ตู้หนังสือ : ไทยต้องไม่ไร้อารมณ์ขัน ท้ายรถบรรทุกยันร้านอาหาร

ตู้หนังสือ : ไทยต้องไม่ไร้อารมณ์ขัน ท้ายรถบรรทุกยันร้านอาหาร

ไทยต้องไม่ไร้อารมณ์ขัน

ท้ายรถบรรทุกยันร้านอาหาร

ประโยคหนึ่งจากวรรณคดีโบราณถึงต้นรัตนโกสินทร์ ซึ่งเกิดจากเรื่องที่กวีสำคัญเขียนต่อกันถึงสามบุคคลสองยุคสมัยจึงจบ ด้วยเวลานานนับร้อยปี ที่ กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส ลิขิตต่อจาก พระมหาราชครู (ตำราว่าเป็นบิดาของ ศรีปราชญ์) และ สมเด็จพระนารายณ์ คืองานเลื่องชื่อของอยุธยา (และไทย) เรื่องหนึ่งซึ่งไม่รู้คนปัจจุบันจะยังรู้จักหรือไม่คือ สมุทรโฆษคำฉันท์ อัน “วรรณคดีสโมสร” สมัยรัชกาลที่ 6 ยกย่องว่าแต่งดีเป็นเยี่ยมในกระบวนคำฉันท์

จาก 2,218 บท ประโยคดังกล่าวอยู่ตรง “โดยมุมานะหฤทัย อดสูดูไขษย กวีฤาแล้งแหล่งสยาม” ที่กรมสมเด็จฯทรงอุตสาหะวิริยะต่องานต้นแบบโบราณ เพื่อจะได้ไม่ “อดสู” ว่า “กวีฤา… (จะ) …แล้งแหล่งสยาม” ไปแล้ว

Advertisement

“กวีฤาแล้งแหล่งสยาม” จึงมักถูกนำมาใช้กระตุ้นสำนึกผู้คนและสังคมมาเป็นระยะ ว่าอย่าลืมมรดกสายเลือดอันเข้มข้นสายนี้ไปเสีย

หากคนอังกฤษจะเป็นที่นิยมกันว่า มีอารมณ์ขันเป็นเลิศ โดยเฉพาะการจิกกัดตัวเองได้หน้าตาเฉยต่อสาธารณะอย่างมีรสนิยม ชาวสยามก็มีอารมณ์ขันอยู่ไม่น้อยเช่นเดียวกัน พระบุคลิกลักษณะหนึ่งใน ในหลวงรัชกาลที่ 9 คือทรงมีพระอารมณ์ขันเป็นเยี่ยม และความชื่นชอบของผู้คนต่อ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรีนอกเหนือความรอบรู้ ก็คือการมีอารมณ์ขันอันเอกอุนั่นเอง

จากยี่สิบปีที่ผ่านมาย้อนหลังไป เมื่อบรรดาผู้สื่อข่าวการเมือง ประชุมกันให้ฉายาบรรดาข้าราชการการเมืองแต่ละปี ก็ล้วนเป็นฉายาที่คิดตั้งขึ้นจากฐานอารมณ์ที่หยิกหยอกกันเฮฮา กระทั่งผู้ได้รับฉายาก็อมยิ้มชอบใจไปด้วย แต่หลังจากนั้น การตั้งฉายาค่อยๆ แปรเป็นการจิกกัดกันจริงจังจนหัวเราะไม่ออก

Advertisement

ดูบ้านเมืองจะเครียดเคร่งจนเสียงสำรวลจะแล้งแหล่งสยามไป

จากนักปฏิวัติไม่เคยตายสมัย เช เกวารา เป็นภาพติดท้ายรถบรรทุกแทบทุกคัน ที่สินค้าสติ๊กเกอร์เริ่มเฟื่องฟู คำขวัญท้ายรถใหญ่จนถึงแท็กซี่ประเภท “เงินจาง นางจร” มาถึงวันนี้ที่ “โควิดก็ต้องหนี เงินในบัญชีก็ต้องหา” นั้น นักท่องไลน์ย่อมเห็นว่า สาวๆ ที่ขึ้นรูปสะอางโฉมของตัวเองบนมือถือ ชวนให้คนติดตาม ก็มักมีคำคมกำกับกันไว้แทบทุกราย ตั้งแต่ประโยคที่ดัดแปลงใช้ต่อคล้ายๆ กัน เช่น “อีกหลายเดือนหมดปี แต่เงินในบัญชีหมดแล้ว” หรือ “ไม่ไหวอย่าฝืน ไม่มีที่ยืนมานั่งตักเรา” หรือ “เห็นเธอชอบทะเลชอบเขา มาชอบเราบ้างได้ไหม” เป็นตัวอย่าง

