อ่านใจ ‘บิ๊กตู่’ แนะนำหนังสือ ‘แอนิมอลฟาร์ม’

กลายเป็นที่ฮือฮาทันที เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกมาแนะนำคนไทยให้อ่าน แอนิมอลฟาร์ม โดยระบุว่าเป็นหนังสือดี ให้ข้อคิดในการดำเนินชีวิต

ทำเอาคนไทยเสิร์ชเน็ตอย่างไว ว่าหนังสือเล่มนี้เกี่ยวกับอะไร และอะไรดลใจ “บิ๊กตู่” ให้ชูวรรณกรรมดังกล่าวขึ้นมา

เพราะเป็นที่รู้กันว่า นี่คือผลงานเสียดสีเผด็จการระดับอมตะจากปลายปากกาของ จอร์จ ออร์เวลล์ ผู้เขียน 1984 ที่กลุ่มต้าน คสช. ใช้ยืนอ่านคู่การหม่ำแซนด์วิช เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์มาแล้ว

Animal Farm ตีพิมพ์ครั้งแรกในเดือนสิงหาคม พ.ศ.2488 เนื้อหาเป็นการเสียดสีทางการเมือง สะท้อนเหตุการณ์การปฏิวัติรัสเซียและการปกครองของสตาลิน ที่ปกครองในรูปแบบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ กดขี่ชนชั้นกรรมาชีพ โดยมีสิงสาราสัตว์ชนิดต่างๆ ในฟาร์มเป็นตัวละคร

Advertisement

เรื่องโดยย่อมีอยู่ว่า ในฟาร์มแห่งหนึ่งมีสัตว์หลายชนิด อาทิ หมู ม้า แกะ ไก่ สุนัขและลา เจ้าของฟาร์มนามว่า โจนส์ ให้การดูแลอย่างดี แต่วันหนึ่งสัตว์ทั้งหลายก็เกิดรวมตัวกันไล่มนุษย์ออกจากฟาร์ม โดยมีผู้นำการลุกฮือคือ “หมู” เป็นผู้วางแผน เพื่อหวังปกครองกันเองในกลุ่มสัตว์ โดยมีการตั้งกฎระเบียบต่างๆ ขึ้นมาเพื่อความยุติธรรม ไม่ต้องเป็นทาสรับใช้ของคนอีกต่อไป

และตั้งชื่อฟาร์มใหม่ว่า “แอนิมอล ฟาร์ม”

ทว่าเมื่อหมูที่เป็นหัวหน้าล้มตายลง ก็เกิดการแย่งชิงอำนาจในกลุ่มหมูด้วยกัน โดยแบ่งเป็น 2 ขั้ว เมื่อขั้วหนึ่งชนะ การปกครองตัวเองในฟาร์มก็ต่างออกไปจากเดิม สัตว์ชนิดอื่นๆ ถูกใช้งานอย่างหนัก มีการตั้งกฎที่เอื้อต่อพวกพ้องหมูด้วยกัน

Advertisement

อย่างไรก็ตาม สัตว์อื่นๆ ก็กลับทนอยู่ใต้การปกครองของหมูโดยไม่มีตัวใดคิดจะลุกฮือขึ้นมาล้มกลุ่มหมูแต่อย่างใด สุดท้ายสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจึงวนลูปซ้ำเดิมคลับคล้ายคลับคลาเหมือนตอนที่ถูกมนุษย์ปกครองอยู่นั่นเอง

ตัวอย่างฉากคลาสสิกในวรรณกรรมที่ถูกพูดถึงบ่อยครั้ง คือ ช่วงเวลาใกล้ตายของ เมเจอร์Ž หมูชราที่เป็นหัวหน้านำการปฏิวัติ ที่กล่าวเน้นย้ำถึงอุดมการณ์ว่า

“จงจำไว้ว่าอุดมการณ์ของเจ้าจะต้องไม่หยุดชะงัก ไม่มีการตกลงใดๆ ที่จะทำให้เจ้าหลงทาง อย่าฟัง หากมีมันคนใดกล่าวว่ามนุษย์และสัตว์มีผลประโยชน์ร่วมกัน

เหตุผลที่กล่าวเช่นนั้น เพราะแนวคิดที่ว่า มนุษย์กดขี่สัตว์ให้ทำงานมากมาย แลกกับส่วนแบ่งเพียงเล็กน้อย

