ผู้เขียน | บรรณาลักษณ์ |
---|
มหกรรมหนังสือแห่งชาติ ทหารกับประชาธิปไตยไทย
ตั้งแต่พฤหัสบดีที่ 12 ที่ผ่านมา จนถึงจันทร์ที่ 23 ตุลาคม วัน “ปิยมหาราช” ที่จะถึง พื้นที่กว่า 20,000 ตารางเมตร ของศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ 3 หอประชุมใหญ่ จะเป็นพื้นที่จัดแสดง “มหกรรมหนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 28” ด้วยสินค้าปัญญากว่า 1 ล้านเล่ม กับหนังสือใหม่เอี่ยมอีกมากกว่า 3,000 ปกของ 340 สำนักพิมพ์ ซึ่งร่วมกันตั้งแผงกว่า 930 แผง โดยสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ประเมินว่า น่าจะมีผู้เข้าชมงานกว่า 1 ล้าน 6 แสนคน ที่จะทำให้เงินสะพัดได้กว่า 400 ล้านบาท ทั้งนี้ เปรียบเทียบกับมหกรรมหนังสือครั้งผ่านๆ มา ซึ่งเติบโตขึ้นเรื่อยๆ
และเช่นเคย คราวนี้ก็มีการแบ่งเขตพื้นที่แสดงหนังสือออกเป็น 5 หมวด คือ หนังสือทั่วไป, นิยายและวรรณกรรม, หนังสือเด็กและการศึกษา, การ์ตูนและวัยรุ่น สุดท้ายเป็นแดนหนังสือเก่าของบรรดาสำนักพิมพ์และร้านหนังสือชั้นนำ ซึ่งเป็นแดนสำคัญจุดหมายหนึ่งของบรรดานักอ่าน ของสำนักพิมพ์มติชน, นายอินทร์, นานมี, ศูนย์หนังสือจุฬาฯ, ซีเอ็ด, เอเชียบุ๊คส์, แจ่มใส, ฟีนิกส์ เป็นต้น
และเช่นเคยอีกเช่นกัน ที่บรรดานักท่องงานหนังสือคุ้นเคย นอกจากหลายแผงหนังสือจะมีนักเขียนคนโปรดมาแจกลายเซ็นแล้ว ยังมีรายการความรู้และการเสวนาบนเวทีอีกกว่า 100 รายการ จะปลุกให้ตื่นรู้ในเรื่องต่างๆ อีกหลายเรื่องหลายประเด็น มีนิทรรศการสำคัญ “50 ปี 14 ตุลา” ที่เสนอเรื่องผ่านตัวอักษรซึ่งยาวนานมาถึงครึ่งศตวรรษ เกือบค่อนชีวิตคน ผ่านหนังสือกับนิตยสารนานาให้ทบทวน
ยังกิจกรรมสนุกสนาน “นัดบอดหนังสือ” (Book Blind Date) เช่น แลกหนังสือที่ห่อไว้โดยไม่รู้ไม่บอกชื่อเรื่อง, ทายหนังสือจากปริศนาอักษรไขว้, ทายชื่อหนังสือจากปก โดยที่ไม่มีชื่อหนังสือกับชื่อผู้เขียนกำกับอยู่ เป็นต้น ฟังน่าสนุก ท้าทายเรี่ยวแรงนักอ่านดีแท้
และที่น่าสนใจก็คือรายการ “นักเล่าหนังสือ” ของสมาคมผู้จัด ด้วยแนวคิด “ดรีม ออฟ สปีช นี่สิ, หนังสือในฝันของฉัน” เป็นการประกวดทอล์กโชว์เพื่อหา 10 นักพูดที่จะมาเล่าถึงหนังสือในฝันของตน จากการเปิดรับทาง “ติ๊กต็อก” ก่อนจะขึ้นเวทีประชันความคิดและจินตนาการในวันสุดท้ายที่ 23 ตุลาคม
