ตู้หนังสือ : ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย เป็นตำราในโรงเรียนหรือยัง

ธรรมดาวิชาความรู้  ต้องปรับปรุงตลอดเวลาเพื่อเท่าทันความก้าวหน้า  เมืองไทยแพร่โรคต้มยำกุ้งไปทั่วโลก  จะยังเรียนตำราเศรษฐศาสตร์เล่มเก่าอยู่ได้อย่างไร  ยิ่งวิทยาศาสตร์ทุกสาขา  ยิ่งต้องปรับปรุงตำราให้ทันสมัย  เดือนต่อเดือน  ปีต่อปี  กฎหมายก็เช่นเดียวกัน  ต้องกำหนดเป็นรายวันรายเดือนให้เท่าทันความคิดคน  ทุกวันนี้  คนสมองใสใช้เทคโนโลยีหลอกลวงคนรู้ไม่เท่า  มือถือเครื่องเดียวโกงเงินคนไปไม่รู้เท่าไหร่  บรรดาข้าราชการกินเงินเดือนภาษีชาวบ้านจะนั่งๆนอนๆรอนักการเมืองขึ้นเงินเดือน  ไม่รู้สึกรู้สา  รีบแก้ไขกฎหมายให้ทันความคิดมิจฉาชีพไม่ได้  จะอยู่ในตำแหน่งทำไม

เรื่องวิชาการประวัติศาสตร์ก็เช่นเดียวกัน  มัวงมเรียนท่องจำอยู่กับตำราร้อยปีที่แล้ว  ก็พิศดารเกินไป  นักเรียนนักศึกษาไทยจะยังเรียนตำราคนไทยอพยพมาจากเทือกเขาอัลไตอยู่ก็ได้  แต่ต้องเรียน ประวัติศาสตร์ไทยฉบับสังเขป ของอาจารย์ เดวิด เค. วัยอาจ ด้วย

ยิ่งอาจารย์ ผาสุก พงษ์ไพจิตร กับ คริส เบเกอร์ ใช้เวลายาวนานร่วมกันผลิต ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย ออกมา  กรมวิชาการตำราทั้งหลายยิ่งต้องเร่งกระโจนเข้าหา  ระบุให้นักเรียนนักศึกษาร่ำเรียน  ทั้งนี้เพื่ออะไร  ก็เพื่อยกระดับสติปัญญาของบุคลากรบ้านเมืองเราเอง

หรือยังคิดอยู่แต่ว่า  คนโง่ปกครองง่าย  จน พ.ศ. นี้แล้ว  ยังมีใครยอมเป็นคนโง่อยู่อีกหรือ  นอกจากคนที่คิดว่าใช้กำลังบังคับให้คนอื่นโง่ได้ – ฮาาา

Advertisement

หนังสือเล่มนี้พิมพ์ครั้งที่ 8 แล้ว  ย่อมเป็นเหตุผลยืนยันว่าไม่มีใครยอมล้าหลังเรื่องวิชาความรู้  ให้คนมือไม่พายเอาเท้าราน้ำจูงจมูก  งานพิมพ์ 400 กว่าหน้า  แน่นหนักด้วยเนื้อหาชัดเจน  เห็นภาพกระจ่างของภูมิภาคอุษาคเนย์  ที่ดินแดนสุวรรณภูมิเป็นส่วนหนึ่ง  อ่านจบเดียวตาสว่างขึ้นกว่าเก่า  อ่านจบที่สองเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ กลุ่มชน และความเหมือนความแตกต่างได้กว้างขวางลึกซึ้งขึ้น  แทบจะรู้สึกได้ว่า  เพื่อนบ้านเของเราก็คือเราเอง  ความเป็นคนหาได้ผิดแผกกันด้วยภาษา ชาติพันธุ์ หรือวัฒนธรรม แต่อย่างใดไม่

ยิ่งหนังสือเล่มนี้แพร่หลายไปเท่าไหร่  ความแตกฉานในความเข้าใจระหว่างกันของมนุษย์  จะยิ่งช่วยให้ความเป็นเอกภาพในสังคม  สมานเข้ากันได้อย่างเป็นจริงยิ่งขึ้น

Advertisement

การเมืองวัฒนธรรมไทย ว่าด้วยความทรงจำ/วาทกรรม/อำนาจ โดย ประจักษ์ ก้องกีรติ ก็จะช่วยสร้างเส้นทางเจาะทะลุเข้าใน  ประวัติศาสตร์วัฒนธรรมการเมืองไทย  ด้วยมุมมองใหม่ๆ  ที่จะเห็นการต่อสู้ช่วงชิงประโยชน์ของแต่ละฝ่ายได้  อย่างเข้าใจแง่มุมต่างๆที่แต่ละฝ่ายยืนปักหลัก  ว่าพฤติกรรมผู้คนสั่งสมขึ้นอย่างไรจนเป็นวัฒนธรรม  และวัฒนธรรมนั้นกลับไปหล่อหลอมคนให้นำพาการเมืองไทยมาถึงวันนี้ในรูปที่เห็นอยู่  ได้อย่างไร

