‘อรุณ วัชระสวัสดิ์’ การ์ตูนนิสต์ดัง คว้า ‘รางวัลศรีบูรพา’ ปี 63 ชี้ ขรรค์ชัย-สุจิตต์-สุทธิชัย ทำให้มีวันนี้

เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม นายอรุณ วัชระสวัสดิ์ นักวาดการ์ตูนเสียดสีการเมือง เปิดเผยถึงการได้รับการคัดเลือกจากกองทุนศรีบูรพาเป็นผู้รับรางวัลศรีบูรพา ประจำปี 2563 ว่า เพิ่งทราบข่าวเมื่อไม่กี่วันมานี้ โดย คุณชมัยภร แสงกระจ่าง กรรมการและเลขานุการ ของ กองทุนศรีบูรพา ได้โทรศัพท์มาแจ้งข่าวก่อน จากนั้นได้ส่งประวัติส่วนตัวของตน ใบประกาศ และเอกสารอื่นๆ ที่จะใช้ในงาน มาให้ตรวจสอบความถูกต้องเรียบร้อย โดยยังไม่ทราบวันรับรางวัล เนื่องจากยังไม่ได้มีการประกาศอย่างเป็นทางการ แต่คาดว่าประมาณเดือนตุลาคมนี้

นายอรุณเผยว่า เมื่อทราบข่าวก็รู้สึกมึนงง เพราะ “ศรีบูรพา” เป็นรางวัลที่ดูยิ่งใหญ่ คนที่ได้รับรางวัลนี้ล้วนแล้วแต่เป็นคนสำคัญทั้งนั้น คนที่ได้รับรางวัลมาก่อนหน้านี้ก็เป็นคนที่ตนเคารพนับถือ รู้สึกดีใจที่ทางกองทุนศรีบูรพาเห็นความสำคัญของนักเขียนการ์ตูน

“ถ้าถามว่าเป็นนักหนังสือพิมพ์หรือไม่ ในใจคิดว่าเป็น เพียงแต่เราไม่ได้เขียนบทความเป็นตัวหนังสือเท่านั้น การแสดงความคิดเห็นเป็นรูปภาพก็น่าจะนับเป็นนักหนังสือพิมพ์ด้วย ส่วนตัวได้ร่วมก่อตั้งหนังสือพิมพ์มาหลายฉบับ ทำงานออฟฟิศ โรงพิมพ์ เคยประชุมข่าว เคยทำอะไรหลายอย่างในสมัยก่อน เริ่มแรกที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ ก็มา ประชาชาติรายวัน เนชั่น กรุงเทพธุรกิจ คมชัดลึก และหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ ได้เขียนให้ มติชนรายสัปดาห์ก่อน จากนั้นมาเขียนมติชนรายวัน และกรุงเทพธุรกิจ ตอนนี้เหลือเฉพาะมติชนรายวัน กับ มติชนสุดสัปดาห์ ผมจึงมองว่าไม่แตกต่างกับคนที่เขียนบทความเป็นตัวหนังสือเท่าไหร่ เพียงแต่เขียนเป็นรูปภาพเท่านั้นเอง” นายอรุณกล่าว

“ดีใจ ที่ได้รับรางวัล เพราะมีความเลื่อมใส คุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือ ศรีบูรพา อยู่มาก ท่านเป็นนักประชาธิปไตย เป็นนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ คนสำคัญของเมืองไทย แม้พักหลังจะทำงานอยู่ที่บ้าน และส่งงานไปทางอีเมล์ แต่สมัยก่อนจะส่งงานไปทางมอเตอร์ไซต์ ให้เขามารับ หลังจากที่ไม่ได้ทำงานในออฟฟิศและอยู่ที่บ้านมาหลายปี ก็ไม่ค่อยได้เจอใคร ดีใจที่ยังมีคนเห็นผลงานอยู่ ซึ่งช่วงหลังก็ได้เผยแพร่ในเฟซบุ๊กด้วย พยายามโพสต์ลงไปเพราะเจตนาจริงๆ อยากให้คนรุ่นหลังเรียนรู้วิธีคิดและเขียนการ์ตูน เนื่องจากไม่มีสถาบันอะไรที่สอนวาดการ์ตูนโดยเฉพาะ

Advertisement

สมัยก่อนผมต้องเที่ยวหาความรู้เอาเอง จึงอยากจะเผยแพร่ออกไปให้เด็กๆ คนรุ่นหลังที่อยากจะยึดอาชีพนี้ได้รู้ว่า การเขียนการ์ตูนเขาคิดกันอย่างไร รูปแบบเป็นอย่างไร วิธีการจับประเด็นทำอย่างไร เป็นการช่วยสังคมอย่างหนึ่งเท่าที่จะช่วยได้” นายอรุณเผย และว่า

