‘คริส-ผาสุก’ ผู้เขียน ปวศ.ไทยร่วมสมัย ชี้ แบบเรียนไทยไม่เห็นคนธรรมดา

เมื่อวันที่ 6 กันยายน ที่อาคารจามจุรีสแควร์ สำนักพิมพ์มติชน ร่วมกับ จัตุรัสจามจุรีบุ๊คแฟร์ ครั้งที่ 11 จัดเสวนาเรื่อง ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย “The History of Thailand” โดย ศ.ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร นักเศรษฐศาสตร์การเมือง และ อ.คริส เบเคอร์ นักประวัติศาสตร์ ผู้เขียนหนังสือ ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย ฉบับสำนักพิมพ์มติชน ดำเนินรายการโดย ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์

อ.คริสกล่าวว่า สำหรับคนที่อ่านประวัติศาสตร์ทั่วไปตามโรงเรียน หรือมหาวิทยาลัย ไม่มีสิ่งที่เกี่ยวกับชีวิตประจำวันของคนทั่วไป แต่เราพยายามจะทำให้มีอะไรแบบนี้อยู่ในประวัติศาสตร์ด้วย จุดตั้งต้นของหนังสือเริ่มจากการเรียนประวัติศาสตร์ที่ประเทศอังกฤษ และอีกส่วนก็มาจากการเมืองด้วย เพราะตอนมาอยู่ประเทศไทย เมื่อ 40 ปีที่แล้ว ช่วงหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 4 ปี เห็นว่าอำนาจกระจุกตัวกับคนไม่กี่คน ตอนนั้นมีความสนใจเรื่องนี้ แต่ค่อนข้างจะต้องเงียบในสมัยนั้น พอมาสมัย พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ จึงเริ่มเปิดกว้างมากขึ้นเล็กน้อย

“ในการพัฒนาแนวคิดเพื่อเขียนหนังสือ ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย ได้อิทธิจากหนังสือของ อี.พี. ทอมป์สัน เพราะเขาเขียนอะไรเกี่ยวกับสังคมของอังกฤษ ในช่วงศตวรรษที่ 17-18 หลักฐานที่เขาใช้ส่วนมากเอามาจากวรรณกรรม จากนักกวีในสมัยนั้นมาเขียนให้คนอ่านเข้าใจถึงความคิดของคน คิดอย่างไรเกี่ยวกับตนเอง เกี่ยวกับรัฐ ชนชั้น และทุกสิ่งทุกอย่างในสมัยนั้น เราทำแบบนี้ไม่ได้ เพราะหลักฐานไม่แรงพอ จึงใช้วิธีคิดนี้ คือใช้หลักฐานที่มาจากวรรณกรรม และวัฒนธรรมรวมทั้งหลักฐานอย่างอื่นด้วย ประวัติศาสตร์ที่อื่นในโลก การใช้หลักฐานจากวรรณกรรมคือสิ่งที่ทำกันมานานแล้ว แต่ที่นี่เพราะค่อนข้างใหม่ จึงเป็นโอกาส ที่จริงไอเดียมากจากการอ่านประวัติศาสตร์และพงศาวดารด้วย เพราะมีเรื่องเกี่ยวกับวัง สงคราม การติดต่อต่างประเทศ และการส่งทูต ไม่มีอะไรที่เกี่ยวกับสังคม คนธรรมดา การเกษตร หรือเศรษฐกิจ เป็นเรื่องการเมืองอย่างเดียว วัฒนธรรมการเขียนประวัติศาสตร์ของไทยมาจากแหล่งนั้น แต่ตอนนี้เปลี่ยนไปแล้ว”

อ.คริส เบเคอร์

อ.คริสเปิดเผยว่า ก่อนที่จะทำเล่มนี้ ตนเคยทำงานธุรกิจมาก่อน และตกงานช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง จึงมีเวลาอ่านหนังสือภาษาไทยที่อยากอ่าน “ชอบงานของ อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ เช่น การเมืองไทย สมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี อ.นิธิสำคัญมาก เราเอาความคิดของอาจารย์มาขยาย อ.นิธิบอกว่า ชาวบ้านต้องมีพื้นที่ในประวัติศาสตร์ไทยด้วย เรามีประวัติศาสตร์ทางการ ที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์ และโรงเรียน ซึ่งเปลี่ยนยาก เหมือนที่ อ.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ พยายามจะสอนในหลาย 10 ปี ให้ปรับเปลี่ยนวิธีสอนประวัติศาสตร์ในโรงเรียน แต่ก็ยังไม่สำเร็จ คิดว่าอยู่ที่กระทรวง เพราะกระทรวงไม่เคยเปลี่ยน” อ.คริสกล่าว

