อ.โบราณคดีฝากถามว่าที่ผู้ว่าฯ ปม ‘จัดการอดีตกรุงเทพ’ นักวิชาการชี้เป้าโจทย์ใหญ่กว่าแก้ผังเมือง

จากซ้าย เอกภัทร์ เชิดธรรมธร, อนรรฆ พิทักษ์ธานิน, ประภัสสร์ ชูวิเชียร

อ.โบราณคดีฝากถามว่าที่ผู้ว่าฯ ปม ‘จัดการอดีตกรุงเทพ’ นักวิชาการชี้เป้าโจทย์ใหญ่กว่าแก้ผังเมือง

เมื่อวันที่ 30 เมษายน ที่มิตรทาวน์ฮอลล์ ชั้น 5 ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ ในงาน SUMMER BOOK FEST 2022 เทศกาลหนังสือฤดูร้อน ครั้งที่ 2 ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศที่บูธมติชน E3 ในวันที่ 2 ของเทศกาล มีผู้เดินทางมาเลือกซื้อหนังสืออย่างคับคั่งตั้งแต่เปิดบูธในเวลาราว 10.00 น. เนื่องจากตรงกับวันหยุดสุดสัปดาห์ ทั้งวัยรุ่น คนรุ่นใหม่ รวมถึงกลุ่มที่เดินทางมาเป็นครอบครัว

ต่อมา เมื่อเวลา 15.00 น. ที่เวทีกลาง ‘สำนักพิมพ์มติชน’ จัดเสวนา ‘เมือง (น่า) อยู่ได้- เมือง(ใคร) อยู่ดี’ โดยมี รศ.ดร. ประภัสสร์ ชูวิเชียร อาจารย์คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร และ นายอนรรฆ พิทักษ์ธานิน นักวิชาการสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินรายการโดย นายเอกภัทร์ เชิดธรรมธร

รศ.ดร. ประภัสสร์ กล่าวว่า บางกอกหรือกรุงเทพฯ ในปัจจุบัน เกิดขึ้นโดยมีพัฒนาการจากชุมชนหมู่บ้านเล็กๆ ริมน้ำ ต่อมา ในรัชกาลสมเด็จพระไชยราชาธิราช โปรดให้ขุดคลองลัดบางกอกบริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จนถึงปากคลองตลาด ซึ่งทำให้แม่น้ำมีขนาดขยายกว้างขึ้น และกลายเป็นจุดยุทธศาสตร์ซึ่งทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ จนเกิดเมืองธนบุรี-บางกอก และกรุงเทพฯ จนถึงปัจจุบันซึ่งมีต้นทุนมรดกทางวัฒนธรรมมากมาย แต่ถูกนำมาใช้ประโยชน์น้อย นอกจากนี้ หน่วยงานราชการยังมองคูคลองเป็นแค่ที่ระบายน้ำ

ประภัสสร์ ชูวิเชียร

“กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีต้นทุนคือมรดกทางวัฒนธรรมเยอะมาก แต่ถูกนำมาใช้ในฐานะที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานน้อยมาก เช่น ศาสนสถานต่างๆ ที่สามารถพัฒนาให้เป็น public space (พื้นที่สาธารณะ) ที่กรุงเทพขาดแคลนได้ นอกจากนี้ อีกสิ่งหนึ่งที่กรุงเทพฯสามารถนำมาพัฒนาได้ คือคูคลอง แต่ทุกวันนี้เราใช้ประโยชน์จากมันต่ำมากๆ คนกรุงเทพฯทุกวันนี้ รวมถึงหน่วยงานราชการมองว่ามันเป็นแค่แหล่งระบายน้ำ มองเป็นพื้นที่ในแง่ลบ ไม่ได้มองว่าในอดีตมันใช้ทำอะไรได้ คูคลองบางส่วนใช้ในการคมนาคมได้ จะเล็กหรือจะใหญ่ถ้าพัฒนาให้ดี ก็ใช้ทดแทนในการเดินทางได้ ทำไมเราถึงยังมีเรือด่วนเจ้าพระยา ทำไมยังมีเรือคลองแสนแสบ เพราะมันช่วยในการลดทอนระยะเวลา และแชร์พื้นที่บนถนนที่เราไปพัฒนาเป็นจำนวนมากให้เบาบางลงได้ สิ่งที่จะได้ตามมาคือสิ่งแวดล้อมของกรุงเทพฯ จะดีขึ้น” รศ.ดร.ประภัสสร์กล่าว

Advertisement

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รศ.ดร.ประภัสสร์ ยังฝากคำถามถึงผู้สมัครชิงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครว่า ‘จะจัดการอดีตของกรุงเทพอย่างไร ?’

