ตู้หนังสือ : สยาม เวียดนาม ก่อนอานามสยามยุทธ

ตู้หนังสือ : สยาม เวียดนาม ก่อนอานามสยามยุทธ

 

สยาม เวียดนาม ก่อนอานามสยามยุทธ

สําหรับผู้ผลิตหนังสือแล้ว น่าปลื้มใจที่เห็นนักอ่านผลิบาน และได้รู้ว่านักอ่านผลิบานมานานแล้ว เมื่อหนังสือประเภทอ่านเอาเรื่อง หนังสือวิชาการ การเมือง ประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะเรื่องของสังคม ชาติ ภูมิภาค เพื่อนบ้าน และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งกำลังเกิดปัญหาช่วงชิงการนำการปิดล้อมของอภิมหาอำนาจในปัจจุบัน เป็นที่สนใจเรียนรู้อย่างมากจากบรรดานักอ่านทั้งหลาย โดยเฉพาะเยาวชนหนุ่มสาว และวัยเริ่มต้นทำงาน ตลอดจนครูอาจารย์ที่ไม่ยอมล้าหลังการเปลี่ยนแปลงของความรู้และตำราสมัยใหม่ที่เดินหน้าไป งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติเดือนที่ผ่านมา และเทศกาลหนังสือฤดูร้อนที่กำลังผ่านไป พิสูจน์พลังการเรียนรู้ของชนในชาติอย่างชัดแจ้ง ว่ามิอาจฉุดรั้งสติปัญญาที่ก้าวหน้าได้

Advertisement

● ใครติดตาม “ยูทูบ” โดยเฉพาะเรื่องกีฬาในอาเซียน หรือตามความคิดเห็นต่างชาติ หรือในภูมิภาค ว่ามีมุมมองเรื่องเพื่อนบ้านเรื่องอะไร แง่มุมไหนบ้าง ย่อมเห็นได้ไม่ยากว่า เวียดนามจะเป็นที่อ่อนใจของบรรดาเพื่อนบ้านในเรื่องยกตนข่มท่านในเรื่องต่างๆ ตั้งแต่ฟุตบอล ทั้งสนามใหญ่และโต๊ะเล็ก จนแม้คนเวียดนามเองไม่น้อยก็เบื่อหน่ายความเห็นคนชาติเดียวกันที่ไม่มองผลการแข่งขันที่เกิดขึ้น ไทยชนะก็ว่าไทยซื้อกรรมการ ชนาธิป สรงกระสินธ์ ไปโด่งดังที่ญี่ปุ่น ก็ว่า กวงไห่ กับ กงเฟือง เก่งกว่ามาก แต่ญี่ปุ่นกับยุโรปตาไม่ถึง สู้ค่าตัวไม่ได้

จนหนังสือพิมพ์เวียดนามเต้าข่าวทีมโน้นทีมนี้มาซื้อตัว กระทั่งทีมเจ้าสังกัดที่ถูกเอ่ยชื่อปฏิเสธมาเอง คนเวียดนามที่ทนไม่ได้ถึงกับออกมาบ่นระอาว่า ไม่อายคนอื่นเขาบ้างหรืออย่างไร เชื่อตามหนังสือพิมพ์ที่นั่งเทียนขายข่าวอยู่ได้

ความเห็นอินโดนีเซียบอกว่า มาเลย์คือศัตรู เวียดนามคือคู่ต่อสู้ แต่ไทยคือมิตร ตั้งแต่เมื่อการแข่งขันแชมเปี้ยนลีกสโมสรอาเซียนเดือนมกราคมที่ผ่านมา

Advertisement

กระทู้หนึ่งใน “ยูทูบ” คือทำไมเวียดนามไม่บุกไทยหลังบุกลาวและกัมพูชา เมื่อขับไล่กองทัพอเมริกันพ้นแผ่นดินไปแล้ว ก็มีคำตอบให้ฟังมากมาย