อุดมการณ์ดังกล่าวถูกถ่ายทอดในฐานะ ลัทธิสัตว์นิยม มีบัญญัติ 7 ประการ ได้แก่

1.สิ่งใดไปด้วยสองขา ย่อมเป็นศัตรู

2.สิ่งใดไปด้วยสี่ขา หรือมีปีก ย่อมเป็นเพื่อน

3.ห้ามสัตว์ทุกตัวสวมเสื้อผ้า

4.ห้ามสัตว์ทุกตัวนอนบนเตียง

5.ห้ามสัตว์ทุกตัวดื่มสุรา

6.ห้ามสัตว์ทุกตัวฆ่าสัตว์ตัวอื่น

7.สัตว์ทุกตัวเสมอภาคกัน

วรรณกรรมเรื่องนี้ได้รับความนิยมอย่างมากกระทั่ง นิตยสารไทม์ให้เป็นหนึ่งในนิยายภาษาอังกฤษที่ดีที่สุด 100 เรื่อง ระหว่างปี พ.ศ.2466-2548 และอยู่ในอันดับที่ 31 ของรายชื่อนิยายที่ดีที่สุดในคริสต์ศตวรรษที่ 20 ของสำนักพิมพ์โมเดิร์นไลบรารี นอกจากนี้ยังได้รับการดัดแปลงและแปลเป็นภาษาต่างๆ มากมาย

ทุกวันนี้ ยังเป็นหนังสือที่เด็กมัธยมในหลายประเทศต้องอ่าน ส่วนในบ้านเราได้รับการแปลเป็นภาษาไทยหลายครั้ง ตั้งแต่ พ.ศ.2502 เป็นต้นมา ในชื่อที่แตกต่างกัน อาทิ

ฟาร์มเดรัจฉาน แปลโดย ม.ล.นิภา ภานุมาศ, สัตวรัฐ แปลโดย อุทุมพร ปาณินทร์, การเมืองของสัตว์ แปลโดย วิเชียร อติชาตการ-เคล็ดไทย, ฟาร์มสัตว์ แปลโดย สายธาร, แอนิมอล ฟาร์ม แปลโดย พันเอก ดร.ชัยพฤกษ์ ปิลกศิริ รวมถึง รัฐสัตว์ แปลโดย เกียรติขจร ไชยแสงสุขกุล ซึ่งตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ “มติชน” และสำนวนล่าสุด ในชื่อ แอนิมอลฟาร์ม สงครามกบฏของสรรพสัตว์ แปลโดย บัญชา สุวรรณานนท์

แน่นอนว่า ด้วยเนื้อหาเกี่ยวพันกับการเมือง ประชดประชันเผด็จการ แต่กลับถูกบิ๊กตู่แนะให้อ่าน นำมาซึ่งกระแสตั้งคำถามของนักวิชาการว่า พล.อ.ประยุทธ์เข้าใจความหมายที่หนังสือต้องการสื่อสารหรือไม่ อย่างไร

ดังเช่นที่ รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คณบดีคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) พยายามวิเคราะห์ว่า การที่หัวหน้า คสช.แนะนำหนังสือเรื่องนี้ ตีความได้อย่างน้อย 2 ประการ คือ

1.ต้องการสื่อสารเชิงสัญลักษณ์ถึงสภาพการเมืองไทยที่ต่อรองแย่งอำนาจและตำแหน่ง

2.ต้องการชี้ให้เห็นถึงความเลวร้ายของผู้นำและระบอบเผด็จการ เพราะหนังสือเล่มนี้มีเนื้อหาปอกเปลือกผู้นำเผด็จการ ที่ตอนแรกดูดีแสดงท่าทีว่าจะสร้างความสุขความเท่าเทียมแก่สัตว์ทั้งมวล แต่ครั้นมีอำนาจนานเข้าก็เริ่มใช้อำนาจด้วยความรุนแรงปราบปรามสัตว์ที่ไม่เห็นด้วย และก็เสวยสุขกินอยู่อย่างอิ่มหมีพีมันแต่เฉพาะพวกพ้อง ขณะที่ปล่อยให้สัตว์อื่นๆ ที่ไม่ใช่พวกตนเองอดอยาก และซ้ำร้าย สัตว์ที่เป็นผู้ปกครองก็หันมาคบหากับมนุษย์ ผู้ซึ่งในตอนแรกบรรดาผู้นำของสัตว์ประกาศว่าเป็นศัตรูที่น่ารังเกียจ