นอกจากนี้ ยังมีโปรโมชั่นพิเศษ มีส่วนลด มีข้าวของ คูปอง สินค้า บริการขนส่งหนังสือ ฯลฯ อีกหลายรายการตลอดงาน ที่จะช่วยให้อิ่มเอมใจยิ่งขึ้น
“บุ๊ก ดรีม” ที่ผู้จัดวางไว้เป็นแนวของมหกรรมหนังสือคราวนี้ จะเป็นที่ที่นักอ่านพบหนังสือหรือนักเขียนในฝันของตัวเองหรือไม่ ที่จริงอาจเป็นเป้าหมายรองของนักอ่านส่วนใหญ่ เพราะการได้เห็นมหกรรมหนังสือแต่ละครั้งก็เหมือนกับได้พบฝันที่เป็นจริงต่อหน้าอยู่แล้ว จะปลิดสอยหรือเก็บฝันอันเป็นจริงนั้นได้มากน้อยเท่าไหร่เท่านั้นเอง
เพราะไม่ว่า “อีบุ๊ก” จะค่อยๆ เติบโตขึ้น ค่อยๆ ซึมซาบเข้าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตวิถีใหม่เข้มขึ้นขนาดไหนก็ตาม แต่การได้เห็นหนังสือนับล้านเล่ม สีปกแต่ละเล่มสะพรั่งละลานตาดังดวงดาว เมื่อหยิบจับเหมือนเด็ดลงได้จากฟ้า ก็ทำให้บรรดานักอ่านไม่ว่ารุ่นเก่าที่คุ้นกับกลิ่นกระดาษ หรือรุ่นใหม่ที่อ่านหนังสือจากจอ ก็ยังรู้สึกสนิทสนมและสบายใจกับการได้สัมผัสได้พลิกเปิดหนังสือเป็นเล่มๆ กับมืออยู่ดี
⦁ สำหรับ “มติชน(ด)รามา” ก็พร้อมพรั่งกับการเสนอหนังสือชั้นเยี่ยมในโอกาสนี้หลายต่อหลายเล่ม เพื่อจริตนิยมของนักอ่านที่ไม่ว่าคล้ายคลึงหรือแตกต่าง เริ่มด้วยเรื่องของปัญญาชนนักประวัติศาสตร์และสังคม เพื่อนร่วมทุกข์ของคนทั้งหลายที่เพิ่งจากไป นิธิ เอียวศรีวงศ์ กับตาข่ายแห่งความทรงจำ และนิยามประชาธิปไตย งานวิชาการชิ้นสำคัญของอาจารย์ สายชล สัตยานุรักษ์
หนังสือซึ่งศึกษาและวิเคราะห์การสร้างความรู้ทางประวัติศาสตร์ กับงานเขียนเชิงปรัชญา และวิธีการทางประวัติศาสตร์ ของปัญญาชนสาธารณะผู้มีคุณูปการยิ่งต่อวงวิชาการประวัติศาสตร์และสังคมไทย กระทั่งนักอ่านโดยทั่วไป
เพราะในสังคมไทยนั้น “ตาข่ายความทรงจำ” เป็นรากฐานสำคัญของความหมาย “ความเป็นไทยกระแสหลัก” ที่ส่งผลต่อความสำคัญเชิงอำนาจ ทั้งระหว่างรัฐกับประชาชน ระหว่างคนต่างชนชั้น ต่างชาติพันธุ์ และต่างเพศ หรือแม้แต่ความสัมพันธ์ภายในชนชั้น ชาติพันธุ์ และเพศเดียวกัน ที่ต้องเรียนรู้เข้าใจ
เนื่องจากการสร้างความชอบธรรมแก่โครงสร้างสังคมที่แบ่งคนออกเป็นลำดับชั้น และโครงสร้างรัฐแบบรวมศูนย์อำนาจ ทำให้คนในสังคมไทยขาดสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคตลอดมา โดยหนึ่งในปฏิบัติการทางศิลปวัฒนธรรมที่มีความสำคัญอย่างมากต่อการสร้าง “ตาข่ายความทรงจำ” ของชาติในหลายทศวรรษที่ผ่านมา ก็คือการสร้างความรู้ทางประวัติศาสตร์นั่นเอง