ปัจจุบันแม้เข้ายุคที่เรียกว่าศิวิไลซ์ได้แล้ว แต่ต้นรากความคิดเก่านานายังฝังรากอยู่ในหลายๆ ด้านของหลายๆ สังคมที่ยังไม่อาจแหวกพ้นการเรียนรู้และความคิดโบราณจนมาถึงยุคล่าอาณานิคมได้ กัมพูชาก็ยังแสดงความเห็นว่า ไทยเอาข้าวเหนียวมะม่วงไปจากตน เอามวยไทยไปจากตน เอาโขนไปจากตน จนเพื่อนบ้านอาเซียนมาช่วยแสดงความเห็นในมุมกว้างและลึกโต้ตอบให้แทน

ประวัติศาสตร์ดั้งเดิมระหว่างสยามกับเวียดนามจึงควรสนใจ เพราะไม่เพียงแต่ต้องคลี่คลายปมประวัติศาสตร์บาดหมาง เช่น สยามกับพม่า เพื่อก้าวสู่ยุคร่วมกำลังกันสร้างสมดุลบรรดามหาอำนาจ แต่เพื่อความไพบูลย์ทางเศรษฐกิจร่วมกัน อย่างน้อยก็ควรทำความเข้าใจระยะใกล้ย้อนหลังลงไป รุกตะวันออก : ความสัมพันธ์ ‘สยาม เวียดนาม’ ก่อนอานามสยามยุทธ ค้นคว้ามาเสนอโดย สุเจน กรรพฤทธิ์ ที่ตามรอยเรื่องพระนเรศวรกับพระเจ้าตากให้เราเปิดหูเปิดตามาแล้ว

หนังสือเล่มนี้อธิบายความสัมพันธ์สยามเวียดนามช่วงธนบุรีและต้นรัตนโกสินทร์ก่อนเกิดอานามสยามยุทธ ทำให้เห็นความเป็นไปและที่มาต่างๆ ของสงคราม โดยใช้หลักฐานข้างต้นของเวียดนามเพื่อเปิดมุมมองใหม่ๆ ของประวัติศาสตร์ ซึ่งจะช่วยให้เราเห็นว่า แท้จริงแล้ว สยามไม่ได้ให้ความสำคัญกับพม่ามากดังหนังสือ ไทยรบพม่า อธิบายไว้เลย แต่กลับมุ่งตะวันออกด้านกัมพูชากับลาวมากกว่า เนื่องจากเป็นปริมณฑลอำนาจของกษัตริย์สยามมาแต่อยุธยา แทบจะถือเป็นหน้าที่สำคัญของกษัตริย์สยามที่จะต้องเข้าควบคุม

ขณะเดียวกับที่เกิดภาวะ “ว่างระเบียบ” ขึ้นในเวียดนาม เมื่ออำนาจไม่ได้รวมศูนย์ที่จักรพรรดิราชวงศ์เล แต่ตกไปอยู่กับอ๋องตระกูลจิ่ง กับอ๋องตระกูลเหงวียน (ที่เราเคยออกเสียงชื่อ-เหงียนเกากี-เหงียนวันเทียว-นั้น สกุลนี้ต้องออกเสียง ง กับ ว กล้ำกันเป็นเสียง ง นำ ว ตามว่า-เหงวียน แต่แป้นพิมพ์ไม่อนุญาตให้ใช้สระกับเครื่องหมายกับอักษรตัวเดียวกัน พอใส่จุดกำกับไว้ข้างใต้ ว แหวนเป็นคำกล้ำ เติมสระ อี ทีหลัง จุดก็หายไป ใส่สระ อี ก่อน เติมจุดทีหลัง สระ อี ก็หายไป)

เมื่ออ๋องตระกูลเหงวียนขยายอำนาจเข้าในกัมพูชา โดยพยายามเชิดเจ้านายที่ตนสนับสนุนขึ้นสถาปนาฐานะ จึงปะทะเข้ากับอำนาจสยามที่มุ่งเข้าไปโดยตรง

