ตู้หนังสือ : การเมืองเบื้องหลังการศึกษาภาษาอังกฤษ เรื่องจริงที่เกิดขึ้น

ญี่ปุ่นเป็นดินแดนที่มีมนต์ขลังเข้มข้น และล้ำลึก เป็นที่รับรู้ของโลก ก็เมื่อถูกบังคับให้เปิดประเทศในศตวรรษที่ 19 ที่ทำให้ชาวตะวันตก

ตื่นตาและตื่นใจกับอัตลักษณ์ซึ่งผิดแผกไป ทั้งที่เรียบง่ายแต่ละเอียดลออ อ่อนโยนแต่แข็งแกร่ง สุภาพแต่ไม่ยอมงอ หล่อหลอมเป็นปรัชญา วิถีชีวิต และรูปวัฒนธรรมนานา

กระทั่งเกิดเป็นกระแส japonisme ซึ่งใช้อธิบายความหลงใหล คลั่งไคล้ ความเป็นญี่ปุ่นอย่างจริงจัง ไม่ว่าความคิด งานศิลปะ อาหาร วัฒนธรรมเก่าแก่ จนวัฒนธรรมป๊อปล้ำยุคลักษณะต่างๆ ในโลกร่วมสมัย

เอริน นิอิมิ ลองเฮิร์สท์ ผู้มีบิดาเป็นชาวอังกฤษและมารดาเป็นญี่ปุ่น ใช้ชีวิตวัยเยาว์ซึ่งยังไม่รู้ลืม ท่ามกลางญาติมิตรฝ่ายแม่ ก่อเป็นความผูกพันที่เป็นความทรงจำมาเนิ่นนาน เขียนหนังสือเล่มนี้

Advertisement

หนังสือรูปงาม ปกแข็ง เย็บกี่ไสกาว หนาริมๆ 300 หน้า เสนอประสบการณ์การใช้ชีวิตเรียบง่าย แต่ละเมียดละไมของผู้คน ให้พึงใจ ไม่ว่าระดับความสนใจหรือรักชอบญี่ปุ่นจะแตกต่างกันไปอย่างไรก็ตาม

ทำเรื่องง่ายๆ ในชีวิตประจำวันที่หลายคนอาจไม่เห็นความสำคัญ ให้เกิดคุณค่า การเดินเล่นในสวน ลดการใช้เครื่องมือสื่อสาร ทำข้าวกล่องอาหารกลางวัน ดัดแปลงบะหมี่สำเร็จรูปกินที่บ้าน จัดห้องรกๆ ซึ่งล้วนเป็นการเพาะระเบียบความคิด จิตใจ ร่างกาย และการสร้างนิสัย

ซึ่งชาวโลกทึ่งกับพฤติกรรมคนญี่ปุ่นในภาวะหายนะจากภัยธรรมชาติอย่างหนักหลายหนมาแล้ว

Advertisement

ตั้งแต่การเห็นงามในความไม่สมบูรณ์ การจัดดอกไม้ อาหาร ชา แช่น้ำพุร้อน และการคัดลายมือ

หนังสืออ่านเพลินที่ไม่น่าพลาด


…ทุกวันนี้ ภาษาอังกฤษเป็นที่ยอมรับกันถึงความจำเป็นในโลกสันนิวาส แต่เฉพาะคนไทย ภาษาไทย ดูจะไม่ตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะเมื่อภาษาอังกฤษเบียดแทรกแทนคำไทยเข้ามา ภาษาตัวเองที่ใช้อยู่ทุกวันจะหดหายไปอย่างไร มีผู้สนใจน้อยกว่าน้อย จนแม้คนรักภาษาเองอาจยังไม่คิด

กว่าสองทศวรรษก่อน ประมาณว่าภาษาไทยที่ใช้กันในสิ่งพิมพ์ต่อวัน มีไม่ถึง 2 พันคำ เพราะฉะนั้น ยี่สิบปีให้หลังคือวันนี้ ภาษาไทยที่ใช้กันอยู่ประจำวันจะเหลืออีกสักกี่คำ มีสถาบันไหนสนใจทำวิจัยให้รู้

คำไทยนับหมื่นคำ ใช้กันวันละไม่ถึง 2 พันคำ จากปี 2520 ผ่านมาอีกเกือบครึ่งศตวรรษ ในบรรดากระบวนการสื่อสารด้วยภาษาทั้งหลาย ยังเหลือให้ใช้กันอยู่ถึง 2 พันคำหรือไม่

