ตู้หนังสือ : เมื่อนักอ่านผลิบาน รับเทศกาลหนังสือฤดูร้อน

ตู้หนังสือ : เมื่อนักอ่านผลิบาน รับเทศกาลหนังสือฤดูร้อน

เมื่อนักอ่านผลิบาน

รับเทศกาลหนังสือฤดูร้อน

งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติเพิ่งผ่านไปยังอิ่มอกอิ่มใจไม่หาย ก็มาถึงอีกงานให้สมใจกันต่อ คือ งาน นักอ่านผลิบาน ใน เทศกาลหนังสือฤดูร้อน ครั้งที่ 2 (Summer Book Fest 2022) ที่ชั้น 5 มิตรทาวน์ฮอลล์ ณ สามย่าน มิตรทาวน์ ซึ่งเปิดงานไปแล้วเมื่อศุกร์ที่ผ่านมา จนถึง 8 พฤษภาคม เพื่อต้อนรับนักอ่านอย่างต่อเนื่อง เพราะหลายคนยังไม่เอมใจจากงานสัปดาห์หนังสือ อีกหลายคนยังพบปะสนทนาเฮฮากับบรรดาเพื่อนนักอ่านไม่ทั่วถ้วน เนื่องจากสถานการณ์โรคระบาด

ตู้หนังสือ : เมื่อนักอ่านผลิบาน รับเทศกาลหนังสือฤดูร้อน

Advertisement

งานนี้ไม่ใช่งานย่อย ลำพังเพื่อนสำนักพิมพ์ก็ยกแผงกันมาเป็น 100 มากถึง 170 หน้าร้านเข้าไปแล้ว น่าเสียดายไม่อาจเอ่ยชื่อให้ได้ครบ แต่ไม่ว่านักอ่านคนไหนรู้จักสำนักพิมพ์อะไร สำนักพิมพ์นั้นย่อมอยู่ในงานด้วยแน่นอน ยิ่งคิดว่าสำนักพิมพ์เล็กสำนักพิมพ์น้อย กว่าจะผลิตหนังสือออกมาสักเล่ม ต้องมั่นใจว่าเป็นหนังสือที่ตัวชอบ และเป็นหนังสือดีที่อยากให้คนได้อ่านกันมากๆ ถึงได้พิมพ์ ยิ่งต้องไปหาดูกัน

ยิ่งรายการสนทนายิ่งน่าสนใจ ไม่น่าพลาด เช่น พุธที่ 4 พฤษภาคม 15.00-16.00 น. คุยกันเรื่อง “อุปถัมภ์ค้ำใคร : การเลือกตั้งไทยกับประชาธิปไตยก้าวถอยหลัง” โดย เวียงรัฐ เนติโพธิ์ มีอาจารย์ ประจักษ์ ก้องกีรติ ดำเนินรายการ

หรือเสาร์ที่ 7 พฤษภาคม 14.00-15.00 น. คุยกันเรื่อง “เป็นนักเรียนไทยจึงเจ็บปวด : เครื่องแบบ ทรงผม หน้าเสาธง และไม้เรียว” โดยสองวิทยากร ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ กับ วรรณศิริ ศรีวราธนบูลย์ ดำเนินรายการโดย ธนวรรธน์ สุวรรณปาล เพียงตัวอย่างสองรายการก็เห็นความเข้มข้นได้แล้ว

Advertisement

⦁ สัปดาห์นี้พื้นที่น้อย ต้องรีบเสนอหนังสือน่าอ่านสู่กันก่อน เริ่มต้นด้วยการตีแผ่ประวัติศาสตร์ความบอบช้ำของนักเรียนไทย กับปัญหาความรุนแรงในระบบการศึกษาไม่รู้จบ ตั้งแต่หลังปฏิวัติ 2475 ถึงวันนี้ 2563 อันเป็นเวลาที่นักเรียนไทยลุกขึ้นต่อต้านความล้าหลังไม่ทันโลกของทั้งระบบการศึกษา ระบบโรงเรียน และวิธีคิดของบรรดาผู้บริหารการศึกษาส่วนมาก ดังนั้น จึงต้องอ่าน

เครื่องแบบ ทรงผม หน้าเสาธง และไม้เรียว : ประวัติศาสตร์วินัยและการลงทัณฑ์ในโรงเรียนไทย ค้นคว้าศึกษามาเขียนโดย ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ อาจารย์สังคมศึกษา ราชภัฏลำปาง ผู้เขียน กำเนิดประเทศไทยภายใต้เผด็จการ กับ ประวัติศาสตร์สำเหนียก ให้สำรวจทบทวนความคิดกันมารอบหนึ่งแล้ว

