อารักษ์ คคะนาท  เขียนถึง ฐากูร บุนปาน ประดับไว้ในโลกา

อารักษ์ คคะนาท  เขียนถึง ฐากูร บุนปาน ประดับไว้ในโลกา

สำหรับพนักงานในเครือคนหนึ่งซึ่งทำงานมายาวนาน สามารถเพียงรับผิดชอบหน้าที่ประจำวันให้ลุล่วง แม้พยายามตามให้ทันความก้าวหน้าของยุคสมัย แต่ก็ไม่มีความรู้จำเพาะมากพอจะช่วยให้สายตายาวไกล หรือมีวิสัยทัศน์กว้างพอจะเห็นทิศทางหรือขั้นตอนการก้าวเดินสู่อนาคตขององค์กรยามที่เทคโนโลยีวิทยาการดิจิตัลมาถึง ซึ่งทำให้ธุรกิจหนังสือพิมพ์ในช่วงแรกๆแทบจะล้มหายตายจากไปหมด

การได้ฟังหรืออ่านบทสัมภาษณ์ของ “โต้ง” ซึ่งขณะนั้น ดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน)

กับ “วอยซ์ ออนไลน์” เมื่อสามปีก่อน ในวันที่ 8 มกราคม 2561 ตอบประเด็นสถานการณ์ลำบากที่หนังสือพิมพ์กระดาษประสบว่า ทำไมถึงไม่กลัวเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมและกระบวนการสื่อสารอย่างรุนแรงถึงรากถึงแก่นนั้น

จึงสร้างความหวังและให้กำลังใจคนร่วมองค์กรอย่างยิ่ง

Advertisement

โดยเฉพาะคนทำงานซึ่งได้แต่ห่วง แต่ไม่มีปัญญาเห็นทางออก “โต้ง” ตอบคำถามอย่างชัดเจนด้วยความรู้รอบในธุรกิจที่ตนเกี่ยวข้องในฐานะผู้บริหาร จากข้อเท็จจริงต่างๆที่เป็นข้อมูลสนับสนุนน่าเชื่อถือ ทั้งตัวอย่างรูปธรรมจาก ๐นิวยอร์ค ไทม์ส๐ ในสหรัฐกับ ๐โยมิอูริ ชิมบุน๐ ในญี่ปุ่น ที่ล้วนทรุดเซลงตอนต้น แต่กลับมาอย่างเข้มแข็งได้เมื่อสามารถปรับตัวเข้ากับวิถีดิจิตัล

ที่นอกเหนือจากการกล่าวถึงสามปีที่ค่อยๆก้าวผ่านภาวะขาดทุนขององค์กร สู่วันที่แนวโน้มเริ่มดีขึ้น ผู้คลุกคลีทำงานด้วยกันมากับ “โต้ง” จะเห็นความถี่ถ้วนซึ่งเป็น “นิสัย” อันเป็นความรอบคอบของ “มืออาชีพ” โดยไม่เคยลืมว่า “ตน” ก็เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาเช่นกัน

ไม่ว่า “วันนี้เรามีลูกค้า ๑๐ ล้านคน แต่รายได้ก็ยัง ๑๐๐ เท่าเดิม ซึ่งเราก็ไม่แน่ใจว่า นั่นเป็นปัญหาของตลาดที่อยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่าน หรือเป็นปัญหาความสามารถของเราเอง” หรือ “ความท้าทายของเราคือ ต้องจัดการกับตลาดให้ได้ และต้องจัดการกับตัวเราเองข้างในด้วย” ดังนั้น “สิ่งที่คุณต้องทำคือยกตัวเองขึ้นมา ที่ต้องถามคือ ทุกวันนี้ยกตัวเองอยู่หรือเปล่า หรือหยุดยืนกับที่ หรือถอยหลัง หรือกดตัวเองลงไป ทุกคนในบริษัทต้องถาม” เพราะ “ทุกวันนี้ เปิดคอมพิวเตอร์ปั๊บ คุณขึ้นไปอยู่บนเวทีโลกแล้ว ถ้าคุณเป็นเพียงพลเมืองชั้น ๒ ของเวทีโลก คุณก็ได้แค่นี้ กินน้ำใต้ศอก ได้เศษกระดูกที่เขาแบ่งให้ตลอด ทั้งชาติไม่มีทางเผยอไปเทียบเขาได้” และ “จริงๆแล้ว มันเป็นอรุโณทัยของวงการ แต่คุณต้องเก่งจริง ถ้าคุณกลัว แปลว่าคุณทำงานหนักไม่พอ” เพราะฉะนั้น “นักข่าวต้องเป็นมืออาชีพมากกว่าคนปกติที่เล่นเว็บ วันนี้ต้องถามตัวเองว่า เป็นมืออาชีพพอหรือยัง เพราะถ้าคุณไม่เป็นมืออาชีพ ถึงทำหนังสือพิมพ์ก็ทำได้แค่หนังสือพิมพ์ขยะ เป็นออนไลน์ก็เป็นเว็บขยะ” เนื่องจาก “สิ่งที่คนทั่วไปต้องการคือ trust (ความน่าเชื่อถือ) คุณต้องดำรงความน่าเชื่อถือไว้ให้ได้”

