เศรษฐกิจปากท้องต้องรู้ การเมืองมหาอำนาจต้องเข้าใจ

เศรษฐกิจปากท้องต้องรู้ การเมืองมหาอำนาจต้องเข้าใจ

เศรษฐกิจปากท้องต้องรู้

การเมืองมหาอำนาจต้องเข้าใจ

งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติที่สถานีกลางบางซื่อ ผ่านไปอย่างชื่นมื่น ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค แม้แต่เจ้าของสถานที่ก็รื่นรมย์ เพราะประมาณว่า ประชาชนที่เข้างานวันละราว 60,000 คน เป็นจำนวน 720,000 คนใน 12 วัน ทำให้เงินสะพัดราว 600 ล้านบาท ได้รู้จักและเห็นภาพจริงของสถานที่ขยายจำนวนขึ้นอีก จากช่วงหลายเดือนของบริการวัคซีนถึงบริการหนังสือ จนปรารถนาให้เกิดความร่วมมือเช่นนี้อีกในอนาคต

Advertisement

ที่สำคัญ เช่นดัง อาจารย์ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ตื่นเต้น และบรรดาผู้ผลิตพออกพอใจก็คือ หนังสืออ่านเอาเรื่องที่ถอดจากงานวิจัยวิชาการ หรือวิทยานิพนธ์ การเมือง ประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจ และสังคม ล้วนกลายเป็นสารคดีขายดีขายได้ โดยเฉพาะเรื่องราวเกี่ยวกับตนเอง นักศึกษา คนทำงานหนุ่มสาวรุ่นใหม่ ต่างหาหนังสือหนักๆ (ที่จริงก็ไม่ได้หนักอย่างที่เรียก) อ่านกันทั่วไป น่าชื่นใจ

มองทะลุถุงหิ้วใสๆ ใส่หนังสือ เห็นปกหนังสือลานตาไม่ว่าใครก็อิ่มเอิบ

● สงครามรัสเซีย ยูเครน เกิดด้วยสาเหตุที่ยูเครนต้องการเข้าเป็นสมาชิกนาโต (องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ North Atlantic Treaty Organisation – NATO) จากปี 2492 เพื่อตั้งระบบพันธมิตรทางทหารในการถ่วงดุลอำนาจคอมมิวนิสต์ สหภาพโซเวียตหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สหรัฐ สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส โปรตุเกส ไอซ์แลนด์ แคนาดา เบลเยียม เดนมาร์ก อิตาลี ลักเซมเบิร์ก เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ 12 ประเทศ ร่วมกันลงนามในสนธิสัญญาดังกล่าว

Advertisement

ทั้งประกาศว่า จะไม่ขยายพื้นที่ออกจากยุโรปเข้าไปทางตะวันออก

แต่จากนั้นจนถึงปี 2525 ก็รับสมาชิกเพิ่มอีกคือ เยอรมนี สเปน กรีซ และตุรกี พอปี 2542 ก็เพิ่มเช็ก ฮังการี โปแลนด์ เข้ามา ถึงปี 2547 ประเทศยุโรปตะวันออก บัลแกเรีย ลัตเวีย เอสโตเนีย สโลวาเกีย สโลวีเนีย โรมาเนีย ลิทัวเนีย เข้ามาอีกเจ็ดประเทศ จนมีสมาชิกถึง 26 ประเทศ ขยายพื้นที่จรดรัสเซีย

กระทั่งปัจจุบัน ยังมี มาซิโดเนียเหนือ มอนเตเนโกร โครเอเชีย แอลเบเนีย รวมเป็น 30 ประเทศ ตีวงปิดล้อมประชิดเข้าไปอีก

ดังนั้น เมื่อยูเครนที่อยู่ติดรัสเซียเหมือนหน้าบ้านหรือหลังบ้าน เกิดอยากเข้าเป็นสมาชิกด้วยอีกประเทศ อันเป็นเหตุให้สรรพาวุธร้ายแรงทันสมัยนานาของนาโตมาตั้งจ่อ สุดท้ายก็เกิดสงครามอย่างที่เห็น