ธรรมชาติในอุปนิสัยของคนไทยแต่เดิมมา ที่สะท้อนจากการละเล่นพื้นบ้านของหนุ่มสาวและผู้คนนานา ตั้งแต่ความนุ่มนวล ชอบประคารม จากเพลงเรือ เต้นกำรำเคียว ภาคกลาง ถึงความเนิบเย็นของภาคเหนือ และพลังชีวิตของภาคอีสาน จนถึงตลกคะนอง ไปกระทั่งสองแง่สองง่าม ในลำตัด เพลงฉ่อย หรือหนังตะลุงภาคใต้ ล้วนอยู่กับพื้นฐานอารมณ์ขันและอารมณ์ดีของผู้คนบนไหวพริบ ความฉลาดเฉลียวในการเลือกใช้ภาษาทั้งสิ้น มีธรรมชาติของการรู้สัมผัสถ้อยคำวาจา ว่าจะเพิ่มอรรถรสการสื่อสารได้รสชาติมากขึ้นเพียงใด

ดังนั้น เมื่อ มติชน ออน ไลน์ พฤหัสบดีที่ผ่านมา รายงานข่าวชาวเน็ต (เน็ตติเซ็น netizen) ช่วยกันคิดให้คำขวัญ (สโลแกน slogan) เปิดร้านอาหาร ตามที่สาวหนึ่งร้องขอ จึงทำให้ผู้อ่านคำขวัญที่มีผู้คนต่างช่วยกันคิดช่วยกันส่งไปเหล่านั้น ถึงขนาดขำกลิ้งกันไปตามๆ เพราะแต่ละถ้อยแต่ละคำช่างเปี่ยมอารมณ์ขันสร้างสรรค์ความสุขแก่ผู้คนยามหน้าชีดหน้าเซียวกับสถานการณ์ทั่วไปขณะนี้ได้มาก ใครยังไม่ได้อ่านลองหาอ่านดู เป็นอารมณ์หยิกแกมหยอกขนานแท้

แม้แต่สาวเจ้าของคำขอร้องเองยังขำว่า อย่างนี้จะเปิดร้านได้หรือเปล่า

ขณะเดียวกับที่รายงานข่าว “คุณ… คนธรรมดา” จากโฆษณาสินค้าต่างๆ ที่เริ่มจาก “เสื้อยืดธรรมดา” ของห่านคู่ ตามด้วย “รองเท้าธรรมดา” ของนันยาง ถึง “ยาหม่องธรรมดา” ของถ้วยทอง และ “จักรธรรมดา” ของซิงเกอร์ จนแม้แต่ “หน่วยงานธรรมดา” ของ อย. องค์การอาหารและยา ก็เข้ามาร่วมเฮฮาด้วย

กลายเป็นกระบวนงานโฆษณาที่สร้างสรรค์ อบอุ่น เหมือนร่วมมือกันส่งความคิดถึงแก่กันระหว่างผู้ค้ากับผู้ค้า ถึงผู้บริโภคอย่างกลมเกลียว (จะเพราะมิได้เป็นสินค้าคู่แข่งกันและกันหรือไม่ อย่าเพิ่งพูดถึง) กลายเป็นการสร้างบรรยากาศชนิดนี่แหละที่สังคมไทยต้องการอย่างมากยามนี้ โดยไม่ต้องเอาคำขวัญความสามัคคีมาใช้

เยี่ยมมาก

⦁ แต่ไหนแต่ไรมาแล้ว ที่สยามใช้วิธีทางการทูตนำบ้านเมืองฝ่าวิกฤตนานามาได้ โกษาปาน ครั้งพระนารายณ์เป็นเจ้า เดินทางไปเจริญพระราชไมตรีถึงฝรั่งเศสสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 สามร้อยสามสิบกว่าปีก่อน ก็สร้างชื่อลือเลื่องในประวัติศาสตร์ จนถึงรัชกาลที่ 4 ที่ 5 หาทางรอดจากการล่าอาณานิคมก็เห็นอยู่