ต้องอ่านดูว่าอาจารย์นิธิสร้างคุณูปการต่อการตื่นรู้ของคนในสังคมไว้อย่างไรบ้าง
⦁ ทหารกับประชาธิปไตยไทย : จาก 14 ตุลาสู่ปัจจุบันและอนาคต ของ อาจารย์ สุรชาติ บำรุงสุข ซึ่งเป็นการกลับมาอีกครั้งในรอบ 25 ปีของหนังสือหนา 552 หน้าเล่มนี้ ที่ผู้เขียนจะนำผู้อ่านย้อนไปหาคำตอบจากบทบาทของทหารตั้งแต่ทศวรรษ 2500 สำรวจความคิดนายทหารในยุคเปลี่ยนผ่านทศวรรษ 2510-2520 และการกลับมาของกองทัพหลัง 6 ตุลาคม 2519
ตลอดจนข้อเสนอเรื่องการจัดความสัมพันธ์ระหว่างพลเรือนกับทหาร
อาจารย์ ทักษ์ เฉลิมเตียรณ ผู้เขียนหนังสือสำคัญซึ่งนักวิชาการไทยและเทศใช้อ้างอิงจนทุกวันนี้คือ การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ ซึ่งจากตีพิมพ์ครั้งแรกปี 2526 ถึงการพิมพ์ครั้งที่ 5 ปี 2561 ที่ยังขายได้ตลอด ได้กล่าวถึงหนังสือของอาจารย์สุรชาติเล่มนี้ไว้ใน “คำนำเสนอ” ว่า
“หนังสือเล่มนี้เป็นตัวบทวิชาการที่พิถีพิถัน เต็มไปด้วยข้อมูลสำคัญและข้อสังเกตเกี่ยวกับกองทัพไทย รวมถึงการต่อสู้ในประเทศไทยเพื่อสถาปนาระบอบการเมืองแบบประชาธิปไตย ซึ่งตระหนักว่าประชาชนควรมีสิทธิที่จะแสดงออกได้อย่างเสรีว่า ใครควรมีบทบาทปกครองพวกเขา”
อยากรู้จักเมืองไทยดี รู้จักกองทัพไทยดี อ่านเล่มนี้ดี ว่าเหตุใดชัยชนะของประชาชนจึงสั้นนัก และเหตุใดอำนาจของทหารจึงอยู่ยาว
⦁ ข้างหลังภาพ 14 ตุลา : จากระบอบปฏิวัติของเผด็จการสู่การปฏิวัติของประชาชน โดยอาจารย์ บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ ที่จบตรี เศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์, โท รัฐศาสตร์การปกครอง ธรรมศาสตร์, เอก รัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาวาย และมีคำนำเสนอของอาจารย์ ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ
นำผู้อ่านหวนกลับสู่ “14 ตุลา” อีกครั้ง ด้วยมุมมองของการเมืองทัศนาหรือ “วิชวล โพลิติคส์” (visual politics) งานชิ้นนี้จึงมิใช่เพียงการเล่าเหตุการณ์ แต่ผสมผสานการตีความ “ภาพ” เพื่อฉายหน้าประวัติศาสตร์ที่ยังดูมืดมิด หรือเก็บซ่อนความนัยบางอย่างไว้ – ออกมาให้เห็น
