เทรนด์ของ E-Book และการเติบโตในสายตาของ MEB

ในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติที่เพิ่งจบไป มีกิจกรรมหนึ่งที่น่าสนใจมาก เพราะ MEB ยักษ์ใหญ่ในวงการ E-Book เมืองไทย ได้จัดเสวนาในประเด็น Why E-book / E-Pub /E-Reader ซึ่งหนึ่งในความพิเศษคือการที่ “รวิวร มะหะสิทธิ์” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เมพ คอร์ปอเรช่ัน จำกัด ออกมาเปิดเผยถึงสถิติการเติบโตของอีบุ๊ค ทั้งในแง่ของความนิยมในแต่ละประเภทรวมถึงส่วนแบ่งทางการตลาด ที่พุ่งขึ้นอย่างน่าสนใจ

เป็นการเติบโตของโลกการอ่านที่เชื่อมโยงกับโลกยุคสมาร์ทดีไวซ์ ที่สำนักพิมพ์ไม่ควรมองข้ามเลยแม้แต่นิดเดียว

รวิวรเผยว่า MEB เริ่มตั้งมาตั้งแต่ปี 2011 แต่ในช่วงแรกยังไม่ได้รับการตอบรับจากสำนักพิมพ์มากนัก เพราะช่วงนี้จะว่าไปแล้วก็ถือว่ายังเป็นช่วงขาขึ้นของธุรกิจหนังสือเล่ม ประกอบกับช่วงนั้นเป็นช่วงน้ำท่วมใหญ่เลยทำให้สำนักพิมพ์ไม่สนใจอย่างอื่นมากนักนอกจากธุรกิจตรงหน้า แต่พอเวลาผ่านไป อีบุ๊คก็มีบทบาทเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงวันนี้ MEB มีข้อมูลเยอะมากพอแล้วที่จะมาแชร์ให้ได้รู้กัน ว่าตลาดอีบุ๊คปัจจุบันของไทย อยู่ในสถานการณ์ไหน

ซึ่งรวิวรย้ำว่า นี่คือสถิติในมุมของ MEB เท่านั้น

Advertisement

ปัจจุบัน MEB มีหนังสือให้โหลดฟรี 6000 กว่าเล่ม และถูกโหลดไปแล้วกว่า 31,000,000 ครั้งในรอบหลายปีที่ผ่านมา ในส่วนการขายนั้น MEB มีหนังสือขายประมาณ 65,000 เล่ม ซึ่งดาวน์โหลดไปแล้วประมาณ 6,400,000 ครั้ง เป็นการโหลดแบบหนึ่งคนต่อหนึ่งครั้ง ไม่นับการโหลดซ้ำ ซึ่งถือว่านักอ่านให้ความสนใจค่อนข้างมาก

“ตั้งแต่ปี 2016 คนอ่านของ MEB เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากวันหนึ่งประมาณ 800 กว่าคน เพิ่มขึ้นเป็นวันละประมาณ 1,000 คน และปี 2018 คือโตเยอะมาก เพิ่มขึ้นเป็นวันละ 1,500 คน นี่คือค่าเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แล้วอัตรามันก้าวกระโดด”

นักอ่านเพิ่ม อีบุ๊คก็เพิ่มเช่นกัน โดยในปี 2016 มีหนังสืออีบุ๊คเข้ามาสู่ MEB วันละ 36 เรื่อง ปี 2017 คือวันละ 40 เรื่อง และล่าสุดปี 2018 คือวันละ 47 เรื่อง ซึ่งรวิวรบอกว่าการเติบโตนี้มีสาเหตุมาจากการเปิดใจ ทั้งจากนักอ่านและสำนักพิมพ์

Advertisement

“นักอ่านเปิดใจรับสิงนี้มากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนสำนักพิมพ์เองก็เริ่มปรับตัว มองอีบุ๊คเป็นช่องทางที่สำคัญ ทางผมเคยประมาณการยอดขายของอีบุ๊คเมื่อเทียบกับหนังสือเล่ม ผมเชื่อว่ามันเข้าสู่ประมาณ 5-10% ของหนังสือเล่มแล้วเรียกว่าถ้าเราขายตามปกติไม่ต้องคิดอะไรมาก ยอดอีบุ๊คก็เข้าสู่5-10% ของหนังสือเล่มได้ เมื่อดูแลมันอย่างเหมาะสม แต่ถ้ากระตุ้นเป็นพิเศษยอดก็เพิ่มไปอีก” รวิวรอธิบาย