ยามที่โลกเกิดสงครามช่วงชิงและต่อต้านการปิดล้อมวันนี้ การหลงพลัดเข้าในเล่ห์การเมืองของบรรดาอภิมหาอำนาจไม่ใช่เรื่องอัตตาเฉพาะของผู้นำหรือใครต่อใครเพียงคนสองคน แต่เดิมพันด้วยชีวิตประชาชนและผลประโยชน์ของบ้านเมือง การรักษาสมดุลให้ได้ด้วยวิถีทางการทูตจึงต้องเป็นแก่นสารสำคัญ

ฝรั่งรุกพระนั่งเกล้าฯ การทูตสยามคราวจักรวรรดินิยมบุกอุษาคเนย์ ของอาจารย์ สุเนตร ชุตินธรานนท์ กับ วิกัลย์ พงศ์พนิตานนท์ จึงเป็นหนังสือเล่มหนึ่งซึ่งควรศึกษา ว่าสยามเปลี่ยนผ่านจากวิธีคิดโบราณมาสู่การมีอำนาจต่อรองกับมหาอำนาจที่มีเรือปืนบังคับกลืนกินเพื่อนบ้านไปได้ – อย่างไร

จะให้ชาวบ้านใจหายใจคว่ำกับการผลีผลามเลือกตะวันตกตะวันออกเอาง่ายๆ ไม่ได้ หนทางไหนที่เอาบ้านเมืองอยู่รอด ต้องใช้กำลังสติปัญญาความคิด

⦁ หนังสือที่ชวนอ่านอีกเล่มของราชบัณฑิตปรัชญาและศาสนา กีรติ บุญเจือ เรื่อง นีทเฉอ : ผู้บุกเบิกแนวคิดหลังนวยุคด้วยวิถีอภิมนุษย์และซึ้งสุนทรีย์ ว่าด้วยปราชญ์ผู้มีเอกลักษณ์หลายด้านที่ผู้สนใจวิจารณ์อาจพูดเป็นคนละขั้วได้ นีทเฉอผู้ซึ่งคิดอะไรจริงๆ ไม่ง่ายที่จะแถลงออกมา เมื่ออ่านงานของนีทเฉอที่ต้องตีความ ก็ต้องทำใจให้ได้ว่า อย่าพยายามหาความชัดเจนตายตัว เพียงอ่านและเข้าใจอะไรบ้างก็ดีแล้วที่ได้ความคิดอะไรใหม่ ง่ายกว่าจะหาความมั่นใจว่านีทเฉอคิดอะไรใหม่ อ่านให้ได้ความคิด อ่านให้ได้ความรู้ อ่านได้แค่ไหนก็เอาแค่นั้น สำคัญว่าอ่านแล้วได้ความคิดอะไรใหม่ ตรงนั้นสำคัญกว่า – ว่ากันอย่างนั้น

ผู้เขียนกล่าวว่า “นีทเฉอเองไม่มีลัทธิ มีแต่คนพูดถึง แต่ไม่มีคนเชื่อถือตามอย่างจริงจัง จึงไม่มีลูกทีมสืบทอดเจตนารมณ์ บางคนรังเกียจความคิดของนีทเฉอถึงขนาดอยากล้มล้าง เพื่อความปลอดภัยของเยาวชน แต่ก็ล้มล้างไม่ลง เพราะมีคนคอยปกป้องชี้แง่ดีให้ดูอยู่เสมอ แม้ไม่ยอมปวารณาเป็นศิษย์”

เป็นนักคิดที่ชวนศึกษาดังนี้เอง จึงน่าอ่านน่าเรียนข้อดีที่ว่าเหล่านั้นพิลึก

⦁ เดินตามพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ยังไม่ได้หนักแน่นพอ ก็ต้องพยายามเดินตามกันต่อไป แต่หากได้รู้ว่า 45 พรรษาหลังพระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ แล้วเดินทางโปรดสัตว์อย่างวิริยะอุตสาหะขนาดไหน ก็อาจเพิ่มพลังใจตามขึ้นได้ การเดินทางของพระพุทธเจ้าหลังตรัสรู้ เรียบเรียงโดย ศรัณยู นกแก้ว จะเริ่มด้วยภาพแผนที่ชมพูทวีป แล้วค่อยๆ กำหนดจุดลงหมู่บ้าน เมือง ป่า เขา แม่น้ำ ที่พระองค์เสด็จฯปฏิบัติพุทธกิจตลอดจนปัจฉิมกาล ซึ่งผู้เรียบเรียงช่วยให้เห็นภาพพระพุทธองค์ในมิติของมนุษย์ได้ชัดเจนขึ้น จากเรื่องราว และหลักฐานประวัติศาสตร์ที่ปรากฏ ไปตามสถานที่เสด็จฯตลอดเส้นทางถึงวันปรินิพพาน