ไม่เพียงข้อมูลที่ผู้เขียนค้นคว้ามารอบด้าน  ทั้งเอกสารพรรคคอมมิวนิสท์แห่งประเทศไทย  ยังหนังสือ วารสาร จุลสาร ของนิสิตนักศึกษา  ล้วนถูกนำมาเป็นหลักฐาน  แม้จนพระราชหัตถเลขาสละราชสมบัติในรัชกาลที่ 7 ที่ทุกฝ่ายนำมาอ้างเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย  ก็ถูกอ่านใหม่พร้อมเอกสารแวดล้อมประกอบการวิเคราะห์ก่อนสรุปว่า  เอกสารดังกล่าวผ่านการตัดต่อความทรงจำของฝ่ายอนุรักษ์นิยมมาอย่างแยบคายเพียงไร  จึงส่งผลให้ทั้งฝ่ายเสรีนิยมและฝ่ายซ้ายรับคำอธิบายมาใช้อย่างผิดฝาผิดตัวขนาดไหน

รีบหาอ่าน

หนังสือสำคัญอีกเล่ม เทมเปิลส์ แอนด์ เอเลแฟนท์ส (Temples and Elephants) ของ คาร์ล บ็อค นักธรรมชาติวิทยาชาวนอรเวย์  ซึ่งเข้ามาสำรวจภูมิศาสตร์สยามในปี 2424 และได้เขียนสภาพการเดินทางกับการสำรวจตีพิมพ์เป็นภาษาเยอรมันในปี 2426 ก่อนจะถ่ายทอดเป็นอังกฤษปี 2427 ได้รางวัลชมเชยจากสมาคมภูมิศาสตร์และวิทยาศาสตร์ประเทศต่างๆในยุโรปอย่างมาก  จนถือเป็นงานซึ่งใช้เป็นหลักฐานอ้างอิงได้

งานชิ้นนี้แปลโดย เสฐียร พันธรังษี กับ อัมพร ทีขะระ ในชื่อไทยว่า ท้องถิ่นสยามยุคพระพุทธเจ้าหลวง พิมพ์ใหม่ปกแข็งงดงาม  เป็นงานที่ตอบข้อสงสัยหลายประการ เช่น มหาอำนาจตะวันตกสนใจสยามในยุคนั้นอย่างไร  ยังปรากฏเรื่องราวในราชสำนักหลายลักษณะที่ไม่มีในหนังสือเล่มอื่นๆอีกด้วย  เช่น กระแสพระราชดำรัสภาษาอังกฤษในรัชกาลที่ 5 เป็นต้น

การเมือง การปกครอง การพระศาสนา การฉลองพระนครครบรอบ 100 ปี การประหารชีวิตโดยบั่นคอ  การปลงศพ สภาพท้องถิ่น  วิถีชีวิตในล้านนา  การล่องแก่งแม่ปิง  ล้วนเป็นเรื่องน่าสนใจใคร่รู้ทั้งสิ้น  ประกอบภาพลายเส้นงามวิจิตรซึ่งมีอายุกว่า 100 ปีเท่ากับงานเขียน  เต็มเล่ม

น่าหาอ่านอีกเช่นเดียวกัน

กลับมาอีกครั้งด้วยรูปเล่มปกแข็งงดงาม ราชบัลลังก์พม่า วาระสุดท้ายแห่งระบบกษัตริย์ งานคลาสสิคของอาจารย์ เสฐียร  พันธรังษี อันเป็นสารคดีที่จะทำให้ผู้เคยอ่าน พม่าเสียเมือง ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์  ปราโมช ได้ภาพเต็มที่ลึกลง  โดยจับความแต่สมัยพระเจ้ามินดงจนถึงวาระล่มสลายในน้ำมือกษัตริย์องค์ต่อมาคือพระเจ้าสีป่อ  เป็นสารคดีประวัติศาสตร์กรุ่นกลิ่นอายขรึมขลัง

ฉบับกระเป๋าหนา ๔๐๐ กว่าหน้าของ ปริญญา เทวานฤมิตรกุล กับการพายเรือ ๓๐๐ กิโลเมตรเพื่อแม่น้ำบ้านเกิด  จากต้นน้ำเขาใหญ่ถึงอ่าวไทย  โห, น่าตื่นเต้น  เรื่องและภาพประกอบตลอดเส้นทางถูกบันทึกไว้เรียบร้อย  รอนักอ่านและผู้สนใจเข้าไปร่วมเส้นทาง

น่าสนุก

อ่าน “ขับรถชนคนตายทำไมไม่ติดคุก  โทษสำหรับทุกความประมาทที่ไม่จำเป็น” ของ กล้า สมุทวณิช ใน  มติชน ออนไลน์ หรือยัง  สังคมต้องการความคิดที่สร้างกฎ กติกา ความยุติธรรมให้ทันพฤติกรรมของคน  จากคนร่วมสมัยที่่ร่วมรับผิดชอบสังคมเช่นผู้เขียนนามนี้

—————————————————–

บรรณาลักษณ์

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image