‘วีรพร นิติประภา’ ดับเบิลซีไรต์หญิงคนแรก กับเรื่องราวความหวัง กับทรงจำของทรงจำ

หลังคณะกรรมการตัดสินมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ “พุทธศักราชอัสดงกับทรงจําของทรงจําของแมวกุหลาบดํา” นวนิยายชื่อยาว บอกเล่าเรื่องราวของความทรงจำที่ถ่ายทอดจากความทรงจำ ร้อยเรียงคู่ขนานไปกับห้วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์ คว้ารางวัล “ซีไรต์” ประจำปี 2561

ส่งผลให้นักเขียนหญิงสายพังก์ ผู้เคยคว้ารางวัลซีไรต์จากผลงาน “ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต” เมื่อปี 2558 เป็นนักเขียนดับเบิลซีไรต์คนที่ 3 ต่อจาก ชาติ กอบจิตติ และ วินทร์ เลียววารินทร์ ยังถือเป็นผู้หญิงคนแรกที่คว้ารางวัลซีไรต์ได้ถึง 2 ครั้ง

ในฐานะคนเขียนหนังสือ “วีรพร นิติประภา” หรือที่หลายคนเรียกว่า “พี่แหม่ม” ไม่ได้คาดหวังว่า “พุทธศักราชอัสดงกับทรงจําของทรงจําของแมวกุหลาบดํา” จะได้รับรางวัลแต่อย่างใด เพียงตั้งใจรังสรรค์ผลงานด้วยใจรักในการเขียน

ถ่ายทอดความทรงจำที่คลุมเครือของครอบครัวชาวจีนโพ้นทะเลที่ต้องพานพบกับความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ซัดพาให้ชีวิตต้องระหกระเหิน หา “พื้นที่” ที่เรียกว่า “บ้าน”

Advertisement

เธอใช้เวลา 4 ปี 1 เดือน 1 สัปดาห์ กับอีก 6 ชั่วโมง ในการปลุกปั้นตัวละครที่มีเลือดเนื้อ มีชีวิตจิตใจและมีความเป็นมนุษย์ที่มีสัจธรรมในทุกแง่ บนหน้ากระดาษกว่า 424 หน้า ซึ่งเต็มไปด้วยเรื่องราวของความหวังและความสิ้นหวังในการดำรงชีวิต มีบาดแผลของคนเจเนอเรชั่นหนึ่งร้อยโยงไปกับฉากหลังที่เล่าถึงบริบทการเมืองไทยในยุค 2475 ดำเนินมาจนถึงสงครามโลกครั้งที่ 2 และตลอดจนช่วงสงครามเย็น

ทุกความทรงจำเว้าแหว่งเหล่านั้นถูกบอกเล่าอย่างกระท่อนกระแท่น ผ่านรูปแบบนิทาน ผ่านการเล่าสู่กันฟัง ถูกเติมแต่งด้วยเลือกจดจำ เกิดเป็นความทรงจำในทรงจำที่บิดเบี้ยว กะพร่องกะแพร่ง ผ่านเจเนอเรชั่นสู่เจเนอเรชั่น จนยากจะจำแนกว่าอะไรเป็นเรื่องจริง และอะไรเป็นเรื่องสมมุติ

ถ้าบอกว่า “ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต” เป็นการเล่นเรื่องมายาคติ สำหรับ “พุทธศักราชอัสดงฯ” มันคือการเล่นกับเรื่องราวของ “ความจริง” ที่อาจจะจริงหรือลวง หรือไม่ก็เป็นความจริงในความลวงที่ไม่อาจรู้ได้

Advertisement

แต่สิ่งหนึ่งที่เด่นชัดในเล่มนี้คือ ความหวัง ความสิ้นหวัง และความคำนึงถึงช่วงเวลาแห่งการล่มสลาย ช่วงเวลาแห่งการถดถอยของใครหลายคน