ไม่เคยคาดหวังว่าจะได้รับรางวัลนี้ แค่ทำงานไปเรื่อยๆ ความจริงแล้วอยากจะเก็บตัวเงียบๆ มากกว่า ไม่ค่อยได้เจอกับใครเท่าไหร่ ขอคิดเอง ทำเอง และติดตามข่าวเหมือนชาวบ้านทั่วไป แต่ให้ใกล้ชิดหน่อย อ่านบทความ ความคิดเห็นของคนที่น่าเชื่อถือ และมาเขียนเป็นการ์ตูนในความคิดของเรา

Advertisement

“นักเขียนการ์ตูนก็เหมือนนักเขียนบทความ กล่าวคือ ผมจะเอาผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก เพราะนักการเมืองมาแล้วก็ไป รัฐบาลมาแล้วก็เปลี่ยน แล้วก็ไป แต่ประชาชนยังอยู่ ฉะนั้น อะไรที่กระทบกับประชาชน ผมจะขอเป็นปากเสียงให้ นี่เป็นสิ่งที่ยึดถือมาตลอดในการทำงาน”

นายอรุณกล่าวอีกว่า ความจริงแล้วการเขียนการ์ตูนมีกฎเกณฑ์ ไม่ใช่ว่าจะเขียนอย่างไรก็ได้ เหมือนการเขียนกลอนที่ต้องมีฉันทลักษณ์ มีสัมผัส การ์ตูนก็มีสูตร เช่นว่า เราอยากจะเขียนเรื่องนี้ แต่คิดเป็นรูปการ์ตูนไม่ออก ก็เขียนไม่ได้ สัมพันธ์ทั้ง 2 อย่าง คือ “ข่าว” และ “ความคิดของเรา” ว่าเรื่องนี้เรามีความคิดเห็นอย่างไร แล้วเขียนเป็นรูปการ์ตูนได้หรือไม่

“การ์ตูนมีสูตรของมัน หากสังเกตดูจะเห็นว่ามีองค์ประกอบมากมาย ไม่ใช่ออกมาเป็นดุ้นๆ ว่าใคร เกิดอะไรขึ้น ไม่ใช่เขียนดื้อๆ ส่งๆ ไป คงไม่ได้ ก็จะเป็นแค่รูปประกอบหนังสือเท่านั้น ไม่ได้เป็นการ์ตูน นี่คือส่วนที่ยาก ตัวหนังสือน้อยก็ยิ่งจะต้องทำงานหนัก เพราะผมไม่ถนัดในการเขียนหนังสือเป็นข้อความ พูดก็ไม่ค่อยถนัด แต่ผมอยากให้ดูงานของผมมากกว่า ว่าเป็นอย่างไร” นายอรุณกล่าว

นายอรุณกล่าวต่อว่า ในการเขียนการ์ตูน จะแบ่งออกเป็น 50 / 50 โดย 50 แรก คิดว่าตัวเองเป็นคนทำงานศิลปะ ในบางครั้งจะเห็นว่ารูปแบบการเขียนการ์ตูนของตนจะเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เพราะว่าศึกษาอยู่เรื่อยๆ จากใช้ปากกา ก็มาใช้คอมพิวเตอร์ ในด้านรูปแบบ จากที่ลงสีน้ำ ก็มาใช้คอมพิวเตอร์ลงสี และยังพัฒนาไปเรื่อยๆ เพราะว่าเขียนทุกวัน จะได้ไม่เบื่อ ต้องหาวิธีที่ทำให้ตัวเองมีความสุขกับการทำงาน เหมือนกับตัวเองได้ทำงานศิลปะไปด้วย กับอีก 50 เปอร์เซ็นต์ เขียนการ์ตูนเพื่อจะช่วยสังคม เพื่อเป็นปากเสียงให้กับประชาชน การแบ่ง 50 / 50 นี้ ทำให้สามารถที่จะเขียนการ์ตูนไปได้นานๆ เพราะไม่ได้มุ่งเฉพาะเรื่องของการเมืองเพียงอย่างเดียว แต่เหมือนกับทำงานศิลปะไปในตัว ทำให้มีความสุขกับงานตรงนี้