ตู้หนังสือ : เมื่อนักอ่านผลิบาน รับเทศกาลหนังสือฤดูร้อน

พูดถึงการตีกรอบระเบียบวินัยฉบับวัฒนธรรม ซึ่งควบคุมเหนียวแน่นยิ่งกว่าแนวคิดสากลเรื่องประชาธิปไตยหรือสิทธิมนุษยชน พร้อมกับตีแผ่อำนาจการควบคุมนักเรียนผ่านเรือนร่างและพื้นที่ในโรงเรียน ทำให้นักเรียนไทยต้องถูกจ้องจับผิด และโรงเรียนกลับกลายเป็นสถานที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นแรกเริ่มไปเสียได้ ทุกเรื่องเหล่านี้เราทุกคนเป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงได้ ไม่ว่าจะในฐานะที่เคยเป็นนักเรียน พ่อแม่ ผู้ปกครอง ครู หรือประชากรคนหนึ่งในสังคม

โปรดอ่าน นี่คืออนาคตของการปลูกฝังสติปัญญาที่ถูกแท้แก่ลูกหลาน

⦁ อีกเล่มที่น่าอ่านตอนนี้ก็คือ อุปถัมภ์ค้ำใคร : การเลือกตั้งไทยกับประชาธิปไตยก้าวถอยหลัง ศึกษามาให้อ่านโดยอาจารย์รัฐศาสตร์ จุฬาฯ เวียงรัฐ เนติโพธิ์ ผู้สนใจการเมือง การปกครองท้องถิ่น เจ้าพ่อ ผู้มีอิทธิพล กับความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์โดยเฉพาะในทางการเมืองมาอย่างต่อเนื่อง

ตู้หนังสือ : เมื่อนักอ่านผลิบาน รับเทศกาลหนังสือฤดูร้อน

ความสำคัญของหนังสืออีกประการคือ คำนำของอาจารย์ โยชิฟุมิ ทะมะดะ แห่งมหาวิทยาลัยเกียวโต ผู้เชี่ยวชาญการเมืองไทยคนหนึ่ง ซึ่งสรุปประเด็นการศึกษาของอาจารย์เวียงรัฐจนเห็นภาพเต็มให้เราอ่านได้อย่างน่าสนใจ

โดยเฉพาะข้อเสนอและข้อถกเถียงใหม่ เกี่ยวกับความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์ในระบอบอำนาจนิยมที่ผ่านมา สู่การคลี่คลายในแง่มุมใหม่ ให้เห็นว่าระบอบอำนาจนิยมที่ผ่านมา ทำลายกลไกการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยไปอย่างไร และการเปลี่ยนแปลงจากระบอบ คสช. ยิ่งถอยหลังไปไกลขนาดไหน

หนังสือสองเล่มดังกล่าว หาอ่านได้ในงานหนังสือฤดูร้อนคราวนี้

⦁ ยังมีชุดเริ่มต้นการเรียนรู้เรื่องตัวเองสำหรับลูกหลาน ที่เตรียมไว้พร้อมตั้งแต่ 50 เหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ไทย โดย ปภาณิน เกษตรทัต ที่มีอาจารย์บรรณาธิการวิชาการคือ สุเนตร ชุตินธรานนท์ ซึ่งกล่าวแนะนำไว้ว่า ได้รวบรวมเหตุการณ์ในอดีต ตั้งแต่รัฐสมัยโบราณจนช่วงที่เรียกว่าประเทศไทย ครบถ้วนทั้งประวัติศาสตร์ การเมืองการปกครอง สังคม ศิลปวัฒนธรรม สะท้อนภาพรวมช่วงเวลาสำคัญ เช่น การสร้างวัดพนัญเชิง สงครามเจ้าอนุวงศ์ การเลิกทาสและไพร่ สงครามเวียงจันทน์กับหนองบัวลุ่มภู เปลี่ยนแปลงการปกครอง ฯลฯ เรื่องราวเหล่านี้อ่านง่าย สนุก ผ่านภาพการ์ตูน ให้ความรู้ตรงประเด็น

ตู้หนังสือ : เมื่อนักอ่านผลิบาน รับเทศกาลหนังสือฤดูร้อน

⦁ ถัดมาคือเรื่องน่ารู้ซึ่งไม่เพียงแต่เยาวชน แต่ผู้อ่านก็อาจยังไม่เคยผ่านสายตาคือ 50 สิ่งแรกในเมืองไทย โดย นันทลักษณ์ คีรีมา มีบรรณาธิการวิชาการคือ เอนก นาวิกมูล อย่างเช่น “ขนมปัง” ที่เรารู้ว่าเป็นอาหารต่างชาติ ซึ่งอาจคิดว่าเป็นของใหม่ แต่ข้อเท็จจริงเป็นสิ่งที่เข้ามาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์แล้ว “รถราง” ในอดีตเคยเป็นพาหนะนำพาผู้คนเดินทาง แต่ปัจจุบันกลับไม่เป็นที่ต้องการอีกต่อไป “ลอตเตอรี่” ที่เดี๋ยวนี้เป็นเหมือนความหวังในอนาคตของคนจำนวนไม่น้อย ใครรู้บ้างว่าเกิดขึ้นอย่างไร และรู้ไหมว่าต่างชาติเป็นผู้ใดนำเข้ามา “ถ่ายรูป” มาจากไหน ช่างภาพที่ไหนนำเข้า อาจนึกไม่ถึง ลองหาอ่านดู

