ตู้หนังสือ : ปลดแอกชาติ อยากลืม กลับจำ

 

ปลดแอกชาติ

อยากลืม กลับจำ

Advertisement

หมู่เฮาจาวเหนือนักอ่านทั้งหลายเจ้า วันนี้ “คาราวาน บุ๊ค แฟร์ ครั้งที่ 7” ที่เชียงใหม่ เซ็นทรัล แอร์พอร์ต วันสุดท้ายแล้วนะเจ้า หนังสือดีๆ จาก 80 สำนักพิมพ์ที่รอนแรมขบวนขึ้นเหนือ ยิ้มแย้มรอนักอ่านทั้งหลายหยิบจับอยู่เจ้า แวะไปหานะเจ้า

กทม.มีพื้นที่ชุมนุมชัดเจน มีตารางดนตรีในสวนอย่างที่นานาอารยประเทศมี มีการทำงานของผู้ว่าฯ เจ้าหน้าที่ ที่จะสร้างภาพไม่สร้างภาพ ผลงานก็จะเป็นตัวพิสูจน์ เพราะการเดินทางทำงานยังสถานที่ต่างๆ ขับเคลื่อนให้เห็น

● บ้านเมืองซึ่งมีประวัติยาวนาน ภาคภูมิใจที่มีบทเรียนให้ชาวโลกได้พิสูจน์เช่นเวลา 5,000 ปีของประเทศจีน บ้านเมืองที่เกิดใหม่ ก็พยายามแสดงคุณค่าความเป็นมาของตน เช่น สหรัฐ ที่อายุไม่ถึง 250 ปี แม้แต่ตะปูตอกรางรถไฟที่มีแรงงานจีนร่วมสร้างมุ่งตะวันตก ก็ถือเป็นโบราณวัตถุ แต่ยังมีบางบ้านเมืองที่ไม่อยากจดจำความเป็นมาของตน พยายามรื้อสร้างเรื่องราวใหม่ที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง-ทำไม

Advertisement

เป็นเรื่องที่เจ้าของบ้านเมืองทุกคนต้องหาคำตอบ เพื่อรู้จักตนเองให้ได้

ปลดแอกชาติ จากศักดินา (ราชา) ชาตินิยม ค้นคว้ามาเขียนให้เข้าใจโดย ฐนพงศ์ ลือขจรชัย นักกฎหมายที่เรียนปริญญาโทและเอก คณะศิลปศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ที่มีวิทยานิพนธ์ยอดเยี่ยมทางสนธิสัญญาประวัติศาสตร์ เช่น “ปัจจัยที่มีต่อการตกลงพรมแดนในดินแดนมลายูระหว่างสยามและอังกฤษในสนธิสัญญา ค.ศ.1090” เป็นตัวอย่าง นอกเหนือวิทยานิพนธ์เรื่องเขตแดนแม่น้ำโขงอีกฉบับ เป็นคุณภาพประกันความรู้ที่จะให้ความคิดชัดเจน

แต่ก่อนจะไปปลดแอก เราต้องรู้จักแอกที่แบกอยู่บนหลังก่อน ว่าคืออะไร

เพราะ “ชาติ” ก็เหมือนกับเรื่องหลอกลวงทั่วไปที่ชนชั้นนำจอมโกหกสร้างขึ้น บอกว่าชาติสำคัญอย่างนั้น ชาติสำคัญอย่างนี้ แต่ไม่บอกหรือแสดงให้เห็นสักลักษณะว่า ชาตินั้นหน้าตาเป็นอย่างไร ให้คนในชาติเข้าใจชาติได้จริงๆ

ผู้เขียนจึงรับหน้าที่สาธยายให้รู้จักชาติแบบไม่โกหกให้ประจักษ์แจ้ง

อ่านปีศาจใต้พรม, กษัตริย์ ชาติ อำนาจอธิปไตย, พลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน, การทวงคืนชาติและกษัตริย์ประชาธิปไตย, จากราชประชาสมาสัยสู่ขวาพิฆาตซ้าย, ปกเกล้าไม่ปกครอง ทรงราชย์ไม่ทรงรัฐ, รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ถึงคณะปฏิรูปอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข, เศรษฐกิจพอเพียง และทุนนิยมสามานย์ ย้อนรอยให้เห็นตั้งแต่ “ชาติ” ใช้แปลจากคำว่า “เนชั่น” จนถึงปัจจุบัน

