ส่องหนังสือ 5 เล่ม ที่อาจารย์เลือกเป็นของฝาก ‘เพนกวิน’

ส่องหนังสือ 5 เล่ม ที่อาจารย์เลือกเป็นของฝาก ‘เพนกวิน’

หลังจาก ผศ.ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชา อาจารย์สาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ออกมาเปิดเผยเมื่อวานนี้ (14 กุมภาพันธ์) ว่าวันนี้ (15 กุมภาพันธ์) ตน และคณะนักวิชาการ จะไปอ่านแถลงการณ์พร้อมรายชื่อนักวิชาการ ที่หน้าเรือนจำพิเศษ กรุงเทพฯ เพื่อขอให้มีการทบทวนให้ผู้ต้องหา 4 คน ประกอบด้วย นายพริษฐ์ ชิวารักษ์, นายอานนท์ นำภา, นายปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม และนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ได้ประกันตัว

ขณะเดียวกัน จะได้ฝากหนังสือจำนวนหนึ่งให้ นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน นักศึกษา คณะรัฐศาสตร์

ราว 10 โมงตรงของวันนี้ เหล่าคณาจารย์ซึ่งประกอบด้วย ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ คณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์, รศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร และ ผศ.ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เดินทางมาถึงน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ

ก่อนที่ ผศ.ดร.ประจักษ์ จะเป็นตัวแทนอ่านแถลงการณ์คณาจารย์ 255 รายชื่อ 31 สถาบัน ขอให้ศาลคืนสิทธิในการได้รับการประกันตัวระหว่างถูกดำเนินคดีแก่ผู้ถูกสั่งฟ้องจากการชุมนุม

Advertisement

อ่านข่าว : 255 อาจารย์ แถลงหน้าเรือนจำ เรียกร้องคืนสิทธิประกันตัว 4 แกนนำราษฎร (มีคลิป)
ศูนย์ทนายฯ-นักวิชาการ เยี่ยม 4 แกนนำราษฎร พรุ่งนี้ อมธ.รออ่านแถลงการณ์ให้กำลังใจเพื่อน หน้าเรือนจำ


สำหรับหนังสือที่นำมามอบให้นายพริษฐ์มีทั้งหมด 5 เล่ม คือ

Advertisement

1.ออกนอกขนบประวัติศาสตร์ไทย สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน

สำหรับนักเรียนประวัติศาสตร์ หนังสือเล่มนี้จะช่วยปูพื้นฐานความรู้ประวัติศาสตร์ในระดับมูลฐาน ให้ภาพรวมของกระแสความเคลื่อนไหวของวิทยาการประวัติศาสตร์ไทยที่พยายามออกนอกขนบ เสนอแนะทฤษฎีวิพากษ์ทั้ง post-national, postmodern, post-colonial history และทฤษฎีที่ให้มุมมองเชิงพื้นที่

รวมไปถึงตัวอย่างการปรับใช้ทฤษฎีต่างๆ เหล่านี้ในการวิเคราะห์วิพากษ์อย่างเป็นรูปธรรม

2.ความยุติธรรม สำนักพิมพ์ Openworlds

ไมเคิล แซนเดล ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สนุกกับการใช้ปรัชญาการเมืองหลากสำนักตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันเป็นแว่นขยาย ส่องประเด็นสาธารณะร่วมสมัยที่ผู้คนให้ความสนใจ เช่น การแต่งงานของคนรักเพศเดียวกัน การเกณฑ์ทหาร การโก่งราคาในภาวะฉุกเฉิน โบนัสมหาศาลของผู้บริหารธนาคาร การเก็บภาษีคนรวยมาช่วยคนจน การอุ้มบุญ การุณยฆาต และสิทธิส่วนบุคคลกับประโยชน์สาธารณะ

ผู้แปลโชคดีที่เคยนั่งเรียนวิชา ‘ความยุติธรรม’ กับอาจารย์ วิชานี้ได้รับความนิยมสูงสุดในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดติดต่อกันนานกว่าสองทศวรรษ มีนักศึกษาลงทะเบียนเรียนมากกว่าหนึ่งพันคนทุกภาคเรียน มากจนต้องไปเรียนกันในโรงละครแซนเดอร์ส ซึ่งจุคนได้มากที่สุดในมหาวิทยาลัย

อาจฟังดูเหลือเชื่อว่า ในชั้นเรียนซึ่งมีนักเรียนยัดทะนานนับพัน อาจารย์กลับสามารถถามคำถามและดำเนินบทสนทนาระหว่างนักเรียนได้อย่างมีชีวิตชีวาและท้าทายความคิด

หนังสือเล่มนี้เป็นการถ่ายทอดบทสนทนาและการถกเถียงในชั้นเรียน ราวกับยกวิชาในตำนานทั้งวิชามาอยู่บนหน้ากระดาษ