ที่อารัมภบทมานี้เพราะการเมืองระหว่างประเทศในแต่ละภูมิภาค ล้วนต้องร่วมกันเคลื่อนไหวตามความจำเป็นของความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจและการเมืองสมัยใหม่ เช่น ยุโรปต้องรวมกันเป็นสหภาพเพื่อให้เข้มแข็งพอประจันกับมหาอำนาจใหญ่ๆ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็รวมกันเป็นประชาคมอาเซียน ซึ่งต่อไปอาจต้อง +3 เพิ่มจีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่นเข้ามา หรือ +6 เป็นจีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย ต่อไป

แต่เราเข้าใจ หรือรู้จัก AEC หรือประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (Asean Economic Community) ของเรามากน้อยแค่ไหน เราจะประจันหน้าและรับมือกับโลกวันหน้าได้เข้มแข็งมากน้อยระดับใด น่าจะถึงเวลาทบทวนกันอีกครั้ง

 

ก่อน AEC จะเริ่มขับเคลื่อนในปี 2558 เราในประเทศแทบทุกส่วนสาขานานารวมทั้งนักเรียนนักศึกษา ต่างกระตือรือร้นที่จะทำความรู้จักเข้าใจ จน สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ TDRI Thailand Development Reserch Institute) กับบรรดาผู้ร่วมงานต้องช่วยกันเขียน รู้เท่าทัน AEC ขึ้นมาเพื่อให้เท่าทัน “ความเข้าใจผิดและความจริงว่าด้วย เออีซี” และเมื่อเวลาผ่านไป 7 ปี (เท่ากับอายุรัฐประหารครั้งล่าสุด) การบอกเล่าเพื่อเตรียมตัวรับความเป็นไป เป็นไปตามการเรียนรู้ระแวดระวังหรือไม่ การเมืองระหว่างประเทศของสามขั้วมหาอำนาจวันนี้ ที่สหรัฐเริ่มมีความคิดปิดล้อมจีนขึ้นมา ทำให้เราต้องมองสถานการณ์อย่างไร การอ่านอนาคตเมื่อไม่กี่ปีก่อน ช่วยได้มากน้อยแค่ไหน และการแลกเปลี่ยนเศรษฐกิจในภูมิภาคเป็นไปด้วยดีหรือไม่ ฯลฯ

ต้องทบทวนตัวเองสม่ำเสมอ ในโลกที่ใครหนีใครไปไม่ได้พ้นนี้

● อาวุธจะเปลี่ยนไปอย่างไร จากอาวุธเย็น ดาบ หอก แหลน หลาว เป็นอาวุธร้อน ปืนไฟ ระเบิด ถึงจรวดขีปนาวุธ ร้ายแรงมากขึ้นขนาดไหน แต่ยุทธศาสตร์ยุทธวิธีบนภูมิศาสตร์โลกก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนมากนัก เช่นนั้น ระหว่างสงครามรัสเซีย ยูเครน เราลองตั้งหลักกับยุทธภูมิโบราณที่โลกรู้จักเพื่อเรียนรู้ดู

สงครามสามก๊ก 26 ยุทธวิธีสู่ชัยชนะ โดยผู้เชี่ยวชาญ หลี่อันสือ แปลโดย เกียรติศักดิ์ ฟงปรีชากุล สำหรับผู้ที่ไม่เคยอ่านสามก๊กจบ หรือรู้กระท่อนกระแท่น ได้เล่มนี้ไปรู้เรื่องครบหมด สรุปย่อสามก๊กตั้งแต่ต้นจนอวสาน ด้วยการอ้างอิงทั้งจากวรรณกรรมของ หลอกว้านจง และจดหมายเหตุสามก๊กอันเป็นประวัติศาสตร์จริง โดยจำแนกสงครามทั้งหมดเป็น 26 ครั้ง อธิบายว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร รวมทั้งผลกระทบจากแต่ละสมรภูมิ

อาทิ ศึกผาแดง โจโฉแตกทัพเรือ ที่นำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ครั้งล่าสุด

ผู้เขียนวิเคราะห์ให้เห็นว่า ตรงไหนนิยายเขียนเกินจริง ตรงไหนขัดแย้งกับประวัติศาสตร์ พลิกความเชื่อจากนิยาย หรือภาพยนตร์ ที่ว่าเล่าปี่คือฝ่ายคุณธรรม โจโฉคือฝ่ายอธรรม ช่วยให้อ่านเล่มเดียวก็เข้าใจสามก๊กได้ ที่สำคัญคือมีแผนที่ประกอบทุกบท ละเอียดชนิดที่ไม่พบในหนังสือสามก๊กเล่มใดมาก่อน ทำให้เห็นภาพกระจ่างว่าเกิดที่ไหน มีสภาพอย่างไร สร้างผลกระทบขนาดไหน