ดังที่อาจารย์ผู้เขียนคำนำกล่าวว่า หนังสือเล่มนี้คือการ “ยกก้อนหินแห่งความมืดมิดออกไปจากวาบหนึ่งของความทรงจำที่ยังสามารถหาได้”
จากยุคเผด็จการครองเมืองสู่ 14 ตุลา ประวัติศาสตร์ช่วงนี้จึงถูกมองด้วยเลนส์ใหม่ ทั้งภาพถ่าย พาดหัวข่าว งานศิลป์ ที่ต่างสะท้อนภาพจำ ความทรงจำ ความรู้สึกนึกคิด เสียง และอารมณ์ ในช่วงเวลาแห่งการปฏิวัติแสนสั้นออกมา
⦁ ความหวังที่เคลื่อนไหว โลกขวาๆ ซ้ายๆ และความท้าทายของประชาธิปไตย ของ ประจักษ์ ก้องกีรติ ที่ค้นคว้าวิพากษ์ยุคประชาธิปไตยซึ่งถูกท้าทาย กับปัญหามากมายที่ระดมทับถมกันเข้ามาทดสอบ ไม่ว่าความรุนแรงโดยรัฐ คอร์รัปชั่นซ้ำซาก การเติบโตน่าตกใจของขบวนการขวาสุดขั้ว
และการล้มลุกคลุกคลานครั้งแล้วครั้งเล่าของคนไทย กับประชาธิปไตยที่ไม่อาจตั้งมั่นได้สักที
นี่เป็นเรื่องราวของบทความอ่านสนุก ที่จะบอกเราว่า ความโกลาหลที่ไม่ลงร่องลงรอยเหล่านั้นนั่นแหละ คือธรรมชาติของประชาธิปไตย ระบอบซึ่งอนุญาตให้ผู้คนได้ถกเถียง ต่อสู้ และล้มลุกคลุกคลานหาคำตอบใหม่ๆ ไปเรื่อย ภายใต้กติกาเดียวกัน
ฟังดูว่า คลื่นแห่งการประท้วงเติบโตมากขึ้นแค่ไหน, ขบวนการขวาสุดโต่งขยายตัวได้อย่างไรในยุคปัจจุบัน, การเมืองของความโกรธทำงานอย่างไร, ทำไมเผด็จการจึงกลัวอินเตอร์เน็ตกับโลกออนไลน์, ทำอย่างไรไทยจะหลุดพ้นจากกับดักคอร์รัปชั่น ฯลฯ
หนังสือมันๆ ทันการเมือง ทันโลก ทันเหตุการณ์
⦁ สถาปัตย์-สถาปนา : การ(เมือง)ดีไซน์พื้นที่และความนัยสถาปัตยกรรม จากคอลัมน์พื้นที่ระหว่างบรรทัดใน “มติชนสุดสัปดาห์” ผู้เขียน ชาตรี ประกิตนนทการ เน้นเรื่องพื้นที่ (space) และนัยความหมายซ่อนเร้น ที่แฝงอุดมการณ์ในสถาปัตยกรรมซึ่งพบเห็นได้ในชีวิตประจำวัน แบ่งออกเป็น 3 ส่วนด้วยกันคือ
พื้นที่เมือง – ว่าด้วยความนัยยอกย้อนของการออกแบบพื้นที่เมือง ตั้งแต่เมืองที่กำลังจะเปลี่ยน กลายเป็นเมืองของชนชั้นสร้างสรรค์ ปัญหาการศึกษาสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นในพื้นที่เมือง ความท้าทายใหม่ของศาสตร์ว่าด้วย neuroarchitecture (นูโรอาร์คิ
เทคเจอร์) ต่อการออกแบบและวางผังเมือง ตลอดจนประวัติศาสตร์การเมืองของพื้นที่สาธารณะในสังคมไทย
พื้นที่ความเชื่อ – ถอดรหัสความหมายของปรากฏการณ์ทางศิลปะและสถาปัตยกรรมซึ่งอยู่ในพื้นที่ความเชื่อของศาสนา ที่บางอย่างกลายเป็นมายาคติร่วมกันของสังคม บางอย่างเป็นปมขัดแย้งทางความเชื่อระหว่างผู้คน และบางอย่างก็เป็นข้อถกเถียงทางวิชาการที่ควรได้รับการทบทวนใหม่