วีรพรเปรียบเทียบว่า เหมือนเรากำลังอยู่ในวินาทีที่สิ้นหวัง เมื่อสึนามิซัดเข้ามา 1 ลูก คุณคิดว่าต้องตายเเน่ แต่คุณดันทะลึ่งขึ้นมาเหนือน้ำได้ พอสึนามิลูกที่ 2 เข้ามาแล้วคุณรอดอีก พอถึงลูกที่ 3 คุณมั่นใจว่ารอดชัวร์ สิ่งนี้มันเป็นความหวังของการเป็นมนุษย์ เป็นความหวังที่ไม่ใช่ หวังจะสอบเข้ามหา’ลัยได้ หวังจะมีชีวิตที่ดีกว่า แต่มันเป็นความหวังของการเอาชีวิตรอด

สำหรับ “พุทธศักราชอัสดงฯ” เป็นผลงานที่ได้รับยกย่องถึงความน่าสนใจในเชิงเนื้อหา และเอกลักษณ์ในการถ่ายทอดเรื่องราวแบบมีชั้นเชิงทางวรรณศิลป์

“ขณะที่ตัวตนของผู้เขียนก็มีความโดดเด่นและน่าสนใจไม่แพ้กัน”

รู้สึกอย่างไรกับการเป็นดับเบิลซีไรต์หญิงคนแรก?

เข้าใจว่ามีนักอ่านจำนวนไม่น้อยเหมือนกันที่เชียร์เล่มนี้อยู่ รู้สึกซาบซึ้งตรงนั้นมากกว่าที่ได้รางวัล ซึ่งส่วนตัวไม่ได้คาดหวังมาก เพราะคิดว่าเพิ่งได้ซีไรต์มารอบก่อน ถ้าเกิดเราเป็นกรรมการก็คงลำบากใจ

ได้รางวัลดับเบิลซีไรต์แล้ว กดดันไหมถ้าจะเขียนงานชิ้นใหม่?

ใครมันจะไปได้ทุกเล่ม คิดง่ายๆ แค่นี้ก็จบ (หัวเราะ) ถ้าอยากได้รางวัล เอารางวัลเป็นตัวตั้ง ตอนที่ทำเล่มสองแล้วอยากได้ซีไรต์อีก ควรจะทำเหมือนเล่มแรกหรือเปล่า วีรพรต้องเขียนแบบวีรพรไหม คงแย่นะได้รางวัลซีไรต์แล้วดันมาก๊อปผลงานตัวเอง มันคงจะงมอยู่อย่างนั้นไม่ไปไหน

นำเทคนิคอะไรจาก”ไส้เดือนตาบอดฯ”มาใช้ในเรื่องนี้?

ที่เขียนไส้เดือนตาบอดฯ เพื่อหาวิธีเขียนพุทธศักราชอัสดงฯ เพราะยังไม่มีวิธีเขียน รู้แต่ว่าฉันอยากเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ เรื่องการมองเห็นประวัติศาสตร์ เรื่องลูกที่พ่อแม่ไม่รัก เรื่องความขัดแย้งในการเมืองระหว่างสองทรรศนะ เช่น เมืองจีนก็จะมีฝ่ายซุนยัดเซ็น กับฝ่ายเหมา เจ๋อ ตุง ซึ่งเป็นเรื่องความขัดแย้งทางการเมือง แล้วจะเล่าเรื่องพวกนี้ยังไงในเส้นเรื่องเดียวที่เป็นประวัติศาสตร์ เราคิดไม่ออกก็เลยทำไส้เดือนตาบอดฯก่อน และได้เรียนรู้ทุกอย่างจากเรื่องนั้นในการทำพุทธศักราชอัสดงฯ

ถูกทักเรื่องการตั้งชื่อ”พุทธศักราชอัสดงฯ”บ้างไหม?

หลายคนบอกว่าชื่อเพราะดี แต่ก็มีคนถามว่าทำไมตั้งชื่อยาวอย่างนี้ เราก็ถามว่าแล้วน่าสนใจไหม? เขาก็บอกน่าสนใจก็จบ ชื่อเรื่องจะสั้นจะยาวจะแปลกประหลาดอะไรก็แล้วแต่ขอแค่น่าสนใจ

ซึ่ง “พุทธศักราชอัสดงฯ” แปลง่ายๆ เลยคือ ช่วงเวลาแห่งการล่มสลาย ช่วงเวลาแห่งการถดถอย และความทรงจำที่กะพร่องกะแพร่ง จริงๆ เรื่องมีอยู่แค่นี้ แต่เราก็ต้องให้มันสวยงาม ไม่ใช่ “บ้านเมืองถดถอยและความทรงจำกะปริดกะปรอย” (น้ำเสียงวิชาการ) จะไปขายใคร (วะ) มันฟังดูไม่ดี ไม่เก๋

ความขัดแย้งใน”ไส้เดือนตาบอดฯ”กับ”พุทธศักราชอัสดงฯ”เหมือนหรือต่างกันอย่างไร?