เพราะ “จริงๆ ชีวิตหรือธุรกิจเหมือนกัน เป้าหมายสุดยอดคือ การอยู่รอด แต่ในแง่องค์กรมันมีมากกว่าชีวิตปกติ โดยเฉพาะองค์กรสื่อ ต้องมีหลักยึด อยู่รอดเฉยๆก็ไม่ได้ แต่ต้องอยู่รอดแบบสง่าผ่าเผย ซึ่งไม่ได้แปลว่ากำไรมหาศาล แต่หมายความว่า คุณยังเป็นที่น่าเชื่อถือ”

ภายใต้การนำของความคิดลักษณะนี้ มีอะไรยังไม่น่าพอใจ มีอะไรยังไม่น่าภูมิใจ

“โต้ง” วันนั้น (2561) หรือวันนี้ (2564) ไม่ใช่ “โต้ง” ที่เดินเข้าสำนักงานมาเมื่อเกือบ ๔๐ ปีก่อน แต่เป็น “โต้ง” ที่คอยแสวงความรู้อย่างมานะฝึกกำลังฝีมือทบทวนเคล็ดวิชาคัมภีร์ต่างๆมิได้ว่างเว้นตลอดเวลา จนเป็นหนึ่งที่สามารถยืนหยัดในยุทธจักร

น่าเสียดาย ไม่มีงานเลี้ยงใดไม่เลิกรา คิดแบบเห็นแก่ตัวก็ต้องว่า ถ้าเพียงแต่ “โต้ง” แข็งแรงอีกสักหลายปี พนักงานขวัญอ่อนคนหนึ่งก็คงจะอบอุ่นใจไปหลายปีเช่นกัน แม้จะรู้ว่าองค์กรไม่เคยขาดแคลนยอดฝีมือก็ตาม

ถึงอย่างนั้น “โต้ง” ก็ให้มามากมายแล้ว

ปี 2527 สำนักงานหนังสือพิมพ์ ๐มติชน๐ บนตึกสามชั้น หน้าวัดราชบพิธ เพิ่มเด็กหนุ่มเข้ามาอีกคน หน้าตา “ใจดี” เพราะพร้อมจะยิ้มและหัวเราะได้ตลอดเวลา หน้าผากกว้าง ดวงตาหลังแว่นใสแวววาว ท่าทีสุภาพ เกรงอกเกรงใจ

แต่หากใครได้คุยด้วยสักพักเท่านั้นเอง ก็จะรู้ทันทีว่า เด็กหนุ่มที่เพิ่งเรียนจบรัฐศาสตร์ จุฬาฯ คนนี้ มิได้เป็นคนในอัตรา “เฉลี่ย” ทั่วๆไป แต่เป็นหนอนหนังสือระดับบรมคนหนึ่ง เรียกได้ด้วยศัพท์ที่ปัจจุบันนี้ไม่ใช้กันแล้วว่า  เป็นคน “คงแก่เรียน”

อ่านหนังสือทุกประเภท สนใจทุกเรื่องในสังคม ถกเถียงได้ทุกประเด็น ทั้งนุ่มนวล อ่อนน้อม มีอารมณ์ขัน บุคลิกอัชฌาศัยใดจะเหมาะกับงานหนังสือพิมพ์ยิ่งไปกว่านี้

๐ฐากูร บุนปาน๐

เพิ่งไม่กี่ปีก่อนหน้านั้นเอง ที่หนังสือรางวัลโนเบลของชาวเอเชีย(อินเดีย)คนแรก ปี 2456 โดยคุรุเทพ ๐รพินทรนาถ ฐากูร๐ ที่ชาวโลกอ่านกันมานานแล้วถึง 56 ปีชื่อ ๐คีตาญชลี๐ ได้แปลเป็นภาษาไทยโดยอาจารย์ ๐กรุณา-เรืองอุไร กุศลาศัย๐ ในปี 2512 ทำให้นักเรียนโบราณคดี วังท่าพระ ที่รู้จักหนังสือ ต้องรีบชวนกันไปหาซื้อที่แผงท่าพระจันทร์