ดังนั้น ต้องอ่าน ประวัติศาสตร์ที่หายไป, ศึกชิงกัมพูชาและฮาเตียน, สัมพันธ์รัชกาลที่ 1 กับองเชียงสือ, สัมพันธ์สยามเวียดนามสมัยรัชกาลที่ 2, สยามเวียดนาม ไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร นี่คือ 5 ภาคสำคัญในหนังสือเล่มนี้

● หนังสือเปิดผนึกความคิด ปลุกพลังชีวิตประวัติศาสตร์ ที่คัดสรรข้อเขียนของบุคคลสำคัญที่ส่วนใหญ่เป็นปัญญาชน และบางส่วนเป็นนักการเมือง อันทรงคุณค่า ให้แง่คิด และเป็นแรงบันดาลใจกับการต่อสู้เพื่อยกระดับความคิดและจิตใจมนุษย์ โดยอาจารย์ ปิยบุตร แสงกนกกุล รวมทั้งข้อเขียนของผู้เขียนเอง ที่สำคัญอย่างยิ่งคือข้อเขียนทั้งหมด สัมพันธ์กับสภาวะการเมืองไทย ในยุคสมัยที่เกิดวิกฤตความเชื่อความรู้ความก้าวหน้าที่ร้าวลึกมานานนับทศวรรษ

อ่าน Les Citations ปัญญาจารย์การเมือง (เลส์ สิตาซิยองส์) ความคิดของนิกโกโล มาเคียเวลลี 1517 กับ 1531, เอเตียน เดอ ลา โบเอซี ว่าด้วยความเป็นทาสโดยสมัครใจ, ริเชอลิเยอ, เบลส ปาสกาล 1670, สปิโนซา 1670, มารา ห่วงโซ่ของความเป็นทาส 1774, มงเตสกิเยอ เจตนารมณ์ของกฎหมาย 1748, โรเบสปิแยร์ ว่าด้วยพระราชอำนาจของกษัตริย์ในการยับยั้งกฎหมายที่ผ่านสภาแล้ว ฯลฯ

หนังสือของคนใช้ความคิด คนมองอนาคต คนรักลูกหลานและบ้านเมือง

● หนังสือสำคัญเล่มหนึ่งสำหรับนักบริหาร และผู้สนใจการแก้อุปสรรคปัญหาของคนด้วยกัน ว่ามีวิธีคิดและวิธีปฏิบัติอย่างไรจึงสามารถลุกขึ้นมาจากการล้มอย่างรุนแรงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เราเองก็มีตัวอย่างปัญหานี้เกิดขึ้นและยังลุกไม่ได้เต็มที่ โดยที่คนไม่เชื่อว่าจะสามารถลุกได้ด้วยซ้ำ แต่ทำไมคนอื่นถึงลุกได้ดี

เมื่อปี 2553 สายการบินประจำชาติญี่ปุ่น “เจแปน แอร์ไลน์ส” ถูกประกาศล้มละลายด้วยหนี้สินมหาศาลถึง 700,000 ล้านบาท แต่เรื่องไม่น่าเชื่อเกิดขึ้น โดยหลังจากนั้นเพียง 2 ปี สายการบินดังกล่าวกลับฟื้นกิจการขึ้นอย่างแข็งแรง สามารถสร้างรายได้ทำกำไรจนนำธุรกิจเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ได้อีกครั้ง-อัศจรรย์

อัศจรรย์อย่างไร ต้องอาศัยอะไร ไม่ใช่เรื่องพิสดารเลย ก็ด้วยมนุษย์เราดีๆ นี่เอง ลองหยิบหนังสือ ถอยก็ตาย วิกฤติยังไงก็ต้องสู้ ขึ้นมาอ่านดู จะได้รู้จักผู้เขียนคือ อินาโมริ คาซึโอะ นักบริหารวัย 78 ปี (แล้ววว) ทั้งไม่มีความรู้และประสบการณ์ในธุรกิจการบิน (เลยยย) แต่สามารถฟื้นชีวิตของ “เจเอแอล” ขึ้นมาได้อย่างองอาจแค่ในระยะดังกล่าวแล้ว อาจจะอัศจรรย์ แต่นี่คือฝีมือคน