โดยวิธีคิดของเรามักจะสงสัยว่าอะไรเป็นตัวที่ผลักดันเรามาสู่จุดที่เราอยู่ อะไรทำให้คุณเป็นคุณ อะไรทำให้เราเป็นเรา เพราะฉะนั้นตอนเริ่มเขียนไส้เดือนตาบอดฯ ท่ามกลางความขัดแย้งเหลือง-แดง ในความขัดแย้งนั้นตั้งสมมุติฐานขึ้นมาว่า “มายาคติ” มีส่วนทำให้ความขัดแย้งบานปลาย แต่พอถึงจุดหนึ่งแล้วมันอธิบายไม่พอแม้เขียนจบไปแล้ว แต่เราพบว่าไม่สามารถที่จะมองเรื่องราวที่ซับซ้อนแบบนี้โดยใช้วิธีคิดแบบ 1+2 ได้ เพราะฉะนั้นเรื่องพุทธศักราชอัสดงฯเลยเบนไปเป็นเรื่องความทรงจำ

ทำไมถึงเลือกหยิบเรื่องราวหลังสงครามใช้?

ก่อนสงครามเป็นการเมืองอีกแบบหนึ่ง แต่ถ้าพูดถึงโมเดิร์นไทม์หรือยุคสมัยใหม่ มันคือสิ่งที่เกิดขึ้นตั้งแต่หลังสงคราม แล้วสังเกตโลกตอนนี้ จะพบว่าเรายังติดอยู่ในช่วงหลังสงครามอยู่เลย สิ่งที่เกิดขึ้นหรือความขัดแย้งในที่ต่างๆ เช่น อาหรับสปริงก็เป็นส่วนหนึ่งของหลังสงครามโลกทั้งนั้น เราไม่ได้ไปไกลจากตรงนั้นนะ เรายังติดอยู่ในความขัดแย้งที่ถูกสร้างขึ้นหลังสงคราม

ใช้เวลานานถึง 4 ปี?

นักเขียนบางส่วนก็จะมีระบุไว้เลยว่า บทที่ 1 บทที่ 2 บทที่ 3 จะเป็นอย่างนี้นะ แต่เราไม่ได้ทำแบบนั้น เราทำแบบด้นสดตั้งแต่ต้น แล้วได้พบว่าการทำแบบด้นสดมันน่าสนใจ คือตัวละครจะค่อยๆ หาทางออกไปเรื่อยๆ พร้อมกับเรา

มีบางคนพูดว่า ตัวละครของวีรพรมีชีวิตชีวา เหมือนคนในชีวิตจริงที่โตไปพร้อมๆ กัน แต่ก็มีกลับมารีไรต์และรื้อใหม่ตลอดเวลา คิดว่ามันเป็นอภิสิทธิ์ของนักเขียนที่ในชีวิตจริงคุณไม่มีสิทธิจะแก้กลับไปกลับมา คุณมีสิทธิแค่ผ่านมันไป

หลักในการย้อนกลับไปเปลี่ยนเนื้อเรื่อง?

คือเราสามารถย้อนกลับไปกลับมาได้ เราเปลี่ยนสิ่งที่เกิดขึ้นได้ แต่มันก็มีข้อจำกัดเหมือนกัน ทุกครั้งต้องถามตัวเองว่าเราได้ให้ความยุติธรรมกับตัวละครหมดทุกตัวหรือไม่ เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ เรื่องการเขียนจะดีหรือไม่ดีไม่ได้อยู่ที่พล็อตประหลาดมหัศจรรย์ อยู่ที่ตัวละครทุกตัวได้รับความยุติธรรมเท่าเทียมกัน มีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน มีเหตุผลเพียงพอที่เขาจะทำดี ทำชั่ว ฆ่าตัวตาย หัวเราะ ร้องไห้ เราจำเป็นต้องสร้างสิ่งนี้ให้มีอยู่ในเรื่องให้ได้

พอใจกับ”พุธศักราชอัสดงฯ”แล้ว หรืออยากกลับไปแก้อีก?

