ณัฐพล ชี้ชัด ‘หมดความหวัง’ คือชนวนเกิด 2475 ยกเคสกบฎ ร.ศ.130 ตกม้าตายเพราะ ‘เสียลับ’

ณัฐพล ชี้ชัด ‘หมดความหวัง’ คือชนวนเกิด 2475 ยกเคสกบฎ ร.ศ.130 ตกม้าตายเพราะ ‘เสียลับ’

เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน ที่ห้องริมน้ำ คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ กรุงเทพฯ ในวาระครบรอบ 90 ปี อภิวัฒน์สยาม วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 สำนักพิมพ์มติชน ร่วมกับ มติชนสุดสัปดาห์ ศิลปวัฒนธรรม ศูนย์ข้อมูลมติชน และคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงาน “90 ปี 2475 อภิวัฒน์สยาม” เพื่อทบทวนการเดินทางของประวัติศาสตร์ราษฎรที่ยังคงส่งผลเชื่อมโยงถึงชีวิต และความหมายของผู้คน ตลอดจนสังคม การเมืองไทยในปัจจุบัน

บรรยากาศเวลา 13.50 น. มีวงเสวนา “(อ่าน) 90 ปีคณะราษฎร อดีต ปัจจุบัน อนาคต” พร้อมเปิดตัวหนังสือ 3 เล่มใหม่ของสำนักพิมพ์มติชน โดย 3 วิทยากร ได้แก่ นายนริศ จรัสจรรยาวงศ์ นักประวัติศาสตร์ผู้ค้นคว้าช่วงเวลา “เปลี่ยนผ่าน” จากหลักฐานใน “หนังสืองานศพ” และบรรณาธิการหนังสือ “ทหารเรือกบฏ แมนฮัตตัน” (ฉบับปรับปรุงใหม่), ผศ.ดร.ณัฐพล ใจจริง อาจารย์และนักประวัติศาสตร์การเมืองชื่อดัง ผู้เขียน “ราษฎรปฏิวัติ: ชีวิตและความฝันใฝ่ของคนรุ่นใหม่สมัยคณะราษฎร” และ ผศ.ดร.ชาติชาย มุกสง อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปฏิวัติที่ปลายลิ้น ปรับรสแต่งชาติ อาหารการกินในสังคมไทยหลัง 2475″ ดำเนินรายการโดย เอกภัทร์ เชิดธรรมธร ท่ามกลางเยาวชนคนรุ่นใหม่ ตลอดจนนักคิด นักเขียน และประชาชนทั่วไปที่สนใจประวัติศาสตร์การเมือง ร่วมฟังเสวนาคับคั่ง เต็มห้องริมน้ำ มธ.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภาพรวมเนื้อหาเสวนา วิทยากรต่างให้มุมมองการเดินทางกว่า 90 ปีของประวัติศาสตร์การอภิวัฒน์สยาม ตั้งแต่ก่อน(กาล)เปลี่ยนแปลงการปกครอง ราษฎรในเส้นทางการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งหลากหลายมิติในการเปลี่ยนแปลงจาก 2475 ที่ยังคงเชื่อมโยงส่งผลถึงปัจจุบัน และร่วมวาดหวังถึงการเมืองไทยในอนาคต

Advertisement

เมื่อพิธีกรถามว่า จริงหรือไม่ ที่การอภิวัฒน์สยาม เกิดจากคนแค่กลุ่มเดียวเท่านั้น บรรยากาศก่อนเกิดการอภิวัฒน์ ความคิดของผู้คนสมัยนั้นเป็นอย่างไร ?

ผศ.ดร.ณัฐพลกล่าวว่า การปฏิวัตินั้น เป็นปฏิบัติการที่เป็นความลับ รู้ไม่มาก รู้มากจะล้มเหลว ก่อนคิดทำ คนในเมือง ปัญญาชนส่วนใหญ่เริ่มรู้สึกเหมือนที่เรารู้สึกกับรัฐบาล คือ “หมดความหวัง” ว่าจะนำพาสยามรัฐไปอย่างไร ประชาชนไม่ได้ต่อต้าน ลงมือโดยคน 100 กว่าคน ไม่มีคนพูดถึงชนบท ที่ไม่มีใครอยากยุ่งกับรัฐ ชาวบ้านไม่อยากยุ่งกับนายอำเภอ เสนาบดี เพราะอยู่ใกล้ไปเราก็ร้อน ใกล้ไปเราก็หนาว อย่าไปยุ่งกับรัฐมาก จะดี ใกล้มากถูกใช้งาน เก็บภาษี อยู่ไกลเกินไปไม่ดี ไม่มีใครคุ้มครองเรา