เขาทำได้อย่างไร “ทำสิ่งที่ถูกต้องในฐานะมนุษย์” ด้วยหลักบริหาร 12 ประการของอินาโมริ และ 4 มาตรการรูปธรรมที่ใช้เป็นโอกาสเติบโตยามเศรษฐกิจตกต่ำ จากการทำงานทุ่มเทจนได้ยิน “เสียงเครื่องจักรร้องไห้” และสร้างสินค้า “ที่คมจนบาดมือได้” การบินไทยที่ใช้เงินภาษีอุ้มมหาศาลเทียบได้แค่ไหน

แค่อ่านเอาความรู้เกี่ยวกับคนคนหนึ่งก็เป็นกำไรแล้ว คนวัย 78 ปี ด้วยนะ

สุดารัตน์ เอื้อเปี่ยมมงคล แปลให้อ่านเข้าใจราบรื่น

● งานวรรณกรรมชุดจากญี่ปุ่นจบในเล่ม แต่ละเล่มล้วนติดอันดับขายดี ด้วยความอบอุ่น เพลิดเพลินของเนื้อหา ที่เกิดขึ้นในร้านอาหารเล็กๆ ของสองคุณป้า (สำหรับเกอิชา ไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ มีกฎว่าต้องเรียกเธอ “พี่สาว” ส่วนในร้านอาหาร จะต้องเรียกสตรีที่ทำงานในร้านว่า “ป้า” ไม่เรียกว่า “พี่” หรือ “ยาย” เด็ดขาด) ที่ทำให้หนังสือถูกอกถูกใจนักอ่าน ด้วยรสชาติอาหารและผู้คนในร้าน

 

รสชาติอาหารจานครอบครัว ฝีมือ เอโกะ ยามากุจิ แปลไทยโดย พลอยทับทิม ทับทิมทอง ให้เห็นว่า ไม่ว่าปัญหาใด อาหารคุณป้าเยียวยาได้

เชิญพบกับร้านอาหารฮาจิเมะ บนถนนใหญ่สึคุดะ (พื้นที่เล็กๆ ที่เคยเป็นเกาะในแขวงซูโอะ โตเกียว) อันผสมผสานความศิวิไลซ์ของเมืองหลวงกับบรรยากาศชานเมืองที่คนท้องถิ่นอาศัย คอนโดมิเนียมตึกสูงหรูหรากับหมู่บ้านชาวประมง กลางวันขายอาหารชุด กลางคืนเปลี่ยนเป็นอิซากายะ (ร้านอาหารที่สามารถดื่มเหล้ากินกับแกล้มได้ในราคาไม่แพง) แห่งนี้ จะสร้างความเจริญใจแก่นักอ่านได้สักเพียงไหน ต้องลองหาลิ้มชิมข้าวหน้าแกงกะหรี่ หรือหอยนางรมชุบแป้งทอด หรือข้าวชุดปลาย่างกับซอสตาร์ตาร์ดู ว่าจะอิ่มเอมกันอย่างไร

มติชนสุดสัปดาห์ นิตยสารการเมืองฉบับครอบครัวรายสัปดาห์ ที่ยิ่งอ่านยิ่งสนุก ยิ่งนั่งลุกสบาย ไม่ท้องผูกไส้เลื่อน ฉบับ “นายกฯสำรอง อุดหู แต่ยิ่งได้ยิน” ตามด้วยเรื่อง “พส.” ร่วงอีกหนึ่งด้วยนารีพิฆาต เส้นชัยผู้ว่าฯกทม. กับการเมืองภายในระอุคุคั่ง

เปิดประเทศรับทรัพย์ ชาวบ้านตั้งหลักไม่รับเชื้อ ยังไงก็ยังเจ็บยังตายอยู่ดี

บรรณาลักษณ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image