● เช่นเดียวกับอีกหลายเรื่องในชีวิต ที่แม้ปรารถนาจะลืม แต่กลับฝังแน่นในความทรงจำ โดยเฉพาะจากชีวิต เรื่องราว และสภาพแวดล้อมอันไม่ปกติธรรมดาของผู้คนซึ่งแตกต่าง ดังนั้น ความทรงจำที่ไม่ธรรมดาอันเป็นรายละเอียดที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของธิดาอดีตผู้นำสูงสุด จีรวัสส์ ปันยารชุน พิบูลสงคราม อดีตนายร้อยทหารบกหญิงรุ่นแรกของไทย จึงน่าศึกษาติดตามยิ่ง

หลังจากให้สัมภาษณ์สำคัญกับนิตยสาร เวย์ ถึงพ่อในความทรงจำเมื่อปี 2558 แล้ว จีรวัสส์ก็เสียชีวิตในอีก 2 ปีถัดมาด้วยวัย 96 ปี ดังนั้น หนังสือ อยากลืม กลับจำ เล่มนี้ จึงเป็นสารคดีชีวประวัติสตรีไทยในยุคเชื่อผู้นำชาติพ้นภัย ที่ผ่านเวลาร่วม 100 ปีมากับเรื่องราวหลากหลายร้อยแปด ของชีวิตผู้คน เหตุการณ์นานา ประสบการณ์ตรง กับสภาพสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลง ทั้งทางการเมืองในประเทศ และช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเกิดในปิตุภพมาตุภูมิมหาเอเชียบูรพา

หนังสือไม่เพียงมีเรื่องของบุคคลสำคัญทางการเมือง หรือเบื้องหลังเหตุการณ์บ้านเมือง แต่เป็นมุมมองของสตรีผู้หนึ่งซึ่งมีต่อเรื่องราวต่างๆ รอบตัว ในห้วงเวลาต่างๆ ของชีวิต รวมถึงเกร็ดบุคคล และวงสังคมร่วมสมัย ที่ล้วนกระทบสะท้อนประวัติศาสตร์การเมืองระหว่าง 2475-2500 ราวกระจก

อ่านแล้วอาจใคร่ครวญหวนรำลึกถึงชีวิตอันแตกต่างของผู้คนที่เลือกเกิดไม่ได้ มีแต่ดำรงตนในสถานะที่เกิดมาให้ดีและเป็นคุณให้ถึงที่สุด ร่วมกันเขียนโดย ภูริ ฟูวงศ์เจริญ กับ ศรัญญู เทพสงเคราะห์ และ ณัฐพล ใจจริง

● หนังสือน่าอ่านซึ่งแปลจากบางส่วนของหนังสือ “External Intervention and the Politics of State Formation : China, Indonesia and Thailand 1893-1952” มาในพากย์ไทยว่า บงการอธิปไตย : การแทรกแซงจากจักรวรรดินิยมตะวันตกกับการก่อรูปของรัฐสยาม โดย จาเอียนชง จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ แปลโดย ธรรมชาติ กรีอักษร และคณะ เพิ่งออกมาวางแผงเดือนที่ผ่านมานี้เอง

เป็นหนังสือรางวัล ISSS Best Book Award 2014 จากสมาคมการศึกษาระหว่างประเทศ (ISA)

เนื้อหาน่าอ่านในเล่มมีบทนำของ ศิวพล ชมภูพันธุ์ บงการอธิปไตย-อีกหนึ่งบทสนทนาว่าด้วย สยามอธิปไตย ในทรรศนะจาเอียนชง, คำนำของ ชนินท์ทิรา ณ ถลาง ด้วยสี่บทที่น่าอ่านจริงๆ กับสามภาคผนวกที่น่ารู้มากๆ สามเรื่องคือ “การเมืองเบื้องหลังเสด็จฯประพาสยุโรป” ของอาจารย์ ฉลอง สุนทราวาณิชย์ ที่นักเรียนนักศึกษาคนไทยต้องอ่าน