102 ตอนกับ 230 กว่าหน้า ที่เราจะได้พบผู้คน กับสถานที่นานาในพุทธประวัติ และเหตุการณ์สำคัญๆ อุบาสกคู่แรก ปฐมเทศนา อัครสาวก มหาสาวก วัดเชตวัน สร้างเสนาสนะแรก ห้ามญาติ อนุญาตภิกษุฉันผลไม้ได้ทุกชนิด ห้ามภิกษุแสดงปาฏิหาริย์ บุคคลในโลกมีสี่ประเภท จำพรรษาครั้งแรก นิ้วสุดท้ายแห่งการบรรลุธรรม กำเนิดโลหะปราสาท พระราหุลละสังขารอัครสาวกซ้ายขวานิพพาน ปลงสังขาร ฯลฯ จนคำสงสัยที่เกิดขึ้นภายหลัง 2,500 ปี ว่าพระพุทธเจ้ามีจริงหรือไม่ จะกลายเป็นข้อสงสัยไร้สาระไป ด้วยหลักฐานทั้งหลายทั้งปวงนั่นเอง

⦁ หนังสือปกแข็งเล่มโตหนักร่วม 1 กิโลกรัม พิมพ์ 4 สีทั้งเล่ม สำหรับคนรักทรัพยากรอันเป็นสมบัติธรรมชาติร่วมกันของทุกผู้คน สารานุกรมอันดามัน โดยคนรักทะเลและสมุทรไทย ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ และคณะ

เรียกได้ว่าเป็นเอนไซโคลพีเดียสัตว์ทะเลเล่มแรกของไทย ในแนวปะการังและพื้นที่ใกล้เคียงทะเลอันดามัน ประกอบด้วยเรื่องของสรรพชีวิตใต้ทะเล ทั้งสาหร่าย ฟองน้ำ แพลงตอน พืช สัตว์ หมึกทะเล ดาวทะเล เม่นทะเล ปลิงทะเล เพรียงหัวหอม โดยประกอบภาพอย่างละเอียด คำอธิบาย สถานภาพ พฤติกรรม สายสัมพันธ์ เวลาที่พบ ที่อยู่อาศัย ทั้งจำแนกชนิด ข้อมูลอนุกรมวิธาน และข้อมูลอื่นๆ ที่สามารถอ้างอิงได้ตามหลักวิชาการ เพื่อเข้าใจทะเลตะวันตก

หนังสือสำคัญอีกเล่มที่จำหลักลงในไมล์สมุทรแห่งความรู้คู่สินในน้ำไทย

⦁ หนังสือที่จะช่วยให้รู้จักนักเขียนรัสเซียร่วมสมัยผู้โด่งดัง ด้วย 2 บทความ 2 เรื่องสั้น ของ บทเรียนเขียนอักษร ที่ผู้เขียน มิฮาอิล ชิชกิน มือชั้นครูที่เขียนร้อยแก้วได้อย่างมีเอกลักษณ์ จนยกย่องกันว่า สามารถเป็นทายาทของบรรดานักเขียนใหญ่ร่วมชาติ เช่น เลียฟ ตอลสตอย เจ้าของ สงครามและสันติภาพ หรือ อีวาน บูนิน นักเขียนรัสเซียคนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบลวรรณกรรมปี 2476 หรือ บอริส ปาสเตอร์แนก เจ้าของ นายแพทย์ชิวาโก ซึ่งล้วนผสมผสานท่วงทีการนำเสนอและเนื้อหาอันทำให้วรรณกรรมรัสเซีย มีลักษณะเฉพาะเป็นที่นิยมของนักอ่านทั่วโลกได้นานกว่าสองศตวรรษ