● ในวรรณกรรม สามก๊ก มิได้มีเพียงเรื่องของบรรดาขุนพล หรือที่ปรึกษาผู้สามารถ แต่ยังมีผู้เก่งกาจด้านอื่นๆ อีก ที่ หลี่อันสือ นำมาแสดงและอรรถาธิบายให้เห็นเช่น ยอดวีรชนสามก๊ก 33 ผู้มีใจสูง โดยได้ผู้ร่วมกันแปลคือ วรางค์ ตติยะนันท์ กับ ปิยะพร แก้วเหมือน ให้พร้อมด้วยอรรถรสนั้น

เล่มนี้ได้รวบรวมเรื่องของยอดวีรชนถึง 33 คน ซึ่งล้วนมีบทบาทสำคัญและแบบอย่างควรศึกษาเรียนรู้ จากภูมิหลังและอุปนิสัยส่วนบุคคล ทำให้เห็นว่าไม่มีผู้ใดดีพร้อมสมบูรณ์โดยธรรมชาติ ต้องพึ่งพาอาศัยกัน เพื่อโอกาสแสดงความสามารถ เติมปณิธาน นำไปสู่ความสำเร็จที่เรียกขานเป็นยอดวีรชนได้

เช่น “เก่อซวิน” ชายชาตรีผู้ไม่เคยยอมจำนน “จางหง” ผู้หาญกล้า สู้จนตัวตายเพื่อมิตร “กว่านหนิง” หมวกแห่งเลียวตั๋ง บริสุทธิ์ดั่งหิมะ “ปิ่งหยวน” กระเรียนขาวในหมู่เมฆ ยอดบุรุษแห่งแผ่นดิน “อ้วนฮวน” ภายนอกอ่อนโยน ภายในเด็ดขาด “เตียวฮ่อม” ตรงในวิถีสงบสุข เพิกเฉยเกียรติยศผลประโยชน์ “อองสิ้ว” ผู้ยิ่งใหญ่เร้นกายในราชสำนัก “ฮันสง” ขุนนางผู้เปี่ยมคุณธรรม ฯลฯ

 

อ้างอิงจากทั้งวรรณกรรมและจดหมายเหตุของ เฉินโซ่ว เช่นเคย

● เล่มที่ 3 เล่มสุดท้ายในงานชุดนี้ของ หลี่อันสือ ร่วมกันแปลโดย จันทรัตน์ สิงห์โตงาม กับ นวรัตน์ ภักดีคำ ให้เห็นว่า ต่างนาย ต่างกลยุทธ ย่อมต่างชะตากรรม บนเส้นทางชีวิตและวีรกรรมในสนามรบของบรรดาเหล่าขุนศึกในยุคสามก๊กตอน วีรบุรุษสามก๊ก 27 ขุนศึกผู้เป็นเลิศ อ่านสนุกถูกใจแน่

เล่มนี้จะพาไปรู้จักบุคคลเหล่านั้นใหม่อีกหนอย่างรอบด้าน มิใช่เพียงสถานะตัวละครในวรรณกรรม แต่ยังเผยอีกด้านในฐานะบุคคลของประวัติศาสตร์ โดยมีหลักฐานอ้างอิงทั้งจากประวัติศาสตร์และพงศาวดาร เหมือนรู้จักตัวเป็นๆ

เช่น “ลิโป้” แม่ทัพหาญกล้าอันดับหนึ่งแห่งสามก๊ก “กวนอู” ต้นแบบวีรบุรุษผู้จงรักแห่งแผ่นดินจีน “เตียวหุย” ศัตรูของคนนับหมื่นผู้หยาบกระด้างแต่ละเอียดอ่อน “จูล่ง” แบบฉบับแม่ทัพผู้เพียบพร้อม “เกียงอุย” แม่ทัพใหญ่สุดท้ายของจ๊กก๊ก ผู้มีปณิธานใหญ่ที่ยากจะเป็นจริง “อองเป๋ง” แม่ทัพใหญ่ผู้ไม่รู้หนังสือแต่เชี่ยวชาญกลยุทธ “เตียวเลี้ยว” ยอดแม่ทัพอันดับหนึ่งของวุยก๊ก ใช้ทหารม้าแปดร้อยตีทัพแสนของซุนกวน “เตียวคับ” แม่ทัพผู้ชนะขงเบ้งเป็นคนแรก “ซิหลง” พิชิตกวนอูแก้วิกฤต “อิกิ๋ม” ข้าสองเจ้าบ่าวสองนาย เสียคนตอนแก่ ฯลฯ