พื้นที่อุดมการณ์ – วิเคราะห์นัยทางการเมืองที่แฝงในการออกแบบเมือง งานสถาปัตยกรรมที่สอดคล้องกับความขัดแย้งทางการเมือง หลายกรณีเป็นปรากฏการณ์ในงานออกแบบที่ดูเล็กน้อยเหมือนไม่มีนัยสำคัญ แต่ที่แท้กลับซ่อนแฝงอุดมการณ์ทางการเมืองไว้อย่างลึกซึ้ง และแนบเนียน
(แต่ไม่พ้นสายตาผู้เขียนได้ – อิอิ เพราะฉะนั้นต้องอ่าน)
⦁ หนังสืองดงามประกอบภาพ 4 สีทั้งเล่ม ทั้งความรู้เจริญใจและภาพเจริญตา โบราณกาลปัจจุบัน ของอาจารย์ สันติ เล็กสุขุม เป็นงานทบทวนความรู้ ข้อมูลทางวิชาการ และข้อสันนิษฐานต่างๆ ต่อประเด็นทางประติมากรรม สถาปัตยกรรม และจิตรกรรมในอดีตของไทย
นับตั้งแต่ก่อนสมัยพุทธศตวรรษที่ 19 เช่น ศิลปะทวารวดี ศิลปะเขมร จนหลังพุทธศตวรรษที่ 19 ศิลปะสุโขทัย ล้านนา ล้านช้าง อยุธยา และรัตนโกสินทร์
ทั้งนี้ พระราชวัง เจดีย์ พระพุทธรูป เทวรูป จิตรกรรม ฯลฯ ต่างมีผู้รู้ศึกษาทางวิชาการไว้มากมาย งานชิ้นนี้จึงเป็นการทบทวนองค์ความรู้ของผู้เขียนเองที่ผ่านๆ มา เหมือนเติมแต่งสีสันผ่านความคิดทางศิลปะและจินตนาการ เป็นการตั้งคำถามชวนคิดต่อ และค้นหาแนวทางใหม่ของการศึกษาประวัติศาสตร์ศิลปไทย
ใน 504 หน้า ดูภาพพื้นภูมิศิลปะไทยเหล่านั้นก็เพลิดเพลินภูมิรู้แล้ว
⦁ หนังสือสำคัญอีกเล่มที่ต้องหาอ่าน แม้เป็นฝ่ายพ่ายแพ้ แต่เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์อีกด้านที่จะเติมเต็มความรู้ กำศรวลพระยาศรีฯ เรื่องของ พันเอก พระยาศรีสิทธิสงคราม แม่ทัพคณะกู้บ้านกู้เมืองที่ก่อการล้มล้างรัฐบาลคณะราษฎรในปี 2476 และจบชีวิตลงที่ยุทธภูมิหินลับ
ณเพ็ชรภูมิ หรือ แพทย์หญิง โชติศรี ท่าราบ ธิดาของพระยาศรีฯบันทึกจากความทรงจำ เล่าชีวิตอีกด้านของบิดา ทั้งมุมมอง อุปนิสัยใจคอ ผ่านความรู้สึกของธิดาของผู้พ่ายแพ้ทางการเมือง ทั้งการสูญเสียบุพการี และการถูกตราหน้าว่าเป็นลูกกบฏ
เป็นหนังสือที่จะช่วยให้เห็นภาพรอบด้านของช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครองมากแง่มุมขึ้น
⦁ นิตยสารการเมืองประจำครอบครัว อ่านสนุก นั่งลุกสบาย ถกแถลงกันได้คำโต้เถียงขัดแย้งเป็นดอกไม้แพรพรรณ มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับว่าด้วยสมรภูมิดิจิทัล 10,000 “รุก” ก็ 100,000 (แสน) เข็ญ “ถอย” ก็ไม่ได้
