โลกดิจิทัลควบคู่ภาพจากจินตนาการ สืบสานวรรณกรรมไทย

เดินหน้าส่งเสริมให้ เยาวชนไทยรักการอ่านและภูมิใจในความงดงามทางภาษาในวรรณกรรมไทยมาตลอด สำหรับ โครงการจินตนาการสืบสาน วัฒนธรรมไทยกับอินทัช ปีที่ 13 ซึ่งปีนี้จัดขึ้นในหัวข้อ “บวร (บ้าน วัด โรงเรียน) ความสุข ความผูกพันของสังคมไทย” พร้อมถ่ายทอดแรงบันดาลใจที่ได้จากการอ่านนำเสนอเป็นภาพวาดจากจินตนาการ ที่ประกาศผลรางวัลชนะเลิศอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 8 ตุลาคมที่ผ่านมา ณ ห้องออดิทอเรียม ชั้น 5 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร


ทั้งยังเปิดโอกาสให้ผู้ที่เข้ารอบชิงชนะเลิศได้บอกเล่าถึงแรงบันดาลใจ ในการสร้างสรรค์ผลงาน อาทิ นางสาวมนทกานติ ฤทธิ์จำนงค์ จากโรงเรียนศรียาภัย ผู้ชนะการประกวดรางวัลชนะเลิศ ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย เจ้าของผลงาน “ความรู้สึกข้างใน” ที่ได้แรงบันดาลใจจากวรรณกรรมเรื่อง “เสียงเดือนในเสียงหวูดรถไฟ” กล่าวถึงเหตุผลที่เลือกวรรณกรรมเล่มนี้ว่าเคยอ่านหนังสือเล่มนี้มานานแล้วบวกกับเป็นคนชอบวาดรูปและ

“บ้านอยู่ใกล้รางรถไฟ”

“แล้วตัวเอกก็มีความใกล้เคียงกับชีวิตของตัวเองมาก เลยเข้าใจความรู้สึกของตัวละครอย่างดี”

Advertisement

ซึ่งในยุคดิจิทัลที่ทุกคนเล่นโซเชียลกันหมด ตนมองว่าโครงการนี้ทำให้เด็กไทยมองเห็นคุณค่าที่อยู่ในตัวอักษร

“ทำให้เราได้สัมผัสเสน่ห์ของการพลิกหน้ากระดาษและกลิ่นหอมของกระดาษ รางวัลนี้จะเป็นแรงผลักดันให้ดิฉันสร้างสรรค์ผลงานศิลปะชิ้นต่อ ๆ ไป”

นางสาวมนทกานติ ฤทธิจำนงค์

เช่นเดียวกับความรู้สึกของ นายผจงภักดิ์ เอาเจริญภักดิ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ (เพาะช่าง) ผู้ชนะการประกวดรางวัลชนะเลิศ ระดับอุดมศึกษา เจ้าของผลงาน “โฮปเฟล” ที่ได้แรงบันดาลใจจากวรรณกรรมเรื่อง “ไผ่แดง” กับการส่งผลงานเข้าประกวดบนเวทีนี้เป็นครั้งแรกในชีวิต

Advertisement

“ผมใช้เวลาในการสร้างสรรค์ผลงานอยู่สองสัปดาห์ครับ พอได้รับรางวัลแล้วรู้สึกดีใจมาก”

“รางวัลนี้เป็นเหมือนกำลังใจสำคัญให้เรารับรู้ว่า ศิลปะสามารถส่องทางกันและสื่อสารสิ่งที่อยู่ในความคิดของเราออกไปให้คนรับรู้ได้”

นายผจงภักดิ์ เอาเจริญภักดิ์

นอกจากนี้ก็ยังส่งต่อแรงบันดาลใจสู่คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอย่าง คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ เจ้าของนามปากกา “ทมยันตี” ที่พูดถึงความประทับใจในทุกครั้งที่ได้ชื่นชมผลงานและรับฟังคณะกรรมการท่านอื่น ที่ต่างก็เป็นศิลปินชั้นครูของเมืองไทย

“ดิฉันได้เรียนรู้การพิจารณางานศิลปะผ่านการฟังศิลปินชั้นครูทุกท่าน”

และเมื่อนำมาผสมผสานกับวิธีการพรีเซ็นต์นำเสนอผลงานของเยาวชน ก็ทำให้เข้าถึงแรงบันดาลใจและจิตวิญญาณของคนเขียนรูปมากขึ้น

“ถ้าศิลปินวาดรูปด้วยหัวใจจะสร้างสรรค์ผลงานที่สวยงามลึกซึ้งได้”

ดังนั้นตนจึงอยากให้เด็กๆ และเยาวชนฟังเสียงหัวใจของตัวเองและถ่ายทอดออกมาเป็นผลงานศิลปะหรืองานเขียนให้ดีที่สุด

“เพราะการประกวดช่วยให้เยาวชนรักการอ่านมากขึ้น ขณะเดียวกันเราก็จะมีภาพวาดที่มีคุณค่าไปประดับอยู่ในบ้านของคนไทยเช่นกัน”

ทมยันตี

ด้าน อาจารย์ปัญญา วิจินธนสาร ศิลปินแห่งชาติประจำปี พ.ศ.2557 สาขาทัศนศิลป์ (จิตกรรม) กล่าวชื่นชมผลงานของเยาวชนและยอมรับว่า ปีนี้หลายคนมีพัฒนาการที่โดดเด่นและถือเป็นอีกหนึ่งปีแห่งความสำเร็จของโครงการ

“ผมเห็นความก้าวหน้าของเด็กรุ่นใหม่ที่มีประสบการณ์ กล้าคิดกล้าแสดงออก รุ่นผมยังเน้นด้านทักษะและเทคนิค แต่ปัจจุบันน้อง ๆ สามารถถ่ายทอดความคิดและจินตนาการได้กว้างไกล”

ส่วนหนึ่งเพราะโลกดิจิทัลช่วยให้เด็ก ๆ สามารถค้นคว้าหาข้อมูลและชื่นชมผลงานศิลปะได้ทั่วโลก ทำให้พวกเขาค้นพบความชอบและสไตล์การทำงานของตัวเอง และช่วยให้ค้นหาอัตลักษณ์ของตัวเองได้เร็วขึ้นเช่นกัน

“ผมอยากให้น้อง ๆ ทุกคนเล็งเห็นความสำคัญของการอ่าน พอเราได้อ่านหนังสือหรือศึกษาหาข้อมูลมากขึ้นจะช่วยให้เรามีจินตนาการและสร้างสรรค์ผลงานได้ดี”

อาจารย์ปัญญา วิจินธนสาร

ไม่เพียงส่งเสริมให้เยาวชนไทยรักการอ่านและสร้างจินตนาการในรูปแบบของ “ศิลปะส่องทางกัน” หากแต่อีกหนึ่งความพิเศษของการประกวดในครั้งนี้คือ รายได้ทั้งหมดโดยไม่หักค่าใช้จ่ายสมทบทุนให้แก่มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา โดยมี ศาสตราจารย์เกียรติคุณ คุณหญิงไขศรี ศรีอรุณ กรรมการและเลขานุการมูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ขึ้นกล่าวขอบคุณบนเวทีและย้ำถึงความสำเร็จของโครงการนี้

ในฐานะผู้ให้โอกาสที่ยิ่งใหญ่แก่อนาคตของเยาวชนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ในการศึกษาอีกด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image