Animal Farm เผด็จการเรื่องสัตว์ๆ และประวัติศาสตร์การแปลช่วง “การเมืองร้อนแรง”

นี่ถ้าเราเป็นสนพ.ที่แปลนิยายเรื่องดังของ “จอร์จ ออร์เวล”(George Orwell) อย่าง Animal Farm ละก็ คงสั่งพิมพ์ซ้ำอย่างทันที เพราะอยู่ดีๆ โอกาสขายก็ลอยมาหาอย่างไม่ทันตั้งตัว เป็นโอกาสจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่กลายเป็นพรีเซนเตอร์ทำให้ชื่อของหนังสือเล่มนี้กลับมาเป็นที่กล่าวขวัญอีกครั้ง หลังจากพล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกมาเปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ แนะนำให้อ่านหนังสือ Animal Farm ฉบับภาษาไทย โดยบอกว่า “ฝากแนะนำให้อ่านหนังสือ Animal Farm ฉบับภาษาไทย ซึ่งเป็นหนังสือน่าอ่านที่ให้ข้อคิดเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตได้เป็นอย่างดี”

Animal Farm ติดเทรนด์อันดับต้นๆของในทวิตเตอร์ภายในระยะเวลาเพียงแค่ไม่กี่ชั่วโมง

นี่ถ้าใครทำแฮชเท็ก #ประยุทธ์อ่าน อาจได้ฮือฮายิ่งกว่า #จีซูอ่าน  #จินยองอ่าน อีกนะ แต่เป็นพลังความฮือฮาแบบไหนนั้น คงต้องดูกันอีกที

Advertisement

ทำไมเล่มนี้ถึงเป็นกระแสนั้น ก็คงเพราะว่ามีข้อคิดเกี่ยวกับดำเนินชีวิตที่ “เหมาะสมกับสังคมไทย” มากๆ อย่างที่นายกฯ เอ่ยนั่นล่ะ ไม่อย่างนั้นก็คงไม่แปลเป็นภาษาไทยถึง 10 สำนวนเลย จริงไหม?

แถมช่วงเวลาส่วนใหญ่ของการแปลยังน่าสนใจมากๆ อีกด้วย

Advertisement

Animal Farm เป็นนิยายที่ออร์เวลเขียนไว้ตั้งแต่เดือนสิงหาคม ปี 1945 ซึ่งเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ระหว่างที่สหราชอาณาจักรยังเป็นพันธมิตรกับสหภาพโซเวียต และชาวอังกฤษส่วนใหญ่ยังคงยกย่อง “โจเซฟ สตาลิน” แต่ออร์เวลกลับมีมุมมองที่ตรงกันข้าม ในทัศนะของออร์เวลล์ที่สนับสนุนแนวคิดสังคมนิยมประชาธิปไตยนั้น เขามองว่าสตาลินเป็นเผด็จการที่ปกครองสหภาพโซเวียตอย่างโหดร้าย กดขี่ชนชั้นกรรมาชีพอย่างรุนแรงและนิยายแนวอุปมานิทัศน์ที่เขาเขียนขึ้นมาระหว่างเป็นนักข่าวเรื่องนี้  ก็มีขึ้นเพื่อเสียดสีถึงการกดขี่และความเลวร้ายจากการปกครองแบบ “อำนาจนิยมเบ็ดเสร็จ” ของสตาลิน โดยอุปมาผ่านการก่อกบฎของเหล่าสัตว์ในฟาร์มแมนเนอร์ ที่มีต่อมนุษย์เจ้าของฟาร์มจอมกดขี่ แต่ท้ายที่สุดแล้วก็หนีไม่พ้นการกดขี่จากสัตว์ด้วยกันเองอย่างหมู “นโปเลียน” ที่สถาปนาตัวเองขึ้นเป็นผู้นำแทนมนุษย์ และสร้างระบอบการปกครองที่เอื้อต่อพวกพ้องของตน ภายใต้โครงสร้างสังคมแบบเผด็จการของฟาร์มที่เปลี่ยนชื่อเป็นแอนิมอล

นิยายเรื่องนี้ได้รางวัลต่างๆ เยอะมาก ทั้งที่ตอนแรกแทบจะไม่มีสำนักพิมพ์ไหนยอมพิมพ์เลยด้วยซ้ำ แถมยังเป็นหนังสืออ่านนอกเวลาสำหรับเด็กๆ ในหลายประเทศ แต่สิ่งหนึ่งที่เหนือกว่ารางวัลต่างๆ คือความรู้สึกร่วมของคนอ่านที่มีต่อ Animal Farm เป็นความรู้สึกร่วมที่มีต่อ “เผด็จการ” บ้าอำนาจ เพราะการวิพากษ์การปกครองแบบอำนาจนิยมเบ็ดเสร็จ ผ่านบรรดาเรื่องเล่าของสิงสาราสัตว์ในเรื่อง จึงไม่น่าแปลกใจที่เมื่อเอ่ยถึง Animal Farmนักอ่านไม่น้อยจึงมองว่านี่คือ “หนังสือต่อต้านเผด็จการ”