ในส่วนของฟอร์แมทการอ่านนั้น จากการสำรวจพบว่า คนอ่าน E-Pub  36% PDF  47%  อ่านทั้งสองอย่าง 19%รวิวรเล่าว่าในช่วงเริ่มต้นไม่ได้เน้น E-Pub มากนัก เพราะมองว่าถ้าสนพ.ต้องมาทำในฟอร์แมทที่ไม่ถนัด ก็จะกลายเป็นแรงต้านในการเข้ามาอยู่ในเทคโนโลยีใหม่ๆ แต่เมื่อเวลาผ่านไป เชื่อว่าการส่งข้อมูลด้วย PDF กลายเป็นเรื่องปกติ นักอ่านก็ต้องการประสบการณ์การอ่านที่เหนือกว่า ความต้องการ E-Pub จึงมากขึ้นเรื่อยๆ MEB จึงพยายามกระตุ้นเนื้อหาคอนเทนท์ที่รองรับ E-Pub ได้ด้วยมาทำเป็น E-Pub ซึ่งจะเห็นว่าในปี 2016 คอนเทนท์ที่ส่งมารองรับ E-Pub ได้7 8% ขณะที่ปี 2018 คือ 88% สูงขึ้นเรื่อยๆๆ เรียกว่าหนังสือ 10 เล่ม ส่งเข้ามารองรับ E-Pub เก้าเล่ม แต่ E-Pub ก็ไม่ใช่ทุกอย่างของการทำหนังสือ เป็นทางเลือกที่ดีสำหรับงานประเภทที่มีตัวหนังสือเยอะๆ คอนเทนท์ที่มีตัวหนังสือเยอะๆเชียร์ให้สนพ.ทำE-Pub เพราะเปHนผลดีต่อการขายในภาพรวม แต่ถ้าเป็นการ์ตูนแล้วนั้น PDF คือคำตอบ

ปัจจุบัน MEB แยกอีบุ๊คเป็น 3 ประเภทใหญ่ คือ 1. นวนิยายหรือวรรณกรรม 2. การ์ตูนกับไลท์โนเวล 3. นิตยสารกับแนวสารคดี ซึ่งอัตราการเติบโตในปี 2016-2017 นั้นยกแชมป์ให้การ์ตูนและไลท์โนเวล ที่โตขึ้นถึง 84% เพราะก่อนหน้านี้สำนักพิมพ์ติดเรื่องข้อจำกัดเทคนิคบางอย่างและกฏหมายลิขสิทธิ์ เมื่อปลดล็อค การ์ตูนและไลท์โนเวลก็หลั่งไหลเข้ามา ในขณะที่ นวนิยายหรือวรรณกรรม เติบโต 36% ส่วนนิตยสารกับแนวสารคดีคือ 60%

อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณายอดขายแล้วนั้น  นวนิยายก็เยอะที่สุดอยู่ดี

“ถ้าดูตามประเภทในรายการทั้งหมดในร้านของMEB นวนิยายประมาณ 87 % การ์ตูน/ไลท์โนเวล 11% เป็นเซ็คชั่นที่ตอนนี้เป็นสตาร์ของร้านเรา โตเร็วมากในเวลาสั้นๆแค่2-3ปีเอง ส่วนนิตยสาร/สารคดีคือ 2%

แต่ถ้าดูตามยอดขายบ้าง นวนิยายคือ 95% การ์ตูน/ไลท์โนเวลแค่ 2.9% ทั้งที่โวลุ่มขายได้ เพราะราคาเล่มมันถูก เป็นข้อจำกัดบางอย่าง แตเชื่อว่าระยะถัดไปตลาดคนทำหนังสือก็ต้องปรับตัวให้อยู่จุดที่เหมาะสม นักอ่านมีใจพร้อมจะจ่ายในราคาที่เหมาะสมและมีเหตุผลในตัวเองอยู่แล้ว”

รวิวรยังแนะเกร็ดในการขายอีบุ๊คด้วยว่า สนพ.ควรทำการตลาดแบบทดลองอ่าน ซึ่งขณะนี้สนพ.ทำค่อนข้างน้อย ส่วนใหญ่จะเป็นนักเขียนอิสระทำเอง การทำทดลองอ่านจะช่วยให้หยั่งเชิงฟีดแบ็คจากนักอ่านได้ ควรทำมากในยุคนี้ นอกจากนี้ควรทำโปรโมชั่นต่างๆเช่น เออร์ลี่ เบิร์ด ที่ทำให้คนอ่านรู้สึกว่าสามารถซื้อได้ถูกกว่าคนที่ซื้อทีหลัง หรือ ลาสต์ มินิท ที่เหมาะกับหนังสือที่ใกล้หมดลิขสิทธิ์แล้ว ยอดขายนิ่งแล้ว สามารถทำโปรโมชั่นกระตุ้นครั้งสุดท้าย ทิ้งทวนก่อนหนังสือออกจากแผง ทำให้สามารถตักตวงยอดขายสุดท้ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือคอนเทนท์ที่สร้างเองก็สร้างสิ่งพิเศษเฉพาะอีบุ๊คขึ้นมาให้ เช่นเพิ่มตอนพิเศษ หน้าพิเศษ ส่วนหนังสือแบบหลายเล่มจบ ควรใช้โปรโมชั่นแบบอ่านฟรีแต่จำกัดเวลา คือให้อ่านฟรีสักหนึ่งเล่ม ถ้าอยากครอบครองทั้งหมดคือไปซื้อต่อ

“ทุกวันนี้คอนเทนท์ความบันเทิงต่างๆ มาอยู่บนมือถือที่เราพกกันอยู่ เราไม่ควรมองข้ามอีบุ๊ค อีบุ๊คคือโอกาสที่จะทำให้คอนเทนท์ของเราติดตัวนักอ่านติดตัวผู้บริโภคไปตลอด อีบุ๊คจึงเป็นโอกาสเป็นเครื่องมือที่ทำให้คนทำหนังสือเกาะติดไปกับยุคดิจิตอล ยุคสมาร์ทดีไวซ์ ยุคที่คนติดมือถือแทบเล็ตกันงอมแงม

สิ่งนี้คือสิ่งที่เราปฏิเสธไม่ได้”

…………………….

ดอกฝน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image