เรื่องอะไรจะบอก บอกตอนนี้ก็ขายไม่ได้สิ (หัวเราะ)

คือนักเขียนทุกคนจะพอใจระดับหนึ่ง แต่ไม่มีใครที่พอใจ 100 เปอร์เซ็นต์ ถ้าคุณพอใจ 100 เปอร์เซ็นต์ คุณจะไม่มีสิทธิทำเล่ม 3 เล่ม 4 แล้วเพราะเราเก่ง เราเจ๋ง จบ

ความทรงจำของทรงจำคืออะไร?

ทรงจำของทรงจำคือ ความทรงจำที่ถูกเล่า หรือความทรงจำที่ไม่ใช่ความทรงจำของเรา เช่น คุณโตขึ้นพร้อมกับความทรงจำว่าคุณเป็นคนไทย แต่ความทรงจำนี่ไม่ใช่ของคุณ มันเป็นความทรงจำของพ่อแม่ที่ตกทอดมาผ่านการเลี้ยงดู เป็นความทรงจำผ่านเรื่องเล่า เป็นความทรงจำผ่านอื่นๆ อีกมากมายที่เราได้มา แต่มันไม่ใช่ความทรงจำแท้ๆ ของเราที่พบเจอเอง

อาจจะต้องทำเล่ม 3 เล่ม 4 เล่ม 5 เพราะความทรงจำเป็นเรื่องน่าสนใจว่ามีความทรงจำมากน้อยแค่ไหนที่เป็นความทรงจำของเรา และมากน้อยแค่ไหนที่มีความพยายามให้เราจดจำ นอกจากนี้ ยังมีกระบวนการจัดการความทรงจำ กระบวนการสร้าง กระบวนการลบความทรงจำ และความทรงจำที่ไม่จริงอะไรทำนองนั้น เป็นเรื่องที่เริ่มสนใจแต่ไม่รู้ว่าจะไปได้ไกลแค่ไหน

อย่างในเรื่องก็มีความทรงจำของหนูดาว ซึ่งแท้จริงแล้วหนูดาวไม่มีตัวตนด้วยซ้ำ ความทรงจำของหนูดาวเป็นความทรงจำของแมวมั้ง? เป็นความทรงจำของแม่มั้ง? หรือไม่ก็เป็นความทรงจำของยายศรีมั้ง? และยายศรีก็เป็นคนขี้โม้มั้ง? คือไปถึงตอนท้ายเรื่องคุณจะคิดว่าอันไหนล่ะที่จับต้องได้

มุมมองของวีรพร ทรงจำที่เลือกจะเล่ากับที่เลือกจะลืม อันไหนมีความสำคัญกว่ากัน?

คิดว่าสิ่งสำคัญคือใครเลือกมากกว่า เราไม่มีสิทธิเลือก หนังสือ 400 กว่าหน้าบอกว่าเราไม่มีสิทธิเลือกทั้งจำและลืม เราถูกเลือกให้ทั้งเรื่องประวัติศาสตร์ การเมือง ฯลฯ

ความหวังและความความสำเร็จ ให้ความสำคัญกับอะไร?