นายอนรรฆกล่าวว่า ชุมชนในอดีตมีความเป็นเครือญาติกัน มีการทำงานที่เชื่อมโยงกัน แต่ความเป็นชุมชนในปัจจุบันคือการเอาป้ายไปตั้งว่าเป็นชุมชนเท่านั้น ฉะนั้นเวลาพูดว่ากรุงเทพฯ มีความเป็นชุมชน ตนไม่มั่นใจว่ายังเป็นแบบนั้นอยู่หรือไม่ ดังนั้น ในการออกแบบเมืองจึงต้องมีวิธีคิดใหม่

Advertisement

“เราจะทำให้คนเหล่านั้นรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ได้อย่างไร เมืองจะดูแลคนเหล่านี้อย่างไร ให้มีส่วนในการพัฒนาเมือง ต้องทำให้เขารู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่ง เมืองจะเดินหน้าไปได้ ต้องมีส่วนร่วมของผู้คน เป้าหมายหลักของการพัฒนาเมืองในตอนนี้ โจทย์ไม่ใช่เรื่องของการแก้ผังเมืองอีกแล้ว ผังเมืองเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น มันยังมีเรื่องต่างๆ มากกว่านั้น เช่น ผู้คนในเมืองหลายๆ เมืองบนโลก ผังเมืองก็ไม่ได้ดี แต่เขาบริหารจัดการเมืองให้คนมีความสุข เป็นอิสระ เป็นส่วนหนึ่งของเมือง นี่คือโจทย์หลักที่สำคัญมากกว่าการแก้ผังเมือง” นายอนรรฆกล่าว

นายอนรรฆกล่าวต่อไปว่า เมื่อพูดถึงพื้นที่สาธารณะ คนมักนึกถึงสวนสาธารณ มีงานวิจัยกล่าวว่า คนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงพื้นที่สาธารณะได้ หลักๆ เป็นเพราะ 1.คนกรุงเทพส่วนใหญ่หาเช้ากินค่ำ ไม่มีเวลาจะไปสวน แต่เขาต้องการที่นั่งพักกินข้าว พักผ่อนระหว่างวัน ซึ่งตนเห็นด้วยกับสิ่งที่ รศ.ดร.ประภัสสร์บอกว่าพื้นที่สาธารณะต้องมีมากกว่าสิ่งที่เรียกว่าสวนสาธารณะ และประเด็นที่ 2. ซึ่งสำคัญมาก คือ แนวทางของกรุงเทพฯที่ผ่านมา เน้นการพัฒนาสวนสาธารณะขนาดใหญ่ใจกลางเมือง ซึ่งยิ่งทำให้คนเข้าไม่ถึง

“ทิศทางในอนาคต ควรมีการพัฒนาพื้นที่สาธารณะให้แทรกซึมอยู่ในทุกพื้นที่ เพื่อให้คนสามารถเข้าถึงได้ นี่เป็นโจทย์ใหญ่ของการพัฒนาในอนาคต ว่าเราอยากให้เมืองพัฒนาไปในทางไหน” นายอนรรฆกล่าว

ทั้งนี้ ในเสวนาดังกล่าว มีการแนะนำหนังสือที่เกี่ยวข้องกับประเด็นดังกล่าว ได้แก่ 1. ก่อร่างเป็นบางกอก ผลงาน Edward Van Roy แปลโดย ยุกติ มุกดาวิจิตร 2. Happy City ผลงาน Charles Montgomery
แปลโดย พินดา พิสิฐบุตร 3. อยุธยาในย่านกรุงเทพ โดย ประภัสสร์ ชูวิเชียร 4. Livable Japan ใส่ใจไว้ในเมือง โดย ปริพนธ์ นำพบสันติ

อนรรฆ พิทักษ์ธานิน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสุธรรม แสงประทุม อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ร่วมรับฟังเสวนาด้วย โดยกล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า ตนมางานครั้งนี้เพื่อหาวัตถุดิบในการเลือกผู้ว่าราชการกทม. กิจกรรมงานเสวนาในวันนี้มีประโยชน์มาก ช่วยให้เข้าใจในพัฒนาการของกรุงเทพมหานครมากขึ้น ด้วยวิทยากรซึ่งเป็นผู้ศึกษาโครงสร้างของกทม. ทั้งเรื่องวัฒนธรรมและชุมชน

ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถเลือกซื้อหนังสือได้ที่ ‘บูธ มติชน E3’ ภายในงาน SUMMER BOOK FEST 2022 เทศกาลหนังสือฤดูร้อน ครั้งที่ 2 มิตรทาวน์ฮอลล์ ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ ตั้งแต่เวลา 10.00-21.00 น. วันนี้ ถึง 8 พฤษภาคมนี้

จากซ้าย อนรรฆ พิทักษ์ธานิน, ประภัสสร์ ชูวิเชียร, เอกภัทร์ เชิดธรรมธร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image