความรู้ใหม่ จากมุมมองใหม่ และหลักฐานที่กว้างขวางขึ้นทั้งภูมิภาคอุษาคเณย์ซึ่งเติบโตเคลื่อนไหวไปพร้อมกัน หนังสือเล่มนี้จึงมีเรื่องที่ไม่เคยรู้ และเรื่องเคยรู้อยู่อีกด้านที่ไม่เคยเรียน จึงทำให้สนุกและเพลินได้ดังกล่าว

เช่นเดียวกับหนังสือหม้อจับฉ่ายสยามหรือ Siamese Melting Pot ก่อร่างเป็นบางกอก ที่ใช้เวลาศึกษานานนับทศวรรษโดย เอดเวิร์ด ฟาน รอย แปลโดยอาจารย์ ยุกติ มุกดาวิจิตร หนังสือที่จะแสดงและตอกย้ำให้เห็นว่า บางกอกเป็นสถานที่สมรมของตัวแทนชาวบ้านอันหลากหลายทางเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรม ที่ผสมผสานกันเข้าเป็น “บางกอกเกี้ยน” (Bangkokian) มิได้มีสภาพดังจินตนาการชนิดเพ้อฝันเอาลมๆ แล้งๆ ว่า ชาวสยามหรือชาวไทย หรือคนบางกอก เป็นเผ่าพันธุ์ “อารยัน” อันต่างกับ “มิลักขะ” ที่จะมาผสมปนกันมิได้ เช่นอินเดียโบราณเป็นตัวอย่างแต่อย่างใด

หนังสือเล่มนี้ให้รสชาติชวนฉงนสนเท่ห์ เพราะพูดถึงสิ่งที่แวดล้อมตัวเรามาแต่อ้อนแต่ออก เป็น สิ่งที่เคยมอง แต่ไม่เห็น เหมือนชื่อหนังสือเล่มใหม่ของ หนุ่มเมืองจันท์ อย่างไรก็อย่างนั้น จึงชวนอ่านชวนรู้ลึกลงไปจากสายตาที่อาศัยความรู้มองแล้วมาบอกให้เราเห็น ทำให้เราได้ตระหนักว่า การเติบโตของบ้านเมืองและมหานครที่ผ่านมานั้น เกิดขึ้นจากพลังประกอบสร้างของพหุชาติพันธุ์อันแตกต่างร่วมกันอย่างเข้มแข็งและกลมกลืนอย่างไร มิใช่โดยกำลังหรือความคิดของผู้หนึ่งผู้ใดคนเดียว หรือคนเพียงชาติพันธุ์เดียวก่อร่างขึ้น – โถ, คิดไปได้

หนังสือเล่มล่าสุดเท่าที่พื้นที่จะสามารถชวนอ่านได้วันนี้ก็คือ ภูมิปัญญาปฏิวัติฝรั่งเศส โดยอาจารย์ที่แปลงสถานะมาเป็นนักการเมือง ฝ่าฟันความเห็นต่างนานา เพื่อยังความคิดให้เห็นแจ้ง ท่ามกลางโรคระบาดตาบอดคลำช้าง และรักคุดทางการศึกษาซึ่งเกิดเชื้อกลายพันธุ์เป็นขวากทู่ขรุขระขึ้นทุกที ปิยบุตร แสงกนกกุล

การปฏิวัติที่สร้างแรงกระเพื่อมอันหนักหนาไปทั่วโลก จากการลุกฮือของสามัญชนคนเดินถนนที่เรียกร้องสิทธิ และเสรีภาพในความคิดและการดำรงชีวิต ในความฟุ้งเฟ้อของระบอบที่เหลื่อมล้ำและแตกต่าง อันทำให้ตระหนักถึง “คุณค่าของการมีชีวิต” ขึ้นมาด้วยความเจ็บปวดสาหัสจากการมีชีวิตอันผิดรูปผิดร่างและผิดลู่ผิดทางนั้นเอง “ฐานันดรที่ 3” จึงเกิดขึ้น และเปลี่ยนแปลงโลกทั้งใบไปฉับพลัน

หนังสือเล่มนี้จะช่วยให้รู้แจ้งแทงตลอดเรื่องภูมิปัญญาการปฏิวัติ ไปอย่างไร มาอย่างไร เกิดขึ้นได้แบบไหน ไม่ใช่เรื่องคิดฝันลอยๆ หรือเพียงแรงปรารถนา หรือเกิดความต้องการก็ปรากฏขึ้นได้ ทั้งมิใช่เรื่องโรแมนติกพระเอกนางเอก หรืออัศวินขี่ม้าขาวทะยานลอดเมฆออกมา แบบหนังโคบาล แฮฟ กัน วิล เทรฟเวล (Have Gun Will Travel 2500) หนังชุดตอนกึ่งพุทธกาลของ ริชาร์ด บูน แต่เป็นความจริงล้วนๆ ที่แลกมาด้วยชีวิตและเลือดเนื้อประชาชนพลเมือง

จึงควรอ่านอย่างศึกษาข้อเท็จจริงอันปราศจากมายาด้วยโยนิโสมนสิการ

ขอให้เพลิดเพลินและชื่นบานกับหนังสือละลานตา และขอให้ปราศจากโรคภัยโดยถ้วนหน้าทุกตัวคน เทอญ

บรรณาลักษณ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image