ลองอ่านฝีมือนักเขียนร่วมสมัยยุคหลังโซเวียตดู ว่ามีรสชาติอย่างไร

⦁ นิยายอีกเล่มที่นักอ่านบอกว่าห้ามพลาดทีเดียวกับ จอมโจรขโมยหนังสือ ของนักเขียนออสเตรเลียเยอรมัน มาร์คัส ซูซัก ที่กลายเป็นหนังสือขายดีระดับนานาชาติ ถูกแปลไปแล้ว 63 ภาษาและขายได้กว่า 16 ล้านเล่ม ทั้งยังถูกนำไปแปลงเป็นหนังที่ฉุดกระชากลมหายใจผู้ชมในปี 2556 จึงเห็นได้ว่า ไม่น่าจะพลาดจริงๆ แปลให้อ่านซาบซึ้งโดย พรรณี ชูจิรวงศ์

เรื่องของเด็กหญิงกำพร้าในยุคนาซีเยอรมัน ที่ไปอยู่ในอุปการะของครอบครัวหนึ่ง ซึ่งหัวหน้าครอบครัวเป็นนักอ่านและเล่นหีบเพลง ทำให้เธอได้ก้าวล่วงสู่โลกจินตนาการ จนรู้จักหยิบฉวยจากกองหนังสือที่ถูกนาซีเผา จนแม้หยิบจากบ้านนายกเทศมนตรี กระทั่งถูกเรียกเป็นจอมโจรหนังสือ

นิยายอันอาจเรียกได้ว่าเป็นสุดยอดเนื้อหานี้ ให้ความงามของมิตรภาพ ความอบอุ่นของชีวิต ท่ามกลางความเย็นเยือกของความตายรอบข้าง

⦁ สัปดาห์ที่ผ่านมา ได้อ่าน “ทหารมีไว้ทำไม” ของอาจารย์ นิธิ เอียวศรีวงศ์ แล้ว ในนิตยสารการเมืองฉบับครอบครัวรายสัปดาห์ มติชนสุดสัปดาห์ ซึ่งช่วยให้รู้จักทหารในมิติต่างๆ ที่ผ่านมากระทั่งปัจจุบัน อันจะทำให้คำถามว่าทหารมีไว้ทำไม มีความหมายเป็นจริงเป็นจังขึ้น นอกเหนือจากว่าเป็นรั้วของชาติ ป้องกันอริราชศัตรู ซึ่งดูตัวอย่างพม่าก็รู้ว่า ใครเป็นศัตรูใคร ทหารมีไว้ทำไม

ถึงฉบับนี้ว่าด้วย “ตอกลิ่ม ทิ่มตู่ ชูป้อม” แล้วประชาชนจะตรมตรอมไปอีกนานขนาดไหน อ่านดูให้รู้กระจ่างไป ก่อนอ่านแผนสกัดชัชชาติ สกัดให้ใคร ในสัปดาห์แห่งการเลือกผู้ว่าฯกทม.ที่กำลังมาถึง อ่านเพื่อเลือกอนาคตคนกรุง

อ่านโลกยามผู้คนลำบาก การทยอยจากไปของรถทัวร์ ปิดตำนานเจ๊เกียว, ตรวจสถานะชิงอำนาจผู้นำเหล่าทัพ รอยร้าวใต้เงารัฐประหาร, อ่านพระบิดากับลัทธิประหลาด ทำนองโรคซ้ำ กรรมซัด สังคมวิบัติเป็น เมื่อศาสนาพุทธ ศาสนาแห่งปัญญา ไม่อาจสร้างปัญญา เพิ่มสติแก่ผู้คนได้ทั่วถ้วน อยากมีสติ ลำบากเพียงยกมือ แต่ไม่อยากยกมือกันง่ายๆ หรือไร ใครบอกได้, อ่านคำ ผกา สังคมนิทานหลอกเด็ก แล้วอ่านมนต์รักทรานซิสเตอร์ บาปที่คงอยู่ของคนชั้นกลางในเมือง

เมื่ออยู่ริมฝั่งชล ฉันยลทุกยามเย็น พักในร่มเงาไม้เอน ฉันมองเห็นนกบินกลับรัง ตะวันใกล้จะลับแล้ว เห็นเรือแจวอยู่ริมฝั่ง ใครมีเวลาตอนนี้เช่นนี้บ้าง

บรรณาลักษณ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image