อ่านสนุก นั่งลุกสบายจริงๆ

● สามเณรเปรียญ 9 ประโยครูปแรกใน รัชกาลที่ 9 และรูปที่ 3 ในสมัยรัตนโกสินทร์ ราชบัณฑิตศาสนศาสตร์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก จากไปแล้วในวัย 83 ทิ้งงานทรงคุณค่าอยู่ข้างหลังไว้มากมายร่วม 200 เรื่องสองร้อยเล่ม หรืออาจจะมากกว่า จึงอยากนำงานชิ้นหนึ่งจากตัวอย่างอึงคะนึงที่ปรากฏในวิถีพุทธปัจจุบัน มารำลึกความรู้และวิธีคิด

บทเรียนชาวพุทธจากกรณีธรรมกาย จากการที่หลวงพ่อสด วัดปากน้ำภาษีเจริญ ผู้ประกาศการค้นพบ “วิชชาธรรมกาย” โดยอ้างว่าเป็นวิชาที่พระพุทธเจ้าได้สอนไว้ แต่เมื่อปฏิบัติตามความเชื่อดังกล่าว กลับพบว่ามิได้เป็นไปตามประสงค์ของพระพุทธเจ้า จึงยุติลงก่อนจะมรณภาพในอีกหลายปีต่อมา กระนั้น วิชชาธรรมกายก็ถูกถ่ายทอดต่อจากศิษย์หาทั้งหลายไปแล้ว จนกำเนิดเป็นศาสนสถานที่สั่งสมอำนาจและบารมีของพุทธพาณิชย์อันใหญ่โต

ผู้เขียนซึ่งเห็นความเท็จที่แฝงอยู่ในคำสอนของวัดธรรมกายจึงออกมาโต้ตอบชี้แจงว่า คำสอนเหล่านั้นถูกบิดเบือน ต่อแต้มจนดำเป็นขาว โดยอธิบายละเอียดถึงข้อเท็จจริงในพระไตรปิฎก การอัดธรรมกาย นั่งสมาธิเห็นลูกแก้ว เดินบนดอกดาวเรือง ถวายข้าวพระพุทธเจ้า ฯลฯ เป็นกิจของสงฆ์ หรือเรื่องหลอกลวง เพื่อให้ชาวพุทธได้ตื่นรู้ถึงหลักปฏิบัติ เป็นการปกป้องหลักแท้ของพระศาสนา

แทนที่จะงมงายอยู่กับสิ่งซึ่งเห็นได้ง่ายๆ ว่ามิใช่หนทางดับทุกข์

● อีกเล่มที่ชาวพุทธควรสนใจคือ สวนทางนิพพาน ที่ผู้เขียน เสฐียรพงษ์ มุ่งให้ความรู้เรื่องพุทธศาสนาที่นำไปใช้ได้ในชีวิตประจำวัน เพื่อความสุขสงบ แม้เนื้อหาทั้งหมดจะอยู่บนเส้นทางสู่พระนิพพาน อันเป็นจุดหมายสูงสุดของพุทธศาสนา แต่ผู้เขียน “สวนทางนิพพาน” ก็เพื่อแสดงแง่มุมที่สะท้อนผ่านเรื่องต่างๆ ของคนธรรมดา กับชีวิตที่ต้องพบปัญหาและอุปสรรค ที่ดำเนินไปตรงข้ามกับวิถีสู่นิพพาน ให้เห็นความสัมพันธ์ของคนส่วนใหญ่ต่อศาสนาพุทธ ที่คงเกี่ยวพันกับความดี ความชั่ว, นรก สวรรค์, คาถาศักดิ์สิทธิ์, สวดมนต์, สิ่งอันเป็นมงคลต่อชีวิต ฯลฯ ซึ่งผู้เขียนให้ความรู้ไว้อย่างน่าสนใจ