หนังสือยังอยู่ในสมอง เหวอ,วันนี้มีคนชื่อ ๐ฐากูร๐ (รูปเคารพ, เทพที่นับถือ, ผู้น่าเลื่อมใส, ที่ควรบูชา ฯลฯ ) ขึ้นมาให้รู้จัก

เท่ระเบิด

แค่ปีสองปีแรกเท่านั้นเอง “โต้ง” ก็ให้การบ้าน “อา” (ที่โต้งเรียก) มาข้อหนึ่ง ซึ่งอายังต้องทำอยู่ถึงทุกวันนี้โดยที่ “โต้ง” ไม่รู้

เย็นวันหนึ่ง ระหว่างที่ร่วมกินข้าวปิ่นโตอยู่ด้วยกันเช่นทุกวันช่วงนั้น หลังคุยเรื่องข่าวกันมาสารพัด “โต้ง” ก็เอ่ยขึ้นว่า (สถาบันไหนหรือสำนักไหน “สัญญา” แปรไปจนจดจำไม่ได้เสียแล้ว รายงานว่า) หนังสือพิมพ์ไทยทุกวันนี้ใช้ภาษาไทยเพียงวันละไม่เกิน ๒,๐๐๐ คำ เท่านั้นเอง

ติดตรึงในความคิดมาตั้งแต่นั้น

ไม่ว่าจะอ่านหนังสืออะไร ฟังภาษาไทยในโทรทัศน์ จนมาถึงวันอ่านภาษาไทยในเว็บ ฟังภาษาไทยในคลิป ฯลฯ ตลอดถึงงานที่มักเขียนเกี่ยวกับการใช้ภาษาซึ่งทำอยู่ประจำ ก็จะอยู่บนพื้นฐานประโยคดังกล่าวเสมอ คำนี้หายไปหรือยัง ทำไมคำอังกฤษคำนี้ถึงใช้คำไทยไม่ได้ ดูจาก “คอมเมนท์” ที่ “โพสท์” กันใน “เว็บ” หรือ “เพจ” ต่างๆ น่าจะเหลือน้อยกว่า 2,000 คำแล้วไหม ฯลฯ

และแม้ขณะนี้ก็กำลังรวบรวมคำไทยที่หายไปด้วยการใช้คำอังกฤษแทนเอาง่ายๆ จากการบรรยายกีฬาถ่ายทอดสดให้เห็นกันชัดๆ ว่าถึงจะจำเป็นต้องเรียนรู้ภาษาอังกฤษเพื่อใช้ให้ได้อย่างสากล แต่ก็ไม่จำเป็นต้องทิ้งภาษาไทยไปเสียง่ายๆ โดยไม่ใส่ใจ ดังนั้น ไม่ต้องพยากรณ์ไกลไปถึง 10 ปีก็ได้ แค่ 3 ปี 5 ปีนี้ก็จะเห็นๆได้ว่า คำไทยต้องหายไปเพราะใช้คำอังกฤษแล้ว “เข้าใจง่ายกว่า” อีกไม่น้อย

ไม่ใช่มุขหรือเรื่องขำเลย ที่ใช้ภาษาอังกฤษแล้วเข้าใจง่ายกว่าใช้ภาษาไทย ทำไมถึงเป็นงั้น

นี่คือการบ้านที่ “อา” ยังทำอยู่

นี่คือ “อีกสิ่ง” ที่ “โต้ง” ให้มาเป็นจำเพาะนอกเหนือสิ่งอื่นๆ

การเป็นคนมีภูมิรู้ หรือไม่ใช่ผู้อยู่ในอัตรา “เฉลี่ย” ของ “โต้ง” ไม่ทำให้ผิดแปลกไปจากคนอื่นๆแต่อย่างใด ยังเฮฮาด้วยกันกับทุกคน นอนสำนักงานดูถ่ายทอดสดฟุตบอล พบกันในสนามตะกร้อ คุยเรื่องหนังละคร เรื่องของกิน เรื่องนิยายจีนกำลังภายใน ฯลฯ

ครั้งหนึ่ง เมื่อไม่นานปีมานี้ ขณะที่ “โต้ง” มีงานบริหารมากขึ้นแล้ว พบกันหน้าลิฟท์ ยังบอกว่าช่วงนี้แย่หน่อย ต้องอ่านต้นฉบับกำลังภายในก่อนจะพิมพ์ด้วย พร้อมกับหัวเราะฮ่าๆ เมื่อเห็นว่าอีกฝ่ายตาโตเมื่อรู้ว่ากำลังอ่านเรื่องอะไรก่อนคนอื่นๆ