“ที่อยากจะขอบคุณมากที่สุด คือ คุณขรรค์ชัย บุนปาน คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ และ คุณสุทธิชัย หยุ่น เพราะว่าผมเขียนการ์ตูนได้ก็เพราะท่านที่ได้ให้ข้อคิด ตั้งแต่สมัยเขียนการ์ตูนแรกๆ เขียนการ์ตูนครั้งแรกให้คุณสุจิตต์ดู และคุณสุทธิชัยก็ได้เปิดโลกการ์ตูน เพราะคุณสุทธิชัยทำงานที่ ‘เดอะ เนชั่น’ เห็นการ์ตูนต่างประเทศเยอะ ก็เอาการ์ตูนต่างประเทศให้ผมดูว่าเป็นอย่างไร เขาพัฒนาไปถึงไหนแล้ว และคุณขรรค์ชัยก็ได้ให้โอกาสในการเขียนลงหนังสือพิมพ์ที่ท่านรับผิดชอบอยู่ตลอด คือ 3 ท่านที่อยากจะขอบคุณมากๆ ทำให้ผมได้เป็นนักเขียนการ์ตูนจนถึงทุกวันนี้”

“ผมจำไม่ได้แล้วว่าเริ่มเขียนการ์ตูนปีไหน แต่จำได้ว่า ตั้งแต่เรียนอยู่มหาวิทยาลัยศิลปากร เขียนตอนเรียนหนังสือ เขียนไปเขียนมาจนทำให้การเรียนเสียไป ไม่ค่อยอยากเรียน ตอนนั้นที่ ม.ศิลปากร ไม่ได้มีการสอนเขียนการ์ตูนด้วย ก็เลยคิดว่าออกมาทำงานดีกว่า ต้องขอบคุณ ม.ศิลปากรด้วย เพราะคนเขียนการ์ตูนที่จบจากมหาวิทยาลัยศิลปะจริงๆ มีน้อย ไม่กี่คน ส่วนมากจะไปเป็นอาร์ติสต์ เขียนรูปเสียมากกว่า มีไม่กี่คนที่ได้ฝึกการเขียนภาพมาก่อน แต่ด้วยความสนใจจะเป็นนักหนังสือพิมพ์ตั้งแต่แรก ก็เลยเขียนการ์ตูน เพราะตัวเองไม่ค่อยถนัดทางด้านภาษา เห็นคุณประยูร จรรยาวงษ์ เขียนการ์ตูนสมัยก่อน ก็เลยหัดเขียนจากผลงานของคุณประยูร สุดท้ายคุณสุทธิชัยมาดูแล้วบอกว่า ไม่ไหวมั้ง เขียนเหมือนกันเกินไป ควรจะหาแนวทางของตัวเอง ก็เอาผลงานของฝรั่งมาให้ดูว่าเขาเขียนอะไรกัน เขียนอย่างไร ก็เลยค้นพบแนวทางของตัวเอง

แต่ไม่หยุดแค่นี้ จะหาแนวทางไปเรื่อยๆ ผมไม่ค่อยยึดติดกับรูปแบบเท่าไหร่ว่าจะต้องเขียนอย่างนี้ๆ แต่เขียนตามที่อยากจะศึกษาค้นคว้าจะได้ไม่น่าเบื่อ ถ้าจะต้องเขียนการ์ตูนสไตล์เดิมๆ ซ้ำๆ ทุกวัน ทุกครั้งไป ก็คงจะไม่ไหว วิธีการเปลี่ยนไป แต่เป้าหมายเดิมคือพูดถึงประชาชน” นายอรุณกล่าว

ทั้งนี้ นายอรุณ วัชระสวัสดิ์ คือการ์ตูนนิสต์ คนที่ 2 ที่ได้รับ “รางวัลศรีบูรพา” โดยนักวาดการ์ตูนคนแรกที่ได้รางวัลนี้ คือ นายชัย ราชวัตร โดย นายอรุณยังกล่าวถึง นายชัย ด้วยว่า

“พี่เขาเป็นคนที่เก่งพอสมควร และคงจะเป็นกำลังใจให้รุ่นน้องที่เขียนการ์ตูนอยู่ทุกวันนี้ ในแง่ที่ว่า ยังมีสถาบันอะไรที่เห็นคุณค่าของคนเขียนการ์ตูน เพราะเป็นอะไรที่ตีความลำบาก จะเป็นนักเขียนก็ไม่ใช่ จะเป็นนักหนังสือพิมพ์ก็ไม่ใช่เชิง กลางๆ ไม่ค่อยจัดอยู่พวกไหนสักพวกหนึ่ง”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image