และหากมีผู้สนใจทำวิจัยให้รู้ กรุณาค้นคว้า สำรวจ นับศัพท์ ที่ใช้ใน มหาชาติคำหลวง เพิ่มเติม เพียงฉบับเดียวให้เห็น ว่ามีจำนวนศัพท์ไทยอยู่กี่คำ ก็จะเป็นพระคุณต่อผู้ใฝ่รู้และห่วงใยภาษาอย่างยิ่ง

เพราะยืนยันให้เห็นว่า การเรียนการสอนภาษาไทยล้มเหลวอย่างสิ้นหวังเพียงไร การมีลำต้นแข็งแรง และสามารถแตกหน่อมาได้ยาวนาน แต่ไม่อาจต่อยอดได้ในปัจจุบัน แสดงถึงการประเมินคุณค่าภาษาตัวเอง ของคนไทยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ให้ปรากฏผลอย่างถนัดถนี่เพียงไหน

ภาษาอังกฤษมีความจำเป็นขึ้นตามกาละ เนื่องจากการสังโยคหรือสันนิวาสกันของโลก ไม่มีผู้ใดปฏิเสธ หรือไม่ยอมรับ แต่การยอมรับนั้น ย่อมผิดแผกไปตามกำลังความคิดและความรุ่มรวยของแต่ละภาษา

ตลอดถึงความรอบรู้และความชาญฉลาดของเจ้าของภาษาที่จะดัดแปลง สร้างคำศัพท์ใหม่ๆ ของตัวเอง

เช่นที่ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ทรงแปลงคำอังกฤษเป็นคำไทยสมัยใหม่ไว้มากมายให้ใช้

ซึ่งหาได้ยากแล้วในปัจจุบัน เพราะพอใจจะทับศัพท์กันสะดวกปากกว่า

หากสนใจและมานะจะเข้าใจเรื่องนี้ อาจเริ่มด้วย ภาษาเจ้า ภาษานาย การเมืองเบื้องหลังการศึกษา ภาษาอังกฤษ สมัยรัชกาลที่ 5 ของ อาวุธ ธีระเอก ซึ่งค้นคว้าให้เห็นว่า สมัยพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้รับผลกระทบจากการที่ชาติตะวันตกแผ่อิทธิพลมายังอุษาคเนย์ เช่นเดียวกับอีกหลายประเทศนั้น ทำให้ สยามจำเป็นต้องเริ่มนโยบายพัฒนาประเทศหลายด้าน โดยเฉพาะการเรียนการสอนภาษาอังกฤษที่รัฐจัดขึ้น

เพื่อยกระดับการศึกษาให้กับนักเรียน ที่เมื่อเรียนสำเร็จแล้ว สามารถนำไปใช้ติดต่อ สื่อสาร กับชาวตะวันตกที่กำลังเข้ามาให้เป็นประโยชน์กับการพัฒนาได้ราบรื่นขึ้น

แต่การณ์กลับเป็นว่า การศึกษาดังกล่าวให้โอกาสเพียงชนชั้นสูงระดับเจ้านาย หากราษฎรทั่วไปต้องการเรียนภาษาอังกฤษ จะต้องใช้ทุนทรัพย์จำนวนมาก เป้าหมายการพัฒนาบุคลากร จึงกลายเป็นช่องว่างอันเหลื่อมล้ำทางการศึกษา จนท้ายสุดแล้ว อังกฤษดูจะป็นภาษาเจ้าภาษานายเท่านั้น

อ่านเล่มนี้เห็นภาพแล้ว อาจเข้าใจทั้งแก่นที่มากับการเมืองของภาษาใหม่ และรายละเอียดที่จะเข้าใจ เส้นทางของกำลังอำนาจเจ้าอาณานิคมซึ่งเปิดศักราชการใช้อิทธิพลภาษาเป็นสากลอยู่จนเดี๋ยวนี้

และอาจตั้งข้อสังเกตต่างๆ ได้เอง ว่าโดยเหตุผลกลใด ที่ภาษาไทยไม่อาจเติบโตขึ้นในใจคนไทยได้