ตอบยากมาก ความหวังของคนอายุ 56 ปี เราให้ความสำคัญแค่หายใจเข้าออกสะดวก ได้ทำสิ่งที่ชอบ ได้ไปในที่ที่ชอบ

รู้สึกโชคดีนะที่เริ่มต้นงานเขียนอีกครั้ง ได้ค้นพบว่ามันสนุกมากมาย แต่อย่างที่เรารู้กัน การเป็นนักเขียนไม่ใช่อาชีพร่ำรวยอะไร ถ้าอยากได้เงินคงไม่ทำงานนี้ตั้งแต่ต้น การได้รางวัลเหมือนจะรายได้ดี แต่เมื่อเทียบกับชั่วโมงทำงานอาจจะเรียกได้ว่าบัดซบมากมาย (หัวเราะ) แล้วถ้าอยากมีชื่อเสียง เทียบกับนักแสดงก็ไม่เท่าไหร่นะ ไปเล่นหนังเป็นผีอาจจะดังกว่าเดินถนนคนก็จำได้ แต่นักเขียนคนไม่รู้จัก ยิ่งเขียนหมวดวรรณกรรมยิ่งแล้วใหญ่ เพราะเป็นหมวดที่ขายได้ต่ำสุดในโลก แต่เป็นสิ่งที่สนุกมากมาย

ความคาดหวังต่อเรื่องนี้?

สิ่งที่คาดหวังทุกครั้งเหมือนกันหมด คือขอให้อ่านตั้งแต่หน้าแรกไปจนจบ มีความพยายามเรื่องนี้มาก

วิธีการตั้งแต่เริ่มต้นหน้าแรกจนถึงหน้าสุดท้ายก็คือทำยังไงให้น่าสนใจ มีเสน่ห์พอที่จะอ่านจนจบ และที่ดีคืออ่านแล้วจำด้วย หรือถ้าเด็ดกว่านั้นคือกลับมาอ่านซ้ำได้อีก อันนั้นถือว่าเป็นความสำเร็จของนักเขียน

อย่างน้อยที่สุดคนอ่านได้อะไร?

อยากได้ไรเอาไปเลย รัก โลภ โกรธ หลง มีหมด (หัวเราะ) แต่อย่างน้อยคิดว่าคนอ่านน่าจะได้ความรู้สึกของการเป็นลูกพ่อแม่ไม่รัก คิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญในประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำต่ำสูงค่อนข้างเยอะ คนในประเทศนี้ไม่เท่ากัน ดังนั้น พี่มีความรู้สึกว่าการพูดถึงความรู้สึกเล็กๆ น้อยๆ ที่คุณควรจะรู้อยู่แล้ว ลูกพ่อแม่ไม่รัก แม่รักคนอื่นมากกว่ารักเรา พี่คิดว่าเรื่องนี้มันควรจะเป็นเรื่องที่จับใจ และทำให้ทุกคนมองเห็นว่าอย่างน้อยๆ มันไม่ควรจะเหลื่อมล้ำมากนัก

มีปมกับเรื่องนี้หรือเปล่า?

ต้องไปถามแม่ ว่าแม่รักเราไหม (หัวเราะ) แต่บางครั้งมันเป็นความกลัวส่วนตัว เราก็เคยเห็นพ่อแม่รักลูกไม่เท่ากัน ต่อให้เขาบอกว่าเท่ากัน หรือที่ดีหน่อยคือทำเหมือนประหนึ่งว่ารักเท่ากัน แต่ไม่ได้หมายความว่าในความรู้สึกเขาจะรักเท่ากันจริงๆ เพราะฉะนั้นตอนที่มีลูกมันใช้เวลานานพอสมควรที่จะตัดสินใจว่าจะมีลูกคนที่ 2 ไหม และในที่สุดก็ตัดสินใจไม่มี เพราะเราไม่รู้ว่าเราจะรับมือเรื่องนี้ยังไง ไม่รู้ว่าถ้าเรารักคนนี้มาก แล้วมีอีกคนหนึ่งขึ้นมาเราจะรักเขาเท่านี้ไหม

คิดว่ามันคือสิ่งที่สำคัญสำหรับชีวิตคนหนึ่งคนนะ ด้วยเหตุนี้ถึงต้องมีกฎหมายกำกับ เพื่อสร้างความเท่าเทียม เพราะความจริงแล้วคนไม่เท่ากันหรอก แต่กฎหมายต้องช่วยให้อย่างน้อยไม่มีช่องว่างมากเกินไป

ถ้าตัวละครในเรื่องเป็นลูกแล้วมีลูกรักลูกชังไหม ทำยังไงให้เกิดความยุติธรรมเท่าเทียม?