ในภาษาไทยมีการแปลเป็นภาษาไทยถึง 10 สำนวน คือ 1 ฟาร์มเดรัจฉาน แปลโดย ม.ล. นิภา ภานุมาศ (พ.ศ. 2502), สัตวรัฐ แปลโดย อุทุมพร ปาณินทร์ สนพ.แพร่พิทยา (พ.ศ. 2515), การเมืองของสัตว์ แปลโดย วิเชียร อติชาตการ สนพ.เคล็ดไทย (พ.ศ. 2518), แอนนิมอล ฟาร์ม แปลโดย ศุภรางค์ เผ่าพันเลิด สนพ.แพร่พิทยา (พ.ศ. 2518), ฟาร์มสัตว์ แปลโดย สายธาร สนพ.ประพันธ์สาส์น (พ.ศ. 2520) และตีพิมพ์อีกครั้งในพ.ศ. 2561, รัฐสัตว์ แปลโดย เกียรติขจร ไชยแสงสุขกุล สนพ.มติชน (พ.ศ. 2544), แอนิมอล ฟาร์ม แปลโดย พันเอก ดร. ชัยพฤกษ์ ปิลกศิริ สนพ.กู๊ดมอร์นิ่ง (พ.ศ. 2549), แอนิมอล ฟาร์ม สงครามกบฏของสรรพสัตว์ แปลโดย บัญชา สุวรรณานนท์ สนพ.ไต้ฝุ่น (พ.ศ. 2555), Animal Farm การเมืองเรื่องสรรพสัตว์ แปลโดย สรวงอัปสร กสิกรานันท์ (พ.ศ. 2557) และ แอนิมอล ฟาร์ม แปลโดย เพชร ภาษพิรัช สนพ.ไทยควอลิตี้บุ๊คส์ (พ.ศ. 2560)

อยากให้ลองสังเกตช่วงเวลาของการแปล หลายช่วงมีความคาบเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การเมืองไทยอย่างน่าสนใจทั้งเหตุการณ์รัฐประหาร การชุมนุมจากความขัดแย้ง การต่อต้านอำนาจรัฐ และการเปลี่ยนขั้วอำนาจ

ฟาร์มเดรัจฉาน ที่แปลในพ.ศ. 2502 เกิดขึ้นหลังจากเหตุการณ์รัฐประหารเพื่อยึดอำนาจตัวเองของ “จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์” จากจอมพลถนอม กิตติขจร ในวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501โดยอ้างถึงเหตุความมั่นคงของประเทศ ซึ่งมีลัทธิคอมมิวนิสต์กำลังคุกคาม โดยมีสภาร่างรัฐธรรมนูญมาจากการแต่งตั้งไม่ใช่เลือกตั้ง มีการประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรพ.ศ. 2502 ซึ่งมีเพียง 20 มาตรา และรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เขียนกันเองนี่ล่ะ ที่ส่งผลให้จอมพลสฤษดิ์สามารถใช้อำนาจในตำแหน่งได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด  และปีนั้นคนไทยก็ได้อ่าน Animal Farm ฉบับแปลเป็นครั้งแรก

ช่วงพ.ศ. 2515 – 2520 คือความร้อนแรงขั้นสุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย เหตุการณ์ที่หลายคนคงรู้กันอยู่แล้วในช่วงนั้น คือ 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 ที่จนถึงวันนี้ความทรงจำและความสูญเสียก็ยังไม่ได้รับการชำระ Animal Farm ถูกแปลมากมายภายในระยะเวลาแค่ไม่กี่ปี เราไม่สำรวจยอดพิมพ์ยอดขายได้จริงๆ แต่จำนวนสำนวน 4 สำนวนทั้งสัตวรัฐ, การเมืองของสัตว์, แอนนิมอล ฟาร์ม, ฟาร์มสัตว์ ที่แปลภายในเวลา 5 ปี จากนิยายเรื่องเดียวกัน ซึ่งช่วงพ.ศ. 2518 ก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 มีการแปลถึงสองสำนวนนั้น คงบอกได้ถึงความรู้สึกคับแค้นใจของประชาชน ที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางเหตุและปัจจัยของโครงสร้างระบอบการปกครองอันบิดเบี้ยว ที่เป็นส่วนสำคัญของการก่อเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 ได้ไม่น้อยเลย

มาเห็นแปลกันหนาตาอีกรอบ ก็ตั้งแต่รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 จนถึงปัจจุบัน ที่สังคมไทยเจอทั้งสงครามระหว่างอุดมการณ์อย่างยาวนานข้ามทศวรรษ รัฐประหารไปสองรอบ สลายการชุมนุม ตั้งรัฐบาลหุ่นเชิด ตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร และตั้งรัฐบาลทหาร จนถึงเลือกตั้งวันนี้ ที่คงไม่ต้องบอกแล้วว่ากติกาจากกกต.ทั้งประหลาดและเอื้อประโยชน์ฝ่ายใดขนาดไหน และเรากำลังจะมีรัฐบาลที่แกนนำคือพรรคซึ่งมีคะแนนเสียงอันดับสอง และมีสว.ที่แต่งตั้งมาเองยกมือสนับสนุนอีก 250 เสียง ซึ่งตั้งแต่รัฐประหาร 2549 เป็นต้นมา Animal Farm ก็แปลไป 4 สำนวนแล้ว

อ่าน Animal Farm ตาม #ประยุทธ์อ่าน แล้ว ก็อยากชวนอ่านอีกสักเล่มคือ 1984 ของนักเขียนคนเดียวกัน

จะได้ครบชุดไปเลย

…………….

สิรนันท์ ห่อหุ้ม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image