อ่านก้าวที่ต้องฮึดของรัฐบาลเศรษฐา เดินหน้าแจกเงินดิจิทัล ร้านค้าลงทะเบียน พ.ย.นี้ ส่องเกมหมากล้อม ทัพบก ทัพเรือ บิ๊กปู บิ๊กวิน กลางดง ตท.24 จับตายุทธพงศ์นั่งกุนซือนายกฯ อาจทำแผนซื้อเรือดำน้ำไม่ราบรื่น
สมรภูมิอิสราเอล “ไกล” แต่ “ใกล้” 20 นักรบแรงงานสังเวยชีวิต เขย่าขวัญ 3 หมื่นคนไทย อ่าน “ศึกกาซา” ความล้มเหลวราคาแพงของยิว
กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์ ชวนคิด “บทเรียนเรื่องศาสนากับการเมือง” สืบเนื่องจากสงครามระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์
หลัง 14 ตุลา สู้กันมา 50 ปี เกิดอะไรขึ้นบ้าง… แล้วไปเจาะมาตรการรัฐคุมเข้ม หลังกราดยิงพารากอน ห้ามขาย-นำเข้า แบลงก์กัน ระดมกวาดล้างปืนเถื่อน
คอลัมน์ดาวพลูโตมองดูโลก พาไปรู้จัก ดร.คลอเดีย โกลดิน สตรีผู้คว้ารางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ปี 2023 และเผยชีวิต “นาเกส โมฮัมมาดี” นักต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีอิหร่าน จากในกรงขังอิสรภาพ
แล้วอ่าน เทย์เลอร์ สวิฟท์ ผู้ยิ่งใหญ่กว่า เอไอ ก่อนดูมรดกภาพยนตร์ของชาติ 2566 “กตัญญูปกาสิต” กับ “เทวดาเดินดิน”
แล้วรูดม่านปิดฉาก “หางโจวเกมส์” ทัพไทยผลงานต่ำกว่าเป้าหมาย
⦁ เรื่องที่น่าประหลาดใจอย่างมากของคนไทยกับสังคมไทยก็คือ ผลประโยชน์ส่วนรวมของชาติไม่ถูกพูดถึงอย่างจริงจัง ไม่ได้รับการแก้ไขจริงจัง ได้แต่เป็นเรื่องส่งวนเวียนให้อ่านกันไปมาในไลน์ ในสื่อสาธารณะ
เช่นเรื่องใหญ่ๆ ดึกดำบรรพ์เรื่องพลังงาน ขณะที่มีแหล่งพลังงานธรรมชาติเอง ทำไมต้องอ้างอิงราคาสิงคโปร์ มีคนอธิบายบ้างแต่ก็ไม่เคยให้ความเห็นที่จะทำให้เป็นประโยชน์ของชาติได้ เรื่องการแปรองค์กรพลังงานของรัฐให้เป็นสมบัติเอกชนแบ่งปันกันเป็นโคตรมหาเศรษฐี เงินเดือนเบี้ยเลี้ยงเป็นล้านๆ ก็ทำเป็นแค่เรื่องซุบซิบ วงโคจรดาวเทียมของชาติที่เคยขายไปก็ไม่ปะติดปะต่อเรื่องราว ฯลฯ นานาสารพัดเรื่องทำนองนี้ แม้แต่ตัวแทนในรัฐสภาก็ไม่เคยหือไม่เคยอือ ราวกับจำยอมให้คนได้เปรียบได้เปรียบต่อไป คนเสียเปรียบเป็นมดปลวกก็ตายไปเถอะ
คนไทย สังคมไทย ประหลาดแท้จริงๆ นี่แค่เรื่องนี้เรื่องเดียวเท่านั้น ยังมีเรื่องอีกเท่าไหร่อยู่ใต้พรม ไม่เคยมีใครคิดเลิกขึ้นมาปัดกวาด ทำความสะอาด