นักเขียน “ณัฐณรา” ฟ้อง ‘ผอ.กศน.-บรรณารักษ์’ ละเมิดลิขสิทธิ์อีบุ๊ก ‘ปล่อยไฟล์ดาวน์โหลดฟรี’

นักเขียน “ณัฐณรา” ฟ้อง ‘ผอ.กศน.-บรรณารักษ์’ ละเมิดลิขสิทธิ์อีบุ๊ก ‘ปล่อยไฟล์ดาวน์โหลดฟรี’

วันที่ 19 ส.ค. น.ส.ชลธิดา ยาโนยะ นักเขียนนามปากกา “ณัฐณรา” เปิดเผยกับมติชนออนไลน์ ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการทางกฎหมายกับบรรณารักษ์ประจำห้องสมุดประชาชนออนโลน์ และผู้อำนวยการศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอ(ผอ.กศน.อำเภอ) หรือผอ.กศน.จังหวัดแล้วแต่กรณี ที่ดูแลห้องสมุดประชาชนออนไลน์ เนื่องจากตรวจสอบพบว่าได้มีห้องสมุดประชาชนออนไลน์ไม่ต่ำกว่า 4 แห่งได้มีการละเมิดลิขสิทธิ์โดยนำอีบุ๊กนิยายของตนขึ้นเว็บไซต์ของห้องสมุดประชาชนออนไลน์เพื่อให้ประชาชนได้ดาวน์โหลดฟรีตลอดเรื่อง

“ปกติคือจะโดนละเมิดลิขสิทธิ์งานเขียนค่อนข้างบ่อย งานที่โดนละเมิดจะเป็นไฟล์งานนิยายในรูปแบบอีบุ๊ก โดนละเมิดนำไปแจกฟรี หรือปล่อยให้โหลดฟรี ที่โดนบ่อยเลยก็จะมีอยู่ 2-3 เรื่อง ตัวคนกระทำผิดจะเป็นเว็บเถื่อน เว็บโจร หรือไม่ก็พวกมิจฉาชีพ แค่เคสล่าสุด สามคดีที่กำลังดำเนินการทางกฎหมาย ผู้ละเมิดเป็นผู้อำนวยการการกศน.จังหวัดหรืออำเภอ และบรรณารักษ์ประจำห้องสมุดประชาชนออนไลน์ 3 แห่ง โดยเป็นการนำงานของเราไปลงในแพลตฟอร์มอ่านฟรี และสามารถส่งต่อกันได้ พิมพ์ออกมาได้ คือสามารถแชร์กันได้อย่างกว้างขวางและไร้ข้อจำกัดทุกรูปแบบ” ณัฐณรา กล่าว

ณัฐณรา กล่าวต่อว่า ถามว่าที่ผ่านมาเกิดเคสละเมิดลิขสิทธิ์กี่เคส ถ้านับดูแล้ว ในระยะเวลาสามปีที่ผ่านมา ก็เกินสิบเคส ก็จะมีการเจรจาประนีประนอมในขั้นตอนของการดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์ผ่านทางตัวแทนกฎหมาย และที่ผ่านมา พอเกิดการดำเนินการเอาผิด คู่กรณีก็มักอ้างว่ารู้เท่าไม่ถึงการณ์ อยากส่งเสริมให้คนรักการอ่าน และเป็นหน้าที่ของบรรณารักษ์ที่ไปอบรมกับหน่วยงานมาแล้วได้รับการแนะนำว่ายุคโควิดควรให้บริการหนังสือในรูปแบบอีบุ๊ก ซึ่งทุกเคสจะอ้างเหตุผลนั้นตลอดจนตัวเองคาดเดาล่วงหน้าได้เลย

Advertisement

ทั้งนี้นักเขียนที่โดนห้องสมุดกศน.ออนไลน์ละเมิดงานในรูปแบบนี้ มีเยอะมาก เยอะจนเรียกได้ว่านับไม่ถ้วน ที่พูดมาคือมีหลักฐานทั้งหมด แต่บางท่านและบางสำนักพิมพ์เลือกที่จะไม่ฟ้องร้อง เพราะต่อให้เรียกค่าเสียหาย มันก็ไม่คุ้มค่าทนายความ การเสียเวลา การเสียสุขภาพจิต ยิ่งการฟ้องร้องที่ต้องเดินทางไปกรุงเทพฯ ทั้งที่เจ้าตัวอยู่ต่างจังหวัดด้วย ส่วนมากจึงเลือกจะตักเตือนและขอให้ลบงานออก ดังนั้นงานนิยายจึงยังคงมี ผู้อำนวยการ หรือบรรณารักษ์ห้องสมุดที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือรู้แล้วแต่ก็ยังจะทำเพราะมั่นใจว่ายังไงก็แค่ขอโทษ ลบทิ้ง แล้วทุกอย่างก็จบ