แดน บราวน์ พยายามผูกปัญหาสังคมกับความเร้นลับของโลกโบราณ ให้เป็นนิยายสะเทือนขวัญ และสนุกตื่นเต้นพร้อมกันไป หลังจากทำหมันคนเกือบทั้งโลกมาแล้ว ก็จับเรื่องวิทยาศาสตร์กับความเชื่อ ซึ่งส่วนมากมักอยู่ร่วมกันไม่ได้ มาเป็น ออริจิน ถามเรื่องกำเนิดมนุษย์ที่ไม่ได้มาจากพระเจ้ากันตรงๆ

ที่จริง นิยายแปลที่อ่านเอาเพลินไปได้เรื่องนี้ ดูเหมือนจะเร้าความคิดประเด็นหักล้างความเชื่อศาสนา แต่อีกแง่หนึ่ง ก็เป็นเรื่องทดสอบศรัทธาตัวเองของมนุษย์ได้ เพราะถึงวันนี้แล้ว ความเชื่อทางศาสนาของคน ไปไกลและกว้างลึกลงหลายแง่มุม หลายคนบอกว่าไม่มีศาสนา แต่แม้มนุษย์อวกาศก็ยังภาวนาถึงพระเจ้า

ดังนั้น อ่านสนุกเอาความคิด และแง่มุมการค้นคว้ามาเสนอของผู้เขียนถึงความเป็นไปได้ ก็คุ้มเวลาแล้ว

ในทางกลับกัน การคิดถึงเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ เช่นตัวอย่างนิยายเล่มนี้นั้น นักอ่านไทยอาจลองใคร่ครวญได้บ้างว่า การวิพากษ์วิจารณ์ความเชื่อของคนตะวันตกไปลิบลับถึงไหนแล้ว แต่พุทธศาสนาที่คนไทยยึดมั่น โดยไม่ทำความเข้าใจกับกาลามสูตรที่พระพุทธท่านให้ไว้ เป็นสัมมาทิฏฐิไหม

อรุรักษ์ นครินทร์ แปล


…อ่านนิยายอิงประวัติศาสตร์ไทย ซึ่งผลิตหลังศตวรรษที่ 20 มาแล้วหลายเล่ม คราวนี้อยากย้อนไปให้ รู้จักนิยายอิงประวัติศาสตร์เมื่อเจ็ดแปดสิบปีที่ผ่านมา เพื่อเข้าใจความคิดผู้เขียน กาละและจุดประสงค์ จนถึงความสามารถในการเล่าเรื่อง เร้าอารมณ์นักอ่าน ของนักเขียนลือนามผู้หนึ่ง หลวงวิจิตรวาทการ

ผู้เขียนจับชีวิตคนสามัญ ซึ่งพงศาวดารจารึกไว้ไม่กี่คำ ไม่กี่บรรทัด มารังสรรค์ให้เกิดภาพ เลือดเนื้อ ที่อุทิศแก่แผ่นดินยามศึกคราวเสียกรุง ตั้งแต่วีรกรรมขุนรองปลัดชูที่อ่าวหว้าขาว ถึงกลุ่มชาวบ้านระจัน

ผู้เขียนมีฝีมือเป็นเอกอยู่แล้ว เมื่อนิรมิตเรื่องใครฆ่าพระเจ้าตากสินจนคนเชื่อมานานเกือบศตวรรษ ดังนั้น กรุงแตก เล่มนี้ ย่อมกระตุ้นความรู้สึกได้ แต่ที่ชวนให้อ่านมิได้ต้องการให้หลงเกลียดชังฝ่ายอริ เป็นแต่ให้รับรสชาติฝีมือเขียน ในยามที่บ้านเมืองกำลังป้อนความคิดชาตินิยมให้ผู้คนอย่างขะมักเขม้น ว่าการเมืองกับงานวรรณกรรมนั้น เป็นเครื่องมือเครื่องใช้ได้ไม่แตกต่างกัน

มติชนสุดสัปดาห์ นิตยสารการเมืองประจำครอบครัว อ่านสนุกนั่งลุกสบาย ฉบับออสซี่ เกต การเมืองกล้วย-กล้วย แค่เกมจริงเกมลวงเรื่องชิงผู้ว่าฯ กทม. ก็ปวดเศียรเวียนเกล้าไปทั้งสัปดาห์แล้ว

แต่เรื่องทุกข์สุขของเรา เงินภาษีของเรา อย่าให้ใครมาล้อเล่นล่อลวงได้ ต้องติดตามเรื่องราวใกล้ชิดไว้


บรรณาลักษณ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image