ไม่อ่านวันนี้ จะอ่านวันไหน? 2 เล่มออกใหม่ ‘ราษฎรธิปไตย’ และ ‘สยามมหกรรม การเมืองวัฒนธรรมฯ’

24 มิถุนายน 2475 ‘อภิวัฒน์สยาม’ เป็นวันสำคัญที่เปลี่ยนแปลงประเทศไทยเข้าสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขสืบมาจนถึงปัจจุบัน

เหตุการณ์ในห้วงเวลาดังกล่าว ทั้งการเมือง สังคม วัฒนธรรม ถูกบันทึกผ่านเอกสารประวัติศาสตร์ อีกทั้งความทรงจำ กลายเป็นมรดกตกทอดที่คนไทยไม่อาจลืมเลือน

‘ราษฎรธิปไตย การเมือง อำนาจ และทรงจำของ (คณะ) ราษฎร’ โดย  ศรัญญู เทพสงเคราะห์ คือ ผลงานที่ผ่านการศึกษาลุ่มลึก ‘มติชน’ ตีพิมพ์หมาดๆ พร้อมผงาดบนแผงหนังสือ ด้วยเรื่องราวเกี่ยวกับคณะราษฎร โดยเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามรื้อฟื้นและขยายพรมแดนความรู้เกี่ยวกับกลุ่มบุคคลดังกล่าว อีกทั้งประวัติศาสตร์หลังการปฏิวัติ 2475 ที่สัมพันธ์กับบริบทการเมืองไทยร่วมสมัยหลังการรัฐประหาร 2549 เป็นต้นมา เผยให้เห็นประเด็นและหลักฐานใหม่ในการศึกษาประวัติศาสตร์ไทยในช่วง พ.ศ.2475-2500 ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิวัติในมิติการเมือง วัฒนธรรม อำนาจ และความทรงจำ

‘หนังสือเล่มนี้ ไม่ใช่สงครามของความทรงจำ แต่คือความพยายามคืนความทรงจำที่มีคุณค่าต่อสังคม … ไม่เพียงแต่การปฏิวัติ 2475 และความทรงจำเกี่ยวกับการปฏิวัติ 2475 ต้องเผชิญหน้ากะบภัยคุกคามอย่างยาวนาน นับแต่การต่อต้านจากพลังฝ่ายอนุรักษนิยมจากอดีตจวบจนปัจจุบัน ทั้งในมิติการล้มล้างอำนาจทางการเมือง การทำลายความรู้ ความทรงจำเกี่ยวกับคุณค่าของเหตุกาณณ์ออกไปจากความทรงจำร่วมของสังคมไทยเท่านั้น แต่สังคมไทยยังถูกตอกย้ำความทรงจำร่วมอย่างยาวนานถึงการมีช่วงชั้นทางสังคมว่าเป็นเรื่องปกติธรรมชาติ………รวมทั้งตอกย้ำมายาคติที่ว่า การปฏิวัติ 2475 เป็นการชิงสุกห่อนห่าม คนไทยยังไม่มีความพร้อมต่อระบอบประชาธิปไตย คนอีสานเป็นคนเฉื่อยชาทางการเมือง’

Advertisement

ข้างต้นคือข้อความจากคำนิยมของ นักวิชาการชื่อดังอย่าง ณัฐพล ใจจริง ที่การันตีไฮไลต์ของหนังสือเล่มนี้อย่างน่าสนใจยิ่ง

อีกเล่มออกใหม่ที่เข้าธีมไม่แพ้กัน ผายมือไปที่ ‘สยามมหกรรม การเมืองวัฒนธรรมกับการช่วงชิงความเป็นสาธารณะ’ โดย ปรีดี หงษ์สต้น ซึ่งเฉพาะเจาะจงลงลึกสุดๆกับงานสมโภชพระนคร ครบ 100 ปี ซึ่งโชว์ความเป็นศิวิไลซ์ ทั้งทางเศรษฐกิจ และวัฒนธรรมต่อเจ้าอาณานิคมตะวันตก แต่ไม่ได้เชิญราษฎรเข้าร่วม ทว่ากลายเป็น ‘ผู้ถูกดู’ แทน

หนังสือเล่มนี้ ชี้ให้เห็นถึงการเกิดขึ้นของความเป็นสาธารณะผ่านการเมือง วัฒนธรรม ของการจัดงานดังกล่าวเพื่อขับเน้นขีดเส้นด้วยปากกาไฮไลต์สะท้อนแสงถึงการช่วงชิงความเป็นสาธารณะในสยามช่วงก่อนและหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475

Advertisement

ไม่อ่าน 2 เล่มนี้ในช่วงเวลานี้ บรรยากาศนี้ วันนี้ เดือนนี้ แล้วจะอ่านวันไหน ?

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image