คนในเมืองส่วนใหญ่ไม่ได้ต่อต้าน ส่วนคนในชนบทก็ยังไม่ได้สนใจเหมือนเดิม เพราะเขาไม่เข้าใจว่าระบอบใหม่เป็นอย่างไร จนกระทั่งรัฐบาลหลังการปฏิวัติเริ่มมีการตั้ง กรมโฆษณาการขึ้นแล้วให้ความรู้กับประชาชน คนส่วนใหญ่ก็เริ่มรู้สึกว่า ระบอบใหม่ เป็นระบอบที่ให้โอกาสเขา ความรู้สึกเหล่านี้เริ่มมีมากขึ้น

ช่วงที่ผมศึกษาหนังสือเล่มนี้ ไปศึกษานักเรียน ม.7-8 อายุประมาณ 17-20 คน สมัยก่อนเข้าโรงเรียนช้า ดังนั้นคนที่มีชีวิตช่วงหลัง 2745 ใหม่ๆ ก็เติบโตในระบอบเก่า ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และได้เห็นว่าระบอบใหม่ดี คนหนุ่มสาวสมัยนั้นไม่ได้ต่อต้าน แต่กลับชื่นชมเหตุการณ์นั้น

สรุป รู้สึกอย่างไรกับระบอบเก่า คนส่วนใหญ่ไม่อยากยุ่งกับอำนาจรัฐ ส่วนคนมีความรู้ก็ไม่ได้ต่อต้านอะไร มีหลายบันทึกบอกว่า ประชาชนไปฟัง (ข่าว) ต่างเม้าท์รัฐบาลในระบอบเก่าอย่างมาก รู้สึกเห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงครั้งนั้น เป็นปฏิบัติการฉับพลันโดยคน 100 กว่าคน ไม่สามารถให้คนรู้ทั้งหมดได้ เพราะถ้ารู้ทั้งหมดจะล้มเหลวเหมือนกบฏ ร.ศ.130 ที่สุดท้ายแผนการปฏิวัติแตก ถูกจับหมู่

“ประสบการณ์เหล่านี้ แกนนำของคณะ ร.ศ.130 ที่ชื่อว่า ร้อยตรีเนตร พูนวิวัฒน์ เคยเล่าความล้มเหลว ให้นายปรีดี พนมยงค์ ฟัง ซึ่งนายปรีดีก็รู้ถึงความล้มเหลว พูดง่ายๆ ‘เสียลับ’ คือรู้ไปหมดเลย การจัดตั้งคณะราษฎร จึงเป็นการจัดตั้งทางลับ กลุ่มเล็ก มีสมาชิก 5-6 คน หัวหน้ากลุ่ม 1 คน ไม่มีใครรู้จักสมาชิกทั้งหมด 100 กว่าคน อาจารย์ปรีดีเรียนรู้ จึงตั้งองค์กรแบบลับ ต่างคนต่างมีหน้าที่ในเช้าวันนั้น คนนี้ไปตัดสายโทรเลข คนนี้ไปจับกุมเจ้านาย คนนี้ไปทุบวิทยุสื่อสาร ต่างคนต่างมีหน้าที่ จนกระทั่งงานเสร็จแล้วมาเจอกันที่พระที่นั่งอนันตสมาคม คือ ลานพระบรมรูปทรงม้า ในเช้าวันนั้น

ผศ.ดร.ณัฐพลกล่าวทิ้งท้ายว่า หนังสือเล่มนี้ จะพาท่านย้อนกลับไปสำรวจความคิด หัวใจและบรรยากาศทางสังคม ของคนรุ่นปู่ ย่า ตา ทวดของเราว่าเขาคิด เห็น อ่าน อย่างไร และอะไรทำให้พวกเขาและคนในสมัยนั้น ร่วมกันพิทักษ์ระบอบประชาธิปไตย โดยมนุษย์ เพื่อมนุษย ์ทำให้เรากลับมาทบทวนความใฝ่ฝัน ในครั้งนี้และครั้งนี้ ว่าเราจะสามารถทำให้เป็นจริงได้หรือไม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image