คิดว่าคนอ่านคงชังจิตไสว มองว่าเป็นคนงี่เง่า แต่ส่วนตัวไม่คิดว่างี่เง่านะ แต่เป็นคนมีความคิดแบบทหารที่จะต้องชนะเบ็ดเสร็จ ไม่ใช่ความคิดแบบพ่อค้าที่จะจัดการไกล่เกลี่ยแล้วก็แบ่งปันผลประโยชน์กัน

ขณะเดียวกันตัวละครที่ชอบเหมือนหลายคน คือ จงสว่าง เพราะหล่อ แต่ก็ต้องกลับมาตรวจสอบ ซึ่งในที่สุดก็ลดทอนความน่ารักของจงสว่าง ด้วยการให้ติดเหล้าเหมือนพ่อเขา และท่ามกลางความงดงามของจงสว่างก็มีข้อด้อยคือเป็นคนอ่อนแอ

คิดว่านิยายแบบไหนเป็นนิยายที่ดี?

แบบที่เราเขียนนี่แหละ แน่นๆ เยอะๆ อ่านได้หลายครั้ง คือกลับมาอ่านครั้งหน้าก็จะเจอว่า เฮ้ย! พลาดรายละเอียดนี้ไป หรือกั๊กไว้ในตอนต้น กระทั่งอ่านไปอีก 10 หน้าแล้วนึกถึงบทที่อ่านคราวที่แล้วได้ ทำให้รู้สึกว้าวอะไรทำนองนั้น หรือว่าอ่านถึงตอนจบแล้วก็ตบอกผางเพราะโดนหลอก รู้สึกว่าอะไรอย่างนี้ค่อนข้างจะมีชั้นเชิงและสนุก

มีหนังสือแนวไหนที่อยากจะลองเขียนอีก?

อยากเขียนเรื่องผี แต่กลัวผี (หัวเราะ) แต่ก็พบว่าคนกลัวผีจะเขียนเรื่องผีดี คือถ้าคุณไม่กลัวจะเขียนยังไงให้คนกลัว

แล้วแนวไหนที่รู้สึกว่ายากที่จะเข้าไปทำ?

ไม่ถนัดเขียนเรื่องตัวเอง ไม่ถนัดเขียนเรื่องจริง

สิ่งที่มีอิทธิพลต่อชีวิต?

ลูก สามี และแมว

ความเป็นพังก์ล่ะ?

ก็ยังมีทรรศนะอย่างนี้อยู่ คืออาจให้ความสนใจกับหน้าตา ชื่อเสียง ลาภยศ สรรเสริญน้อย เป็นส่วนของการเติบโตมาแบบพังก์ด้วย

เริ่มมีแฟนคลับเยอะ ความรู้สึกที่ได้แลกเปลี่ยนกับคนติดตามตั้งแต่เล่มแรก?

ตื่นเต้นเหมือนวันแรก ก็รู้สึกโอเคนะ ก็ป๊อปนะ (หัวเราะ) แต่ก็คิดเหมือนกันว่าเดี๋ยววันหนึ่งเขาก็ลืมเรา อีกหน่อยกลับมาอ่านไส้เดือนตาบอดฯ อาจรู้สึกว่าเสี่ยว (ว่ะ) เหมือนอ่านหนังสือบางเล่มตอนเด็กแล้วเจ๋งมาก พออายุ 40 มาอ่านอีกอาจจะรู้สึกงั้นๆ เพราะนอกจากเรื่องตามวัย ก็มีเรื่องตามกาลอีก

แต่นัยยะหนึ่งเพราะในยุคนี้ไม่ค่อยมีไอดอลกัน ซึ่งในยุคของวีรพรตอนเด็กเรามีไอดอลเยอะ เพราะโลกมันไม่ได้ซับซ้อนแบบทุกวันนี้ เด็กวันนี้โตมาพร้อมกับสื่อมากมาย ไอดอลก็น้อยลงไป นอกจากอะไรที่จะฉาบฉวย เช่น ฉันอยากเป็นอย่างนักร้องเกาหลี ก็ไม่มีโจทย์ว่าฉันอยากแก่ตัวไปเป็นอย่างผู้หญิงคนนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image