ครั้งหนึ่ง ระหว่างนั่งรถตู้จากสนามบินต่างจังหวัดไปวัดเพื่อฌาปนกิจศพพ่อเพื่อนร่วมงาน คุยกันถึงหนังสือเกี่ยวกับพม่าของสำนักพิมพ์ พูดถึง “มังรายกะยอชวา” ที่เป็นทั้งตำแหน่งรัชทายาทหรืออุปราชอังวะ กับใช้เป็นชื่อกษัตริย์ แล้วเลยไปถึง “บาเยงนอง” ที่ไทยเรียกว่า “บุเรงนองกะยอดินนรธา” ซึ่ง “โต้ง” เอ่ยชื่อขึ้นมาโดยเพี้ยนตรง “กะยอดิน” ไปคำหนึ่ง ทำให้ต้อง “ฮึ” ขึ้นมาจ้องหน้า

“โต้ง” หัวเราะ บอกว่า ตอนคุยกับลูกเรื่องนี้ ต้องเรียกอย่างนี้ให้เขาสนใจ ซึ่งได้ผลเพราะลูกร้องถามว่า เขาชื่ออย่างนั้นจริงๆหรือพ่อ – ฮ่าฮ่า

ครั้งหนึ่ง คุยกันถึงหนังสือ ๐พุทธประวัติจากพระโอษฐ์๐ ซึ่งท่าน ๐พุทธทาสภิกขุ๐ ใช้เวลารวบรวมเนื้อหาจากพระไตรปิฎกร่วม ๓๐ ปี ว่าการบรรยายช่วงที่กำลังจะตรัสรู้ระหว่างบรรลุฌาณขึ้นไปแต่ละขั้น สนุกอย่างกับกำลังดูหนังแอคชั่นทีเดียว

หนังสือเกี่ยวกับพุทธศาสนาเป็นอีกประเภทที่ “โต้ง” อ่านจริงจัง สนใจจริงจัง ถกเถียงจริงจัง (โดยทั้งหลายทั้งปวง ไม่เคยขาดอารมณ์ขันอันเป็นนิสัย) ไม่ใช่อ่านแค่รู้ แต่อ่านเอาปฏิบัติด้วย ดังเห็นได้ชัดเจนว่า ช่วงท้ายของชีวิต “โต้ง” เมื่อยังเดินไหวก็ไปทำงาน และที่กลับจากโรงพยาบาลมาบ้านนั้น ประกอบด้วยสติมั่นคงเพียงใด

ดังนั้น เมื่อได้อ่านหนังสือเล่มหนึ่ง “พุทธทาสภิกขุ พุทธศาสนานิกายเถรวาท และการปฏิรูปเชิงนวสมัยนิยมในประเทศไทย” ของอาจารย์ ๐ปีเตอร์ เอ.แจ็คสัน๐ แห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย พิมพ์ปี 2556 ซึ่งนอกจากระบุการปรับโครงสร้างทางทฤษฎีของพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทสำคัญๆ 2 ประการโดยท่านพุทธทาสแล้ว ยังระบุว่า คำสำคัญต่างๆที่ชาวพุทธพูดถึงและนำมาใช้กันอยู่ปัจจุบัน เช่น อิทัปปัจจยตา, ปฏิจจสมุปบาท, อาณาปานสติ ฯลฯ ล้วนเป็นคำที่ท่านพุทธทาสสกัดออกเผยแพร่ (sell) แก่ชาวพุทธ

จึงหาให้เพื่อนร่วมงานหลายคนซึ่งชอบอ่าน โดยเฉพาะ “โต้ง” ที่บอกว่า กำลังหาเล่มนี้อยู่ทีเดียว

“โต้ง” พบพระไม่น้อยกว่าพบบรรดานักธุรกิจหรือนักการเมืองหรือข้าราชการต่างๆระดับหรือนักวิชาการ ฯลฯ อย่างน้อยรูปหนึ่งคือ ๐พระเทพปฏิภาณกวี๐ (บุญมา อาคมปุญโญ) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาส, ประธานองค์การเผยแผ่, เจ้าคณะ ๑ ซึ่งได้มีวาสนาต่อกันในต่างกรรมต่างวาระ ที่เมื่อได้กราบนมัสการท่านคราใด ท่านต้องเอ่ยถามสารทุกข์สุกดิบว่า “คุณฐากูรเป็นไงบ้าง” เสมอๆ

นี่เป็นเรื่องของ “โต้ง” เพียงส่วนเสี้ยวใน 37 ปี

“โต้ง” จากไปแล้ว “อา” ก็ได้แต่คิดถึง และตั้งใจทำการบ้านที่ “โต้ง” ให้ต่อไป.

อารักษ์ คคะนาท (17/1/64)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image