ตู้หนังสือ : เมื่อนักอ่านผลิบาน รับเทศกาลหนังสือฤดูร้อน

⦁ อีกเล่มที่อ่านสนุก เพราะผู้เขียน ชานันท์ ยอดหงษ์ เขียนเหมือนสัมภาษณ์ให้เจ้าของเรื่องเป็นผู้เล่าเรื่องตนเอง และเจ้าของเรื่องแต่ละนาม บ้างมีอยู่ในตำราเล็กน้อย แต่มีอีกหลายนามที่อยู่พ้นตำราไป เช่น พ่อขุนศรีนาวนำถม, พระมหาธรรมราชาลิไท, สมเด็จพระมหาเถรศรีศรัทธา, พระมหาเทวี เมื่อบุคคลเหล่านี้เล่าเรื่องตัวเอง ลองคิดดูในฐานะนักอ่าน ว่าจะสนุกเพลิดเพลินอย่างไร

นอกจากนี้ยังมี พระนางจามเทวี, พญามังราย, พระเจ้ากาวิละ, สุลต่าน อิสมาเอล ชาห์, สุลต่าน มุซาฟาร์ ชาห์, เจ้าฟ้าเหม็น, เจ้าพระยานคร (น้อย), เจ้าครอกวัดโพธิ์ ฯลฯ หนังสือเล่มนี้คือ 50 คนดังนอกตำรา ที่เราท่านเห็นยังอยากอ่าน

ตู้หนังสือ : เมื่อนักอ่านผลิบาน รับเทศกาลหนังสือฤดูร้อน

⦁ คนแบบไหนที่อาจเรียกได้ว่าคนน่ากลัว ก็คนอันตรายที่ไม่มีใครรู้ว่าอันตรายใช่ไหม เช่นเดียวกับคนไร้วุฒิภาวะที่คิดว่าตนมีวุฒิภาวะยิ่งกว่าผู้อื่น จะทำอย่างไรถ้าเราตกในแวดล้อมของบรรดาคนโรคจิต หรือ “Surrounded by Psychopaths” หนังสือของ โธมัส เอริคสัน ผู้เชี่ยวชาญด้านพฤติกรรมชาวสวีเดน เจ้าของ วิธีเอาตัวรอดในวงล้อมของคนงี่เง่า นำมาพากย์ไทยในชื่อ วิธีรอดพ้นจาก “คนเป็นพิษ” แปลโดย ประเวศ หงส์จรรยา

ฟังความแล้ว หนังสือเล่มนี้น่าจะเหมาะกับยุคที่จิตคนสับสนอลหม่านอยู่

⦁ ยามที่ข่าวสารเผยแพร่อย่างเอกเทศ ยากที่ชาวบ้านจะเข้าใจถึงความถูกแท้ หรืออย่างน้อยก็รู้ที่เหมาะที่ควร ยิ่งหน่วยงานกลางต่างๆ ที่รับผิดชอบไม่สนใจ ชาวบ้านยิ่งเดินหน้าไปตามยถากรรม เช่น คุณหมอที่กังวลเรื่องการฉีดวัคซีนในเด็ก ที่จำนวนการเสียชีวิตน่าห่วง เมืองจีนสามขวบก็ฉีดกันแล้ว ด้วยวัคซีนเชื้อตายที่ปลอดภัย แต่เราไม่เห็นหน่วยราชการซึ่งมีหน้าที่ป้องกันออกมาให้ความเห็น

คุณหมอออกมาพูดเรื่องไม่มีความจำเป็นต้องฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็ม 4 เพราะอาจยิ่งทำให้ภูมิอ่อนแอ ติดเชื้อได้ง่ายเข้าไปอีก ก็ไม่มีใครที่ออกมารับผิดชอบอธิบาย ตกลงบ้านเมืองนี้ก็ปล่อยให้ชาวบ้านอกสั่นขวัญแขวนตายเอาดาบหน้าโดยไม่รู้อีโหน่อีเหน่กันเองหรืออย่างไร พอใจจะพูดแต่สิ่งที่ตัวทำเท่านั้น

ตกลงการอยู่ในบ้านเมืองนี้ เป็นเวรของกรรม หรือกรรมของเวรกันแน่

บรรณาลักษณ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image