จึงแม้มิใช่เส้นทางสู่พระนิพพาน แต่เป็นพื้นฐานให้ไต่ระดับขึ้นไปสู่ที่สูงได้ ไม่ว่าจะเป็นความสมบูรณ์ในชีวิต หรือการยังประโยชน์ต่อส่วนรวม

เพื่อเข้าใจได้ว่า ความสุขหาง่ายถ้ารู้จักวิธี, อย่าคิดแก้ปัญหาแบบลิงๆ, สมาธิจำเป็นในยุคข้าวยากหมากแพง, รู้จักเจรจา, รู้จักมอง แล้วโลกจะน่าอยู่, คนโง่มากกว่าคนฉลาด, สาเหตุที่ทำให้เป็นคนโง่ ฯลฯ ล้วนน่าอ่านน่าทำความเข้าใจ

● เมื่อความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจสำคัญและมีค่ามากกว่าหมู่บ้านหย่อมเดียว อะไรจะเกิดขึ้นกับผู้คน มาร์โก บัลซาโน อาจารย์อิตาเลียนสอนวรรณกรรม นักเขียนนิยาย เรื่องสั้น บทกวี เขียนนิยายเรื่องนี้ หยัดยืน เป็นเรื่องที่ 4 ได้รับรางวัลทั้งภายในและนอกประเทศถึง 7 รางวัล ถูกนำไปแปลและตีพิมพ์แล้วใน 35 ประเทศ สรรควัฒน์ ประดิษฐพงษ์ พากย์ไทยให้อ่านประทับใจ

เรื่องคนในหมู่บ้านเล็กๆ ชายแดนอิตาลีติดออสเตรียกับสวิตเซอร์แลนด์ สมัยที่ชาวบ้านพูดเยอรมัน เพราะดินแดนแถบนี้เคยอยู่ใต้ปกครองจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี ซึ่งต่อมาเป็นของอิตาลี มุสโสลินีจึงออกกฎห้ามใช้ภาษาเยอรมันในสถานที่ราชการ ชาวบ้านจึงสื่อสารกับคนนอกไม่เข้าใจ ต่อมามุสโสลินีกับฮิตเลอร์ให้เลือกว่าจะอยู่ประเทศไหน ปัญหาสังคมนานาจึงร้าวฉานขึ้น

สร้างความแตกต่างให้เกิดระหว่างคนจะอยู่กับคนจะไป พ่อกับลูกที่อุดมการณ์ต่างกัน เมื่อรัฐบาลอิตาลีให้สร้างเขื่อนในหุบเขาแห่งนี้เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า แต่คนจำนวนหนึ่งไม่ยอมทิ้งรากเหง้าไปไหน น้ำจึงท่วมหมู่บ้านดังกล่าวเสียมิด เหลือแต่หอระฆังโดดเดี่ยวเป็นหลักฐานว่า ชีวิตผู้คนและสัตว์ กับซากวัฒนธรรมที่เคยปรากฏ จมหายอยู่ใต้ทะเลสาบแห่งนั้น

สะเทือนใจ สะเทือนความรู้สึกนึกคิดแน่นอน

● อีกไม่กี่วันก็จะเปลี่ยนศักราช เข้าเทศกาลสงกรานต์ ขณะโรคระบาดยังรุมล้อม ชีวิตดูจะกระด้างชินชากันไปแล้ว แม้รู้ว่าโรคภัยอันตรายที่เข้ามาอาจเจ็บหนักหรือถึงแก่ชีวิต คนทำมาหากินจำต้องฝ่าฟันไป แต่คนที่พอดูแลตัวเอง หรือครอบครัวที่สามารถระมัดระวังไม่ประมาทได้ ยังมีคนต้องการชีวิตประจำวันที่เหมือนเดิม กินดื่มเหมือนเดิม เที่ยวเตร่เหมือนเดิม ขณะที่ตระหนักอยู่แล้วว่าตอนนี้ไม่สามารถเป็นอยู่เหมือนเดิมได้

จงยังชีวิตด้วยความไม่ประมาทเถิด มิใช่ปัจฉิมโอวาทหรือ

บรรณาลักษณ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image