Advertisement

ด้าน ศ.ดร.ผาสุกกล่าวว่า ประวัติศาสตร์ไทยทั่วไปมักไม่พูดถึงคนธรรมดา หรือกลุ่มคนอื่นๆ ที่นอกเหนือจาก พระราชวงศ์ กลุ่มผู้ปกครอง หรือเหตุการณ์ แต่หนังสือของเราอยากจะให้คนอ่านได้เห็นภาพของคนธรรมดา ภาพของสังคมเศรษฐกิจของคนทั่วไป อ.คริส เป็นคนที่มีไอเดียสร้างสรรค์ในแง่การใช้แหล่งข้อมูล เพราะในหนังสือประวัติศาสตร์ ภาพของสังคมและเศรษฐกิจไทยไม่ค่อยมีความแตกต่างกันมากนัก ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะการใช้แหล่งที่มาของข้อมูลที่จำกัด แต่ อ.คริสต์มีแนวคิดที่สร้างสรรค์มาก เวลาไปวัด อ.คริส จะมองเห็นหลักฐานต่างๆเกี่ยวกับคนธรรมดาอยู่ในวัดเต็มไปหมด โดยเฉพาะจิตกรรมฝาผนัง และเราได้แปลวรรณกรรมไทยหลายเล่ม เช่น ขุนช้างขุนแผน อ.คริสเป็นคนที่จะเจออะไรมากมายในสิ่งที่อ่าน เราต้องคอยตอบคำถาม อ.คริส ซึ่งทำให้ได้คิดไปด้วย เราได้แหล่งข้อมูลจากวรรณกรรม จิตรกรรมฝาผนัง มีแหล่งข้อมูลใหม่ๆ จากที่ต่างประเทศแปล เช่น จากจีน เปอร์เซีย ประเทศแถบอาหรับ หรือ ดัชต์ เรามีเพื่อนๆนักวิชาการทางสังคมเศรษฐกิจอยู่ทั่วโลก มีการเสวนากันตลอดเวลากับแหล่งข้อมูลต่างๆ

ศ.ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร

ศ.ดร.ผาสุกเปิดเผยว่า เคยมีความฝันจะเขียนหนังสือเกี่ยวกับประเทศไทยให้คนในหมู่บ้านเป็นตัวละครโลดเล่นในหนังสือเล่มนั้น แต่ก็ไม่มีโอกาสทำ จนกระทั่งมาเจอ อ.คริส ซึ่งคิดในแนวทางเดียวกัน อ.คริสขยายแนวคิดของเราไปอีกเพราะมีมุมมองด้านประวัติศาสตร์ แต่เราเรียนเศรษฐศาสตร์ จึงเอามาผสมผสานกัน

“สังคมไทยประกอบด้วยหลายภาคส่วน หนังสือประวัติศาสตร์ทั่วไปเราไม่เห็นตัวตนของเราอยู่ในนั้น ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญเพราะเป็นทุนทางวัฒนธรรม เป็นตัวตน และรากฐาน เวลาอ่านงานของจีนจะพบว่า ประวัติศาสตร์จากวรรณกรรมของเขามีความลึกซึ้งอย่างมาก เราควรมีส่วนประกอบอื่นๆให้คนที่อ่าน การที่เราอ่านงานประเทศอื่นทำให้ได้เห็นมุมมองใหม่ และได้ไอเดียจากการฟังเอกสารจีนที่แสดงความคิดของเขาเกี่ยวกับเมืองไทยในอดีต เขาพูดเรื่องบุกเบิก ซึ่งน่าตื่นเต้น เราจึงไปอ่าน ขยายความ และวิเคราะห์ต่อ”

Advertisement

“สังคมก็มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยๆ ความจริงเราก็คืบหน้ามาเยอะ แต่เป็นแบบค่อยเป็นไป เรื่องที่ควรทำ คือ ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่ลงลึก เพราะยังมีคนทำน้อย เด็นรุ่นใหม่อาจจะไปพูดคุยเก็บข้อมูล ศึกษาของเก่าโบราณในพื้นที่ อีกกระบวนการ คือการสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรม ของสังคมและชุมชน ต้องมีการเก็บงำเอาไว้ เนื่องจากเราอยู่ในสังคมที่สภาพอากาศไม่เอื้อทำให้สูญหายไปมาก พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น เป็นอีกเรื่องที่ควรคิด” ศ.ดร.ผาสุกกล่าว

บรรยากาศการเสวนา “ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย The History of Thailand” ที่โถงหน้าลิฟต์ชั้น G อาคารจามจุรีสแควร์
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image