ไม่แน่ใจว่า พล..ประยุทธ์เข้าใจในสิ่งที่แนะนำหรือเปล่า เพราะเนื้อหาของเรื่อง โดยเฉพาะหมูที่เป็นผู้นำของสัตว์ในท้องเรื่อง หากอ่านแล้ว คนจำนวนมากที่เข้าใจเนื้อหาอดคิดเชื่อมโยงถึงกลุ่มผู้นำของบางประเทศ

ไม่ได้ ส่วนจะเป็นประเทศไหนก็คิดกันเอาเอง” รศ.ดร.พิชายกล่าว

ด้านนักประวัติศาสตร์อย่าง ผศ.พิพัฒน์ กระแจะจันทน์ อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ รั้วธรรมศาสตร์ ตีความเหตุผลของบิ๊กตู่ออกมาได้ 3 ประเด็น ได้แก่ 1.ทีมงานชงให้ พล.อ.ประยุทธ์ โดยไม่รู้ถึงประเด็นสำคัญของวรรณกรรม 2.นายกฯอ่านจริง แต่รับมาเฉพาะความสนุกเท่านั้น และ 3.เพราะคุ้นเคยกับการใช้อำนาจแบบทหาร จึงมองไม่เห็นความผิดปกติ หรือปัญหาของระบอบเผด็จการ เพราะคิดว่ามันดีแล้วถูกแล้ว

ไม่เพียงนักวิชาการที่พากันร่วมเดาใจบิ๊กตู่ในครั้งนี้ สุหฤท สยามวาลา นักธุรกิจและอดีตผู้สมัครผู้ว่าฯกทม. ก็ร่วมด้วยช่วยวิเคราะห์ ทั้งยังชวนให้คนไทย เร่เข้ามาอ่าน โดยระบุว่า บทเรียนสำคัญจากวรรณกรรมดังกล่าวคือ “การใช้อำนาจ” เมื่อคนมีอำนาจก็จะใช้อำนาจในทางที่ผิด และยิ่งมีอำนาจมากก็ยิ่งมีแนวโน้มที่จะใช้อำนาจผิดมาก

“มีบทเรียนสำคัญอยู่ 3 เรื่อง คือ 1.การเคารพและปฏิบัติต่อทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน แม้เดิมจะเป็นอุดมคติของผู้นำในฟาร์ม แต่เมื่อมีอำนาจ ก็ไม่ได้ทำตามนั้น หมูมีสิทธิมากกว่าและได้รับการปฏิบัติต่อเหนือกว่าสัตว์อื่นๆ ในฟาร์ม ผู้นำสูงสุดปรับกฎระเบียบตามอำเภอใจโดยไม่ได้ปรึกษาสัตว์อื่นๆ ซึ่งนำไปสู่จุดจบในตอนท้ายของนิทานเรื่องนี้

2.การยึดมั่นในความถูกต้องเป็นธรรม และไม่เกรงกลัวต่ออำนาจ พร้อมที่จะยืนยันในสิ่งที่ถูก และปฏิเสธหรือประณามในสิ่งที่ผิด สัตว์ในฟาร์มไม่ได้ทำในสิ่งที่ตนเชื่อว่าถูกต้อง ยอมรับสิ่งที่หัวหน้าหมูพูดและทำไปเสียทั้งหมด แม้ว่าจะอยู่อย่างไม่มีความสุข ไม่มีเสรีภาพ

อย่างสัตว์บางตัวถูกฆ่าอย่างไม่เป็นธรรม แต่ก็ไม่มีใครกล้าพูดกล้าบอกใครเพราะกลัว แม้จะรู้ว่าเป็นการกระทำที่ผิดต่อกฎระเบียบของฟาร์ม

3.อำนาจทำให้ทำความผิด อำนาจมากที่สุดทำให้ผิดมากที่สุด นโปเลียน (หมูผู้นำ) ตัดสินใจและสั่งการตามอำเภอใจ ให้สัตว์ต่างๆ ทำงานในฤดูหนาวท่ามกลางความหนาวเย็น โดยไม่ได้สนใจให้อาหารและเวลาพักผ่อนอย่างพอเพียง ไม่ใส่ใจต่อความเดือดร้อนของสัตว์อื่น คิดถึงแต่ตัวเองและพวกพ้อง” ดีเจขวัญใจวัยรุ่นกล่าว

ไม่ว่าสุดท้ายแล้วเหตุผลกลใด ที่ทำให้บิ๊กตู่เก็ตไอเดียแนะนำหนังสือเล่มนี้ แต่ที่แน่ๆ ตอนนี้คนไทยได้ทำความรู้จักวรรณกรรมอมตะดังกล่าวอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image