ยังมีเรื่อง “จากสภาวะเส้นทางบังคับสู่การก้าวข้ามความคิดเศรษฐนิยม” โดย ธิติ แจ่มขจรเกียรติ และเรื่อง “เส้นทางการรวมศูนย์อำนาจและการพัฒนา : กรณีศึกษาจากสยาม” ร่วมกันเขียนโดย คริสโตเฟอร์ เพ็ก กับ เจสสิกา เวชบรรยงรัตน์ โดยทั้งหมดนี้มีอาจารย์ จิตติภัทร พูนขำ จากคณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เป็นบรรณาธิการ จึงประกันความถูกต้องของความรู้ น่าอ่านยิ่ง

 

 

● หนังสือน่ารัก ให้ความคิด เปี่ยมความรู้สึก จะเป็นใครกันที่หยิบฉันออกจากชั้นหนังสือ จินตนาการของ ซาโกะ ไอซาวะ แปลโดย ปาวัน การสมใจ เปรียบชีวิตผู้คนเหมือนหนังสือซึ่งเสียบอยู่บนชั้น แม้จะใช้ชีวิต แสดงความต้องการ และดำเนินวิถีตัวเองอย่างประณีตเช่นไร แต่เมื่อตกในกระแสสังคมอันหลากหลาย ก็อาจแสดงได้เพียงส่วนเสี้ยว หรือผู้คนได้เห็นเพียงแง่มุมหนึ่งเท่านั้น

ด้วยตัวละครซึ่งมีจุดร่วมเดียวกัน ซึ่งเป็นนักเรียนมัธยมต้น ปีสอง แต่ความเจ็บปวด สับสน อ้างว้าง แปลกแยก กลับกระทบผู้คนทุกเพศวัยได้อย่างน่าทึ่ง เรามาติดตามดูว่า แม้แต่เราทั้งหลายเอง จะเป็นหนังสือเล่มที่มีใครสนใจหยิบออกมาอ่านหรือเปล่า-หรือเพียงมีชีวิตว้าเหว่ฝุ่นจับอยู่ท่ามกลางหนังสือ ที่ถูกวางทิ้งเปลี่ยวเหงาเหมือนหนังสืออีกจำนวนมาก

 

● เราอาจกำลังเบื่อหน่ายกับการต่อสู้ในโลกที่คนดีมิได้ชนะเสมอไป แต่งานชิ้นนี้ของ สตีเวน คิง ได้จับเอาเยาวชนเป็นตัวเอก ผ่านพลังจิต และสถาบันชั่วร้าย จนกลายเป็นนิยายที่สามารถนำผู้อ่านดำดิ่งลงในโลกอันพิสดารเหลือเชื่อได้ โค่นล้ม จาก “ดิ อินสติติวท์” ที่ไปพบจุดบรรจบของการจับมือกันระหว่างวิทยาศาสตร์กับสิ่งลี้ลับดำมืดเหนือจินตนาการ เกินความคาดหมาย

 

นิยายซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศ Goodread Choice Awards ประจำปี 2019 และนิวยอร์ก ไทม์ส ยกย่องเป็นหนึ่งในร้อยเล่มที่โดดเด่นประจำปีเดียวกันนั้นด้วย วิกันดา จันทร์ทองสุข แปลให้อ่านสนุกเพลิดเพลินจนจบเล่มไม่รู้ตัว

● โคลงโลกนิติวันอาทิตย์ก่อน “ก้านบัวบอกลึกตื้น ชลธาร” ไปแล้ว อาทิตย์นี้ฟังเหมือนจะเป็นอย่างเดียวกัน แต่ไม่ใช่ “พระสมุทรสุดลึกล้น คณนา / สายดิ่งทิ้งทอดมา หยั่งได้ / เขาสูงอาจวัดวา กำหนด / จิตมนุษย์นี้ไซร้ ยากแท้หยั่งถึง”

ไล่ขนาดไหนถึงไม่ไปไง

บรรณาลักษณ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image