“กิ่งเอง เคสที่ฟ้องร้องรอบนี้ ไม่ใช่ครั้งแรกที่เจอการละเมิดของห้องสมุดประชาชนออนไลน์ หรือห้องสมุดการศึกษานอกโรงเรียนออนไลน์ค่ะ ปีก่อนเจอที่หนึ่ง ทางผู้อำนวยการเลือกที่จะบล็อกการติดต่อทุกอย่างจากเรา แต่ด้วยตอนนั้นเราเห็นใจ และไม่อยากเสียเวลา เขาลบงานออก เราก็พอใจแล้ว มาเจอครั้งที่สองที่อีกกศน.หนึ่ง ก็โทร.ไปหาเองค่ะ แล้วแจ้งว่า ทางเจ้าหน้าที่คุณทำการละเมิดงานเรา ซึ่งมันเป็นคดีอาญา ทางนั้นรีแอ็กชั่นไวมาก ผู้อำนวยการเลือกที่จะโทร.มาขอโทษอย่างเป็นทางการ มีการลงจดหมายตราครุฑขอโทษมา เราก็ถือว่าเป็นการแสดงความรับผิดชอบในระดับหนึ่ง ก็จบกันไป แต่ว่าคราวนี้เจออีกแล้ว เจอบ่อยมาก เจอเยอะ เจอตลอด เจอจนเกิดความสงสัยว่า ทำไมสถาบันที่ได้ชื่อว่าเป็นสถาบันการศึกษา ถึงได้ไม่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องกฎหมาย มันไม่ต่างจากการขโมยสินค้าที่เราขาย มาแจกจ่ายคนอื่นฟรีๆ แล้วจะมาอ้างว่าเพื่อส่งเสริมการรักการอ่านไม่ได้ ใช้คำสวยหรูยังไง มันก็คือการเผยแพร่โดยไม่ได้รับอนุญาต มาหยิบฉวยไปหว่านแจกแล้วอ้างว่าทำไปเพราะหวังดี มันไม่ใช่” ณัฐณรา กล่าว

ณัฐณรา กล่าวต่อว่า มันคือรายได้ของเรา คุณกำลังเอาเงินของเราไปหว่านแจกคนอื่นอยู่ ไม่ต่างกัน ทำให้เราสูญเสียรายได้ ทำให้งานเราโดนแจกต่อๆ กันไปไม่หยุด ความเสียหายมันเป็นวงกว้าง และที่น่ากลัวคือเขาทำโดยไม่คิดว่ามันเป็นเรื่องที่ผิด เข้าใจว่าทำได้ เข้าใจว่าเป็นเรื่องธรรมดา ซึ่งเขาจะถ่ายทอดความคิดนี้ให้กับนักเรียนของเขาหรือใครก็ตามที่เข้าใช้บริการระบบของเขาด้วย ก็เลยต้องการจะดำเนินฟ้องร้องเพื่อเป็นกรณีศึกษา เป็นวิทยาทานว่าห้องสมุดประชาชนออนไลน์และห้องสมุดของการศึกษานอกโรงเรียน ซึ่งนับได้ว่าเป็นสถาบันการศึกษา จะนำเอางานเขียนของนักเขียน ไปลงในแพลตฟอร์มของคุณมันทำไม่ได้ มันผิดกฎหมาย มันเป็นคดีอาญา และก็มีโทษทั้งจำคุกทั้งปรับ

“จากนี้ไปก็ยืนกรานว่าจะดำเนินคดีทุกที่ ถ้าพบว่ามีการละเมิดงานเขียนของเรา ไม่เว้นแม้แต่ที่เดียว มันน่าตกใจที่ต่อไปเราไม่ต้องจับโจรในเว็บเถื่อนแล้ว แต่ต้องมองหาในห้องสมุดชุมชนออนไลน์หรือสถาบันการศึกษาแทน ถามว่าค่าเสียหายในขั้นตอนไกล่เกลี่ยมันคุ้มค่าไหม ในรูปแบบตัวเงินไม่หรอกค่ะ เรามีค่าทนายความ ค่าเดินทาง ค่าที่พักเวลาเดินทางไปฟ้องร้อง เสียเวลาในการทำงาน และงานเราที่เขาเอาไปแจกจ่าย มันทำรายได้ให้เรามากกว่าค่าเสียหายที่เขาให้มา แต่มันคุ้มค่าถ้าจะเป็นวิทยาทานไม่ให้ผู้อำนวยการและบรรณารักษ์ห้องสมุดออนไลน์ การศึกษานอกโรงเรียนทั้งหลาย มีความรู้ความเข้าใจเรื่องลิขสิทธิ์งานเขียนมากขึ้น” ณัฐณรา กล่าว และว่า ทั้งนี้ปัจจุบันมีการยอมชดใช้ค่าเสียหายแล้ว 2 แห่ง เตรียมจะชดใช้อีก 1 แห่งและอีก 1 แห่งอยู่ระหว่างการเตรียมฟ้องร้อง

เรื่องที่ถูกละเมิดมากที่สุด
เรื่องที่ถูกละเมิดมากที่สุด
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image