นอกจากผู้อ่านจะได้รับความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ความคิดและปรัชญาการเมืองในโลกตะวันตกแล้ว หนังสือเล่มนี้ยังเป็นตัวอย่างของปัญญาปฏิบัติ เป็นการใช้เหตุผลสาธารณะ เพื่อถกมิติทางศีลธรรมในประเด็นสาธารณะ เพื่อชีวิตและประโยชน์สาธารณะ

เป็นหนังสือที่ทุก ‘นัก’ ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง

3.จิบพม่าตามหาจอร์จ ออร์เวลล์ ประวัติศาสตร์ระหว่างบรรทัดในร้านน้ำชา สำนักพิมพ์มติชน

ย้อนสำรวจอาณานิคมพม่าผ่านสายตาของ “จอร์จ ออร์เวลล์” ทำความรู้จักรูปแบบสังคม วิถีชีวิต ดินฟ้าอากาศ ตลอดจนรอยประทับในต่างแดนที่เปลี่ยนชีวิตนายตำรวจหนุ่มผู้นี้ไปตลอดกาล ผ่านการเดินทางท่องเมียนมามาร่วมสมัยกับ “เอ็มม่า ลาร์คิน” นักเขียนชาวอเมริกัน ผู้คลุกคลีกับโลกตะวันออกมาแต่กำเนิด

ภารกิจตามรอยออร์เวลล์ผ่าน 5 หมุดหมายสำคัญจะพาคุณไปสำรวจแง่งามและความสามานย์ของประเทศอันเคยมลังเมลือง หากก็บอบช้ำด้วยบาดแผลเรื้อรังยากเยียวยาแผ่นดินที่ตัวอักษรแต่ก่อนเก่าของออร์เวลล์ยังคงสะท้อนสะเทือนใจคน

ที่ซึ่งอดีตและอนาคตบรรจบกันเป็นวังวนของอำนาจและการลุแก่อำนาจ

 


4.คดีความ สำนักพิมพ์สามัญชน

(อ้างอิงจากบันทึกผู้แปล ‘คดีความ’ พิมพ์ครั้งที่สอง (ปรับปรุงใหม่) ธันวาคม 2546 โดยสำนักพิมพ์สามัญชน)

ปริศนาทั้งหลายถูกตั้งขึ้นมาโดยมีคำตอบอยู่แล้ว ขึ้นอยู่กับผู้อ่านว่าจะไขปริศนานั้นออกหรือไม่และด้วยวิธีไหน ในเมื่อเป็นปริศนาที่ไม่ใช่โจทย์เลข หากแต่เป็นปริศนาที่ผูกพันกับปูมหลังของผู้แต่ง จึงจำเป็นจะต้องศึกษาชีวประวัติของผู้แต่งไปด้วย

ในระยะเดียวกันกับสมัยเอ็กเพรสชั่นนิสม์ คือก่อนและหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง มีนักเขียนชาวยิวในกรุงปรากคนหนึ่งเขียนงานประเภทร้อยแก้วที่ต่างไปจากนักประพันธ์คนอื่นๆ ตลอดเวลาที่เขายังมีชีวิตอยู่นั้น ไม่มีใครรู้จักผลงานของเขาเลยก็ว่าได้ ทว่าหลังจากที่เขาจากโลกนี้ไปประมาณ 60 ปี เขาก็ได้รับการยกย่องว่าเป็นนักประพันธ์คลาสสิกใหม่ ลักษณะงานเขียนของเขากล่าวได้ว่าเป็นการเปิดศักราชแนวการเขียนแบบใหม่ ซึ่งนักประพันธ์สมัยใหม่หลายต่อหลายคนต่างยอมรับโดยดุษณีว่าได้รับอิทธิพลมาจากแนวการเขียนของเขาไม่มากก็น้อย

ฟรันซ์ คาฟคา คือนามของนักประพันธ์ดังกล่าว

และ 5.เสรีภาพในการพูด : ความรู้ฉบับพกพา (Free Speech: A Very Short Introduction) สำนักพิมพ์ Openworlds

การแสดงความคิดเห็นค้านต่อผู้มีอำนาจทางการเมือง การหมิ่นศาสนาและสถาบันอันศักดิ์สิทธิ์ การปลุกระดมให้ใช้ความรุนแรง ประทุษวาจาที่มุ่งเหยียดหยามอัตลักษณ์คนบางกลุ่ม สื่อลามกอนาจาร และงานศิลป์แห่งการ ตัดแปะ สิ่งใดบ้างที่ควรได้รับการคุ้มครองภายใต้หลักการแห่ง เสรีภาพในการพูด และเรื่องใดบ้างที่ควรถูกห้าม…

…หนังสือเล่มนี้จะนำทางสู่การหาคำตอบว่าเสรีภาพในการแสดงออกมีความสำคัญอย่างไรต่อพัฒนาการของอารยธรรมมนุษย์ ตรงไหนคือเส้นแบ่งของเสรีภาพและคุณค่าที่ควรรักษาไว้ และอนาคตของเสรีภาพในการแสดงออกจะเป็นอย่างไรท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image